|
|
'เปิดกรุ ครูช่าง' ครั้งนี้ จิด-ตระ-ธานี แนะนำเอง (อีกแล้ว) ครับ เป็นภาพถ่าย (เก่าเก็บ) ที่ผมเก็บสะสมไว้นานแล้ว เป็นชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อยโบราณ ของวัดขนอน (หนังใหญ่) สมัยอยุธยาตอนปลาย งามมากๆ (เช่นกันขอบอก) |
|
|
|
๖. ชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อย วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี สมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวัดที่อนุรักษ์การแสดงทางวัฒนธรรม "หนังใหญ่" ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยแต่โบราณ ที่กำลังค่อยๆ จะสูญหายไป (คำว่า "หนังๆ" ที่พวกเรานิยมเรียก การชมภาพยนตร์ในปัจจุบันนั้น ก็มีที่มาจากศิลปะการแสดง "เชิดหนัง" แต่โบราณนี่แหละครับ คนไทยแต่โบราณใช้วิธีแกะสลัก "หนังวัวหนังควาย" เป็นรูปตัวละครในเรื่องราวต่างๆ เพื่อใช้สำหรับเชิดนี่แหละครับ) และในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่เปิดให้ชมหนังใหญ่ ซึ่งเป็นของโบราณแต่ดั้งเดิมด้วยครับ
แต่ใครจะรู้นิ...ว่า วัดขนอนยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ อีก นอกจากหนังใหญ่ด้วยนะ ถึงหนังใหญ่ของวัดขนอน จะถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน ซึ่งท่านมีความรู้ทางด้านช่างเป็นอย่างดี แต่เมื่อคราวที่ผมได้ไปเยี่ยมชมวัดขนอนนั้น (สมัยยังเป็นนักศึกษาช่างศิลป นานมาก.ก.ก ละ...) ก็ยังไปพบสมุดข่อยโบราณในวัดอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากภาพวาดภายในแล้ว น่าจะมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย สวยมากเลยครับ ผมก็ให้เพื่อนที่เป็นตากล้องที่ไปด้วยกัน ถ่ายเก็บไว้ เพิ่งจะมีคราวนี้แหละครับ ที่ได้นำออกมาเผยแพร่ให้ชมกันผ่านเว็บไซต์ "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี"
ภาพวาดภายในก็เขียนเล่าเรื่อง "ทศชาติชาดก" หรือ ๑๐ ชาติสุดท้าย ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนไทยแต่โบราณนิยมเรียก ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าด้วยชื่อย่อๆ เพื่อให้จำง่ายๆ ว่า "เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว" ซึ่ง เต หมายถึง พระเตมีย์ใบ้ ชะ พระมหาชนก สุ พระสุวรรณสาม เน พระเนมิราช มะ พระมโหสถ ภู พระภูริทัต จะ พระจันทกุมาร นา พระมหานารทกัสสปะ (พรหมนารถ) วิ วิธุรบัณฑิต เว พระเวสสันดร ซึ่งผมจะค่อยๆ อธิบายพร้อมกับ ชมความงามของภาพไล่ไปเรื่อยๆ นะครับ : (๑๖ เม.ย. ๒๕๕๓)
|
|
|
|
|
|
ภาพนี้เป็นภาพ "พระมหานารถกัสสปะ (พรหมนารถชาดก)" ภาพบนเป็นตอนที่พระธิดา รุจาราชกุมารี ตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากเทพยดาฟ้าดินมีอยู่ ขอได้โปรดมาช่วยเปลื้องความเห็นผิดของ พระบิดาด้วยเถิด จะได้บังเกิดสุขแก่ปวงชน" เพราะพระเจ้าอังคติราช พระบิดาของพระนางหลงผิดเชื่อคำสอนของชีเปลือย นามคุณาชีวก ซึ่งความเชื่อผิดๆ เช่นนี้ มีแต่จะทำให้บ้านเมืองถึงความเสื่อม และพินาศในที่สุด
นารทพรหมเล็งเห็นความทุกข์ของ รุจาราชกุมารี และเล็งเห็นความเดือดร้อนอันจะเกิดแก่ประชาชน หากพระราชาทรงเป็นมิจฉาทิฏฐิ จึงเสด็จจากพรหมโลก (ภาพล่าง) แปลงเป็นบรรพชิต เอาภาชนะทองใส่สาแหรกข้างหนึ่ง คนโทแก้วใส่สาแหรก อีกข้างหนึ่ง ใส่คานวางบนบ่า เหาะมาสู่ปราสาทพระเจ้าอิงคติราช มาลอยอยู่ตรงหน้าพระพักตร์ เตือนสติพระเจ้าอังคติราช ให้เลิกหลงผิด ให้ละบาป บำเพ็ญคุณธรรม ๔ ประการ (สัจจะ ธรรมะ ทมะ และ จาคะ) คบหาแต่กัลยาณมิตร ทำบุญให้ทาน และให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ชาตินี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ "อุเบกขาบารมี" คือการวางเฉยด้วยใจเป็นกลาง เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว กรรมจะเป็นตัวกำหนด จำแนกและให้ผล ที่เกิดจากการกระทำของผู้กระทำกรรมนั้นๆ เอง ชมภาพงามๆ กันเพลินๆ นะครับ : จิด-ตระ-ธานี |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels. |
|