Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

       'เปิดกรุ ครูช่าง' ครั้งนี้ จิด-ตระ-ธานี แนะนำเอง (อีกแล้ว) ครับ เป็นภาพถ่าย (เก่าเก็บ) ที่ผมเก็บสะสมไว้นานแล้ว เป็นชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อยโบราณ ของวัดขนอน (หนังใหญ่) สมัยอยุธยาตอนปลาย งามมากๆ (เช่นกันขอบอก)







  ๖. ชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อย วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี สมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวัดที่อนุรักษ์การแสดงทางวัฒนธรรม "หนังใหญ่" ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยแต่โบราณ ที่กำลังค่อยๆ จะสูญหายไป (คำว่า "หนังๆ" ที่พวกเรานิยมเรียก การชมภาพยนตร์ในปัจจุบันนั้น ก็มีที่มาจากศิลปะการแสดง "เชิดหนัง" แต่โบราณนี่แหละครับ คนไทยแต่โบราณใช้วิธีแกะสลัก "หนังวัวหนังควาย" เป็นรูปตัวละครในเรื่องราวต่างๆ เพื่อใช้สำหรับเชิดนี่แหละครับ) และในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่เปิดให้ชมหนังใหญ่ ซึ่งเป็นของโบราณแต่ดั้งเดิมด้วยครับ

     แต่ใครจะรู้นิ...ว่า วัดขนอนยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ อีก นอกจากหนังใหญ่ด้วยนะ ถึงหนังใหญ่ของวัดขนอน จะถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน ซึ่งท่านมีความรู้ทางด้านช่างเป็นอย่างดี แต่เมื่อคราวที่ผมได้ไปเยี่ยมชมวัดขนอนนั้น (สมัยยังเป็นนักศึกษาช่างศิลป นานมาก.ก.ก ละ...) ก็ยังไปพบสมุดข่อยโบราณในวัดอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากภาพวาดภายในแล้ว น่าจะมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย สวยมากเลยครับ ผมก็ให้เพื่อนที่เป็นตากล้องที่ไปด้วยกัน ถ่ายเก็บไว้ เพิ่งจะมีคราวนี้แหละครับ ที่ได้นำออกมาเผยแพร่ให้ชมกันผ่านเว็บไซต์ "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี"

     ภาพวาดภายในก็เขียนเล่าเรื่อง "ทศชาติชาดก" หรือ ๑๐ ชาติสุดท้าย ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนไทยแต่โบราณนิยมเรียก ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าด้วยชื่อย่อๆ เพื่อให้จำง่ายๆ ว่า "เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว" ซึ่ง เต หมายถึง พระเตมีย์ใบ้ ชะ พระมหาชนก สุ พระสุวรรณสาม เน พระเนมิราช มะ พระมโหสถ ภู พระภูริทัต จะ พระจันทกุมาร นา พระมหานารทกัสสปะ (พรหมนารถ) วิ วิธุรบัณฑิต เว พระเวสสันดร ซึ่งผมจะค่อยๆ อธิบายพร้อมกับ ชมความงามของภาพไล่ไปเรื่อยๆ นะครับ : (๑๖ เม.ย. ๒๕๕๓)
 
 

1234567891011
  Save

save ภาพบน : 273 KB

Save save ภาพล่าง : 269 KB

     
       ภาพนี้เป็นภาพ "พระมโหสถบัณฑิต" ชาตินี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ "ปัญญาบารมี" เป็นชาติที่มีปัญญามาก (ฉลาดเป็นกรดเลย) ในการเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤตต่างๆ หลายครั้ง หลายหน ตลอดทั้งเรื่อง (ตอนนี้สนุกมาก "ผมชอบ" แถมเรื่องยังย๊าว..ยาว นะ) ในภาพ บน-ล่าง ต่อเนื่องกัน เป็นตอนที่นางปริพาชิกา (นักบวชหญิงนิกายหนึ่ง) ชื่อนางเภรี (ภาพล่าง) ได้ถามปัญหาพระมโหสถ ด้วยเครื่องหมายแห่งมือ เพื่อจะลองปัญญา เพราะเห็นว่าเป็นบัณฑิตคนสำคัญของพระเจ้าจุลนี ผมคัดเฉพาะตอนที่เกี่ยวกับภาพคู่นี้มาให้อ่านนะครับ

     "วันหนึ่ง นางปริพาชิกานั้นฉันแล้วออกไป ได้เห็นพระโพธิสัตว์มาสู่ราชุปัฏฐาน ณ พระลาน. พระโพธิสัตว์ไหว้ปริพาชิกา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ปริพาชิกาคิดว่า ได้ยินว่า มโหสถนี้เป็นบัณฑิต เราจักรู้ความที่เธอเป็นบัณฑิต หรือไม่ใช่บัณฑิตก่อน. เมื่อจะถามปัญหาด้วยเครื่องหมายแห่งมือ จึงแลดูมโหสถ แล้วแบมือออก ได้ยินว่า นางถามปัญหาด้วยใจว่า พระเจ้าจุลนีนำมโหสถมาแต่ประเทศอื่น เดี๋ยวนี้ทรงบำรุงเช่นไร หรือไม่ได้ทรงบำรุง. พระโพธิสัตว์รู้ว่า นางเภรีปริพาชิกาถามปัญหาเราด้วยเครื่องหมายแห่งมือ. เมื่อจะแก้ปัญหา จึงกำมือ ได้ยินว่า มโหสถแก้ปัญหาด้วยใจว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า พระราชาทรงรับปฏิญาณของข้าพเจ้าแล้วให้เรียกมา เดี๋ยวนี้เป็นผู้เหมือนกับกำพระหัตถ์ไว้มั่น ยังไม่พระราชทานอะไรๆ ที่พระองค์ยังไม่เคยพระราชทานแก่ข้าพเจ้า. นางเภรีรู้ถ้อยคำของมโหสถ จึงยกมือขึ้นลูบศีรษะของตน นางแสดงข้อความนี้ด้วยกิริยานั้นว่า แน่ะบัณฑิต ถ้าท่านลำบาก เหตุไร ท่านจึงไม่บวชเหมือนอาตมาเล่า. พระมหาสัตว์รู้ความนั้น จึงลูบท้องของตน แสดงข้อความนี้ด้วยกิริยานั้นว่า ข้าแต่ผู้เป็นเจ้า บุตรและภรรยา ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดูมาก เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้ายังไม่บวช. นางเภรีถามปัญหาด้วยเครื่องหมายแห่งมือ แล้วไปสู่อาวาสของตน. ฝ่ายมโหสถไหว้นาง แล้วไปสู่ราชุปัฏฐาน." (ข้อมูลจากเว็บ www.84000.org มีเนื้อเรื่องครบทุกตอนครับ)

     เรื่องนี้สนุกมาก เป็นการแก้ปัญหาด้วยปัญญาและไหวพริบต่างๆ หาอ่านเรื่องเต็มๆ ได้จากเว็บแนะนำด้านบนครับ ชมภาพงามๆ กันเพลินๆ ครับ : จิด-ตระ-ธานี
 
     
 

 

 


 
 
 

 
     


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.