Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

       'เปิดกรุ ครูช่าง' ครั้งนี้ จิด-ตระ-ธานี แนะนำเอง (อีกแล้ว) ครับ เป็นภาพถ่าย (เก่าเก็บ) ที่ผมเก็บสะสมไว้นานแล้ว เป็นชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อยโบราณ ของวัดขนอน (หนังใหญ่) สมัยอยุธยาตอนปลาย งามมากๆ (เช่นกันขอบอก)







  ๖. ชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อย วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี สมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวัดที่อนุรักษ์การแสดงทางวัฒนธรรม "หนังใหญ่" ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยแต่โบราณ ที่กำลังค่อยๆ จะสูญหายไป (คำว่า "หนังๆ" ที่พวกเรานิยมเรียก การชมภาพยนตร์ในปัจจุบันนั้น ก็มีที่มาจากศิลปะการแสดง "เชิดหนัง" แต่โบราณนี่แหละครับ คนไทยแต่โบราณใช้วิธีแกะสลัก "หนังวัวหนังควาย" เป็นรูปตัวละครในเรื่องราวต่างๆ เพื่อใช้สำหรับเชิดนี่แหละครับ) และในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่เปิดให้ชมหนังใหญ่ ซึ่งเป็นของโบราณแต่ดั้งเดิมด้วยครับ

     แต่ใครจะรู้นิ...ว่า วัดขนอนยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ อีก นอกจากหนังใหญ่ด้วยนะ ถึงหนังใหญ่ของวัดขนอน จะถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน ซึ่งท่านมีความรู้ทางด้านช่างเป็นอย่างดี แต่เมื่อคราวที่ผมได้ไปเยี่ยมชมวัดขนอนนั้น (สมัยยังเป็นนักศึกษาช่างศิลป นานมาก.ก.ก ละ...) ก็ยังไปพบสมุดข่อยโบราณในวัดอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากภาพวาดภายในแล้ว น่าจะมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย สวยมากเลยครับ ผมก็ให้เพื่อนที่เป็นตากล้องที่ไปด้วยกัน ถ่ายเก็บไว้ เพิ่งจะมีคราวนี้แหละครับ ที่ได้นำออกมาเผยแพร่ให้ชมกันผ่านเว็บไซต์ "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี"

     ภาพวาดภายในก็เขียนเล่าเรื่อง "ทศชาติชาดก" หรือ ๑๐ ชาติสุดท้าย ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนไทยแต่โบราณนิยมเรียก ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าด้วยชื่อย่อๆ เพื่อให้จำง่ายๆ ว่า "เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว" ซึ่ง เต หมายถึง พระเตมีย์ใบ้ ชะ พระมหาชนก สุ พระสุวรรณสาม เน พระเนมิราช มะ พระมโหสถ ภู พระภูริทัต จะ พระจันทกุมาร นา พระมหานารทกัสสปะ (พรหมนารถ) วิ วิธุรบัณฑิต เว พระเวสสันดร ซึ่งผมจะค่อยๆ อธิบายพร้อมกับ ชมความงามของภาพไล่ไปเรื่อยๆ นะครับ : (๑๖ เม.ย. ๒๕๕๓)
 
 

1234567891011
  Save

save ภาพบน : 357 KB

Save save ภาพล่าง : 318 KB

     
       ภาพนี้เป็นภาพ "พระมหาชนก" ๒ ภาพ บน-ล่าง ต่อเนื่องกัน พระมหาชนกเป็นชาดกตอนที่ ๒ (จากทั้งหมด ๑๐ ตอน) ที่ชาวไทยส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยดี เพราะได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทพระราชนิพนธ์ใน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งพิมพ์ออกเผยแพร่พร้อมภาพวาดประกอบอย่างงดงาม จากศิลปินชั้นเยี่ยมของไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ มิ.ย. ๒๕๓๙ และพิมพ์ต่อเนื่องอีกหลายครั้ง (ตรงกับช่วงวิกฤตเศรษกิจ "ต้มยำกุ้ง disease" เมื่อปี ๒๕๔๐) เพื่อให้กำลังใจคนไทยให้อดทน และเพียรพยายามไม่ย่อท้อ เช่นเดียวกับพระมหาชนก ที่ทรงบำเพ็ญ "วิริยะบารมี" ของพระโพธิสัตว์ ในชาตินี้ ผมไม่เล่าเรื่องย่อละกัน (ยาวอ่ะ) แต่จะอธิบายเฉพาะภาพวาดด้านล่างนะ

     (ภาพบน) พระมหาชนกได้ออกเรือสำเภาไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ แต่ในระหว่างทางเรือต้องพายุใหญ่จนล่มลง ลูกเรือตายหมด พระมหาชนกรอดเพียงผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียรถึง ๗ วัน ๗ คืน จนได้พบกับนางมณีเมขลา เมื่อนางได้สนทนาธรรม (เพื่อลองใจพระมหาชนก) จนพอใจแล้ว นางเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร จึงได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร (ดังภาพล่าง) และต่อมาได้ผจญภัยต่ออีกหลายเรื่องจนจบ สำหรับภาพล่างนี้ผมดูแล้วขำๆ จะหาว่าผมคิดลึกก็ได้นะ ว่า..ทำมั้ย..ทำไม? ริมฝีปากของพระมหาชนก ถึงไปชนเป๊ะ! กับยอดถันของนางมณีเมขลาได้อย่างพอดิบพอดี (ออกอีโรติก [Erotic] นิดๆ ^_^) หะๆ ผมว่าน่าจะเป็นอารมณ์ขันของช่าง (หรืออาจจะบังเอิญก็ได้นะ...อิอิ) ชมกันเพลินๆ นะครับ : จิด-ตระ-ธานี
 
     
 

 

 


 
 
 

 
     


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.