'
เปิดกรุ ครูช่าง
' ครั้งนี้ จิด-ตระ-ธานี แนะนำเอง (อีกแล้ว) ครับ เป็นภาพถ่าย (เก่าเก็บ) ที่ผมเก็บสะสมไว้นานแล้ว เป็นชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อยโบราณ ของวัดขนอน (หนังใหญ่) สมัยอยุธยาตอนปลาย งามมากๆ (เช่นกันขอบอก)
๖.
ชุดภาพจิตรกรรมบนสมุดข่อย วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี สมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดขนอน (หนังใหญ่) จ.ราชบุรี มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นวัดที่อนุรักษ์การแสดงทางวัฒนธรรม "หนังใหญ่" ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยแต่โบราณ ที่กำลังค่อยๆ จะสูญหายไป (คำว่า "หนังๆ" ที่พวกเรานิยมเรียก การชมภาพยนตร์ในปัจจุบันนั้น ก็มีที่มาจากศิลปะการแสดง "เชิดหนัง" แต่โบราณนี่แหละครับ คนไทยแต่โบราณใช้วิธีแกะสลัก "หนังวัวหนังควาย" เป็นรูปตัวละครในเรื่องราวต่างๆ เพื่อใช้สำหรับเชิดนี่แหละครับ) และในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่เปิดให้ชมหนังใหญ่ ซึ่งเป็นของโบราณแต่ดั้งเดิมด้วยครับ
แต่ใครจะรู้นิ...ว่า วัดขนอนยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ อีก นอกจากหนังใหญ่ด้วยนะ ถึงหนังใหญ่ของวัดขนอน จะถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอน ซึ่งท่านมีความรู้ทางด้านช่างเป็นอย่างดี แต่เมื่อคราวที่ผมได้ไปเยี่ยมชมวัดขนอนนั้น (สมัยยังเป็นนักศึกษาช่างศิลป นานมาก.ก.ก ละ...) ก็ยังไปพบสมุดข่อยโบราณในวัดอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากภาพวาดภายในแล้ว น่าจะมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย สวยมากเลยครับ ผมก็ให้เพื่อนที่เป็นตากล้องที่ไปด้วยกัน ถ่ายเก็บไว้ เพิ่งจะมีคราวนี้แหละครับ ที่ได้นำออกมาเผยแพร่ให้ชมกันผ่านเว็บไซต์ "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี"
ภาพวาดภายในก็เขียนเล่าเรื่อง "ทศชาติชาดก" หรือ ๑๐ ชาติสุดท้าย ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนไทยแต่โบราณนิยมเรียก ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าด้วยชื่อย่อๆ เพื่อให้จำง่ายๆ ว่า "
เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว
" ซึ่ง
เต
หมายถึง พระเตมีย์ใบ้
ชะ
พระมหาชนก
สุ
พระสุวรรณสาม
เน
พระเนมิราช
มะ
พระมโหสถ
ภู
พระภูริทัต
จะ
พระจันทกุมาร
นา
พระมหานารทกัสสปะ (พรหมนารถ)
วิ
วิธุรบัณฑิต
เว
พระเวสสันดร ซึ่งผมจะค่อยๆ อธิบายพร้อมกับ ชมความงามของภาพไล่ไปเรื่อยๆ นะครับ :
(๑๖ เม.ย. ๒๕๕๓)
save ภาพบน : 373 KB
ชาตินี้พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญานาคนามว่า "พระภูริทัต" โอรสของท้าวทศรถแห่งเมืองนาค ถึงจะเป็นกึ่งเดรัจฉานกึ่งเทพ พระภูริทัตก็นิยมรักษาอุโบสถศีลเป็นอย่างยิ่ง (ต่างจากนาคทั่วๆ ไป) ในภาพเป็นตอนที่พระภูริทัต ขึ้นจากบาดาลมารักษาศีลที่จอมปลวก จนถูกพรานเนสาท ซึ่งมีใจบาปหยาบช้า ร่ายมนตร์อาลัมพายน์ (มนต์จับนาค) จับตัวไป ถึงพระภูริทัตจะเป็นนาคที่มีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่ตอบโต้ เพราะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ต้องการให้ศีลมัวหมอง ไม่ว่าจะต้องเผชิญความทุกข์ยากอย่างไร ก็จะอดทน อดกลั้น ตั้งมั่นอยู่ในศีลตลอดไป จนพระภูริทัตถูกจับไปทรมานต่างๆ แต่ก็ยังคงตั้งมั่นในการรักษาศีลไว้ได้ จนจบเรื่อง ชาตินี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ "ศีลบารมี" ภาพพื้นหลังที่เป็นสีส้มอ่อนๆ นี้ เป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง ของศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ชมภาพงามๆ กันเพลินๆ นะครับ :
จิด-ตระ-ธานี
Create and Maintained by
JitdraThanee
Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved.
Best viewed 1280x800 pixels.