#สมบัติผลัดกันชม : บทความในโอกาส จิด.ตระ.ธานี อายุครบ 4 รอบ

เคยได้ยินนิทานเรื่องนี้กันมั้ยครับ “เศรษฐีมีเมีย 4 คน” จริงๆ เป็นเรื่องที่ถูกเล่ากันมานาน แถมมีหลายสำนวน รายละเอียดแตกต่างกันไป แต่สาระสำคัญของนิทานเรื่องนี้เป็นแนวคิดเชิงพุทธ เรื่องเล่า….ประมาณว่า

เศรษฐีคนหนึ่งมีเมีย 4 คน เมียคนที่ 1 เป็นเมียที่เขารักมากที่สุด ทั้งทะนุถนอม ดูแลเอาอกเอาใจ เพียงเธอแค่เอ่ยปากว่าอยากได้อะไร เศรษฐีก็แทบจะนำมาประเคนให้ทันที ส่วนเมียคนที่ 2 เขาก็รักมาก เขาทำทุกอย่างเพื่อเมียคนนี้ และหมั่นแวะเวียนไปหาเมียคนนี้เสมอๆ ส่วนเมียคนที่ 3 เป็นรักที่รองลงมา เขาดูแลเอาใจใส่พอสมควร แวะไปหาบ้างเป็นครั้งคราว พอถึงเมียคนสุดท้าย คนที่ 4 เป็นเมียที่เขาแทบไม่สนใจ ดูแล เอาใจใส่เลย ไม่เคยแม้กระทั่งคิดถึง หรือเคยไปหาด้วยซ้ำ

เมื่อถึงคราเคราะห์ วันหนึ่งเศรษฐีถูกจับ ต้องโทษในคดีร้ายแรง และถูกตัดสินประหารชีวิต ก่อนประหาร เศรษฐีได้ร้องขอเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้เขาได้มีโอกาสกลับไปร่ำลาเมียก่อน เมื่อกลับถึงบ้าน เขาตรงรี่เข้าไปหาเมียคนที่เขารักมากที่สุดก่อน เขาเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เมียคนที่ 1 ฟัง แล้วเอ่ยถามว่า “น้องหญิง ถ้าพี่ตายแล้ว เจ้าจะทำอย่างไร?” เมียคนที่ 1 จ้องหน้าเศรษฐีแบบไม่ใยดี แล้วพูดด้วยน้ำเสียงเย็นชาว่า… “ถ้าพี่ตายเมื่อไหร่…เราจบกันทันที” …เศรษฐีฟังคำตอบด้วยอาการตกตะลึง เข่าทรุด หน้าถอดสี ไม่ต่างจากการถูกหินก้อนมหึมา กลิ้งลงมาทับร่างของเขาซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ จนกระดูกแหลกละเอียด เศรษฐีเศร้าโศกและรู้สึกปวดร้าวไปหมดทั้งใจ จนแทบไม่มีเรี่ยวแรงเดิน พร้อมรำพึงในใจว่า… เราไม่น่าทุ่มเทให้กับเมียคนนี้เลย

เศรษฐีหอบความบอบซ้ำใจ ตรงเข้าไปหาเมียคนที่เขารักมากคนที่ 2 หลังเล่าเรื่องราวให้ฟัง พร้อมถามคำถามเดิม “เมื่อพี่ตาย น้องหญิงจะทำอย่างไร?” เมียคนที่ 2 ตอบอย่างหน้าตาเฉยว่า… “ถ้าพี่ตายเมื่อไหร่…ฉันจะมีคนใหม่ทันที” …บาดแผลเดิมยังไม่ทันหาย บาดแผลใหม่กลับกรีดซ้ำลงที่เก่า…แถมลึกกว่าเดิม เศรษฐีโศกเศร้าเสียใจ รำพึงรำพันนึกเสียดายวันเวลาที่ผ่านมา ว่าเราไม่ควรทุ่มเทให้กับเมียคนนี้เลย..เช่นกัน

เศรษฐีตรงไปหาเมียคนที่ 3 ซึ่งเป็นรักที่รองลงมา เขาเล่าเรื่องให้เธอฟังและถามคำถามเดิม เมียคนที่ 3 มองหน้าเขาด้วยความเห็นใจ แล้วพูดเพียงว่า… “ถ้าพี่ตาย…ฉันจะไปส่ง” …ถึงจะไม่ใช่คำตอบที่เขาต้องการ แต่ก็ทำให้เขาคลายทุกข์ลงได้บ้าง ว่าอย่างน้อยๆ เมียคนนี้ก็ยังจริงใจ และพอมีเยื่อใยกับเขาอยู่บ้าง

ก่อนจะกลับไปรับโทษ เศรษฐีเพิ่งนึกถึงเมียคนที่ 4 ได้ เมียคนที่เขาไม่เคยสนใจใยดีเลย แต่ในเมื่อครั้งนี้เป็นวาระสุดท้ายของเขาแล้ว เขาจึงตรงไปหา เล่าเรื่องราวทุกอย่างให้เมียคนที่ 4 ฟัง และถามคำถามเดิม เมียคนที่ 4 จ้องมองลึกลงไปในดวงตาของเขา แล้วตอบด้วยน้ำเสียงชัดเจนว่า… “ถ้าพี่ตาย…ฉันจะตามไปด้วย” …เมื่อเศรษฐีได้ฟังคำตอบ แทนที่เขาจะดีใจ กลับทำให้เขารู้สึกยิ่งเสียใจหนักมากกว่าเดิมไปอีกหลายเท่า เขาก้มหน้าลงร้องไห้อย่างสิ้นสภาพ ได้แต่ระลึกถึงช่วงวันเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดในชีวิต ว่าเขาไม่เคยให้ทั้งคุณค่า และความสำคัญอะไรกับเธอเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ทำไม? เธอกลับเป็นเมียเพียงคนเดียวที่ไม่เคยคิดจะทิ้งเขา และพร้อมจะติดตามเขาไปทุกที่………… เมื่อหมดเวลาร่ำลา เศรษฐีกลับไปรับโทษประหาร ทันทีที่เขาสิ้นลมหายใจ เมียคนที่ 4 ก็ตายไปพร้อมกับเขา ในเสี้ยววินาทีนั้นเอง…..

นัยที่ซ่อนอยู่ในนิทานเรื่องนี้คือ คนเราทุกๆ คน ต่างมีเมีย 4 คน แบบเดียวกับเศรษฐีคนนี้เหมือนๆ กัน ในความหมายคือ

เมียคนที่ 1 คือ : #ร่างกายของเรา เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เราต่างปรนเปรอ บำรุงบำเรอมันทุกอย่าง แต่เมื่อเราตาย ร่างกายนี้กลับไม่ยอมไปกับเราด้วย มันตัดขาดจากเราทันที เมื่อลมหายใจดับลง ร่างกายนี้จึงไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ผุๆ ท่อนหนึ่ง รอวันเน่าเปื่อย

เมียคนที่ 2 คือ : #เงินทองทรัพย์สมบัติ ตอนเรายังมีชีวิตอยู่ เราดิ้นรนทำทุกๆ วิถีทางเพื่อให้ได้มันมา ในฐานะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่พอเราตาย ทรัพย์นั้นกลับเปลี่ยนสถานะไปเป็นของคนอื่นทันที ตรงกับสำนวน “สมบัติผลัดกันชม” เพราะไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกนี้ได้อย่างแท้จริง

เมียคนที่ 3 คือ : #ญาติพี่น้อง ลูก เมีย มิตรสหาย เมื่อเราตายลง สิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุดก็คือ จัดการศพและทำบุญไปให้ เพราะเขาก็ไม่สามารถตามเราไปได้เช่นกัน

เมียคนที่ 4 คือ : #บุญบาป หรือกรรมดีกรรมชั่ว เมื่อเราตาย ทิ้งร่างลงแล้ว เราจะไม่สามารถนำอะไรติดตัวไปได้เลยสักอย่าง นอกเสียจากบุญกับบาปเท่านั้น ที่จะติดตามเราไปอย่างแน่นอน……..

นิทานเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับคติพุทธชัด เพราะพุทธสอนว่า ร่างกายนี้เปรียบเสมือนถ้ำ เป็นดั่งที่อาศัยของจิต หากไร้ซึ่งจิตร่างกายนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ผุที่รอวันเน่าเปื่อย พุทธมองว่า จิตหรือวิญญาณซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ได้ตายลงตามร่างกาย แต่สามารถสืบทอดต่อเนื่องกันไปได้เรื่อยๆ ครูบาอาจารย์บางท่านใช้คำเรียกว่า “ปรมาณูแห่งจิต” คือมีลักษณะหมุนติ้วๆ ไป โดยมีแรงเหวี่ยงสำคัญ คือ “ตัณหา” (แปลว่า “ความอยาก”) เป็นดั่งพลังงานเชื้อเพลิงที่คอยหล่อเลี้ยงไว้ ไม่ให้มันหยุดหมุนได้ ตัณหาจะนำพาดวงจิตนั้นไปปฏิสนธิ (เกิด) ในภพใหม่ (พาไปเกิดได้ทั้งภพที่ดี และภพที่เลว) ตามแต่แรงกรรม… ที่ดวงจิตนั้นเคยสั่งสมไว้

จิตหรือวิญญาณในคติพุทธ…ไม่ได้เป็นอมตะจริง (ต่างจากคำสอนในศาสนาอื่นๆ ที่เชื่อว่าวิญญาณเป็นอมตะ วิญญาณเป็นนิรันดร์ ปลายทางสุดท้ายของเหล่าสาวก คือการนำพาดวงจิต คืนกลับไปรวมกับวิญญาณอมตะ เพื่อให้มีความสุขนิรันดร์ ตามคติความเชื่อของศาสนานั้นๆ) ในคติพุทธ…วิญญาณไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง แต่…จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายๆ ตัว มาประชุมพร้อมกันเชื่อมให้เกิด อุปมาดั่งการต่อดวงเทียน เมื่อเทียนดวงเดิมดับ เทียมดวงใหม่ก็ผุดขึ้น รับช่วงต่อจากเทียนดวงเก่า ส่งต่อกันไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบ โดยพลังงานสำคัญที่เป็นตัวการในการเชื่อมต่อคือ “ตัณหา” ตราบใดที่ดวงเทียนยังคงจุดต่อเนื่องกันไปได้อยู่เรื่อยๆ (เท่ากับการสร้างภพใหม่ ที่ไม่รู้จักจบสิ้น วนเวียนเป็นสังสารวัฏ) นี่คือต้นเหตุและที่มาของความทุกข์ (ทุกข์เพราะยังเกิดอยู่) หากต้องการทำลายการเชื่อมต่อนี้ลงให้ได้เด็ดขาด จำเป็นต้องจัดการตัวต้นเหตุสำคัญคือ “ตัณหา” ให้ได้เสียก่อน เพราะ #ตัณหาคือผู้สร้างภพ

“นิพพาน” เป็นสภาวะที่ตรงข้ามกับ “ตัณหา” หากผู้ใดสามารถเผยนิพพานให้ปรากฏชัดแจ้งแก่ใจได้ ตัณหาก็จะถูกทำลายลงไปเอง อุปมาเหมือนเราเปิดไฟให้ความสว่าง ความมืดก็จะหายไปเอง นิพพานเป็นสภาวธรรมที่อยู่ตรงหน้าเราตลอดเวลา มีอยู่แล้ว ไม่ต้องวิ่งไปหาที่ไหน (หากยิ่งวิ่งหา…กลับยิ่งไม่เจอ ตรงกับสำนวน “#ขี่กวางตามหากวาง” หากยังคิดเช่นนี้ ต่อให้วิ่งหาไปอีกกี่หมื่นกัป ก็ไม่มีวันเจอ) เหตุเพราะ #นิพพานถูกตัณหาบังจนมิด จึงทำให้เรามองไม่เห็น สภาวะที่เราสมมุติเรียกว่า “นิพพาน” คงไม่สามารถใช้คำพูดใดๆ ที่บัญญัติขึ้นมาในโลก ใช้อธิบายได้อย่างตรงเผง….. หากใจเรายังไม่มีคุณภาพพอ ถึงแม้นิพพานจะอยู่ตรงหน้าแท้ๆ ทำอย่างไรก็มองไม่เห็น

ขอยกคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ท่านเคยตอบเรื่อง “#นิพพานอยู่ไหน?” จากพระธรรมเทศนา (ก่อนฉันเช้า) ณ วัดสวนสันติธรรม จ.ชลบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555
http://www.dhammada.net/2012/10/30/18262/

นิพพานไม่ได้เกิดขึ้น นิพพานมีอยู่แล้ว นิพพานไม่เคยหายไปไหน สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ พระนิพพานไม่เกิด เพราะฉะนั้นพระนิพพานไม่ดับ นิพพานไม่ใช่อุดมคติ ไม่ใช่โลกอุดมคติที่นักปราชญ์สร้างขึ้นมา เพื่อหลอกล่อให้เราทำความดี บางคนโง่คิดแค่นั้นเอง

นิพพานมีจริงๆ คือสภาวะที่พ้นจากตัณหา สภาวะที่พ้นจากกิเลส สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง สภาวะที่พ้นจากการเสียดแทง เป็นสภาวะที่อิสระ เป็นสภาวะที่โปร่งเป็นอิสระ มีความสุขอันมหาศาล ไม่มีอะไรเหมือน มีอยู่จริงๆ สภาวะนี้ ไม่ใช่อุดมคติเอาไว้หลอกเด็กให้ทำดี ต้องเหนือดีนะถึงเจอ

แต่ก่อนจะเหนือดีได้ ต้องดีให้เต็มที่ก่อน เพราะงั้นสิ่งที่ต้องทำนะ ละความชั่ว ละบาปอกุศลทั้งปวง เจริญกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้ผ่องแผ้ว

ผมเคยเล่าไว้ว่า ในทุกๆ การเวียนมาบรรจบครบรอบ 12 ปี ทีไร ผมมักจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตเสมอ สภาพที่เห็นได้ชัด และตอนนี้ทุกๆ คนคงสัมผัสได้ก็คือ วิกฤตเศรษฐกิจในระดับมหภาค ไม่เฉพาะในเมืองไทยแต่เป็นไปทั่วโลก ผลพวงมาจากโรคระบาดครั้งใหญ่ COVID-19 ที่กระทบกระเทือนไปทุกๆ วงการ ไม่มีเว้นแม้แต่…คนทำงานศิลปะอย่างผม

วันล้ออายุที่เวียนมาบรรจบในปี 2563 นี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม………. ทุกๆ ปี ผมมักจะมีบทความยาว พูดเรื่องความไม่ประมาทกับความตาย ซึ่งเราก็ไม่ควรชะล่าใจ แม้ในวันเกิด ควรหวนระลึกถึงความตายเอาไว้ เป็นดั่งมรณานุสติล้ำค่า ที่คอยย้ำ..ตักเตือนเราเสมอ ยิ่งปีนี้เพื่อนสนิทที่เรียนจบมหา’ลัยมาด้วยกัน เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตลอดทั้งชีวิต…เขาได้สร้างทรัพย์ศฤงคารเอาไว้มากมาย เมื่อตายลง..ทรัพย์นั้น…ก็ถูกเปลี่ยนมือทันที แน่นอน…มันยิ่งทำให้ผมรู้สึกสะท้อนใจ การสร้างสั่งสมอะไรไว้…หากเราพร้อมและมีกำลังจริง ก็ดีอยู่หรอกหนา แต่ควรระลึกไว้เสมอว่า อะไรต่อมิอะไรมากมาย ที่เคยถูกประทับตราหน้าชื่อไว้ว่า.. เป็นของเรา เราเป็นเจ้าของมัน แต่..ในความเป็นจริง มันกลับไม่เคยมีอะไรเป็นของเราจริงๆ เลย…แม้สักอย่างเดียว หากมีการบริหารจัดการล่วงหน้า ให้กลายเป็นสมบัติสาธารณะ ทุกๆ คนจะได้ร่วมมือกันช่วยดูแล ก่อนที่เราจะตาย (ซึ่งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้…สิ) ก็น่าจะดีกว่ามาก

จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee
………………………………….

http://www.dhammada.net/2011/08/13/10232/

นิพพานคืออะไร?

หลวงพ่อปราโมทย์ : พวกเราชาวพุทธ เราต้องมีความเชื่อมั่นอยู่เรื่องหนึ่ง ว่ามรรคผลนิพพานมีจริงๆ ไม่ใช่สภาวะอุดมคติ เลื่อนๆ ลอยๆ สภาวะหลอกเด็ก ไม่ใช่ มีอยู่จริงๆ มรรคผลมีจริงๆ นะ ทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดมรรคเกิดผลมีจริงๆ ยังไม่ล้าสมัยนะ นิพพานไม่เคยหายไปไหน นิพพานไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย นิพพานอยู่กับเราตลอด แต่เราไม่เคยเห็น เพราะใจเราไม่มีคุณภาพพอ

พระพุทธเจ้าท่านมาตรัสรู้ ท่านก็มาบอกทางให้ ทางที่เราจะเจริญสติเจริญปัญญา จนเราสามารถเข้าไปเห็นนิพพานได้ นิพพานมีอยู่แล้ว มีอยู่ต่อหน้าต่อตานี้เอง แต่เราไม่เคยเห็นหรอก เพราะใจไม่มีคุณภาพ

เรามาพัฒนาคุณภาพของใจของตัวเอง ถ้าใจเรามีคุณภาพพอนะ เราจะเห็นนิพพาน คนที่เห็นนิพพานแล้วจะมีความสุขอย่างไม่มีอะไรเปรียบ ไม่ใช่สภาวะที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ หลอกเด็กนะ ว่าทำดีแล้ววันหนึ่งไปนิพพาน ไม่ใช่

พระพุทธเจ้าท่านบอกชัดเจนถึงสภาวะของพระนิพพาน ท่านบอกชัดเจนถึงเส้นทางไปสู่พระนิพพาน ให้ประจักษ์พระนิพพาน ความจริงจะใช้คำว่า ไปสู่พระนิพพานก็ไม่เชิงนะ จะเข้าไปประจักษ์นิพพาน เพราะนิพพานอยู่ต่อหน้าเรานี่แหละ เราไม่เห็นเอง ไม่ใช่ว่านิพพานอยู่ไกลๆ เราต้องไปสู่พระนิพพาน ไม่ใช่นะ

ใครจะนึก ใครจะฝัน ว่านิพพานอยู่กับตัวเราเอง แค่นี้เอง ถ้าคนใดภาวนา จิตใจมีคุณภาพพอ เห็นพระนิพพานแจ่มแจ้งต่อหน้าต่อตา จะรู้ว่าชีวิตนี้ ที่สุดของความทุกข์อยู่ตรงนี้เองนะ ชีวิตที่เหลือเป็นชีวิตที่มีความสงบสุข

พระนิพพานมีลักษณะเฉพาะของตัวเองนะ ลักษณะเฉพาะของพระนิพพานเรียกว่า สันติ หมายถึงสงบ ลักษณะของพระนิพพานคือสงบ สงบจากอะไรบ้าง สงบจากกิเลส สงบจากความปรุงแต่ง ทั้งปรุงรูปธรรมนามธรรม ทั้งปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงสุขปรุงทุกข์ สงบจากกิเลส แต่ไม่ใช่สงบจากทุกสิ่งทุกอย่าง นิพพานยังมีอยู่ ไม่ใช่ว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย

เพราะฉะนั้นเราอย่าไปเข้าใจผิดว่านิพพานว่างๆ ว่างๆ แล้วเป็นนิพพาน คำว่าว่างๆ จะตรงกับคำว่า อากาสานัญจายตนะ ว่างๆ ช่องว่าง ไม่มีอะไรเลย ตรงกับคำว่า อากิญจัญญายตนะ ยังไม่ใช่พระนิพพาน

นิพพานมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี นิพพานว่างจากอะไร นิพพานว่างจากกิเลส ว่างจากความปรุงแต่ง ว่างจากทุกข์ ว่างจากขันธ์ แต่ไม่ใช่ว่างไม่มีอะไรเลย มีอยู่นะ มีความสงบ มีความสุข ไม่มีอะไรเสมอเหมือนกับพระนิพพาน ท่านบอกว่า นิพพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นบรมสุข นิพพานํ ปรมํ สุญฺญํ นิพพานว่างอย่างยิ่ง

ว่างอย่างยิ่งไม่ใช่ว่างไม่มีอะไรนะ ถ้าว่างไม่มีอะไรเป็นมิจฉาทิฎฐิ ถ้าว่างแล้วมีตัวมีตน นิพพานมีตัวมีตนก็เป็นมิจฉาทิฎฐิ ความจริงว่างจากกิเลส ว่างจากความปรุงแต่ง ว่างจากทุกข์ ว่างจากขันธ์ ว่างจากทุกข์

เรามาสังเกตใจของเรา ใจของเราไม่เคยว่างจากกิเลส นึกออกมั้ย ทั้งวันกิเลสเกิดทั้งวัน ดูออกหรือยัง กิเลสเกิดขึ้นมานะ ใจไม่ว่างจากกิเลส ไม่เห็นนิพพานสิ ใจเราหยุดปรุงแต่งมั้ย คิดนึกปรุงแต่งทั้งวันทั้งคืน นึกออกมั้ย ใจที่ไม่มีคุณภาพเนี่ย คือใจที่มีกิเลส ใจที่ไม่มีคุณภาพจะคิดนึกปรุงแต่งทั้งวันทั้งคืน เราก็เลยไม่เห็นสภาวะที่พ้นจากกิเลส สภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง คือไม่เห็นนิพพาน แล้วก็คิดว่านิพพานอยู่ไกล๊ไกล อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นสภาวะอุดมคติที่พระพุทธเจ้าตั้งมาหลอกเด็ก ให้คนทำดี บางคนคิดร้ายกว่านั้นอีกนะ หาว่าพระสร้างเรื่องนิพพานมาหลอกให้คนทำบุญ ไปกันใหญ่นะ

เราดูใจของเรา ใจเราไม่เคยว่างจากกิเลส ใจเราไม่เคยว่างจากความปรุงแต่ง ไม่ปรุงชั่วก็ปรุงดี ไม่ปรุงดีก็ปรุงว่างๆ ปรุงชั่วเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ปรุงดีเรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ปรุงว่างๆ ชื่อ อเนญชาภิสังขาร เพราะฉะนั้นเมื่อเราเริ่มต้นไปภาวนา น้อมจิตไปหาความว่าง อันนี้ถูกมั้ย ไม่ถูกหรอก มันคือความปรุงแต่งชนิดที่ ๓ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้น้อมจิตไปหาความว่าง

นิพพานนั้นพ้นจากขันธ์ จิตของพวกเรายึดถือขันธ์ เรารู้สึกมั้ย กายนี้คือตัวเรา ใจนี้คือตัวเรา ตราบใดที่ยังรู้สึกกายเป็นเราใจเป็นเรา แล้วจิตไปหยิบฉวยเอากายขึ้นมา ไปหยิบฉวยเอาใจขึ้นมา ก็ไม่เห็นนิพพานสิ เพราะนิพพานมันว่างจากรูปนาม ว่างจากธาตุจากขันธ์ นิพพานว่างจากทุกข์

ทีนี้จะพ้นจากทุกข์ได้ต้องว่างจากกิเลส ว่างจากความปรุงแต่ง ว่างจากขันธ์ ตัวขันธ์นั้นแหละตัวทุกข์ ตราบใดที่จิตใจของเราไปหยิบฉวยเอาขันธ์ ๕ มาเป็นของเราอยู่นะ มาเป็นตัวเรา มาเป็นของเราอยู่ ก็เท่ากับหยิบฉวยตัวทุกข์เอาไว้ ก็จะต้องทุกข์ต่อไป ไม่เห็นนิพพาน เพราะนิพพานนั้นเลยตัวขันธ์ไป

ถ้าจิตใจของเราเข้าถึงพระนิพพานนะ ล้างกิเลสได้ ใจพ้นจากความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งมีมั้ย ความปรุงแต่งมี ขันธ์ยังทำงานอยู่ พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นะ ขันธ์ยังทำงานอยู่ มันยังปรุงแต่งอยู่ แต่จิตนี้มันแยกออกไปจากความปรุงแต่ง จิตมันพรากออกจากขันธ์ ขันธ์อยู่ส่วนขันธ์ จิตอยู่ส่วนจิตนะ ไม่เกี่ยวกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป

ส่วนของเราไม่หรอก ขันธ์ทำงานไปนะ จิตเข้าไปตะครุบว่าขันธ์นี้เป็นตัวเรา เพราะฉะนั้นเราก็เข้าไปหยิบเอาตัวขันธ์ขึ้นมาถือไว้ ก็เท่ากับหยิบเอาตัวทุกข์มาถือไว้

ยกตัวอย่างนะ สมมุติขันธ์เหมือนถ้วยน้ำนี้ ถ้วยน้ำไปวางอยู่ตรงโน้น เราไม่หยิบขึ้นมา เราไม่หนักนะ ถ้าเราไปหยิบขึ้นมา ถือไว้เรื่อยๆ หนักนะ เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ เป็นภาระ เป็นของหนัก พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า คนทั้งหลายแบกของหนักไป แบกของหนัก แบกภาระไป ไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าวางของนักลงแล้ว แล้วก็ไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก ของหนักก็คือตัวขันธ์นั่นเอง พระอริยเจ้าท่านวางของหนักลงแล้วไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก ท่านเลยพ้นจากทุกข์ นั่นคือประจักษ์แจ้งพระนิพพาน
………………………………….

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่บริษัท ดอกบัวคู่
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔
CD: แสดงธรรมนอกสถานที่ บริษัท ดอกบัวคู่
File: 
540409A
ระหว่างนาทีที่  ๐ วินาทีที่ ๑๑ ถึง นาทีที่ ๗ วินาทีที่ ๐๖

0 comments on “#สมบัติผลัดกันชม : บทความในโอกาส จิด.ตระ.ธานี อายุครบ 4 รอบAdd yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *