วิกฤตวัยกลางคน | Midlife Crisis

เบื่อกันมั้ยครับ?

พอถึงวันล้ออายุ (26 ก.ค.) ทีไร ผมมักมีบทความยาวๆ มาฝากเสมอ ไม่ทราบหรอกครับว่า จะมีใครสนใจอ่านบ้าง แต่ขอโอกาสบ่นทีเถอะ 555+

เบื่อ…อาการแบบนี้… อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่พอย่างเข้าวัยนี้ สิ่งที่ผมรู้สึกอย่างหนึ่งคือ อาการเบื่อ…ที่ดูเหมือนจะเบื่อไปเสียทุกอย่างซะด้วยสิ

ฝรั่งเรียกการเดินทางมาถึงกึ่งหนึ่งของชีวิตว่า Midlife หากนับอายุเฉลี่ยคนเราที่ 75 ปี ช่วงวัยกลางคนจะอยู่ที่ 35 – 50 ปี แต่ตอนผมอายุ 35 ยังไม่เกิดอาการอะไรแบบนี้เลย แต่หลังจากขึ้นเลข 4 ก็มีนิดนึง พอเลย 45 จนล่วงมาถึงเวลานี้ หากพูดด้วยสำเนียงจีนแต้จิ๋วคือ “สี่จั๊บฉิก  四十七

มีศัพท์คำหนึ่งน่าสนใจ เกี่ยวกับปรากฎการณ์ทางจิตวิทยาในช่วงนี้คือ Midlife Crisis หรือ วิกฤตวัยกลางคน แน่นอนว่าอาการนี้ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต (เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการชนิดที่ควรเรียกได้ว่า “วิกฤต” มีเพียงคนส่วนน้อย ที่อาจลุกลามไปถึงอาการของโรคซึมเศร้า) แต่เป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยกลางคน (Midlife Transition) พอถามตัวเองว่า อาการทำนองนี้เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร จากข้อมูลที่สืบค้นได้ ก็มีอาการตรงกันหลายข้อ เช่น

  1. ความเสื่อมถอยของร่างกาย : สำหรับช่างเขียน หรือนักวาดภาพ ดวงตาคือสิ่งสำคัญ แต่อาการที่เกิดขึ้นสำหรับผมคือ “ตาเริ่มพร่า” จริงๆ ผมมีอาการที่ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “เยื่อบุตาอักเสบ” ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน เหตุเพราะใช้เวลาหน้าคอมพิวเตอร์ (สมัยนั้นยังไม่มีมือถือ) มากเกินไป เคยโหมทำงานหนักหน้าคอมพ์ติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนราว 1 เดือนเต็ม เพื่อเร่งปิดงาน เลยได้ของแถมอย่างที่เห็น เคยสอบถามอาการจากหมอ หมอระบุว่า เยื่อบุตาอักเสบ มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่ตอนนั้นผมเพิ่งอายุแค่สามสิบเศษๆ ก็เป็นแล้ว (ระวังกันไว้เด้อ…เด็กๆ) แต่…อาการตาพร่านี้ เริ่มเป็นหลังจากขึ้นเลข 4 มาได้สักระยะหนึ่ง
  2. ฮอร์โมนเปลี่ยน : อู้ย! เป็นคำที่ดูน่ากังวลไม่น้อย เพราะคนในวัยนี้กำลังเริ่มเข้าสู่ “วัยทอง” อว๊าก.ก.ก หากเป็นคุณผู้หญิงจะสังเกตได้ง่ายหน่อย เพราะเป็นวัยที่เริ่มหมดประจำเดือน แต่คุณผู้ชายล่ะ! ทางการแพทย์สรุปว่า ผู้ชายก็เข้าสู่วัยทองได้เหมือนกัน เหตุเพราะฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ลดลงโดยธรรมชาติ โดยจะเริ่มเมื่ออายุ 42 ปีเป็นต้นไป
  3. ต้องการความสำเร็จ : เมื่ออายุขึ้นเลข 4 การทดลองผิดลองถูกแบบทิ้งๆ เหมือนกับในช่วงต้นๆ ของชีวิตการทำงาน จะถูกจำกัดลง เหตุเพราะเมื่ออายุมาก ภาระก็มากขึ้น เวลาที่เหลือในชีวิตก็ลดลง การลองผิดลองถูกแต่ละครั้ง ย่อมต้องคิดมากขึ้น ไม่ห้าว ไม่ผลีผลาม ลุยๆ แบบสมัยยังหนุ่ม คนส่วนใหญ่ในวัยนี้ จึงต้องการความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชนิดที่จับต้องได้
  4. ตระหนักว่าเหลือเวลาอีกไม่นาน : คนบางคนอาจคาดหวังว่าจะตายตอน 70 – 80 ปี แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถล่วงรู้อนาคตได้เลยว่าจะตายเมื่อไหร่ คนตายตั้งแต่ยังเด็กหรือในวัยหนุ่มสาว ก็มีให้เห็นกันเกลื่อนตามหน้าข่าว ถ้า…นับจากเวลานี้ อีกสิบปีเศษ ผมก็ถึงวัยเกษียณแล้ว……. จริงๆ “ผมชอบระลึกถึงความตายในช่วงวันเกิดทุกที…” ไม่ได้เป็นโรคจิตนะ แต่ระลึกแล้วสบายใจดี เพราะรู้สึกว่า “ความตายเป็นของจริงของชีวิต และเป็นเรื่องสามัญที่สุดของทุกๆ คน” บางทีงานแต่งงานอาจไม่ได้ให้อะไรกับผมมากนัก เพราะบางคู่อยู่กันไม่ยืด เลิกราไปเสียก็มาก แต่ความตายนี่สิ แน่นอนฝุดๆ เพราะเป็นบทสรุปตอนจบที่จริงแท้แน่นอนของทุกๆ ชีวิต
  5. การสูญเสียคนใกล้ชิด : หากไม่นับญาติพี่น้อง แม้แต่เพื่อนฝูงทั้งสมัยมัธยม ยันมหา’ลัย ก็ไม่มีใครในรุ่นจะอยู่กันได้ครบทุกๆ คน (ถ้าคุณมีอายุถึงระดับหนึ่ง ลองสำรวจชีวิตคุณดูสิครับ ว่าจริงมั้ย?) ต้องมีตายไปกันบ้างล่ะ เพื่อนๆ บางคนตายตั้งแต่ยังหนุ่มก็มี ในขณะที่เพื่อนบางคน ตายตอนเมียเพิ่งคลอดลูกคนแรกก็มี

ก่อนหน้านี้ผมเคยตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงเกินมาตรฐาน เหมือนกับมี ยมบาลใจอารี ส่งข้อความมาเตือนว่า “เฮ้ย! ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง เอ็งเตรียมมาหาข้าในเร็ววันได้เลย..เว้ย” ฮาไม่ออก……. ผมเป็นนักวาด อิริยาบถส่วนใหญ่จึงเป็นการนั่ง ใช้มือและสายตาในการทำงานเป็นหลัก การออกกำลังกายน่ะเหรอ ไม่เคยเลย…. ถึงผมจะชอบกินผัก (แต่กลับมีพุง (ฮา) แต่…ก็มีนิสัยเสียอย่างหนึ่งคือ นอนดึกมาก ซึ่งไม่ค่อยดีแล้ว..สำหรับคนวัยนี้ แต่การที่ยมบาลส่งสารมาเตือนแบบชนิดเผาขนอย่างนี้ แน่นอนว่า…ผมต้องเลือกทำอะไรสักอย่าง จะวิ่งหรือ? ดูประหยัดดีนะ อาจลงทุนแค่รองเท้าวิ่งดีๆ สักคู่ ก็พอ แต่…บ่องตง ผมไม่ชอบวิ่งเอาเสียเลย (ไม่ได้เป็นพวกเดียวกะพี่ตูน Bodyslam) แต่….ถ้าเป็นการปั่นจักรยานล่ะ คำตอบคือ “ไม่ถอย…” แถมชอบมากกว่า แต่อาจต้องลงทุนกับจักรยานที่เหมาะสำหรับการออกกำลังกายดีๆ สักคัน ทุกวันนี้ หากไม่ติดงานด่วน หรือฝนไม่ตก ทุกเย็น ยามแดดร่มลมตก ผมจะคว้าเสือภูเขาออกไปปั่นในถนนหรือตรอกซอยละแวกบ้าน ระยะทางปั่นปกติก็ประมาณ 10 – 15 กิโลเมตร (บางวันอาจเลยไปถึง 20 กม. ก็มี) เริ่มจับเวลาและระยะทางจริงจังตั้งแต่ 13 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา

แนวทางการจัดการกับวิกฤตวัยกลางคน

แต่ละคนอาจใช้วิธีการไม่เหมือนกัน สำหรับผมคือ “ยอมรับสภาพ เข้าใจ และปรับตัว” ในเรื่องความเสื่อมทางกายก็อย่างที่คุยให้ฟัง ผมเริ่มหันมาออกกำลังกายแบบจริงจังและสม่ำเสมอมากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อลดความเสื่อมให้ช้าลง และปรับสภาวะความดันโลหิตให้สมดุล ส่วนสุขภาพทางใจ เรื่อง…อาการเบื่อไปหมด ส่วนหนึ่งก็เพราะกังวลว่า…ยังทำอะไรไม่สำเร็จอีกหลายอย่าง หากพูดด้วยภาษาพระที่กะเทาะใจ ก็คือ

กังวลอยู่แต่กับอดีตที่ผ่านไปแล้ว หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง แท้จริงควรอยู่กับปัจจุบันมากกว่า อดีตผ่านไปแล้ว..ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ปัจจุบันสิ คือจุดเริ่มต้นของอนาคต 

ยอมรับตรงๆ ด้วยความยังเป็นปุถุชน ซึ่งแปลว่า “ผู้ยังหนาไปด้วยกิเลส” เลยยังไม่อาจเลี่ยงที่จะคิดกังวลเรื่องอนาคตได้

ทุกวันนี้สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจทำ (เนื่องจากง่าย ลงมือได้ทันที ไม่ต้องใช้ทุนอะไร) อย่างแรกก็คือ ลุกขึ้นมาปัดฝุ่นเพจ facebook : Jitdrathanee ที่ปล่อยร้างมานาน (ปกติปีหนึ่งอัพเดทแค่ไม่กี่ครั้ง) ตั้งใจไว้ว่าจะโพสต์ทุกวัน (เริ่มเมื่อ 18 พ.ค. 2562) แต่ก็มีเหลวไหลไปบ้างอ่ะนะ แต่ก็พยายามล่ะ (ฮา) แต่ก่อน…เคยทำเว็บไซต์ชื่อ “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” ตั้งแต่ปี 2551 เป็นพื้นที่สำหรับสอนให้ความรู้เรื่องลายไทยเป็นวิทยาทาน (ซึ่งทำให้นักวาดภาพโนเนมคนหนึ่ง พอเป็นที่รู้จักของคนทั่วๆ ไป ขึ้นมาบ้าง จนหาญจัดนิทรรศการศิลปะ “จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ” กับสมาชิกกลุ่ม “วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี” มาได้ถึง 3 ครั้ง) แต่พอแพลตฟอร์มเปลี่ยนไป (คนหันมาเล่นมือถือ หรืออุปกรณ์ Mobile แทนเป็นหลัก) พื้นที่เดิมๆ ที่เคยใช้ เริ่มไม่เวิร์คเสียแล้ว จำเป็นต้องย้ายสถานะใหม่ โซเซียลเน็ตเวิร์คจึงเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่น่าสนใจ มาแรง และสามารถกระจายออกไปในวงกว้างได้ดีกว่า แต่ก็..อ่ะนะ เจ้าของเป็นฝรั่งต่างชาติ อาทิเช่น facebook ก็ต้องตามใจพี่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ฮีจะเปลี่ยนอัลกอริธึ่มเมื่อไหร่ก็ได้ (ทำนองเดียวกับของฟรีไม่มีในโลก) เราก็ต้องปรับตัวตามสภาพ ถึงจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารกับผู้คนเป็นหลัก แต่ฐานที่มั่นคือเว็บไซต์ส่วนตัว ก็ยังต้องคงไว้เช่นกัน

มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนวัยนี้ สำหรับผมก็คงไม่พ้นเรื่อง “ความตาย” เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทยมีบริการทำเรื่องบริจาคร่างกายออนไลน์ แบบง่ายมั่กๆ อันนี้ผมขอแนะนำเลย : www.chulalongkornhospital.go.th/anatomyreg

ผมก็เพิ่งไปกรอกข้อมูลมา (เมื่อ 22 ก.ค. 2562) ง่ายและสะดวกมาก หลังจากนั้นควรแจ้งกับญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิดให้ทราบด้วยว่า เราประสงค์จะบริจาคร่างกายเมื่อเราตาย เพื่อประโยชน์กับนักศึกษาแพทย์ ไปเรียบร้อยแล้วนะ เมื่อเราตายจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง (เพราะญาติมีสิทธิ์ปฏิเสธ ไม่มอบศพของเราให้กับทางโรงพยาบาลตามความตั้งใจของเราได้) ถือว่าลดความวุ่นวายในการจัดงานศพกับคนที่อยู่ข้างหลัง และถือว่าได้ทำบุญครั้งสุดท้ายด้วย

ตัวอย่างบัตรผู้อุทิศร่างกาย (ชั่วคราว) ผ่านการกรอกแบบฟอร์มออนไลน์จะเป็นแบบนี้ ส่วนบัตรตัวจริง จะส่งมาให้อีกครั้งในภายหลัง

ส่วนตัวผมยังคาดหวังและตั้งใจว่า อยากจะฝากสิ่งที่เรามีและเป็นประโยชน์ไว้ให้กับคนรุ่นหลังก่อนเราตาย ในลักษณะวิทยาทาน ซึ่งทุกๆ คนสามารถทำได้ แล้วคุณเองล่ะ! มีดีอะไรที่ต้องการเผยแพร่สู่สาธารณะในลักษณะวิทยาทานบ้าง ขณะนี้สื่อสังคมออนไลน์เปิดโอกาสให้กับคุณแล้ว…….. ลงมือกันได้เลยครับ อย่ารอช้า!

จิด.ตระ.ธานี

0 comments on “วิกฤตวัยกลางคน | Midlife CrisisAdd yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *