ยังไงก็ต้องทิ้ง! | Death Cleaning

บ่นทุกวันเกิด ปีละครั้ง #ทุกวันล้ออายุ

สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคย…คงไม่ต้องแปลกใจกันนะครับ เพราะทุกๆ วันล้ออายุในแต่ละปีๆ ของผม ผมจะเขียนบทความขนาดยาว เพื่อระลึกถึงวันนี้ วันที่ผมได้มีโอกาสลืมตาดูโลก และยังระลึกถึงวันที่แม่ต้องเจ็บปวดทรมานกับการคลอดไปพร้อมๆ กันด้วย

วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เป็นวันที่ผมมีอายุครบ 50 ปีบริบูรณ์ โอ้ว.ว.ว…..ในที่สุดก็เหยียบหลักที่ 5 จนได้ ใครจะเรียกขานผมว่า “ลุง” ยังไง ก็เอากันซะให้เต็มที่เลยนะครับ (ฮา) ครบรอบวันล้ออายุปีนี้ ผมสนใจแนวคิดหนึ่ง ที่มาจากหนังสือ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning: How to Free Yourself and Your Family from a Lifetime of Clutter ​โดย Margareta Magnusson (มาร์กาเรต้า แมกนัสสัน) ศิลปินสูงอายุชาวสวีดิช คุณยายแมกนัสสัน (เกิด พ.ศ. 2477 ในปี พ.ศ. 2565 คุณยายมีอายุครบ 88 ปีแล้ว) แนวคิด Death Cleaning มาจากคำในภาษาสวีเดน (Swedish) ว่า ‘dostadning’ แปลว่า “การทำความสะอาดบ้านก่อนตาย

หน้าปกหนังสือ : The Gentle Art of Swedish Death Cleaning

หลายๆ ครอบครัว อาจมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในบ้านที่ชอบเก็บข้าวของมากมายจนเป็นนิสัย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสำคัญหรือไม่สำคัญก็ตาม บางทียังงงๆ อยู่ว่าเก็บไปทำไม เพราะดูๆ ไปเหมือนขยะมากกว่า อาทิเช่น แม่ผมชอบเก็บหลอดนม หลอดกาแฟ ช้อนส้อมพลาสติก ถ้วยขนมพลาสติก กินเสร็จแล้วก็ล้างเก็บไว้ บางทีเก็บดองไว้นานหลายปี จนมันแบนเสื่อมสภาพก็ยังไม่ยอมทิ้ง

แต่เรื่องซุปเปอร์สุดหวงข้าวของนี้ เคยเกิดขึ้นในครอบครัวผมคือ “เตี่ย” ผมเองครับ เตี่ยเป็นคนขี้ตระหนี่ทำให้แกไม่ยอมทิ้งของอะไรง่ายๆ แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกแล้วก็ตาม บ้านก็เป็นบ้านแถวหลังเล็กๆ แต่กลับอุดมไปด้วยข้าวของที่เตี่ยซุกไว้เต็มบ้าน ผมชอบกวนตีนแก แอบเอาของไปทิ้งบ่อยๆ ถ้าไม่รู้ก็แล้วไป แต่ถ้ารู้ทีทะเลาะกันบ้านแตก เกือบถึงขั้นวางมวย ผมกับเตี่ยนี่ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมาประจำบ้านของแท้

แต่หลังจากเตี่ยป่วยเป็นมะเร็ง ถึงกระนั้นความหวงของอย่างมากของแกก็ยังไม่หายไปไหน แต่เมื่อแกจากไปแล้วนี่แหละ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงตกเป็นภาระของคนที่อยู่ข้างหลังทันที เพราะข้าวของเกินกว่า 90% ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับคนที่อยู่ข้างหลังเลย อาทิ กระดาษเอกสารเป็นลังๆ เศษชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ทั้งโลหะทั้งพลาสติก ของใช้เก่าที่เสียแล้วแต่ไม่ยอมทิ้ง (บานหน้าต่างเก่า เหล็กดัดเก่าก็มีนะ) และของจุกจิกจิปาถะอีกเยอะ จำได้ว่า..วันที่ขนรื้อของออกมากองจนเต็มหน้าบ้าน “ซาเล้ง” (รถรับซื้อของเก่า) ยิ้มเลย

ที่มาภาพ : https://www.houzz.co.nz/magazine/swedish-death-cleaning-the-hottest-decluttering-trend-of-2018-stsetivw-vs~101603126

คุณยาย Margareta Magnusson

สาระสำคัญของ Death Cleaning ที่คุณยายแมกนัสสันเขียนเล่าในหนังสือ คือการจัดการข้าวของที่ไม่ได้ใช้แล้วทิ้งเสียบ้าง หรือมอบให้กับคนอื่นบ้าง และควรทำในขณะที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระกับคนที่ยังอยู่ข้างหลัง เพราะสุดท้ายเมื่อเราตาย ก็ไม่สามารถเอาอะไรติดตัวไปได้อยู่ดี แม้ร่างกายเราที่เคยรักเคยหวง ยังต้องเน่าเปื่อยผุพังสลายไป จะเอาอะไรกับสิ่งของภายนอกร่างกาย ที่เคยประกาศว่าหวงนักหวงหนา แต่กลับเอาไปไม่ได้เลยสักอย่างเช่นกัน เพราะท้ายที่สุด #ก็ต้องทิ้งอยู่ดี

แนวคิด Death Cleaning เป็นหนึ่งในหลักการคิดของชาวมินิมอล (Minimalism) ที่นิยมจัดบ้านให้เป็นระเบียบ เหลือของให้น้อยชิ้นให้มากที่สุด ซึ่งไปในทางเดียวกับ #วิธีคมมาริ (Konmori) ของ มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo) ชาวญี่ปุ่นผู้เขียนหนังสือ Best Seller “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว : 人生がときめく片づけの魔法” ที่มียอดขายหลายล้านเล่มทั่วโลก

แต่วิธีคิดของคุณยายแมกนัสสัน เน้นว่าควรจัดการข้าวของ ของเราตั้งแต่เรายังมีชีวิตอยู่ด้วย ถึงจะดีที่สุด เพราะเลือกทิ้งเองได้ทั้งหมดสะดวกกว่ามาก โดยคุณยายแมกนัสสัน ทดลองทำ Death Cleaning ในช่วงบั้นปลายชีวิตแล้ว ซึ่งอาจฟังดูหม่นหมองสักนิด แต่ความจริงกลับไม่ได้เศร้าอย่างที่คิด เพราะคุณยายกลับได้พบกับความสุขที่แสนสุนทรี แถมยังถือเป็นโอกาสได้สานสัมพันธ์กับคนภายในครอบครัว และคนรอบข้างในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย

จริงๆ ไม่จำเป็นว่าต้องรอให้แก่ขนาดคุณยายแมกนัสสันเสียก่อน ถึงจะจัดการได้นะครับ เพราะการเตรียมการ Death Cleaning สามารถทำได้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว โดยทยอยจัดไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องรีบร้อน วันละนิดวันละหน่อยก็ไม่มีปัญหา เพราะเอาจริงๆ คือ คงไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า เราต้องแก่ก่อน…ถึงจะตาย จริงไหมครับ?

หลักวิธีคิดของ Death Cleaning มีดังนี้ครับ

  • การระลึกถึงความตาย ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเศร้าหรือหม่นหมอง ให้กระทำด้วยความยินดี…ก็ได้นะ
  • กระบวนการเก็บข้าวของ ต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ค่อยๆ ทำไปด้วยความอ่อนโยน
  • ไม่ต้องรีบร้อน Death Cleaning สามารถทำได้เรื่อยๆ ไม่จำเป็นว่าต้องทำบ้านให้โล่งว่างเหมือนใหม่ทันที แต่สามารถทำซ้ำไปได้ตลอดชีวิต โดยใช้เวลาเพียงวันละ 30 นาที หรือนานๆ ที ค่อยๆ ทำก็ได้
  • ให้คิดเสมอว่าเราอยากจะทิ้งอะไรไว้ให้คนข้างหลังจดจำ และตัดสินใจจะมอบอะไรให้กับคนที่เรารัก ต้องคิดว่าเขาจะรู้สึกแฮปปี้ที่ได้รับมันด้วยไหม ควรคิดเผื่อคนรอบตัวเราให้มากๆ
  • ของดีๆ เก็บเอาไว้ได้ เพื่อเอาไว้ใช้ยาวๆ แต่อะไรที่ไม่สำคัญกับเราควรปล่อยทิ้งไปเสีย ลดการใช้สิ่งของและการบริจาคสิ่งของที่จะกลายเป็นขยะได้อย่างรวดเร็ว
  • แม้จะเป็นของส่วนตัวของเรา “แต่…อย่าลืมบอกคนรอบตัวว่า “เรากำลังทำอะไรอยู่” เราสามารถชวนคนใกล้ตัวมาช่วยเก็บได้ด้วยถ้าต้องการ เพราะการเก็บบ้านกับคนใกล้ตัว ถือเป็นโอกาสดีๆ ที่ได้ร่วมระลึกถึงความทรงจำเก่าๆ ผ่านวัตถุชิ้นต่างๆ ร่วมกัน

ในหนังสือยังระบุอีกด้วยว่า ของน่าอายต่างๆ อาทิ Sex toy ควรเป็นตัวเราที่คัดทิ้งด้วยตัวเองจะดีกว่าไหม ไม่อย่างงั้นถ้าปล่อยให้คนข้างหลังเป็นคนทิ้ง เขาอาจรู้ความลับเราได้นะ (อันนี้ฮามากครับ)

ผมมองว่าแนวคิด Death Cleaning มีอะไรลึกซึ้งมากกว่านั้น เพราะอย่างไรก็แล้วแต่….มนุษย์เราทุกคนควรระลึกไว้เสมอว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องจากไป ไม่ว่าเราจะหวงของชิ้นใดชิ้นหนึ่งมากน้อยแค่ไหน เราก็เอามันไปไม่ได้อยู่ดี เอาเป็นว่า ข้าวของที่เรา (สมมุติ) ว่าเป็นเจ้าของทั้งหมด สุดท้ายมันก็ต้องถูกทิ้งทั้งหมด (อยู่ดี) จริงมั้ยครับ? ถ้าหากมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับคนที่อยู่ข้างหลัง

ถึงจะเป็นแนวคิดของฝรั่ง แต่ถือเป็นแนวทางที่ไปกันได้กับวิธีคิดแบบ #มรณานุสติ ของชาวพุทธเหมือนกัน ส่วนตัวผมชอบวิธีคิดแบบนี้มาก พร้อมกับสอดส่ายสายตาดูข้าวของรอบๆ ตัวเอง สมมุติว่า…พรุ่งนี้ผมเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน สิ่งของต่างๆ ที่อยู่ภายในบ้านของผมทั้งหมดส่วนใหญ่ จะกลายเป็นขยะทันที

วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้เราได้ ลด ละ ปล่อยวาง ได้มากยิ่งขึ้นด้วยครับ ทำให้เลิกหวงข้าวของอะไรที่ไร้สาระ และไม่ได้ใช้ประโยชน์อีก

แต่ที่หวงเพราะเสียนิสัยเป็นลูกอีช่างเก็บ (ฮา) ลองสอดส่องดู ข้าวของบางชิ้นก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แม้กระทั่งตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่…ก็มี โดยวิธีคิดแบบนี้ ทำให้เราเลือกที่จะสละข้าวของต่างๆ ทิ้งได้โดยง่าย

ปีนี้ผมอายุครบ 50 ปีเต็มแล้ว ถือว่าเดินเลยครึ่งทางของชีวิตมาเรียบร้อย ยังมีสิ่งของหลายๆ อย่าง ที่ผมคิดว่าน่าจะจัดการด้วยวิธี Death Cleaning ได้ คือผมมีรูปวาดอยู่จำนวนหนึ่งทั้งชิ้นเล็กและชิ้นใหญ่ ที่ยังไม่มีเจ้าของ (ตรงๆ คือยังขายไม่ออกนั่นแร (ฮา) บางรูปอยู่กับผมมานานเกิน 10 ปี หรือ 20 ปีแล้ว รูปภาพอาจเป็นของมีค่าที่ระบุตัวตนของผมได้ดีกว่าสิ่งของอย่างอื่นๆ กำลังคิดอยู่ว่าควรจะจัดการอย่างไรดีเหมือนกันครับ เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ตกเป็นภาระกับคนที่อยู่ข้างหลัง

ปัจจุบันนี้ผมก็ได้จัดการกับข้าวของบางส่วนในบ้านไปบ้างแล้ว พอตัวบ้านเริ่มโล่ง ก็ทำให้รู้สึกโปร่งสบายมากขึ้นด้วย การรู้จักทิ้งหรือคัดบริจาคเสียบ้าง มันก็คล้ายๆ กับการค่อยๆ ทำความสะอาดจิตใจตัวเองเป็นระยะๆ ด้วยเหมือนกันนะครับ เพราะยังง้าย…ยังไง สุดท้ายก็ต้องทิ้งอยู่ดี ผมรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้…ให้ประโยชน์สูงมากกว่าโทษอีกนะ

จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee

เขียนเนื่องในวาระ อายุครบ 50 ปีบริบูรณ์

0 comments on “ยังไงก็ต้องทิ้ง! | Death CleaningAdd yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *