ความเป็นชาวพุทธแท้ (วิกฤตพุทธ)

พอดีเพิ่งเขียนบทความเสริม ต่อจากคำอธิบายผลงานสเก็ตช์สีชื่อ “ตามรอยแห่งพุทธะ” ของ คุณอำคา สุวรรณเพชร สมาชิก no.165 ที่จะส่งร่วมแสดงใน นิทรรศนา ศิลปะ ธรรมะ “จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ 3 ตามรอยสีไทย” จึงขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพราะเป็นสภาพการณ์ของพุทธศาสนาในบ้านเราแบบตรงไปตรงมา ส่วนหนึ่งนำมาจากคำกล่าวของครูบาอาจารย์ ที่ผมได้มีโอกาสศึกษาธรรมะด้วย

ความเป็นชาวพุทธแท้

เป็นเรื่องน่าห่วงและคงไม่เกินความจริงนัก หากจะกล่าวว่าพุทธศาสนาในบ้านเรา ณ เวลานี้ กำลังอยู่ในภาวะร่อแร่ๆ และใกล้จะสูญเต็มทน ถึงแม้เราจะยังเห็นพระสงฆ์ เห็นวัดวาอารามที่สวยงาม เห็นวิถีความเป็นชาวพุทธดาษดื่นอยู่ทั่วทุกหัวระแหงก็ตาม หรืออาจจะรู้สึกภาคภูมิใจที่คนในประเทศประกาศตัวเป็น “ชาวพุทธ” อยู่ในทะเบียนบ้าน/บัตรประชาชน มีจำนวนสูงถึง 80 – 90% แต่หารู้ไม่ว่าคนจำนวนมากเหล่านั้น กลับเป็นคนไม่มีศาสนาเสียมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร…?

  1. พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง “กฎแห่งกรรม” แต่คนส่วนใหญ่กลับเชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” (ลองพิจารณาดูว่าจริงมั้ย?)
  2. ศาสนาพุทธเป็นคำสอนที่มีเหตุมีผล เราทำอะไรก็ได้อย่างนั้น ไม่ว่าจะบุญหรือบาป โดยเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นสืบไป แต่…คนส่วนมากกลับเชื่อเรื่อง “ดวง” เชื่อเรื่องผลกระทบต่อชีวิต ที่มาจากการโคจรของดวงดาวนอกโลก เชื่อเรื่องเคราะห์ เรื่องโชคลาง จนผิดเพี้ยนไปไกล เกิด “พิธีแก้กรรม” ซึ่งข้อเท็จจริง คือ กรรมแก้ไม่ได้ แต่เราสามารถพัฒนากรรมใหม่ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ โดยไม่ทำกรรมชั่วซ้ำๆ เพิ่มเข้าไปอีก แต่ต้องมุ่งมั่นสร้างแต่กรรมดี เพิ่มเติมเข้าไปแทนในปริมาณที่มากกว่า  *หากจะให้เปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น กรรมชั่วอาจเปรียบได้กับเกลือ 1 ช้อน ที่ละลายอยู่ในน้ำเปล่า 1 แก้ว แน่นอนว่า..น้ำแก้วนั้นย่อมเค็มจัด แต่หากเราเพิ่มปริมาณน้ำ (เปรียบได้กับกรรมดี) ให้มีจำนวนมากกว่า จนมีปริมาณเท่ากับโอ่ง 1 ใบ เพราะฉะนั้นกรรมชั่วที่มีเพียง 1 ช้อน ก็คงไม่สามารถทำให้ปริมาณน้ำทั้งโอ่งเค็มได้อีก แต่เกลือ 1 ช้อนนั้น ก็ไม่ได้หายไปไหน
  3. พระพุทธเจ้าสอนเรื่อง จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน แต่คนส่วนมากกลับเชื่อว่า เมื่อตายแล้ว จิตจะออกจากร่าง ไปพักอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งก่อน เพื่อรอการเกิด และจิตดวงเดิมนี่แหละ ที่ไปเข้าร่างเกิดใหม่ (*ความเชื่อนี้เป็นของพราหมณ์-ฮินดู ที่เชื่อว่า จิต/วิญญาณเป็นอมตะ ในลักษณะที่เรียกว่า “อาตมัน” หรือ “ปรมาตมัน” หรือการเชื่อว่า “มีอัตตาถาวรอยู่จริงๆ”)
  4. มีคนจำนวนมากเชื่อว่า “นิพพานเป็นโลกๆ หนึ่ง” ที่สามารถขึ้นไปถวายสิ่งของ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในนิพพานสถานได้ แต่..นั่นคือคำสอนในลัทธิศาสนาอื่น ที่เอามาปะปนจนเพี้ยน (ที่น่าเศร้าคือ…ดันถูกประกาศโดยพระสงฆ์เสียเอง)
  5. คนส่วนมากอยากมีพระเจ้า เลยวาดภาพพระพุทธเจ้าให้เป็น “ตัวแทนของพระเจ้า” ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่กราบไหว้พระพุทธรูป โดยรู้สึกแทบไม่ต่างอะไรจากการไหว้เทวรูป โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา หรือไม่ก็ขอโน่นนี่นั่น เพื่อความเฮง ความรวยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องพุทธสักเรื่อง

ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงแค่บางส่วน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการปนเปื้อน และยังอยู่ในแวดวงพุทธศาสนาเยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งแม้แต่พระสงฆ์บางองค์ ก็ยังสอนชาวบ้านกันแบบนี้………

พระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์ เราจึงควรภาคภูมิใจที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับท่าน ซึ่งมีศักยภาพสูงมากๆ ที่จะนำพาเราให้พ้นทุกข์ได้ด้วยตัวเอง ด้วยการกระทำของเราเองอย่างแท้จริง หากเจริญรอยตามคำสอนของพระพุทธองค์ให้ถูกต้องตรงทาง การศึกษาว่า “อะไรคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับชาวพุทธ”

**ทุกวันนี้มีคนจำนวนหนึ่งมองว่า สมาชิกในศาสนาอื่น กำลังวางแผนด้วยความอาฆาตมาดร้าย จ้องทำลายล้างพุทธศาสนาให้หมดไปจากประเทศไทย แต่ไม่เคยมองกลับมาเลยว่า “คนในแวดวงพุทธด้วยกันเองนี่แหละ ที่เป็นคนแรกสุด ที่จะทำลายตัวเองก่อน” ด้วยการประกาศคำสอนเพี้ยนๆ ที่เรียกว่า “สัทธรรมปฏิรูป” คือ คิดเองเออเอง มั่วเอง แล้วก็ประกาศออกไป… แล้วก็แปะป้ายว่านี่คือพุทธ ชาวบ้านที่ขาดความรู้พุทธเชิงลึกอยู่แล้ว ก็เฮละโลเชื่อตามๆ กันไป เหตุเพราะบุคคลนั้นดูแล้วน่าเชื่อถือ หรือไม่ก็เป็นพระสงฆ์เสียเองที่เป็นผู้ประกาศสัทธรรมปฏิรูป (ธรรมที่ผิดเพี้ยน) นั้น ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นการทำลายจากภายในก่อน เมื่อภายในอ่อนแอเสียแล้ว จึงกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ ให้ถูกทำลายจากภายนอกได้โดยง่าย…..

จริงๆ ศาสนาพุทธ (โดยเฉพาะพุทธดั้งเดิมแบบเถรวาท) มีจุดสำคัญที่ทำให้ตกอยู่ในภาวะศาสนาของคนจำนวนไม่มาก (ถ้าเทียบกับศาสนาใหญ่ๆ ของโลกทั้งหมด) เพราะการประกาศคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “ศาสนาแห่งปัญญา” นั้น เป็นการทวนกระแสโลกอย่างแรง ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร?

  1. เพราะชาวโลกส่วนใหญ่ “ไม่ชอบพึ่งตัวเอง” แต่ชอบแสวงหาที่พึ่งจากภายนอก **จึงเกิดลัทธิบูชา อ้อนวอน ร้องขอ ต่างๆ ขึ้นมามากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และไม่เคยหมดไปจากโลกนี้ **ตรงกับพระสูตรบทหนึ่งที่กล่าวว่า “คนทั้งหลายเวลามีความทุกข์ ก็ไปไหว้ภูเขาบ้าง ต้นไม้บ้าง จอมปลวกบ้าง รุกขเทวดาบ้าง เพราะหวังว่านี่จะเป็นสรณะ หรือที่พึ่ง แต่นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม หรือที่พึ่งที่ปลอดภัยเลย” มีแต่การเข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้นจึงจะได้ที่พึ่งอันแท้จริง
  2. เพราะชาวโลกต้องการ “สุขถาวร สงบถาวร ดีถาวร” แต่พระพุทธองค์สอนว่า “สุข สงบ และดีถาวร ไม่เคยมีอยู่จริง” แต่ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ หรือเป็นอยู่ได้ เพราะอาศัย เหตุ+ปัจจัย เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งจะตั้งอยู่ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะทุกสิ่งที่ขึ้นชื่อว่า “เกิด” ล้วนตกอยู่ภายใต้ “กฎไตรลักษณ์” ทั้งสิ้น “กฎไตรลักษณ์” หรือที่แปลว่า “ลักษณะอย่างสามัญ 3 ประการ ประจำโลก” ประกอบด้วย 1. อนิจจัง ไม่เที่ยง เพราะทนอยู่ไม่ได้ด้วยตนเอง 2. ทุกขัง เป็นทุกข์ เพราะถูกบีบคั้นให้ต้องเสื่อมสลายตัวอยู่ตลอดเวลา 3. อนัตตา บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจเรา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่มันเป็นไปตามเหตุ ดั่งสำนวน “เมื่อมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ไม่เป็นไปตามใจเรา”
  3. ชาวโลกส่วนใหญ่ “ล้วนเกลียดทุกข์ กลัวทุกข์ รักแต่สุข ปรารถนาที่จะหนีจากทุกข์ไปให้ไกลๆ” แต่พระพุทธเจ้า กลับสอนให้ “รู้ทุกข์” หรือเลือกที่จะเผชิญกับความทุกข์โดยตรง ทั้งนี้เพื่อให้ศึกษาจนรู้อย่างแจ่มแจ้งว่า “ทุกข์คืออะไร? ตามความเป็นจริง” เพื่อที่จะ “ละทุกข์” ได้ในที่สุด

ด้วยมูลเหตุที่สวนกระแสโลกดังที่กล่าวมา ทำให้ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์จึงทรงรู้สึกท้อพระทัยที่จะเผยแผ่คำสอน เพราะชาวโลกจำนวนมากคงปฏิเสธกันพัลวัน แต่ด้วยพระมหากรุณาที่เล็งเห็นว่า ยังพอมีคนจำนวนหนึ่ง ที่สามารถทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรมได้ พระองค์จึงเริ่มประดิษฐานศาสนาพุทธตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงทุกวันนี้ที่นับเวลาล่วงมาได้เกินกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว แต่คงอีกไม่นานเกินรอ ศาสนาพุทธในบ้านเรา ก็คงถึงกาลเสื่อม เพราะคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงหัวใจของศาสนาพุทธ ประกอบกับผู้สอนที่รู้ธรรมะแจ่มแจ้งมีน้อย อีกทั้งยังหาผู้ที่สามารถปรับวิธีการสอนให้เหมาะสมกับคนยุคปัจจุบันนี้ได้ยากอีก ประกอบกับเดียรถีย์ทั้งหลายในคราบพุทธ ก็ประกาศคำสอนปลอมปนกันแบบกระหึ่มกึกก้อง จนคนทั้งหลายที่ไม่รู้ (เพราะขาดการศึกษา) แยกแยะไม่ออกว่า อันไหนแท้อันไหนเทียม จนปนเปกันไปหมดแล้ว

0 comments on “ความเป็นชาวพุทธแท้ (วิกฤตพุทธ)Add yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *