Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        เต้ย หนุ่มจากเมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา ที่สนใจวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ (เพิ่งหัดวาดลายไทยตอน ม.๒ นี่เอง) ส่งผลงานลายไทยมากฝีมือ มาร่วมโชว์อีก ๑ ภาพ ครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานของเต้ยครับ

ธีรวัฒน์ ภาคีพร (เต้ย) , ๑๙ ปี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (คณะครุศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป) , จ.พระนครศรีอยุธยา

แรงบันดาลใจ : ภาพนี้อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย เขาให้ผมวาดครับ วิชาการพัฒนาตน (คล้ายๆ จิตวิทยา) เนื่องจากไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะชอบวาดรูป แต่ไปเรียนวิทยาศาสตร์น่ะครับ เลยน้อยใจที่ผมไม่เก่งคำนวณ เลยคิดว่าผมไม่มีอะไรดี อาจารย์เขาเลยถามผมว่า ชอบทำอะไร.? ผมเลยตอบไปว่า ชอบวาดรูป เขาเลยให้เวลา ๑ เดือน ให้วาดไปส่ง ผมเลยวาดได้ ๑ ภาพ เพราะเวลาว่างไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่ พอวาดเสร็จ ผมก็รู้สึกดีมากๆ ครับ... ซึ่งกำลังใจส่วนหนึ่ง ก็มาจากอาจารย์ ธานี ชินชูศักดิ์ จากคอมเม้นท์ในรูปที่แล้วด้วยครับ... ผมขอบคุณมากๆ... ส่วนความหมาย... ผมก็สะท้อนว่า คนเราเปรียบเป็นดอกบัว... มีอันตรายอยู่โดยรอบ... กว่าจะเติบโตจนแข็งแกร่ง... ผมก็อิงเรื่องดอกบัว ๔ เหล่า ของพระพุทธเจ้า นั่นแหละครับ... ขอบคุณครับ...

ส่งผลงานเมื่อ ๓ มี.ค. ๒๕๕๔)
 






Toey's Portrait


 

13
123456789101112131415


    จากเรื่องที่เต้ยเล่ามา..ในแรงบันดาลใจ ผมรู้สึกเห็นใจนะ เพราะเต้ยเองคงไม่สามารถขัดทางบ้านได้ ทำให้ต้องจำใจเรียนในสาขาที่ตัวเองไม่ถนัด และไม่ชอบเอาเสียเลย แต่ชีวิตคนเราอาจไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือถูกใจได้ไปหมดเสียทุกๆ อย่างนะครับ หากจะให้ผมแนะนำ...ทางเลือก สำหรับกรณีนี้ คงจะเป็นไปได้อยู่แค่ ๒ ทางใหญ่ๆ นะครับ คือ ๑). ก้มหน้าก้มตารับชะตากรรม และต้องก้าวเดินต่อไปให้จงได้ หรือ ๒). เลือกที่จะกระโดดออกมาตรงๆ เลย เพื่อพลิกชะตาชีวิตตนเอง ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงและสาหัสอย่างมาก เอาเป็นว่า..ผมขอเล่าเรื่อง ที่อาจจะเป็นแนวทางให้เต้ย มองเห็นภาพในอนาคตต่อจากนี้ไปบ้าง ก็ได้นะครับ

    สมัยผมเรียนมหา'ลัย ผมมีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่งครับ ตั้งแต่รู้จักคบหากันมา ผมรู้สึกแปลกใจอยู่อย่างหนึ่งว่า ทำไมหมอนี่มันถึงขยันจัง (วะ) เพราะหลังจากเรียนจบในแต่ละวัน แทนที่เขาจะไปสรวลเสเฮฮาตามประสา เหมือนพวกเรา แต่เขากลับมุ่งตรงสู่หอพัก และใช้เวลาที่เหลือทั้งหมด ทุ่มเทๆ ง่วนให้กับงานวาดรูป รูปแล้ว รูปเล่า ที่กองอยู่ตรงหน้า ภายในห้องคนเดียว ทุกๆ วัน ไม่เคยมีวันหยุด จนผมรู้สึกว่า เขาขยันเสียยิ่งกว่ามดซะอีก จนกระทั่งพวกเราจบปริญญาตรีพร้อมกัน (เขาได้เกียรตินิยมอันดับ ๑) ผมเอง..ก็ไม่เคยระเคะระคายเรื่องส่วนตัวลึกๆ ของเขาเลย เพราะเขาไม่เคยแม้แต่จะปริปากพูด
    จนกระทั่ง..ในงานแสดงนิทรรศการศิลปะเดี่ยวของเขาครั้งหนึ่ง (ตอนนั้นผมจบมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว) แขกรับเชิญ (อ.เผ่าทอง ทองเจือ) ที่ให้เกียรติขึ้นมาพูดออกไมค์ในงาน เพื่อแนะนำศิลปิน ได้พูดแนะนำประวัติสั้นๆ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดในชีวิต ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ อย่างมั่นคงและเต็มตัวอย่างทุกวันนี้ แน่นอนว่า... ผมเพิ่งทราบ ณ วินาทีนั้นเองว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เพื่อนผมคนนี้ (โคตรๆ ๆ ซุปเปอร์โคตร) ขยัน.....

    เขาสอบติดเพาะช่าง ที่กรุงเทพฯ หลังจากเรียนจบจากอาชีวะเชียงราย แต่คุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียวที่เขาเหลืออยู่ ไม่สนับสนุนให้เขาเรียน ด้วยเหตุผล ที่กลัวว่า..ถ้าหากลูกชายเรียนจบศิลปะ คงจะประกอบอาชีพได้เพียง ช่างวาดรูปโปสเตอร์ติดโรงหนัง (โรงหนังแบบโบราณนะครับ ที่ยังต้องอาศัยช่างวาดรูปให้อยู่ ปัจจุบันนี้ไม่น่าจะมีแล้ว) คุณพ่อเขายืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่า ยังไงๆ ก็จะไม่ส่งเรียน
    สิ่งนี้ทำให้เพื่อนผมรู้สึกกดดันอย่างหนัก จนในที่สุด เขาตัดสินใจ "สละเรือ" (น่าจะตรงกับสำนวน "มาตายเอาดาบหน้า") โดยเขาเลือกที่จะ (หนี) ออกจากบ้าน และไม่เคยหวนกลับไปอีกเลย (เท่าที่ทราบ น่าจะติดต่อกันนานหลายปี) งานวาดรูปที่ผมเห็นเค้าง่วนทำแล้วทำเล่า ไม่เคยหยุด ตั้งแต่สมัยเรียนด้วยกัน จริงๆ แล้ว ก็เพื่อจะนำไปแปรเป็นเงิน เพื่อใช้เป็นค่าส่งตัวเองเรียน ค่าเช่าหอ ค่าอยู่ค่ากิน และก็ค่าอะไรต่อมิอะไร อีกจิปาถะไปหมดนั่นแหละครับ นอกจากนั้นเขายังตั้งหน้าตั้งตา ส่งผลงานประกวดในเวทีศิลปะใหญ่ๆ เพื่อปูทางที่มั่นคงให้กับสายอาชีพนี้ในอนาคตอีกด้วย
    ทุกวันนี้เขาได้เป็นอาจารย์ประจำอยู่ในมหาวิทยาลัย ที่ผมและเขาจบมา ปี ๒๕๔๔ ได้รับรางวัลที่ ๑ เหรียญทอง จิตรกรรมแบบไทยประเพณี จิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ ๒๕ ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ด้วยความสำเร็จในสายอาชีพนี้อย่างยิ่งใหญ่ (ถ้าเทียบกับผม ก็ทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่นเลย) เขาคนนี้ ไม่ใช่ใครหรอกครับ ก็คือ ผศ. สุวัฒน์ แสนขัติยารัตน์ ในทุกวันนี้นี่เอง

    แน่นอนว่า...ถ้าหากคิดจะเลือก "สละเรือ" แล้วค่อยๆ ต่อแพไม้ไผ่ โต้คลื่นลม ฝ่าพายุ กลางมหาสมุทรด้วยตนเอง (ซ้ำร้าย..แพยังพร้อมจะแตกเป็นระยะๆ) อย่าง อ.สุวัฒน์ ผมก็คงต้องบอกตามตรงว่า งานนี้ไม่เหมาะ (อย่างยิ่ง) กับคนใจเสาะ เหลาะแหละ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เพราะเส้นทางนี้ โหดกว่าที่คิดมาก แต่ทุกวันนี้ อ.สุวัฒน์ และคุณพ่อเข้าใจกันดีแล้วนะครับ
    นี่อาจเป็นเพียงเส้นทางชีวิตของคนๆ หนึ่ง..ที่ผมพอจะเล่าสู่กันฟังได้บ้างนะครับ จริงๆ ถ้าใครมีโอกาสศึกษาประวัติของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (ศิลปินแห่งชาติ "จิตรกรรม" พ.ศ. ๒๕๕๔) ระยะแรกๆ ก็ไม่ค่อยแตกต่างไปจากนี้มากนัก เพราะอาชีพศิลปิน คนเขียนรูป มักเป็นอาชีพที่คนไทย มักจะดูถูกดูแคลนมากที่สุด อาชีพหนึ่งอยู่แล้วครับ เพราะในความเป็นจริง มันก็โตยากจริงๆ นั่นแหละ อันนี้ผมไม่ปฏิเสธ แต่ใช่ว่า...จะไม่มีทาง

    ผมไม่ทราบว่าทางบ้านเต้ย มองเต้ยอย่างไงนะครับ อาจ (เดานะ) เห็นว่าเต้ย...ไม่เคยทำไรให้ที่บ้านประจักษ์ว่า จะเอาตัวรอดได้จริงหรือเปล่า.? ถ้าหากคิดเลือกที่จะเรียนสายอาชีพนี้ (ไม่นับความรู้สึกดูแคลน อาชีพคนทำงานศิลปะแต่ดั้งเดิมนะครับ) แต่...ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ คงหาได้ยากจริงๆ ที่พ่อแม่จะไม่คิดห่วงใยอนาคตลูก นี่ก็อาจเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง ที่ไม่สามารถ..ปล่อยให้เต้ยเลือกเรียนอย่างที่ใจชอบได้นะครับ เอาเป็นว่าผมขอสมมุตินะ แค่สมมุตินะครับ ถ้าเต้ยฟังคำแนะนำของผมแล้ว และคิดอยากจะ "สละเรือ" เต้ยควรเตรียมใจ และควรทำอะไรบ้าง

๑). ตอนนี้เต้ยเรียนอยู่ในมหา'ลัยแล้ว ถ้าต้องสอบเข้าใหม่ และจำเป็นต้องเรียนย้อนเสียเวลาอีกหลายปี พร้อมไหม.?
๒). ผมคงไม่แนะนำให้ทิ้งที่บ้านมาเฉยๆ ดื้อๆ แต่ควรจะอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ (ที่พ่อแม่เป็นห่วง..เพราะรักเรานะครับ) ถึงหนทางที่เราต้องการเลือกจริงๆ เต้ยจำเป็นต้องวางแผนระยะยาวด้วย ถ้าเกิดสอบติดภายในปีเดียว ถือว่าดีไป แต่ถ้าไม่ติดไปหลายๆ ปี จะทำยังไง.?
๓). หาทุนการศึกษามาสนับสนุนการเรียนของเรา มีทางไหนบ้าง.? โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่ หรือเดือดร้อนให้น้อยที่สุด
๔). ถ้าต้องหางานระหว่างเรียนไปด้วย เพื่อเป็นรายได้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดของตัวเอง ทำได้มั้ย.?
     เรื่องจัดการภาระค่าใช้จ่ายของตัวเองทั้งหมด เป็นสิ่งสำคัญมากนะครับ เพราะจะทำให้เรามีความคิดแบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็กๆ แบมือขอเงินอีกต่อไป และอาจยังตอบโจทย์อีกด้วยว่า "ถ้าเรียนจบแล้ว เราจะเอาตัวรอดได้ไหม.?" ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นหลัก ที่ทำให้ทางบ้านตัดสินใจไม่ให้เต้ยเรียนนะครับ

    จริงๆ การเลือกเรียนในสายศิลปะ เดี๋ยวนี้ ก็ไม่ได้เป็นหนทางที่คับแคบ ตีบตัน อย่างความเชื่อฝังหัวของคนรุ่นเก่าๆ คิดกันเลยนะครับ หากจะยกตัวอย่าง เพื่อนๆ ของผม ซึ่งเรียนจบ เอกจิตรกรรมไทย แต่ปัจจุบันมีเพียงผม และ อ.สุวัฒน์ เท่านั้น ที่ยังคงทำงานศิลปะอยู่ ที่เหลือล้วนไปเป็น Office Man (หรือมนุษย์เงินเดือน) กันหมด และทุกวันนี้หลายๆ คนก็มีฐานะที่มั่นคงมากด้วย เช่น เพื่อนผมบางคนตอนนี้เปิดสตูดิโอส่วนตัว รับงานตัดต่อรายการโทรทัศน์ มีรายได้เดือนหนึ่งๆ หลายๆ หมื่น ส่วนบางคนตอนนี้ก็เป็นระดับหัวหน้า ควบคุมงานออกแบบรองเท้าและกระเป๋าส่งออก บินไปดูงานต่างประเทศเป็นว่าเล่น บางคนทำงานสิ่งพิมพ์ได้หลากหลาย ซึ่งตอนนี้ฝีมือก็อยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญระดับสูง บางคนก็ผันตัวเอง ไปเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย เป็นต้นนะ... ใช่ครับ ทุกๆ คน จบจิตรกรรมไทย แต่มันก็มีหนทางเลื่อนไหลไปของมัน คงมีแต่ผมเท่านั้นกระมั้งครับ ที่อาจไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนัก เพราะยังคงลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ แต่ก็ใช่ว่าจะเอาตัวรอดไม่ได้เสียเลย

    ทั้งหมดเป็นการอธิบายขยายความ ในทางเลือกที่ ๒). นะครับ ขอเรียกสั้นๆ ว่าทางเลือก "สละเรือ" แต่ถ้า...เป็นทางเลือกอย่างแรกล่ะ คือ ๑). ก้มหน้าก้มตารับชะตากรรม... จริงๆ ทางเลือกนี้ ก็ใช่ว่า..จะแย่เสียทีเดียวนะครับ ถ้าเต้ยมีโอกาสได้ดูผลงานของเพื่อนๆ พี่ๆ หลายๆ คนในบ้านวาดเล่นๆ จะเห็นได้เลยว่า กว่า ๘๐% ล้วนไม่เคยศึกษาด้านศิลปะมาโดยตรง แต่..หลายคนกลับมีฝีมือฉกาจ อย่างน่าทึ่ง เรียกได้ว่า เด็กเรียนสายอาชีวะศิลปะมาเห็นแล้วยังอาย ผมขอยกตัวอย่าง คุณอาร์ท กิติพงษ์ กล่ำกองกูล (สมาชิกหมายเลข ๘๒) คุณอาร์ท จบนิติฯ รามคำแหง ปัจจุบันมีงานอาชีพที่มั่นคง มีครอบครัวมีลูก แต่ฝีมือนี่สุดยอด ผมเคยถาม..ก็ทราบว่า อาศัยเรียนแบบครูพักลักจำมาตลอด เพราะเป็นสิ่งที่ชอบมากๆ และชอบมานานแล้ว แต่ด้วยเหตุผลความจำเป็นหลายประการ ทำให้ไม่สามารถเลือกเรียนได้ แต่ถ้ามีโอกาสก็จะฝึกฝนด้วยตนเองมาตลอด จนฝีมือพัฒนาอย่างที่เห็น ด้วยการอาศัยใจรักล้วนๆ และไม่เคยทิ้งเลย คุณอาร์ทจึงรู้สึกดีใจมากที่ได้เจอเว็บผม แต่..สิ่งที่ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งก็คือ บุคคลเหล่านี้ (ในเว็บนี้มีอยู่หลายคน) ค่อนข้างโหยหานะครับ คือ เขาโหยหาสิ่งที่ขาด คือสิ่งที่เขารัก เขาชอบ มาตลอดชีวิต คือการ "วาดรูป"
    ถ้าเต้ยเลือกทางนี้ แน่นอนว่า..ลดความเสี่ยงไปมาก (แต่อาจไม่สะใจหรือเปล่า.? ถ้ายังไม่ได้ลอง ให้สมกับชีวิตวัยหนุ่มสุดโฉด ฮ่าๆ) เพราะฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะมานั่งทู่ซี้ หน้าบู้ ทำตัวซังกะตายไปวันๆ นะครับ ยังไงๆ ก็ต้องเรียนแหงๆ อยู่แล้ว ควรตั้งใจเรียน และทำผลการเรียนให้ออกมาดีที่สุด เพราะมันคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ เวลาเราจบไปแล้วและต้องหางานทำในอนาคต ต้องไม่บื้อนะครับ เราต้องก้าวต่อไปให้ได้ แต่งานวาดรูปที่เรารัก ก็อย่าทิ้ง มีโอกาสให้ศึกษาให้มากๆ และพัฒนาผลงานไปเรื่อยๆ ผมขอยืนยันตรงนี้เลยนะครับว่า "เต้ยเป็นคนมีฝึมือ" สามารถพัฒนาผลงานต่อไปได้ อย่างแน่นอนครับ ขึ้นอยู่กับว่าจะใจถึงพอหรือเปล่า.? ไม่ท้อ ไม่หยุดนะครับ ลุยลูกเดียว


    อ้าว...ผมเล่นฝอยซะเพลินเลย แต่คิดว่า...เป็นประเด็นที่น่าสนใจ อาจจะเป็นประโยชน์กับเด็กๆ คนอื่นๆ ที่ยังงงๆ กับทางเลือกในสายอาชีพข้างหน้าบ้างก็ได้นะครับ โม้ซะยาว.ว...อย่าเบื่อซะก่อนล่ะ ^^.. เอ้า.ๆ...มาวิจารณ์รูปกันต่อดีกว่า จริงๆ ภาพนี้ ผมเคยวิจารณ์ให้เต้ยฟัง ในกลุ่ม "วาดล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" ใน FB ไปแล้วนะครับ ตอนแรกผมยังแซวเต้ยเลยว่า ทำไมวาดเขี้ยวใหญ่มั่กๆ ๆ จะไปกัดใครเหรอ.? แต่พอมาเห็นคำอธิบายภาพทีหลัง เลยถึงบางอ้อ... ภาพนี้เต้ยวาดได้ดีครับ แต่น้ำหนักการแรเงาในภาพ มันดูเท่าๆ กันไปหมดนะ น่าจะเลือกให้จุดใดจุดหนึ่งเป็นจุดเด่น และผลักระยะของจุดรองออกไปบ้างนะครับ แล้วงานจะดูดีขึ้น รวมๆ ใช้ได้นะครับ ผมเป็นกำลังใจให้นะ ขอให้เต้ยวาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๑๐ มี.ค. ๒๕๕๕)
 
 

 


 


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.