ปี 2559 เป็นปีที่ผมมีอายุครบตอง 4 พอดี เลข 4 เป็นตัวเลขพ้องเสียงกับคำในภาษาจีนว่า 死 [sǐ] (ซี้) แปลว่า “ตาย” ทั้งๆ ที่เลข 4 ในภาษาจีนเขียนแบบนี้ 四 [sì] ซึ่งไม่ได้แปลว่าตายเลยแม้แต่น้อย แต่คนที่เชื่อถือโชคลางอาถรรพ์ต่างๆ (ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่มากๆ เสียด้วยสิ) ที่มีความกลัวตายกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็หยิบจับมาผสมปนเปกันจนได้เรื่อง ไม่เพียงแต่ชาวจีนเท่านั้นที่เชื่อถือ แต่ยังลามไปถึงประเทศอื่นๆ ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ รวมถึงคนในประเทศนั้นๆ บางกลุ่ม ก็นิยมเชื่อถือตามๆ กันไปอีกด้วย
ถ้าอ่านด้วยเสียงพ้องแบบจีน อายุผมปีนี้จะอ่านว่า ซี้-ซี้ แปลว่า ตายคูณ 2 หรือตายดับเบิ้ล (ฮา)
หากว่ากันตามคติพุทธ ดวง โชค ลาภ เฮง ซวย คำเหล่านี้ไม่เคยมีในพุทธศาสนามาก่อน เพราะแนวคิดหลักของพุทธเถรวาทดั้งเดิมคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไหลมาแต่เหตุ ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นมาได้อย่างลอยๆ เมื่อมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ แถมยังบังคับไม่ได้อีกต่างหาก (เป็นเรื่องของเหตุและผล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ดวง โชค ลาภ เฮง ซวย หรือตัวอักษรใดๆ) ที่กล่าวมานั้นเป็นกฎของหลัก อิทัปปัจจยตา (หัวใจของ ปฏิจจสมุปปบาท) เป็นกฎสูงสุดทางธรรมะ ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ โดยไม่มีสิ่งใดที่สามารถอยู่เหนือกฎนี้ไปได้
อีกเรื่องหนึ่ง ที่พอจะพูดให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ คือเรื่องของ กรรม (แปลตรงตัวว่า การกระทำ มีทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว) ที่เราเป็นผู้กำหนดและทำขึ้นมาด้วยตนเองทั้งสิ้น หากทำกรรมดี ผลที่ได้ย่อมดี หากทำกรรมชั่ว ผลที่ได้ย่อมชั่ว แต่เรื่องของ กรรมวิบาก (แปลว่า การให้ผลของกรรม) เป็นเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนปม และเป็นหนึ่งใน อจินไตย หมายถึง เรื่องไม่ควรคิด เพราะคิดไปก็ฟุ้งซ่านเปล่าๆ ลำพังตรรกะของปุถุชนไม่สามารถแยกแยะการให้ผลของกรรม ออกมาได้อย่างชัดเจนเป๊ะๆ (ทำได้ก็แค่…มโนเอา เช่น ทำไมกูทำดีแล้ว ถึงได้ผลเลวฟร่ะ? เมื่อไม่ได้อย่างใจ เพราะมักเข้าใจผิดคิดไปว่า ดี = รวย ลาภยศ ชื่อเสียง เงินทอง ทำให้พาลชนถึงกับสร้างสำนวนฮิตติดปากขึ้นมาใหม่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”) หากศึกษาในพระไตรปิฎก จะพบว่าผู้ที่สามารถแจกแจงกรรมวิบากของแต่ละบุคคล ออกมาได้อย่างละเอียดประณีตที่สุด (ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมถึงไม่เป็นแบบนี้ มีต้นสายปลายเหตุที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่) คือ พระพุทธเจ้า
โดยส่วนตัวผมจึงเฉยๆ กับเรื่องแบบนี้ แต่ยอมรับการเชื่อถือแบบนั้นว่า.. ย่อมมีเหตุ เหตุผลหลักๆ ก็ไม่น่าจะเกินการกลัวความตาย ถึงกับเอาชีวิตตนเองไปผูกโยงแม้คำพ้องเสียง โดยไม่พิจารณาถึงเหตุและผลว่า จู่ๆ คนเราจะตาย ด้วยเสียงพ้องของตัวอักษรได้อย่างไร?
แต่…ผมคิดกลับไปอีกมุมว่า… อย่างน้อยๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันแฮะ เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่ผมได้หวนระลึกถึงความตาย จิตผมจะรู้สึกสงบดี ความทุกข์โศก เกลียด บาดหมางใดๆ จะเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรู้สึกอยู่เสมอว่า ความตายไม่เคยห่างตัวเรา เป็นดั่งเพื่อนสนิทชั้นดี ที่คอยเตือนสติเราอยู่เสมอ ที่สำคัญที่สุดคือ ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา ไม่เคยห่างไปไหน……. เมื่อความตายไม่เคยห่างไกลตัว ในห้วงชีวิตอันแสนสั้นของมนุษย์คนหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่า…จะตายเมื่อไหร่ (จะตายดี หรือตายร้ายก็ไม่รู้) เราควรเป็นมิตรกันดีกว่ามั้ย?
ทำให้ผมระลึกถึงธรรมะบทหนึ่ง ที่กล่าวถึง คตินิมิตก่อนตาย (นิมิต คือสิ่งที่จิตปรุงขึ้นมา เป็นได้ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เทศนาโดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ผมจะคัดมาสัก 2 ช่วง (ถอดเสียงบางส่วน จากทั้งคลิป) เพื่อให้ท่านที่สนใจเรื่องนี้ ได้อ่านเป็นความรู้กันพอหอมปากหอมคอนะครับ ว่า…เมื่อจิตดวงสุดท้ายของเราใกล้ดับ (คือตอนใกล้ตาย) เราจะไปไหนกันแน่
ธรรมเทศนา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช CD สวนสันติธรรม แผ่น 47 ชื่อไฟล์ 550909B
ลำบากมาก (หากได้เกิดเป็น) สัตว์ ต้องตั้งใจไว้ว่า เราจะไม่ไปเป็นสัตว์ แถวนี้ก็ฮวงซุ้ยเยอะ บางคนก็ว่า เปรตเยอะอีก เป็นเปรตก็ลำบากนะ อดอยาก เป็นสัตว์ก็ลำบาก ตกนรกยิ่งลำบากใหญ่ งั้นวัฏฏะนะไม่น่าไว้วางใจ เวลาเราจะไปเกิดในภพภูมิที่ดีหรือไม่ดี… ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น จุติจิตดับปุ๊บ ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นในภพใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ก่อนที่จุติจิตจะเกิด มันจะมีนิมิตนะ เกิดนิมิตขึ้นก่อน นิมิตมีหลายแบบ นิมิตอันนึงไปเห็นที่ที่จะไปเกิด (คตินิมิต) นิมิตอันนึงจะไปเห็นกรรมที่เคยทำไว้ (กรรมนิมิต) นิมิตอีกอันนึงไม่เห็นตัวกรรมที่เคยทำไว้โดยตรง แต่เห็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำกรรม เช่น เคยจับปลาบ่อยๆ อาจจะเห็นปลาเยอะแยะเลย ฝูงปลา ไล่ต้อนไล่จับ ก็จะเปลี่ยนสถานะจากคนจับปลา ไปเป็นปลาที่ถูกจับในพริบตาเดียว หรือเห็นแหเห็นอวน เห็นเครื่องมือในการจับ ก็เป็นนิมิตอีกแบบหนึ่ง เห็นกรรมที่ทำโดยตรง หรือเห็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำกรรมนี่ก็ได้ เห็นที่ที่จะไปเกิดก็ได้
เมื่อก่อนหลวงพ่อมีเพื่อนคนนึง พ่อเค้าไม่สบาย พ่อเค้าเนี่ยเป็นคนใจดี ตั้งแต่หนุ่มๆ นะ แต่ว่าเจอมดดำไม่ได้ ถ้าเห็นมดเข้าแถว ต้องบี้ทั้งแถว ถึงจะสะใจ เวลาไปอยู่โรงพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนด้วย ไม่ใช่โรงพยาบาลหลวง โรงพยาบาลหลวงก็มอมแมมหน่อย โรงพยาบาลเอกชนที่ดีๆ ก็สะอาดหน่อย โวยวายอยู่ตลอดเวลาว่า มดดำมาเดินเข้าแถวเยอะแยะเลย เห็นแล้วอยากบี้ อยากบี้ อยากบี้ คนเค้าก็ดู ไม่เห็นจะมีซักตัว เนี่ยจิตที่ทำกรรมไว้ นิมิตมันเกิดขึ้นมา บางคนก็เห็นที่ที่จะไปเกิด เห็นท้องทุ่ง เห็นอะไรต่ออะไร เนี่ยได้ไปเป็นวัวเป็นควาย (หัวเราะ) เราเลือกไม่ได้เวลานิมิตจะเกิด เหมือนเราฝัน เวลาฝันเลือกได้มั้ย? วันนี้จะฝันดี ฝันถึงคนนั้นคนนี้ ฝันที่สวยๆ งามๆ ถ้าเรายังเลือกความฝันไม่ได้ เรายังเลือกที่เกิดไม่ได้หรอก เวลานิมิตเกิดก็เหมือนฝันอย่างงั้นแหละ จิตก็เคลื่อนตาม เวลาฝันเรารู้มั้ยว่าเราฝัน เวลาฝันเราไม่รู้สึกว่าฝันนะ เรารู้สึกจริงจัง จริงมั้ย? ฝันน่ะเป็นเรื่องจริงมากเลย กำลังเหาะอยู่ ก็รู้สึกจริงๆ อีก กำลังดำดินอยู่ ก็เป็นจริงๆ อีก ทำอะไรก็รู้สึกจริงไปหมดเลย มันแยกไม่ออกว่าฝัน งั้นนิมิตอะไรเกิดนะ จิตก็ไปทางนั้นแหละ
เราเลือกฝันไม่ได้ นิมิตที่จะเกิดตอนตายก็เลือกไม่ได้ มันจะไปตามความเคยชิน งั้นเราต้องมาพยายามสร้างความเคยชินฝ่ายดี เอาไว้เรื่อยๆ ความดีทั้งหลายมีหลายระดับ การทำทานก็เป็นความดี รักษาศีลก็เป็นความดี เห็นคนอื่นเค้าทำดี แล้วดีใจกับเค้าก็เป็นความดี เรียกอนุโมทนา อนุโมทนาดีตรงไหน ดีตรงแก้ริษยาได้ เห็นเค้าดีแล้วอิจฉาเค้า ก็ดีใจกับเค้าด้วย เค้าดี เป็นบุญ ฟังธรรมก็เป็นบุญนะ แสดงธรรมก็เป็นบุญ อุทิศส่วนบุญก็เป็นบุญ อนุโมทนาส่วนบุญของคนอื่นก็เป็นบุญ บุญมี 10 อย่างนะ เรียก บุญกิริยาวัตถุ 10 อย่าง มีทาน มีศีล อะไรอย่างงี้ เป็นบุญทั้งนั้น ทำสมาธิ แต่บุญที่เหนือบุญธรรมดานะ บุญที่เลิศที่สุดเลย คือบุญที่ประกอบด้วยสติปัญญา เป็นบุญใหญ่ บุญที่ไม่ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นบุญธรรมดา (บุญเล็กน้อย) จะพาเราเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิที่ดี แต่บุญจากการเจริญสติปัญญานั้น จะพาเราข้ามภพข้ามชาติได้ เป็นบุญที่ใหญ่ที่สุด การที่เราจะมาฝึกวิปัสสนากรรมฐาน มาแยกรูปแยกนาม เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม นี่คือบุญที่ใหญ่ที่สุดเลยนะ ที่มนุษย์อย่างพวกเราจะทำได้
ธรรมเทศนา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช CD สวนสันติธรรม แผ่น 57 ชื่อไฟล์ 571012
สมมุติว่านอนหลับอยู่ หรือใกล้จะตาย เวลาตายใจมันจะฝัน เรียกว่ามันเกิดนิมิต เป็นทุกคนแหละ ยกเว้นพระอรหันต์ ใจมันจะเกิดนิมิตขึ้น หรือบางทีไม่ได้ป่วยตาย เวลารถจะคว่ำตาย คอกำลังหัก จิตก็รวมปุ๊บลงมาเกิดนิมิต เป็นนิมิตที่ดีบ้าง ที่เลวบ้าง แล้วแต่ว่ากรรมจะส่งผลมา บางทีก็นิมิตถึงกรรมที่เคยทำในอดีต เคยมาทอดกฐินเจอหลวงพ่อ พอนึกถึงตรงนี้ปุ๊บ จิตเป็นกุศลขึ้นมา ถ้าตายตอนนั้นปุ๊บ จะเกิดที่ดีเลย คิดถึงกรรมที่เคยทำมา ถ้าเคยทำกรรมชั่ว จะไปนึกถึงตรงนั้นมันจะไปชั่ว หลวงพ่อมีเพื่อนคนนึงนะ พ่อเค้าตอนหนุ่มๆ ชอบกินเหล้า แล้วก็ชวนเพื่อนมากินเหล้าที่บ้าน ทุกวันต้องมา พอเพื่อนมาถึงบ้าน ก็จะสั่งลูกน้องเชือดคอไก่ 1 ตัว คิดดูปีนึงเชือดตั้งเท่าไหร่ แล้วมีอายุอยู่ตั้งหลายสิบปี ตอนแกจะตาย แกเห็นไก่ ครูบาอาจารย์ท่านตามดูอยู่ ใจมันพุ่งปรื๊ดไปเลยนะ มันเห็นไก่อยู่ที่ปลายทาง เหมือนผ่านอุโมงค์เข้าไป ครูบาอาจารย์ก็แผ่เมตตาให้ แผ่ แผ่ แผ่ รู้สึกขึ้นมา สุดท้ายก็ไหลไป ไม่เป็นไก่ แต่ก็ไปเป็นไม่ดีอยู่ดีแหละ เวลานิมิตมันเกิด เราเลือกไม่ได้ เหมือนกับเวลาเราฝัน เราเลือกไม่ได้ว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย แต่ถ้าเราเคยฝึกรู้ทันใจของตัวเองให้บ่อยๆ ใจเรามีความสุขรู้ทัน ใจเรามีความทุกข์รู้ทัน ใจเราดีรู้ทัน ใจเราโลภ โกรธ หลงรู้ทัน ใจกลัวก็รู้ ใจอิจฉาพยาบาทก็รู้ เวลานิมิตเกิดขึ้นมา ถ้านิมิตไม่ดีเกิดขึ้นนะ สติมันจะรู้ขึ้นมา
ตอนตายนี้มีนิมิตหลายแบบนะ นิมิตถึงกรรมที่เคยทำก็ได้ นิมิตถึงที่ที่จะไปเกิดก็ได้ นิมิตถึงกรรมที่เคยทำในอดีตเรียกว่า “กรรมนิมิต” นิมิตถึงที่ที่จะไปเกิดเรียก “คตินิมิต” บางทีก็มีนิมิตข้างเคียง อย่างเราชอบตกปลา ก็มีนิมิตเห็นเบ็ดตกปลา เครื่องมือในการทำบาป หรือนิมิตถึงดอกไม้ธูปเทียน ไม่ได้เห็นพระตรงๆ แต่ไปเห็นเครื่องมือที่เคยทำความดี เครื่องมือที่เคยทำความชั่ว อย่างงั้นก็มี เราเลือกความฝันไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาจะตาย เราเลือกที่ไปไม่ได้ จิตมันคุ้นเคยอันไหน กรรมตัวไหนมันจะให้ผลขึ้นมา มันก็จะให้ผลไป กรรมมันให้ผลมีลำดับ กรรมที่แรงให้ผลก่อน กรรมที่แรงสุดขีด เป็นอนันตริยกรรม เป็นครุกรรม คือกรรมที่มีกำลังมาก ที่แรงที่สุดเรียก อนันตริยกรรม มีทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว อนันตริยกรรมฝ่ายชั่วอย่างฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทำสังฆเภท สังฆเภทนี่ฆราวาสทำไม่ได้ ทำให้พระแตกกัน สังฆเภทนี่พระเท่านั้นที่ทำได้ งั้นพวกเราก็จะมีแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ เพราะเราไม่สามารถทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิตได้ มีอะไรอีกอนันตริยกรรม ฆ่าพระอรหันต์ โอ้…เวรละ ใครจะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ เพราะงั้นก็อย่าไปฆ่าใคร
*ที่มา: ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช www.dhamma.com
ดาวน์โหลดตรง: สวนสันติธรรม CD47 | 550909B
และ สวนสันติธรรม CD57 | 571012
ขออธิบายเพิ่มเติมอีกสักนิดนะครับ เผื่อท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องทำนองนี้ อ่านๆ ไปอาจจะงงได้ เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า จิตนั้นมีธรรมชาติเกิดๆ ดับๆ แต่การเกิดๆ ดับๆ นี้รวดเร็วมากๆ จนดูคล้ายกับมันคงที่ได้ ทำให้อาจหลงเชื่อไปได้ว่า จิตหรือวิญญาณนั้นเป็นอมตะ (นั่นเป็นคติแบบพราหมณ์-ฮินดู ที่เชื่อว่า จิตหรือวิญญาณเป็นอมตะ มี อัตตาถาวร เป็น บรมอัตตา หรือ ปรมาตมัน) แต่ความจริงจิตมีธรรมชาติเกิดๆ ดับๆ ที่รวดเร็วถี่ยิบอยู่ตลอดเวลา ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น คงต้องดูแสงจากหลอดไฟนีออนที่ใช้ตามบ้าน จริงๆ ไฟนีออน มีการกระพริบๆ ถี่ยิบอยู่ตลอดเวลา แต่ตาเรามองเห็นการกระพริบถี่ๆ นั้นไม่ทัน จึงทำให้ดูเหมือนแสงสว่างนั้นคงที่ตลอด แต่จิตมีการเกิดดับถี่ยิบรวดเร็ว เสียยิ่งกว่าการกระพริบของหลอดไฟนีออนมากมายหลายเท่านัก
ดังนั้นสิ่งที่คนจำนวนมากเชื่อถือกันอยู่ทั่วๆ ไปว่า เมื่อตายปั๊บ วิญญาณจะออกจากร่าง เร่ร่อนอยู่ก่อน เพื่อรอการเกิดใหม่นั้น ไม่เป็นความจริงตามหลักพุทธเถรวาท หลักพุทธอธิบายว่า เมื่อจิตดวงสุดท้ายดับ จิตดวงถัดไปจะปฏิสนธิในภพใหม่ทันที (คือเกิดเลยเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องรอ) ส่วนจะไปเกิดเป็นอะไรนั้น อยู่ที่จิตกระทำกรรมใดไว้มาก มันก็จะไหลไปตามความเคยชิน ดังสำนวนว่า “ไปที่ชอบๆ” นั่นแหละ แต่ที่ชอบๆ ของแต่ละคนนั้น เป็นได้ทั้งทางดีและทางเลว ขึ้นอยู่กับว่าเคยกระทำกรรมใดไว้หนักและคุ้นเคยกับมันมากกว่า… แต่ก่อนที่จุติจิต (จิตดวงสุดท้ายก่อนตาย) จะเกิด จะเห็นนิมิต (นิมิต คือสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้น) แบบเดียวกับความฝัน นิมิตมีหลายแบบ นิมิตหนึ่งคือ คตินิมิต คือการเห็นที่ที่จะไปเกิด กรรมนิมิต เห็นกรรมที่เคยกระทำไว้ในอดีต เมื่อกระทำกรรมใดแรงกว่า จิตจะพุ่งไปเกิดในภพใหม่ตามนั้น คือเป็นไปตามแรงกรรมนั่นเอง
ภพเกิดตามคติพุทธ
- เกิดเป็น พรหม (สุคติภูมิ) จิตคุ้นเคยกับสมาธิในฌาน หากคุ้นกับรูปฌาน จะได้เกิดเป็น รูปพรหม หากคุ้นกับอรูปฌาน จะได้เกิดเป็น อรูปพรหม
- เกิดเป็น เทวดา (สุคติภูมิ) จิตคุ้นเคยกับหิริโอตัปปะ คือความเกรงกลัวละอายต่อบาป เพราะหิริและโอตัปปะ คือคุณธรรมสำคัญของเทวดา
- เกิดเป็น มนุษย์ (สุคติภูมิ) จิตคุ้นเคยกับศีล หรือการรักษาศีล
- เกิดเป็น เปรต (อบายภูมิ) จิตคุ้นเคยกับโลภ
- เกิดเป็น อสุรกาย (อบายภูมิ) จิตคุ้นเคยกับโลภ แต่เป็นโลภชนิดมี ทิฐิมานะ (ถือตัวถือตนมาก หรือพวก self จัด)
- เกิดเป็น เดรัจฉาน (อบายภูมิ) จิตคุ้นเคยกับโมหะ หรือความหลง
- เกิดเป็น สัตว์นรก (อบายภูมิ) จิตคุ้นเคยกับโทสะ
หากจะให้อธิบายโดยละเอียด ยังมีอีกมาก แต่ขอจบเท่านี้ก่อนนะครับ
พ่อไก่อู
0 comments on “นิมิตก่อนตาย..ในเชิงพุทธ”Add yours →