น่าเห็นใจผู้จัดงานกลางแจ้งตามสถานที่ต่างๆ ณ เวลานี้ ในขณะที่กรุงเทพฯ ยังถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นมลพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นสักเท่าไหร่ แม้พ่อเมือง พ่อขุนรองเมืองจะออกมาประกาศปาวๆ ว่า “เอาอยู่” แต่กลับค้านสายตาของชาวเมืองที่ทนสูดอยู่ทุกวัน จนทำให้ทุกการเดินทาง ณ เวลานี้ ต้องพิจารณาให้ดีว่า เมื่อออกจากบ้านไปแล้ว “คุ้ม” กับสุขภาพที่จะเสียไปอย่างผ่อนส่งหรือไม่
แต่ก็ยังมีงานดีๆ สำหรับผู้ตัดสินใจพร้อมตะลุยฝุ่น ไปเผชิญหน้ากับงานศิลป์ ที่คุ้มค่ากับการไปเยือน แต่คุณต้องหาทางป้องกันตัวเองด้วยนะ สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือ ใส่หน้ากากกันมลพิษ PM 2.5 ไปด้วย
ใจกลางเมืองย่านเจริญกรุง มีงานเทศกาล Bangkok Design Week 2019 จัดระหว่าง 26 ม.ค. – 3 ก.พ. 2562 ซึ่งรวบรวมผลงานของนักออกแบบไทยไอเดียบรรเจิดไว้ จัดแสดงกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วบริเวณ สนใจรายละเอียดงานเพิ่มเติม คลิกตรงนี้
สถานที่แรกที่ผมไปเยือน และจะเล่าให้ฟังในตอนนี้ก็คือ O.P. Place ตั้งอยู่ใน ซ.เจริญกรุง 38 ส่วนนิทรรศการจะอยู่ชั้น 2 จัดแสดงภายในห้องต่างๆ ซึ่งแต่เดิมเป็นร้านเช่า แต่ตอนนี้คงเพราะภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ห้องเช่าส่วนใหญ่ยังว่าง เทศกาล BKKDW 2019 จึงได้ลงพื้นที่จัดแสดง
หลายผลงานมีความน่าสนใจ แต่ผมสะดุดกับห้องหนึ่ง ที่ใช้เวลาในการเดินชมนานเป็นพิเศษ คงเพราะบรรยากาศ สตอรี่ของงาน ที่ออกแบบให้เหมือนเรากำลังเดินวนอยู่ในสลัมก็ไม่ปาน สำคัญคือน่าจะเป็นเพียงห้องเดียว ที่มีเจ้าหน้าที่เฝ้า ช่วยให้ข้อมูลกับผู้ชมงานขี้สงสัยอย่างผมอย่างละเอียด นั่นคือโครงการ Conne(X)t Klongtoey
หลังชมงานไปสักพัก ก็รู้สึกเอะใจว่า โครงการนี้ต่างจากห้องจัดแสดงอื่นๆ (ที่ส่วนใหญ่เน้นเสนอแนวคิดส่วนบุคคล) แต่กลับเป็นโครงการ “ศิลปะสร้างอาชีพ” โดย Eyedropper Fill (บริษัทออกแบบมัลติมีเดียดีไซน์ และสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน) จับมือกับ “ครูโมสต์” (สินีนาฎ คะมะคต) ครูจากโครงการ Teach for Thailand ที่กำลังสอนอยู่ใน โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา เขตคลองเตย เพื่อแก้ปัญหาการเรียนในวิชาภาคบังคับ ที่เด็กส่วนใหญ่ไม่ถนัดและขาดความสนใจ โดยเพิ่มการสอนอาชีพทางเลือกที่เด็กๆ สนใจ แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมในระบบการศึกษาปัจจุบัน ทั้งหมด 4 สาขา คือ
- ศิลปะการถ่ายภาพ
- ออกแบบแฟชั่น
- ศิลปะการสักลาย (TATTOO)
- แต่งทำนองและเนื้อร้องดนตรี (RAPPER)
คลิปแนะนำโครงการ Conne(X)t Klongtoey ที่จะทำให้เรารู้จัก “เด็กคลองเตย” มากยิ่งขึ้น
“สลัมคลองเตย” ชื่อที่ถูกมองจากคนภายนอกด้วยภาพติดลบ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเสื่อมโทรม หรือปัญหายาเสพติด แต่นิทรรศการครั้งนี้ กลับสะท้อนให้เห็นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพ มีความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เพียงเขาได้รับโอกาส ในการเรียนรู้ ในสิ่งที่เขาถนัดและสนใจจริงๆ
Conne(X)t Klongtoey เป็นโครงการออกแบบ ที่ผสานความเป็น NGO ด้วยการลงพื้นที่ หาข้อมูล แก้ปัญหา สัมผัสชีวิตกลุ่มเยาวชนในสลัมคลองเตย ที่ช่วยจุดประกายให้เด็กๆ มีทางเลือกที่จะเดินตามฝัน เพื่อพัฒนาอาชีพที่เขาสนใจ และอยากจะเป็นในอนาคต
ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะไปอัดคลิป แต่…หลังจากเดินวนอยู่นานด้วยความสนใจ (ฮา) จึงตัดสินใจบันทึกความทรงจำในแบบฉบับของตัวเอง *สำคัญคือไม่ได้เตรียมไมค์ไปด้วย (ก็ไม่ได้กะจะไปอัดคลิปไง 555+) ทำให้เสียงสัมภาณ์อาจเบาไปหน่อย แต่ผมได้เพิ่มคำบรรยาย สำหรับช่วยอ่านประกอบให้แล้ว
ขอบคุณ 2 สาวสวย น้องยิ้มหวาน กับน้องพลอย (staff ดูแลนิทรรศการ) ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโครงการ Conne(X)t Klongtoey อย่างละเอียด ทำให้เพิ่มความน่าสนใจมากเข้าไปอีก
ในพื้นที่จัดแสดงชั้น 2 ของ O.P. Place ยังมีห้องจัดแสดงอื่นๆ ที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่เป็นงานที่แสดงอัตลักษณ์ รวมถึงความสนใจของผู้ออกแบบเป็นหลัก อย่างงาน “บายศรี สู่ขวัญ” ผลงานของคุณ ฐากร ถาวรโชติวงศ์ และคุณลักขณา บุญมาก จาก Takorn Design Studio ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของ “บายศรี” ที่ทำจากใบตองพับ ที่ออกแบบออกมาได้อย่างสวยงามน่าสนใจ
ผลงานที่ผมสะดุดอีกชิ้นก็คือ “ไอเดียการออกแบบพิธีศพทางเลือกใหม่” ของคุณกุศลศิริ จิตรพงษ์ จาก F._nal Chapter ที่เสนอบริการจัดงานศพล่วงหน้าทางเลือกใหม่ ที่หลากหลาย ให้เหมาะกับความต้องการของผู้ตายและญาติ (คลิกเหนือภาพ เพื่อดูรายละเอียด)
โครงงานด้านล่าง (มี 3 ภาพ) เป็นงานออกแบบของคุณ Prawpim ที่ต้องการสื่อถึงสังคมเกี่ยวกับ “การตายแบบไม่คาดคิด” ที่เกิดจากสิ่งของธรรมดา 13 อย่างในชีวิตประจำวัน โดยจัดแสดงเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านป้ายคำเตือน
สุดท้าย (2 ภาพล่าง) เป็นผลงานการออกแบบกระเป๋า ด้วยรูปใบหน้ายักษ์ ที่ใช้สีสันสดใส
ผมยังเดินไปชมงานในเทศกาล BKKDW 2019 อีก 3 แห่ง ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ O.P. Garden บ้านพักตำรวจน้ำ และ TCDC กรุงเทพฯ อาคารไปรษณีย์กลาง เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังต่อในบล็อกถัดไปนะครับ
พ่อไก่อู
0 comments on “ตะลุยฝุ่น เผชิญงานศิลป์ (ตอนที่ 1)”Add yours →