ดาวน์โหลดเอกสาร ‘ตามรอยสีไทย MEETUP#3′ ตอน ‘มหาภูตรูป’
จำนวน 1 หน้า | PDF: 2.47 MB
JDCOR3: Meetup#3 (1364 downloads )
ด้านบนคือเอกสารประกอบกิจกรรมกลุ่ม ครั้งที่ 3 สำหรับสมาชิกกลุ่ม ‘วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี’ และศิลปินรับเชิญ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม ครั้งที่ 3 ใน วันอาทิตย์ที่ 29 พ.ค. 2559 ณ สตูดิโออาร์ตทิสติก (ระหว่าง ซ.สวนผัก 32 และ 34) เขตตลิ่งชัน กทม. ระหว่างเวลา 10.00 – 18.00 น. โดยหัวข้อวาดรูปร่วมกันในครั้งนี้คือ ‘มหาภูตรูป‘ หรือ ‘ธาตุ 4‘ ในความหมายทางพุทธศาสนา (คลิกอ่านความหมายโดยละเอียดของ ‘มหาภูตรูป’)
ใคร? ที่สามารถร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้บ้าง
|
เงื่อนไข
- รับจำนวน 20 ท่าน (มีเฟรมขนาด 50 x 50 ซม. เตรียมไว้ 20 เฟรม)
- เลือก ‘ธาตุ’ ที่สนใจ พร้อมเลือกเฟรม 1 สี เช่น สนใจวาดรูป ‘ธาตุไฟ (ครุฑ)’ เลือกเฟรมสี ชาด
โดยแต่ละธาตุจะรองพื้นเฟรมด้วย สีไทยพหุรงค์ จำนวน 5 สี แบ่งเป็น- ธาตุดิน (ปฐวี) แทนด้วยรูป ยักษ์ : สีไทยเอิร์ธโทน (earth tone) 5 สี ประกอบด้วย
1. เหลืองจำปา 2. ดินเหลือง 3. หมากสุก 4. หงดินแก่ 5. เขียวสมอ - ธาตุน้ำ (อาโป) แทนด้วยรูป นาค : สีไทยโทนเย็น 5 สี ประกอบด้วย
1. มอคราม 2. เขียวตั้งแชอ่อน 3. น้ำไหล 4. เขียวขาบ 5. คราม - ธาตุไฟ (เตโช) แทนด้วยรูป ครุฑ : สีไทยโทนร้อน 5 สี ประกอบด้วย
1. เหลืองรง 2. เสน 3. ชาด 4. หงชาด 5. ม่วงเม็ดมะปราง - ธาตุลม (วาโย) แทนด้วยรูป ลิง : สีไทยโทนอุ่น 5 สี ประกอบด้วย
1. ควายเผือก 2. เหลืองทอง 3. ม่วงดอกผักตบ 4. เขียวก้านตอง 5. เขียวใบแค
- ธาตุดิน (ปฐวี) แทนด้วยรูป ยักษ์ : สีไทยเอิร์ธโทน (earth tone) 5 สี ประกอบด้วย
- ให้วาดรูปสัตว์สัญลักษณ์ประจำธาตุ (ดิน = ยักษ์ | น้ำ = นาค | ไฟ = ครุฑ | ลม = ลิง) ลงบนเฟรมในพื้นที่ที่กำหนด โดยมี 2 รูปทรงคือ วงกลม (4 เฟรม) และสามเหลี่ยม (16 เฟรม)
- คำถาม สามารถวาดให้เล็กกว่า หรือเกินจากขอบวงกลม สามเหลี่ยม ที่กำหนดได้มั้ย?
- คำตอบ ได้! เพราะขอบวงกลม และสามเหลี่ยม เป็นเพียงร่างขอบเขตคร่าวๆ เพื่อกันไม่ให้วาดเต็มทั้งเฟรม เพราะต้องการให้เห็นสีรองพื้นด้านหลังด้วย
- แต่ละธาตุ กำหนดให้ใช้สีไทยพหุรงค์ 5 สีหลัก (ตามสีประจำธาตุ) ยกตัวอย่าง ธาตุดิน ใช้ 5 สี คือ 1. เหลืองจำปา 2. ดินเหลือง 3. หมากสุก 4. หงดินแก่ 5. เขียวสมอ *โดยสมาชิกจะใช้ครบทั้ง 5 สี หรือเลือกใช้ไม่ครบทั้ง 5 สี ก็ได้ตามสะดวก แต่ทุกๆ ธาตุ จะมีสีให้ใช้ร่วม เพิ่มอีก 3 สี เพื่อผสมให้อ่อนลง คือ 6. ขาวกระบัง และผสมให้เข้มขึ้น คือ 7. ฝุ่นดำ และสีพิเศษ 8. สีทอง
- คำถาม สามารถใช้สีอื่นๆ นอกจากสีหลัก 5 สีประจำธาตุ ที่กำหนดได้หรือไม่?
- คำตอบ ได้! แต่ไม่ควรใช้เกิน 1 – 2 สี โดยใช้ร่วมกับเพื่อนๆ ในธาตุอื่นๆ ได้ เช่น เลือกธาตุน้ำ แต่สามารถใช้ ชาด ซึ่งอยู่ในธาตุไฟได้ ทั้งนี้ให้พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม
- ให้กะระยะเวลา เพื่อสร้างผลงานให้เสร็จ ภายใน 3 – 4 ชม.
- เมื่อวาดเสร็จ ให้เขียนตัวอักษรประจำธาตุ ที่มุมใดมุมหนึ่งของภาพ เช่น เลือกธาตุน้ำ ให้เขียนคำว่า ‘น้ำ’ ที่มุมใดมุมหนึ่งของเฟรม
สิ่งที่ต้องเตรียมมา
- เตรียมภาพร่างรูปสัตว์ตามธาตุที่เลือก และวางแผนการทำงานให้พร้อม เพื่อจะขึ้นรูปได้ทันที และสามารถทำให้เสร็จได้ทันตามเวลา (3 – 4 ชม.)
- เตรียมอุปกรณ์ถนัดมือ เช่น พู่กัน จานสี กระป๋องใส่น้ำ ผ้าเช็ดพู่กัน ผ้ากันสีเปื้อนมาด้วย (มีเฟรม สีไทยพหุรงค์เตรียมไว้ให้ พร้อมสถานที่นั่งทำงาน)
- เตรียมใจให้พร้อม เพื่อมาทำงานกลุ่มร่วมกัน (งานนี้มีเฮ! ^_^) เนื่องจากเป็นกิจกรรมกลุ่มครั้งสุดท้ายแล้ว ที่เนื่องด้วยนิทรรศการ ‘จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ 3 ตามรอยสีไทย’
แนวทางการนำผลงานที่สำเร็จแล้ว มาประกอบรวมกันเป็น 1 ชิ้นงานใหญ่
- ต่อเฟรมเป็นรูปดาว 4 แฉก โดยให้ภาพวงกลมอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยสามเหลี่ยม 4 รูป (ทรงกากบาท) โดยให้สีในแต่ละธาตุคละรวมกัน
- ต่อเฟรมอิสระ (สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า) ตามความเหมาะสม
ผลงานที่ได้จะนำไปทำอะไร?
- ผลงานทั้ง 20 ชิ้น จะนำมาต่อรวมกันเป็น 1 ผลงานชิ้นใหญ่ เพื่อร่วมแสดงในนิทรรศการ ‘จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ 3 ตามรอยสีไทย’
- ตั้งราคาขาย หากผลงานถูกจำหน่าย หลังหักค่าดำเนินการ 30% แล้ว จะแบ่งให้สมาชิกที่ร่วมสร้างผลงานเท่าๆ กัน
- หากผลงานไม่ถูกจำหน่าย จะเก็บไว้เป็นสมบัติของกลุ่มต่อไป
กำหนดการ ‘ตามรอยสีไทย MEETUP#3’
- 10.00 – 11.00 : พร้อมกันที่ อาร์ตทิสติกสตูดิโอ ลุงไก่อูแจ้งเงื่อนไขการทำงาน และกล่าวแนะนำตัวสมาชิกแต่ละคน
- 11.00 – 11.10 : ครูปุราณ วิวัฒน์ (อ.ยุทธนา วิวัฒน์เดชากุล) แนะนำเกร็ดน่าสนใจ เกี่ยวกับการร่างภาพลายไทย
- 11.10 – 12.30 : สมาชิกแยกย้ายกันวาดรูป ตามกลุ่มธาตุที่เลือกไว้ 4 กลุ่ม
- 12.30 – 13.30 : รับประทานมื้อกลางวัน
- 13.30 – 14.00 : พักเบรกกับ ‘ศิลปินต้นแบบ‘ ประกอบด้วย
- อ.ชัชวาล รอดคลองตัน (รางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 ‘Grand Prize’ The BEPPU Asia Biennale of Contemporary Art 2007, at Oita Beppu Art Museum, Japan) แนะนำเทคนิคการวาดภาพแบบชัชวาลสไตล์
- อ.อิทธิพล พัฒรชนม์ (เหรียญทอง ‘จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 36’ พ.ศ. 2557 ประเภท จิตรกรรมไทยแบบประเพณี) แนะนำเทคนิควาดฮูปแต้มอีสานประยุกต์
- ลุงไก่อู (ธานี ชินชูศักดิ์) แนะนำเทคนิคการตัดเส้นลายไทยแบบ จิด.ตระ.ธานี
- 14.00 – 17.00 : สมาชิกแยกย้ายกันทำงาน
- 17.00 – 18.00 : สมาชิกถ่ายรูปร่วมกับผลงานที่วาดเสร็จแล้ว รับประทานมื้อเย็น ก่อนเดินทางกลับ
*งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ พิเศษสุดๆ..สำหรับสมาชิกกลุ่ม ‘วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี’
ความหมายของ ‘มหาภูตรูป‘ ในพระพุทธศาสนา
มหาภูตรูป หมายถึง รูปแท้ รูปใหญ่ หรือรูปที่เป็นประธานของรูปทั้งหลาย ประกอบด้วย ธาตุทั้ง 4 คือ 1. ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) 2. อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) 3. เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) 4. วาโยธาตุ (ธาตุลม) ธาตุ 4 ในความหมายของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ element หรือธาตุทางเคมีในหลักทางวิทยาศาสตร์สากล เพราะ ‘ธาตุดิน‘ ไม่ใช่ดินแบบที่เราเดินเหยียบ หรือใช้ปลูกต้นไม้ ‘ธาตุน้ำ‘ ไม่ใช้น้ำที่เราดื่ม หรือน้ำในแม่น้ำ มหาสมุทร ‘ธาตุไฟ‘ ไม่ใช่ไฟที่เราจุดจากไม้ขีดไฟ หรือไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ‘ธาตุลม‘ ไม่ใช่ลมที่พัดเป่าไปในอากาศ หรือลมที่เกิดจากพัดลม แต่ ‘ธาตุทั้ง 4’ แบบพุทธ คือคุณสมบัติในเชิงนามธรรม
ธาตุทั้ง 4 (มหาภูตรูป) เป็นองค์ประกอบสำคัญ ของรูปธรรมทั้งหมดทั้งมวลในจักรวาล ธาตุ 1 ธาตุ เป็นทั้งเหตุและส่วนประกอบสำคัญ ที่ทำให้เกิดธาตุที่เหลืออีก 3 ตัว และธาตุทั้ง 4 ยังทำงานประสานเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้อยู่แยกกันต่างหากแบบตัวใครตัวมัน ทั้งประกอบร่วมกันทำให้เกิดขึ้นมา และเผาผลาญทำลายตัวเองอยู่ตลอดเวลา
อย่างที่เรามองเห็น ผู้หญิง ผู้ชาย หมา แมว อันนี้ยังไม่ใช่ตัวรูปที่แท้จริง แต่เป็นแค่อาการรวมตัวกันของรูป (ธาตุ 4) เมื่อรูปมารวมตัวกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ อย่างนั้น เราจึงสำคัญมั่นหมายว่า นี่คือ ผู้หญิง นี่คือผู้ชาย แต่ตัวรูปแท้ๆ คือ ‘ธาตุทั้ง 4’ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา (คลิกอ่านความหมายของ ‘ธาตุ 4’ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา เพิ่มเติม) หมายเหตุ กิจกรรมกลุ่ม ‘ตามรอยสีไทย MEETUP#3‘ ครั้งนี้ ใช้หัวข้อ ‘มหาภูตรูป’ เป็นหลักให้สมาชิกได้วาดรูปร่วมกัน แต่หากนำความหมายเชิงนามธรรมล้วนๆ ดังที่อธิบายมาข้างต้น ก็จะทำให้หัวข้อดูยากจนเกินไป จึงปรับระดับลงมาใช้รูปสัญลักษณ์ แทนด้วยรูปสัตว์ต่างๆ (ดิน = ยักษ์ | น้ำ = นาค | ไฟ = ครุฑ | ลม = ลิง ) เพื่อให้สมาชิกสามารถสร้างสรรค์ออกมา เป็นรูปวาดได้สะดวกยิ่งขึ้น อนึ่ง…ความรู้พุทธศาสตร์ในเชิงลึกลักษณะนี้ แม้ชาวพุทธเองส่วนใหญ่ ก็ยังไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ (ชาวพุทธและคนทั่วๆ ไป มักเข้าใจ ธาตุ 4 ในลักษณะ element แบบธาตุทางวิทยาศาสตร์มากกว่า) จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม จะได้ปูความรู้พื้นฐานที่สำคัญเชิงพุทธศาสตร์ หากอนาคตท่านใดสนใจศึกษา และต้องการลงมือพิสูจน์ข้อเท็จจริงในพุทธศาสนาด้วยตนเอง จะได้มีพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อต่อยอดได้ไม่ยากจนเกินไป |
MEETUP คืออะไร?
กิจกรรมกลุ่ม ที่เนื่องด้วย นิทรรศนา ศิลปะ ธรรมะ ‘จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ 3 ตามรอยสีไทย‘ ถูกจัดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว 2 ครั้ง ดังนี้
- ครั้งแรก เมื่อ 24 ม.ค. 2559 ‘กิจกรรมวาดรูปลายไทยอิสระ ลงเฟรมขนาดเล็ก 30 x 40 ซม. ด้วยสีไทยพหุรงค์’ ณ สตูดิโออาร์ตทิสติก เขตตลิ่งชัน กทม.
- ครั้งที่ 2 เมื่อ 19 มี.ค. 2559 ‘เยี่ยมชมจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ ณ เมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา’ นำบรรยายตลอดทริปโดย ครูปุราณ วิวัฒน์
กิจกรรมทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ใช้คำว่า WORKSHOP นำหน้า แต่คำว่า เวิร์คช็อป มีความหมายที่ถูกเข้าใจกันโดยทั่วไปว่า…ต้องมี 1. ผู้อบรม และ 2. ผู้ถูกอบรบ ซึ่งไม่ตรงกับความตั้งใจแรกของการจัดกิจกรรมกลุ่ม
ด้วยการจัดกิจกรรมกลุ่มในแต่ละครั้ง มีเป้าหมายหลักเพื่อให้สมาชิกกลุ่ม ‘วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี’ มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ได้โอกาสพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ความสนใจร่วมกันมากกว่า เพราะที่ผ่านมา เราเจอกันแต่บนโลกออนไลน์เท่านั้น ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาตัวจริงๆ กันเลย
- กลุ่ม ‘วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี’ คือกลุ่มคนที่รักศิลปะลายไทย มีสมาชิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีหลายวัยและหลากอาชีพ ตั้งแต่เด็กประถม ไปจนถึงผู้ใหญ่วัยใกล้เกษียณ เริ่มต้นกลุ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2551 โดยมีเว็บไซต์ ‘วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี’ www.jitdrathanee.com/learning เป็นศูนย์กลาง จนถึงปัจจุบัน (facebook กลุ่ม วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2554 วันที่ 14/5/2559 มีสมาชิก 1,026 คน) โดยติดต่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะลายไทย ผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก จัดนิทรรศการศิลปะกลุ่มครั้งแรก ‘จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ 1 วาดเส้น’ เมื่อ พ.ศ. 2555 นิทรรศการศิลปะกลุ่มครั้งที่ 2 ‘จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ 2 เล่นสี’ เมื่อ พ.ศ. 2557
แถมสมาชิกบางคน ยังมีความสามารถสูง ระดับเดียวกับศิลปิน (บางคนเก่งกว่าผมเสียอีก) แต่บางคนก็ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา อยู่ในวัยที่กำลังแสวงหาความรู้กันอยู่ ในขณะที่บางคนแม้ไม่เคยผ่านการเรียนในสถาบันศิลปะใดๆ มาก่อน แต่มีความรักในศิลปะลายไทย โดยอาศัยกลุ่มเป็นพื้นที่แสวงหาความรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถ หรือแสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ โดยที่หลายคน ยังมีฝีไม้ลายมือดีเยี่ยม ไม่แพ้คนที่เรียนจบสายศิลปะมาโดยตรง
เพราะฉะนั้นผมจึงคิดหาคำ ที่เหมาะสมใกล้เคียงกับการนัดพบกันในกลุ่ม โดยกิจกรรมที่ถูกเซ็ทขึ้นมาแต่ละครั้ง เป็นเพียงตัวเชื่อมให้เราได้มีโอกาสทั้งพบปะพูดคุย และได้ร่วมงานที่มีเนื้อหาสาระร่วมกัน ผมจึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า Meetup
Meetup สามารถใช้เป็นคำนาม (noun) ได้ และมีความหมายในทางหนึ่งว่า “การนัดพบกันแบบไม่เป็นทางการ” (แต่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า) เพื่อพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และทำกิจกรรมร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้อบรม และผู้ถูกอบรบ
ในแวดวงธุรกิจ Startup ยังพบมีการใช้คำว่า Meetup ในทำนองเดียวกับคำว่า Pitching (นำเสนองาน) ให้กับนักลงทุน (investor) อีกด้วยครับ.
0 comments on “ตามรอยสีไทย MEETUP#3 ตอน ‘มหาภูตรูป’”Add yours →