นึกถึงความตายสบายนัก : The Contemplation of Death

ปี 2564 ครบรอบวันล้ออายุอีกครา ชายวัยกลางคนตอนปลาย ชวนอ่าน วิธีเตรียมตัวตาย

#วัยกลางคนตอนปลาย เป็นคำนิยามที่เหมาะสม ชัดเจน หากจะกล่าวถึงชีวิตผม ณ ช่วงเวลานี้ กว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ชีวิตผมผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวมาหลายช่วง ทั้งดีทั้งร้ายคลุกเคล้าผสมปนเปกันไป ดูๆ ไปก็เหมือนนิยายน้ำเน่าตอนบ่ายๆ ที่ชายชราอุตริเล่า (แล้วไม่มีใครฟัง) ใต้หลืบสะพานแคบข้ามคลองน้ำครำ

วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นวันที่ผมมีอายุครบ 49 ปีเต็ม ในระหว่างช่วงเวลาอันยาวนานนี้ ผมเคยผ่านวิกฤต “ต้มยำกุ้ง 2540” เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศ จนถึงจลาจลมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะ “พฤษภาทมิฬ 2535” เหตุการณ์ประท้วง “เสื้อเหลือง 2551” “เสื้อแดง 2553” เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จนมาถึง “กปปส. 2556 – 2557” เรียกได้ว่าจำต้องประสบพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปตามมวลอายุที่เพิ่มมากขึ้นๆ ทุกวัน แต่ ณ เวลานี้คือ…ครั้งแรกที่ผมได้ใช้ชีวิตร่วมทุกข์กับทุกๆ คน ท่ามกลาง #วิกฤตโรคระบาดครั้งรุนแรงระดับโลก อย่าง COVID-19 และประเทศไทยเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงเลวร้ายสุดๆ ของวิกฤต ถึงแม้เราจะผ่านช่วงเริ่มต้นระบาด ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อเมษายน 2563 หรือช่วงกลาง ปลายเดือนธันวา 2563 คาบช่วงปีใหม่ มกรา 2564 แต่ ณ เวลานี้คือ กรกฎาคม 2564 (สืบเนื่องจากการระบาดระลอกที่ 3 ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ เมษายน 2564) และรัฐบาลได้ประกาศล็อกดาวน์เข้มข้นอีกครั้งในพื้นที่เสี่ยงสูงทั้งหมด 13 จังหวัด

Photo: https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/505

ภาพบาดตาอะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น อาทิ ภาพผู้ป่วยโควิดล้มตายอย่างเดียวดายริมถนน ในชุมชน และในบริเวณตลาด ภาพสุดสะเทือนใจที่เห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการรักษา ต้องนอนตายคาบ้าน ที่มีให้เห็นเป็นข่าวรายวัน ในขณะที่ระบบสาธารณสุขกำลังใกล้ล่มสลาย เพราะหมอพยาบาลอ่อนแรง ถึงแม้จะฉีดวัคซีนกันครบ 2 โดสแล้ว ก็ยังติดเชื้อซ้ำกันอีกจำนวนมาก และบางส่วนก็เสียชีวิต สะท้อนภาพการสูญเสียบุคลากรการแพทย์ด่านหน้าที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ในแง่คนตัวเล็กตัวน้อยที่ถึงแม้จะยังไม่ติดโควิด แต่กลับเกิดภาวะยากจนเฉียบพลัน หรือถึงขั้นล้มละลายทางเศรษฐกิจ สิ้นหวังหมดกำลังใจ จนบางคนคิดสั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งลงให้เห็นเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน สร้างความหดหู่และสะเทือนใจอย่างรุนแรงกับทุกๆ คนในชาติ ซึ่งที่ไม่คิดว่าจะเห็นกลับได้เห็น มันสะท้อนอะไร? สะท้อนความไม่แน่นอนและทุกข์ทรมานของชีวิต ที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในโลกนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปกติเรื่องราวที่ผมมักจะบ่นทุกๆ วันคล้ายวันเกิด ก็มักหนีไม่พ้น “การระลึกถึงความตาย” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า ณ เวลานี้ ทำให้เห็นได้ชัดเสียยิ่งกว่าชัด ว่าแท้จริงแล้ว…ความตายโคจรอยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง ในวันที่ผมกำลังบันทึกเรื่องราวนี้อยู่ (25 ก.ค. 2564) จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอย่างเป็นทางการ ก็ปาไป 15,335 คนแล้ว และผู้เสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้นอีก 129 คน พวกเราคงต้องยอมรับตามจริงว่า ตัวเลขแบบทางการนี้ ยังไม่สะท้อนสิ่งที่ตรงกับสถานการณ์จริง เหตุเพราะขีดจำกัดในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ และการนับจำนวนผู้เสียชีวิตที่น่าจะมีมากกว่า เหตุเพราะตกหล่นจากการระบุสาเหตุการตายว่าที่แท้จริงว่า ตายเพราะติดเชื้อหรือไม่ จึงไม่ถูกนับรวมไปด้วย หากรัฐบาลสามารถทำการตรวจแบบปูพรมได้จริงๆ ตัวเลขน่าจะสูงกว่าที่ทางการประกาศออกมามาก

ที่สำคัญยังมีผู้รู้คาดการณ์ไว้อีกว่า ช่วงพีคสุดๆ ยังไม่มาถึง แต่จะอยู่ช่วงในสิงหา – กันยา 2564 เราคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่า จะเป็นไปอย่างที่คาดไว้มั้ย? แต่ปัจจุบันผมก็แทบจะล็อกดาวน์ตัวเองมาตั้งแต่การระบาดในระลอกที่ 3 แล้ว (เหตุจากเชื้อกลายพันธุ์อัลฟ่า ตั้งแต่เมษายน 2564) ต่อเนื่องจนมาถึงเวลานี้ ที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านระบุว่า เราเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 แล้ว เพราะเหตุเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า (ซึ่งเป็นคนละตัวกับอัลฟ่า) ที่กำลังระบาดหนักและแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าเสียอีก

แน่นอนว่า ความทุกข์ระทมที่เกิดขึ้นกับคนในชาติทั้งโรคภัยและสภาวะเศรษฐกิจ ได้แผ่ซ่านกระจายครอบคลุมไปทั่วทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีต้นทุนทางสังคมต่ำ ไม่ว่าจะเพราะยากจน หรือด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่คนชั้นกลางเองก็กระทบหนักจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนานข้ามปี แต่ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่…ก็ต้องอดทนกัดฟันต่อสู่กันต่อไปครับ

ผมเอง ณ เวลานี้ ยังไม่ติดเชื้อ (และยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว) แต่ได้ข่าวคนใกล้ตัวติดเชื้อกันหลายคน และมีล้มตายให้ทราบบ้างแล้ว เมื่อทราบข่าวก็พูดไม่ออก ได้แต่แสดงความเสียใจตอบกลับไป และขอให้ผู้ที่ยังอยู่ สามารถอดทนและขอให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ซึ่งหลายๆ คนอาจไม่ตายเพราะติดเชื้อโดยตรง (เพราะติดแล้วมีโอกาสรักษาหาย) แต่ที่ตายเพราะไม่มีเตียงให้เข้ารักษาอย่างทันท่วงทีต่างหาก และนี่คือภาพแห่งความจริง…ที่เราต่างรับรู้กัน

ลองคิดในมุมกลับกัน หากวันหนึ่งผมต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อเองบ้าง และร่างกายผมไม่ได้แข็งแรงมากพอ และมีความเป็นไปได้สูงว่า ผมอาจเข้าไม่ถึงการรักษา และสุดท้ายอาจต้องตายคาบ้านในที่สุด หากผมต้องอยู่ในห้วงเวลาเช่นนั้น ผมควรคิดและทำใจอย่างไร หากผมยังคงมีสติสัมปชัญญะดี ไม่ทรมานจนเบลอไปด้วยโรคร้ายเสียก่อน ผมคงระลึกถึงพระธรรมเทศนาที่ พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ท่านเคยเทศน์ไว้ดังนี้ครับ

วิธีเตรียมตัวตาย

“พวกเราพยายามฝึกตัวเองให้ได้ตั้งแต่ก่อนที่จะตาย ค่อยๆ ภาวนาไปทุกวันๆ จิตใจจะมั่นคงเด็ดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายังไม่ได้ธรรมะ เวลาจะตายเราทำอย่างไรดี ถ้าคิดถึงคุณงามความดีของตัวเองได้ ก็ใช้ได้ อย่างเราเคยทำทาน เราเคยรักษาศีลได้ดี เรานึกถึงแล้วจิตใจเราเบิกบาน เราจะได้ไปสุคติ

หรือบางทีก็ต้องอาศัยตัวช่วย นึกถึงความดีของตัวเองไม่ชัด เรานึกถึงครูบาอาจารย์ ดูท่านสะอาด ดูท่านสว่าง ดูท่านสงบ ดูแล้วสดชื่น เข้าใกล้แล้วมีความสุข จะบอกให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า เราก็ไม่รู้พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร นึกได้แค่พระพุทธรูป นึกไม่ถึงพระพุทธเจ้า พวกเรายังไม่เห็นพระพุทธเจ้า วันใดที่ได้ธรรมะเราจะเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นความบริสุทธิ์ นึกถึงคนที่เขาดีๆ คนดี ใจเราจะเบิกบานขึ้นมา ใจจะเชื่อมต่อกัน เบิกบานสว่างไสวขึ้นมาได้

เราเตรียมตัวให้พร้อม เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ วิธีเตรียมตัวให้พร้อมคือ พยายามสร้างความดีไว้ ความชั่วอย่าทำ อย่างเราทำทาน เราถือศีล เราเจริญเมตตา เวลาจวนตัวจะตายมิตายแหล่ นึกถึงความดีของตัวเอง ถ้านึกถึงความดีของตัวเองไม่ได้ นึกถึงครูบาอาจารย์

ถ้านึกถึงครูบาอาจารย์ไม่ออก เราใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในกรรมฐาน คือดูร่างกายมันตาย ดูร่างกายมันนอนอยู่ ร่างกายมันหายใจอยู่ ไม่รู้ลมหายใจจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เรามีสติระลึกรู้ เห็นร่างกายมันจะตายใจเป็นคนดู แต่จะทำอย่างนี้ได้ต้องฝึกให้มากๆ หน่อย ไม่อย่างนั้นนึกไม่ได้ ดูไม่ทัน กลายเป็นกูจะตายแล้ว เราจะตายแล้ว

หรือที่ง่ายกว่านั้นดูไปว่า ร่างกายนี้ใกล้จะตายแล้ว “อย่าไปปฏิเสธความตาย” รู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ ตอนนี้เรากำลังจะตายแล้ว เรียกว่าเรามีมรณสติ แต่เราจะระลึกตอนตายได้เก่ง เราต้องหัดระลึกตั้งแต่ยังเป็นๆ ทุกวันนั่งสมาธิเสร็จ ไหว้พระสวดมนต์แล้ว หรือจะก่อนปฏิบัติก็ได้ ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็พิจารณาความตายไป ไม่นานร่างกายนี้ก็จะแตกดับ ก่อนที่มันจะแตกดับเรามาปฏิบัติธรรม เอาร่างกายซึ่งเป็นของไม่แน่นอนมาปฏิบัติธรรม เพื่อสร้างคุณงามความดีในจิตใจของเรา

ถ้าเราฝึกอย่างนี้มาก่อนที่จะป่วย ตอนที่เราจะตายเราจะไม่หวั่นไหว เราจะเห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามีสัตว์ที่ไม่ตายอันนั้นผิดธรรมดา ไม่มีอะไรที่เกิดแล้วไม่ตาย ไม่มีสิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับ ทุกสิ่งที่เกิดแล้วดับทั้งสิ้น ทุกวันพิจารณาความตาย หรือมีสติรู้ร่างกาย ดูร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ถ้าฝึกได้อย่างนี้เราจะไม่กลัวตาย เวลาจะตาย เราจะเห็นว่าร่างกายมันตาย ไม่ใช่เราตาย ถ้าเราเคยดูร่างกายว่ามันไม่ใช่เรา มีกายคตาสติ ระลึกอยู่ในกายเรื่อยๆ เห็นกายไม่ใช่เรา หรือมีมรณสติ ระลึกถึงว่าความตายเป็นเรื่องปกติ”

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช : วัดสวนสันติธรรม
แสดงธรรม ณ วัดเขาดินวนาราม
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒

ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ เมื่อคุณกำลังใกล้จะตาย อาจเป็นห้วงเวลาที่ดีที่สุด ที่เราจะได้ระลึกถึงสิ่งนี้ โดยไม่ประมาทอีกต่อไป ดั่งบทกวีกินใจที่สุนทรภู่ เคยประพันธ์ไว้ว่า….

“นึกถึงความตายสบายนัก 
มันหักรักหักหลงในสงสาร
บรรเทามืดโมหันต์อันธกาล
ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ”

จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee

เขียนเนื่องในวาระที่มี อายุครบ 49 ปีบริบูรณ์

0 comments on “นึกถึงความตายสบายนัก : The Contemplation of DeathAdd yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *