Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        'ตุ้ม' ศิษย์เก่าจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หนุ่มใหญ่ผู้มีความเชี่ยวชาญ ในการสร้างผลงานลายเส้นด้วยคมปากกา ส่งภาพวาดลายเส้น มาร่วมแสดงอีก ๒ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานตุ้มครับ

เทอดสิทธิ์ พันธุ์ทองคำ (ตุ้ม) , ๔๘ ปี
มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา (ศิลปศึกษา) , จ.กรุงเทพฯ
อาชีพ ผู้รับเหมาก่อสร้าง

แรงบันดาลใจ : ภาพ "บัวตูม-บัวบาน" ๑ และ ๒
เทคนิค : ปากกาลูกลื่นบนกระดาษ
แนวความคิด : ชีวิตทุกสรรพสิ่งล้วนเจริญวัยไปตามกาลเวลา แม้ห้วงคำนึงอยากให้คงอยู่เช่นนั้น แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป... ตามธรรมชาติ... ทุกสิ่งอย่าง

ส่งผลงานเมื่อ ๒๒ มี.ค. ๒๕๕๖)
 






Toom's portrait


  select arrow

14
123456789101112131415


    ผมชอบงานพี่ตุ้มนะ เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องแนะนำอะไรอีก สำหรับเทคนิคการใช้ปากกา ที่ทั้งช่ำชอง คร่ำหวอด ละเอียด ประณีต และละมุนละไมมาก ที่ผมเคยแนะนำไป ก็มักจะประมาณ หากในภาพที่พี่ตุ้มส่งมา มีการนำลายไทยต่างๆ มาใช้ประกอบในภาพ ผมก็จะแนะให้ปรับโครงสร้างให้ดีขึ้น แต่กระหนกในรูปนี้ ผมเคยให้แบบเรียนที่ผมสอนที่โรงเรียนกับพี่ตุ้มไป พี่ตุ้มเลยพัฒนาการวาดออกมาได้ดีกว่าเดิมครับ

    อ้อ....ขอเสริมนิดนะครับ เพราะเห็นจากแนวคิดในงานของพี่ตุ้ม ที่เน้นเรื่องเกี่ยวกับสัจจะในศาสนาพุทธ ซึ่งตัวสัจจะ ที่ว่า...ก็คือเรื่อง ไตรลักษณ์ นั่นเองครับ จริงๆ มนุษย์เรา (หรือสัตว์ทุกๆ ชนิดในโลกนี้ ในศาสนาพุทธ คำว่า "สัตว์" หมายรวมถึง มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา และพรหม ด้วยนะ) ล้วนแล้วแต่...ดิ้นรนแสวงหาความสุข หนีความทุกข์ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นแหละครับ เรียกว่า "ยังไม่ฉลาด" หรือถ้าหากจะพูดกันให้ตรงๆ แรงๆ ไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ "ยังโง่" อยู่นั่นเองครับ
    แต่เป็นความโง่ ที่โง่ ด้วยความไม่รู้ (ยังมี "อวิชชา" บังตาอยู่) แล้วที่ไม่รู้...มันไม่รู้อะไรล่ะ.? ก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นแหละครับ โดยความไม่รู้ ที่บังตาเราได้หนักหนาที่สุดก็คือ การไม่รู้ไตรลักษณ์ (ส่วนการไม่รู้ หรือโง่ ตัวต่อมา.. ที่ร้ายแรงหนักยิ่งกว่า ก็คือ การไม่รู้ อริยสัจ) เพราะกฎไตรลักษณ์นี้..เป็นกฎพื้นฐาน ของทุกๆ สรรพสิ่ง ทั้งหมดทั้งมวลในโลกนี้ ซึ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ทั้งสิ้น (ยกเว้น..นิพพาน)
    หลายคนอาจงงว่า เอ่อ....แล้วไตรลักษณ์ นี่มันคือไรอ่ะครับ.? ถ้าหากจะให้แปลกันตรงๆ ก็คือ
ไตร แปลว่า สาม
ลักษณ์ ก็แปลว่า ลักษณะ
    แต่ถ้าใครไม่รู้จักไตรลักษณ์ เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังนะครับ (อิอิ...ได้โอกาสฝอยอีกแล้ว ^^)"

    กฎของไตรลักษณ์ หรือ ลักษณะสามัญทั้ง ๓ ประการ ซึ่งเป็นกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวงในโลก... ที่ยังได้ชื่อว่า "มีการเกิด" อยู่ เพราะเมื่อใดที่มีจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุดก็จะต้องตามมา เป็นธรรมด๊า..ธรรมดา นั่นเอง เช่น เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการตาย เป็นต้น (แต่นิพพาน ไม่เกิด-ไม่ดับ หรือ นิพพาน พ้นจากการเกิด-การดับ เสียแล้ว จึงอยู่นอกเหนือกฎของไตรลักษณ์ และมีเพียง ๑ เดียวเท่านั้น ที่อยู่นอกกฏนี้) เรียกได้ว่า ไตรลักษณ์ เป็นกฎอย่างสามัญ ที่ครอบคลุมทั้งจักรวาลเลยก็ว่าได้ ประกอบไปด้วย

๑.) อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เพราะไม่สามารถจะคงรูปอยู่ได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องเคลื่อน ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
๒). ทุกขัง มาจากคำสองคำผสมกันคือ ทุ แปลว่า ยาก และ ขะมะ แปลว่า ทน, ทุ+ขม = ทุกขัง แปลว่า "ทนอยู่ได้ยาก" เมื่อทนอยู่ได้ยาก จึงทุกข์ เพราะถูกบีบคั้นให้จำต้องเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลายตัวเอง อยู่ตลอดเวลา โดยทุกขัง ยังสืบเนื่องมาจากข้อ ๑. อีกด้วย
    *ขอแนะนำให้รู้จักอีกคำหนึ่งคือ สังขาร ที่รากศัพท์ดั้งเดิม (ภาษาบาลี) แปลว่า "ความปรุงแต่ง หรือ การประสม" (ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ สภาพร่างกาย อย่างที่ภาษาไทยนำมาใช้ และความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม) เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการปรุงแต่งเกิดขึ้น ก็จะเกิดสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้ (เท่ากับทุกข์) ด้วยในทุกๆ การปรุงแต่ง จะมีกระบวนการของการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เสมอๆ
๓). อนัตตา แปลว่า ไม่มีตัวตนอยู่จริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับได้จริง และไม่เคยอยู่ภายใต้การควบคุม บังคับบัญชา หรือเป็นไปตามอำนาจบงการของใคร และที่สำคัญคือ ไม่เป็นไปตามใจ (ที่เราอยาก หรือไม่อยาก) แต่...มันเป็นไปตามเหตุ-ปัจจัย ที่เหมาะสม ที่เอื้อ ซึ่งส่งผลอย่างสืบเนื่อง ซึ่งกันและกันนั่นเอง

และ ทุกขัง ยังหมายถึง ขันธ์ ๕ (ซึ่งประกอบด้วย รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ) หรือ รูป+นาม (กาย+ใจ) ที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวเรา-ของเรา (ตัวเรา-ของเรา ไม่เคยมีอยู่จริง มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่..เป็นเพียงการมีอยู่โดย "สมมุติ" ซึ่งถ้าหากเราเข้าใจไปว่า สมมุตินี้ คือ ตัวเรา-ของเราจริง ก็ยังเป็นการหมายรู้ที่ผิดๆ หรือที่เรียกว่า "จิตวิปลาส" ซึ่งไม่ได้แปลว่า บ้า นะครับ แต่หมายถึง จิตจำผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไปจากความเป็นจริงไปหมดแล้ว) ดังพุทธพจน์ที่กล่าวว่า
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา แปลว่า "ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์"

    และที่พวกเราทั้งหลายต่างกำลัง ดิ้นรนแสวงหาความสุข หนีความทุกข์ ก็เท่ากับปฏิเสธ กฎไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฎธรรมดาสามัญประจำโลก นี่แหละครับ
    เช่น เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลาย เหี่ยว ผุพัง ฯลฯ หรือต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ที่ชอบใจ ซึ่งไม่เคยเป็นไปตามใจอยาก หรือไม่อยาก เช่น เมื่อรู้สึกสุข ก็อยากกอดไว้ อยากให้อยู่อย่างงี้นานๆ หรือตลอดไป เมื่อทุกข์ ก็อยากถีบไปให้ไกลๆ หรือไม่อยากให้เป็นอย่างงี้ตลอดไป ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า "รับไม่ได้" การดิ้นรนแสวงหาสุข ดิ้นรนหนีทุกข์ ก็จะตามมา (เป็นรากเหง้าของ "ตัณหา")
    **เพราะ....เมื่อใดก็ตาม ที่จิตปฏิเสธความจริง (ก็เท่ากับปฏิเสธ กฎไตรลักษณ์) จิตก็จะดิ้นรนเร่าๆ เพื่อแสวงหาความสุข หนีความทุกข์ไม่เลิก ซึ่งเท่ากับเป็นการ "สร้างภพ สร้างชาติไม่เลิก" เช่นกัน ซึ่งเป็นที่มา ต้นราก หรือโคตรเหง้า ของการเกิดๆ ดับๆ สืบเนื่องของ วงจรแห่งความทุกข์ หรือ วัฏสงสาร นั่นเองครับ

    จริงๆ ยังมีคำอธิบายที่ลึกซึ้งกว่านี้อีกนะครับ แต่เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า ผมฝอยยาวอีก แต่ถ้าใครสนใจ จะโพสถามผม ที่ FB คอมเม้นท์ด้านล่างก็ได้ครับ ถ้าผมพอทราบก็จะตอบให้ แต่ถ้าไม่ทราบก็ขอเวลาหาข้อมูลหน่อย (จริงๆ ถึงผมจะศึกษาศาสนาพุทธในเชิงลึก มานานหลายปี แต่ก็ยังไม่จัดว่าเชี่ยวหรอกครับ ผมยังเป็นเพียงนักเรียนอนุบาล ที่ยังต้องศึกษาอีกมาก ยังไงๆ... ขอออกตัวไว้ก่อนนะครับ)

    อ่ะ...ลืมงานพี่ตุ้มไปเลย งานพี่ตุ้มชิ้นนี้ สวยแล้วนะครับ ขอให้วาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๓๐ มี.ค. ๒๕๕๖)
 
 

Toom's Drawing
 


 


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.