Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        ป่านเป็นหนุ่ม ม.ราชภัฏนครปฐม ที่มีฝีไม้ลายมือในการวาดลายไทยใช้ได้เลย แต่พอผมเห็นภาพที่ป่านส่งมา ก็เลยไม่รู้จะแนะนำยังไง ? (ดูคำอธิบายด้านล่างครับ) ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้เสนอผลงานของป่านครับ

สรุทต์ สัตบุรุษาวงศ์ (ป่าน) , ๒๒ ปี
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม , จ.นครปฐม

แรงบันดาลใจ : ไม่รู้เหมือนกันเป็นเพราะอะไร ถึงชอบลายไทย แต่ตอนดูลายไทย ทำให้ผมถึงกับหลงในความอ่อนช้อย แฝงด้วยพลังในลายเส้นของมัน ทั้งที่ผมวาดมาหลายแบบ สุดท้ายก็มาจบที่ลายไทยที่ผมรักครับ

ส่งผลงานเมื่อ ๑๗ มิ.ย. ๒๕๕๑)
 








 

1
1234


    เป็นธรรมดาครับ ที่ศิลปินที่โด่งดังและทรงอิทธิพล ทางด้านศิลปะไทยร่วมสมัยแห่งยุคอย่าง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จะส่งแรงบันดาลใจ สู่ผู้ใฝ่เรียนรู้และศึกษาศิลปะไทยร่วมสมัยที่หลากหลาย ด้านขวาคือผลงานของป่านครับ และซ้ายมือคือบางส่วนจาก ผลงานชื่อ "สุข ณ เกษียรสมุทร" (เทคนิคดินสอดำ) และผลงาน "คู่รักมีธรรม" (เทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าใบ) ของ อ.เฉลิมชัย ที่แสดงในนิทรรศการศิลปกรรม "วาดทำบุญ ๓" เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ อ่านคำแนะต่อด้านล่างนะครับ (๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๑)
 
 







     ที่ผมกล่าวว่าไม่รู้จะแนะนำยังไงเพราะ งานของป่านนั้น ได้รับอิทธิพลจากผลงานของ อ.เฉลิมชัย อย่างชัดเจน (ถ้าใครเคยเห็นงานของ อ.เฉลิมชัย แล้วมาเห็นงานของป่านเข้า ก็คงต้องทักเหมือนผมทั้งนั้นแหละครับ) ซึ่งผลงานของ อ.เฉลิมชัย นั้นมีความลงตัว สวยงาม โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยิ่ง จนทุกวันนี้เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งใน "สกุลช่างของศิลปะไทยร่วมสมัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๙" ไปแล้ว ซึ่งผลงานต้นฉบับเค้าดีอยู่แล้ว ถ้าจะให้ผมแนะนำป่าน ก็คงต้องบอกว่า ป่านวาดเทียบได้ดีเหมือนกับของ อ.เฉลิมชัย มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น แต่อย่างไร...ผมมีเรื่องจะแนะนำต่ออีกสักนิด พอเป็นแนวทางนะครับ

๑. สำหรับนักเรียนศิลปะ
     การได้แรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินที่ชื่นชอบ และเก็บเอาความประทับใจ มาใส่ในผลงานของตนเองนั้น ไม่ได้มีความเสียหายอะไรหรอกครับ แต่จะเป็นผลดีในแง่ที่ หากการลอกเลียนนั้น เป็นไปเพียงเพื่อ ศึกษา เรียนรู้ ทดลอง แล้วค่อยๆ คลี่คลายไปสู่ผลงานที่สะท้อน "ความเป็นตัวตนของตนเอง" ในอนาคต แต่หากยังไม่สามารถ "หลุดหรือสลัด" จากเอกลักษณ์อันทรงพลังของผลงานศิลปินที่คุณชื่นชมแล้ว อาจจะทำให้การก้าวเข้าสู่ "การทำงานในวงการศิลปะ" ของนักเรียนศิลปะคนนั้น ต้องเผชิญกับความล้มเหลวในอนาคต

     ผมขอยกตัวอย่างนะ หากคุณได้โอกาสแสดงนิทรรศการศิลปะเดี่ยว (ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนศิลปะทุกคน ที่จะได้แสดงผลงานของตนเองต่อสาธารณชน) แล้วพอคนเดินเข้ามาชมผลงานของคุณ แล้วทักขึ้นว่า "อ้าว นี่มันงานเลียนแบบ copy อ.เฉลิมชัย นี่" จากนั้น...คุณคงทำหน้าไม่ถูก และอาจจะตามมาด้วย "ทำไม ไม่เห็นดีเหมือนต้นแบบ" (มีข้อเปรียบเทียบทันที) และยังมีความเห็นอื่นๆ ที่จะตามมาอีกเป็นพะเรอเกวียน เช่นเดียวกันกับ คุณคงไม่ชอบนักร้อง ที่ร้องเลียนเสียงนักร้องชื่อดังแห่งยุค ในขณะที่คุณพร้อมจ่ายเพื่อซื้อ CD ฟังเสียงจากนักร้องชื่อดังต้นฉบับมากกว่า จริงมั้ยครับ? อย่างไรก็อย่างนั้นแหละครับ

     เพราะฉะนั้นอาจารย์สอนศิลปะ ที่ติดตามผลงานของศิษย์ ก็จะแนะนำเสมอว่า "จงสลัดแอกผลงานที่ตนเลียนแบบ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง" ด้วยวิธีใดหรือครับ? ก็ด้วยวิธีการกลับไปหา Original หรือต้นฉบับแท้ๆ ดั้งเดิม หากพูดถึงศิลปะไทย ก็คือกลับไปหาผลงานของครูช่างโบราณ ที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี จากหลากยุคสมัย เช่น อยุธยา สุโขทัย และรัตนโกสินทร์ เป็นต้น การศึกษามากๆ ก็จะให้ข้อมูลที่ละเอียดพอจะเลือก และนำมาดัดแปลงสู่ผลงานของตนเองได้ และคุณยังสามารถเก็บความประทับใจ จากผลงานศิลปะฝั่งตะวันตก ตะวันออก และศิลปะร่วมสมัยแห่งยุค จากทั่วทุกมุมโลก เข้ามาผสมผสานกับผลงานของคุณได้อีก ซึ่งจากกรณีนี้ จะมีตัวเลือกให้คุณแบบไม่รู้จบเลย (จริงๆ อ.เฉลิมชัย และศิลปินชื่อก้องทุกท่าน ก็ล้วนศึกษามาจากรูปแบบนี้ทั้งนั้นแหละครับ) จนกระทั่งคลี่คลายและพัฒนาสู่ความเป็นแบบฉบับของตนเองในที่สุด

๒. สำหรับผู้สนใจศิลปะทั่วไปเพื่องานอดิเรก
     กรณีนี้จะเป็นกรณีเฉพาะครับ ซึ่งอาจจะอยู่ในข่ายของ ป่าน ก็ได้ คือทำเพราะชอบ มีใจรัก และเป็นเพียงงานอดิเรก ไม่ได้คิดจะก้าวเข้าสู่วงการศิลปะแต่อย่างใด ถ้าเช่นนี้ก็ทำไปเถอะครับ คงราวๆ เราชอบร้องคาราโอเกะเลียนเสียงนักร้องที่เราชอบนั่นแหละ ไม่ได้อยากเป็นนักร้องจริงๆ ซักกะหน่อย เอาแค่หนุกๆ กับเพื่อนๆ เท่านั้น


     แต่จะว่าไป...ป่านเอง ก็มีฝีมือ ในระดับที่จะพัฒนาต่อได้นะครับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนศิลปะโดยตรง อย่างไรก็...ขอให้ทำงานที่ชื่นชอบต่อไปนะครับ จริงๆ แค่หันมาวาดรูป ผมก็ชื่นชมแล้วนะ ^o^


: จิด-ตระ-ธานี (๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๑)
 


 


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.