|
|
'อาร์ท' หนุ่มใหญ่เมืองพระเจดีย์กลางน้ำ ปลาสลิด (บางบ่อ) รสเลิศ ศิษย์เก่านิติศาสตร์ รั้วรามคำแหง ส่งผลงานลายไทยมาร่วมแสดงอีก ๑ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานอาร์ทครับ
|
กิติพงษ์ กล่ำกองกูล (อาร์ท) , ๔๔ ปี
มหาวิทยาลัยรามคำแหง (นิติศาสตร์) , จ.สมุทรปราการ
แรงบันดาลใจ : ลายเส้นชุดนี้เขียนเมื่อ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๗ โน่น ได้แรงส่งจากจตุคามฯ ในระยะนั้น ซึ่งว่ากันว่าเป็นเทพที่อยู่ใต้สมุทร เลยนึกถึงนารายณ์บรรทมสินธุ์ในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม.. มีด้วยหรือ.?) โดยตั้งใจขึ้นเป็นภาพใหญ่ขนาด ๑.๕ x ๒ เมตร แต่ขึ้นไม่เป็น เลยเขียนไว้เป็นตัวๆ ไว้ กะว่าจะนำมาประกอบอีกครั้ง จนแล้วจนรอดถึงปัจจุบัน ก็ยังคงบรรทมอยู่ในกระดาษปรู๊ฟครับ ส่งมาให้ชมกันครับ สัดส่วนเทพบางองค์ยังไม่ถูกเท่าไหร่นัก ติชมกันตามสบายครับ
ส่งผลงานเมื่อ ๒๘ พ.ค. ๒๕๕๔)
|
|
|
|
|
|
|
ผมรู้สึกชื่นชมคุณอาร์ทจริงๆ นะครับ ต้องถือว่า..เป็นคนที่ไม่เคยผ่านการร่ำเรียน ในสถาบันทางศิลปะใดๆ มาเลย แต่ฝีมือนี่..เด็ดสะระตี่ไปเลย เห็นเคยบ่นให้ผมฟังว่า "ตกม้าตาย" เรื่องการจัดองค์ประกอบภาพ พอเห็นภาพที่ส่งมาครั้งนี้ ทำให้ผมมองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นครับ
จริงๆ แล้ว ไม่ได้ยากเย็นอะไรอย่างที่คิดเลยนะครับ ยกตัวอย่างภาพนี้ ที่คุณอาร์ทวาดเล่าเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นตอนกำเนิดพระพรหมซะด้วยสิ ต่อมาก็สร้างโลกล่ะ (ในตำนาน พระพรมหมเกิดจากดอกบัวที่งอกออกมาจากสะดือพระนารายณ์) เป็นภาพตอนเดียวกันกับทับหลังชื่อดัง "นารายณ์บรรทมสินธุ์" ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ เลยนะ
จริงๆ ถ้าไม่อยากให้ผิดเรื่องราว ก็ต้องอ่านตำนานของเทวดาเมืองแขกให้มากๆ นะครับ (เลือกซักตำนานนะครับ เพราะหลายตำนานชอบขัดแย้งกันเอง) และจะทราบเองว่า ควรจะวาดองค์ประกอบข้างๆ ให้เป็นรูปอะไร เช่น ทะเลน้ำนม (เกษียร แปลว่า น้ำนม) อยู่ ณ ที่แห่งไหนในตำนาน ก็วาดประกอบไป แล้วเทวดาประกอบอื่นๆ เช่น พระวิษณุกรรม (ภาพขยาย) พระอิศวรและพระอุมาเทวี (ภาพขยาย) ควรจะอยู่ตรงจุดไหน ใครต่ำกว่าใครสูงกว่า ก็วาดลงไป หรือจะวาดให้ลอยอยู่กลางอากาศ มุมซ้าย-มุมขวา ก็ได้ หรือจะวาดพาหนะประกอบใต้เทวดาองค์ต่างๆ ก็ได้ เช่น พาหนะของพระอิศวร (หรือพระศิวะ) คือ โคนนทิ อาจจะวาดให้เป็นโคทั้งตัว หรือจะวาดให้ดูเหมือนกับก้อนเมฆลางๆ เป็นรูปวัวก็ได้ (ประมาณหายตัวเป็นทิพย์..อิอิ) แล้วแต่เราจะออกแบบนะ จริงๆ ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลยครับ คิดมากไปเปล่า.?
และมีอีกวิธีนึงนะครับ (ถ้าไม่กลัวพวกรู้ตำนานเทวดาด่า) ก็ประดิษฐ์องค์ประกอบภาพใหม่ ให้เป็นแบบเฉพาะของเราไปเลย เช่น พระนารายณ์กำลังหลับอยู่บนหลังพญาอนันตนาคราช ที่ลอยอยู่ในทะเลน้ำนม ก็อาจจะวาดให้ลอยอยู่ในแก้ว ชาม หรือภาชนะใสๆ ขนาดใหญ่ก็ได้ และเทวดาต่างๆ ที่มาประชุม ก็อาจจะวาดให้อยู่ในถ้ำ หรือลอยอยู่ในกงล้อไฟ กงล้อน้ำก็ได้ เอาหนุกๆ ไปเลยครับ หากใครถามก็บอกว่า เรามีไอเดียแบบ Abstract หรือ Neo-Serrealism โดยเอาตำนานเก่ามาเล่าใหม่ ในความรู้สึกของเราเอง ซึ่งอาจจะผสมเทคนิค หรือบรรยากาศแบบร่วมสมัยในปัจจุบันลงไปก็ได้ (เช่น เทวดาอาจมีพาหนะเป็น รถไฟฟ้า BTS ^^ การใส่อะไรแปลกๆ ถ้าอธิบายได้จะยิ่งแจ๋ว ไม่งั้นจะถูกหาว่ามั่ว) ส่วนบรรยากาศสีสันของภาพโดยรวม ก็อาจจะให้เป็นแบบ อากาศยามเช้า (สีสว่างๆ อมฟ้าอมเหลือง) หรือยามสนธยา (สีครื้มๆ คลุมโทนอมม่วง อมส้ม เหมือนตอนพระอาทิตย์ใกล้ตก) ก็ได้ครับ จริงๆ แล้ว ศิลปะค่อนข้างเปิดกว้างในการแสดงออก สำหรับศิลปินแต่ละคนในยุคปัจจุบันนี้นะ ที่มักจะสอดแทรก แนวคิด + เรื่องราว ที่ตนเองสนใจ และอยากจะนำเสนอต่อสังคม ผ่านผลงานของตนเองก็มีมาก
ผมอยากแนะนำให้ดูผลงานของศิลปินไทยคนหนึ่ง ชื่อคุณ จิระพัฒน์ ทัศนสมบูรณ์ ที่โชว์อยู่ในเว็บ Thavibu Gallery นะครับ ซึ่งผลงานค่อนข้างหลุดโลกเอามากๆ เป็นการนำเอางานไทยๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์ ผสมกับไอเดียส่วนตัว กับภาพการ์ตูน super hero ฝรั่งบ้าง ภาพวาดศิลปินฝรั่งชื่อดังระดับโลกบ้าง เอามาประกอบยำๆ เป็นผลงาน (ส่วนใหญ่ออกแนวเสียดสีสังคม) ที่ต้องถือว่า แปลก..สะดุดตาดี ครับ เช่นตัวอย่าง
๑). ภาพ Dreaming on a Starry Night (after Van Gogh) คลิกชม
๒). ภาพ
Deer Hunter (after F. Kahlo) คลิกชม
แต่ไม่จำเป็นหรอกนะครับว่า ต้องวาดแบบคุณจิระพัฒน์ เราอาจจะวาดแบบภาพไทยประเพณีดั้งเดิม ที่เราชอบอยู่แล้วก็ได้ (แค่ยกตัวอย่างนะ) ผมว่า ปัญหาน่าจะมาจาก คุณอาร์ทอาจผ่านการวาดภาพ ในแบบที่ต้องจัดองค์ประกอบด้วยตนเองค่อนข้างน้อย เลยทำให้นึกไม่ออกว่า จะวางอะไรๆ ไว้ตรงไหนดี (หว่า.?) มากกว่านะ
แต่มีเรื่องนึงที่น่าสนใจครับ คือ ที่คุณอาร์ทพูดว่า "ทะเลน้ำนม มีด้วยหรือ..?" ผมเองก็คงตอบว่า "ไม่รู้สิครับ" แต่ถ้าหากถามผมว่า "เทวดา..มีจริงป่ะ?" ผมเองก็คงตอบว่า "มีจริงๆ ครับ" เรื่องนี้..พวกวิทยาศาสตร์จ๋าหลายๆ คน ก็อาจจะมองว่า ผมโม้ก็ได้ (เพราะวิทยาศาสตร์ปัจุบันนี้ ยืนยันว่าไม่มี) แต่จริงๆ สามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุมีผลเลยนะ ในเชิงพุทธศาสตร์ (ไม่ได้เดาเอานะครับ) แต่ผมว่า "จะมีใครสนใจ..อยากรู้ป่ะ.?" เพราะพอพูดมาอย่างงี้ทีไร..มันก็เข้าทางผม (ทุ๊กที) และผมอาจต้องอธิบายอีกยาว (ตามฟอร์ม) เอาแค่เกริ่นๆ พอหอมปากหอมคอก่อนนะครับ
ผี เทวดา เป็นรูปละเอียด ที่ต้องอาศัยการรับรู้ทางใจ (เป็นหลัก) ครับ ถ้าใครเกิดงงๆ ว่า "การรับรู้ทางใจมีด้วยเหรอ.?" ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ นะว่า ทุกๆ คนคงเคยหลับแล้วฝันกันใช่มั้ยครับ.? เวลาฝันคุณเห็นอะไรบ้าง.? หลายคนอาจตอบว่า เห็นภาพ (ภาพสีด้วยนะ) ได้ยินเสียง เช่น ได้คุยกัน บางคนอาจได้กลิ่นอีกต่างหาก (เช่น เหม็นกลิ่นทุเรียนในฝันเป็นต้น ^^) แล้วถามว่า ระหว่างที่คุณฝัน คุณก็หลับตาอยู่ แล้วส่วนใหญ่ยังอยู่ในห้องนอนที่เงียบๆ อาหารหรือผลไม้อะไรที่ส่งกลิ่นแรงๆ ใกล้ๆ ตัวคุณก็ไม่มี แล้วถามว่า..คุณเห็นภาพ ได้ยินเสียง และได้กลิ่น ในฝัน ได้อย่างไรล่ะ.? ถ้าไม่ใช่การรับรู้ทางใจ หรือภาษาแขกเรียกว่า "ธรรมารมณ์" ซึ่งเป็นอารมณ์ที่รับรู้ได้กว้างขวางมาก กว้างกว่าประสาทการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส อีกไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่านะ
อีกอย่าง นรก-สวรรค์ ก็ไม่เคยมีวันเต็มอีกต่างหาก ก็เพราะเราๆ ท่านๆ เป็นผู้สร้างสรรค์ นรกและสวรรค์ กันขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งนั้นครับ แต่...คุณๆ หลงสร้างนรก-สวรรค์กันขึ้นมาได้อย่างไรล่ะ..?
เอาล่ะๆ..พอก่อนดีกว่า เดี๋ยวโม้มาก ยาวยืด จะไม่มีใครฟังอีก แต่..ถ้าอยากทราบกันจริงๆ ก็เม้นท์กันมา (ข้างล่าง) นะครับ ถ้ามีหลายๆ คนอยากทราบ ผมจะอธิบายให้ฟังแล้วกัน
สัดส่วนตัวละคร ส่วนใหญ่ที่คุณอาร์ทวาด ดี ถึงดีมากเลยนะครับ มีแค่นิดๆ หน่อยๆ ที่อาจต้องปรับบ้าง แต่ก็เล็กๆ น้อยๆ โดยมากไม่ค่อยเป็นปัญหาเสียมากกว่า ขอให้คุณอาร์ทวาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๓๑ พ.ค. ๒๕๕๔)
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels. |
|