|
|
พรรณ ครูสาวชาว อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ที่ชอบวาดลายไทย แถมวาดไป..ก็มีความสุขไปด้วยสิ ^^ ครั้งนี้ส่งผลงานสีมาร่วมแสดงอีก ๒ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานพรรณครับ
|
ผิวพรรณ วีสุวรรณ (พรรณ) , ๓๕ ปี
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี , จ.พัทลุง
แรงบันดาลใจ : ดอกบัวแทนคนกลุ่มต่างๆ ที่พยายามมุ่งสู่ความสำเร็จ หรือมุ่งสู่เส้นทางแห่งการหลุดพ้น ซึ่งใช้วงกลมสีทองแทนจุดหมายปลายทาง
ส่งผลงานเมื่อ ๒๙ ม.ค. ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
|
|
งานชิ้นนี้ก็สวยเช่นกันครับ แต่ดอกบัวดูจะแข็งไปนิดนะ (ละม้ายพลาสติกไปครับ) ครูพรรณลองสังเกตดอกบัวในธรรมชาติจริงๆ ซึ่งกลีบ จะดูอ่อนเบา ใบ และก้าน จะดูมีชีวิตชีวา ไม่แข็งกระด้างนะครับ ผมมีตัวอย่างดอกบัวในธรรมชาติ ที่มุมใกล้เคียงกันกับที่ครูพรรณวาด มาให้ดูข้างๆ ด้วยครับ พัฒนาผลงานต่อไปนะครับ แต่..ถ้าให้วิจารณ์เฉพาะโครงสี ก็ถือว่าครูพรรณเลือกใช้โทนสี ได้สวยทีเดียวครับ
เห็นครูพรรณอธิบายภาพเรื่อง "เส้นทางสู่การหลุดพ้น" ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ซึ่งหลายคนไม่เคยให้ความสำคัญ และก็น่าจะหมายถึงในศาสนาพุทธด้วยนะครับ (เพราะใช้ดอกบัวสื่อในภาพ ซึ่ง ดอกบัว มักจะใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในพุทธศาสนา แทนการหลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดอกบัวงามที่เกิดจากโคลนตม) พอพูดถึงเป้าหมายในศาสนาพุทธ หลายๆ คนน่าจะนึกถึง "มรรคผล นิพพาน" แต่คนส่วนมากไม่เข้าใจว่า "นิพพาน" หมายถึงอะไร จริงๆ นิพพานเอง ก็มีอีกหลายๆ ชื่อเลยนะครับ (ไม่ได้มีเพียงชื่อเดียวหรอก) เช่น วิราคะ แปลว่า "ปราศจากราคะ" ก็เรียก วิสังขาร แปลว่า "ปราศจากความปรุงแต่งของกิเลส" ก็เรียก อโมหะ แปลว่า "ปราศจากความหลง ซึ่งเป็นรากเหง้า หรือต้นตอของความปรุงแต่งทั้งปวง" ก็เรียก
เพราะทุกๆ อย่างที่ผมกล่าวมา คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสภาวธรรม ที่สมมุติเรียกกันว่า "นิพพาน" ทั้งสิ้นครับ ไม่ว่าจะเป็น ราคะ (ความยินดีพอใจในกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์) ก็ดี สังขาร (ความคิดปรุงแต่งทางใจ สืบเนื่องมาจาก "เวทนา" หรือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งเวทนาเอง ก็สืบเนื่องมาจากการกระทบ คือ "ผัสสะ" ทั้งจากภายนอก และภายใน) โมหะ (ความหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง)
ก็ดี นิพพาน เป็นสภาวธรรมชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่แล้ว ไม่เคยหายไปไหน ปรากฏอยู่ตรงหน้าเราตลอดเวลา นิพพานจึงไม่ต้องค้นหา แต่เราจะได้ประจักษ์นิพพานด้วยตนเอง ถ้าสามารถถอนเสียได้ซึ่งความเห็นผิด หรือความเข้าใจผิดๆ ซึ่งก็คือ "ตัณหา" หรือ ความดิ้นรนทะยานอยากทางใจ อยู่ตลอดเวลาออกเสียได้
ที่ทุกวันนี้..เราไม่เห็นนิพพาน เพราะถูกตัณหาบังอยู่จนมิด นั่นแหละครับ : ตัณหา คือ ความทะยานอยากทางใจ ซึ่งมีความหลงผิด (อย่างเหนียวแน่นติดหนึบอยู่) ด้วยกัน ๓ ประการ คือ
๑). มีความเห็นว่า สิ่งซึ่งไม่เคยเที่ยงเลย ว่าเที่ยง (เพราะไม่มีสิ่งใดที่ขึ้นชื่อว่า "เกิด" จะสามารถคงทน อยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดเวลา แต่เรากลับ "อยาก" ให้มันคงอยู่) : อนิจจัง
๒). มีความเห็นว่า สิ่งที่เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ว่าเป็นสุข หรือ เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง (จริงๆ สรรพสิ่งทั้งหลายที่ขึ้นชื่อว่า "เกิด" ต่างมีสภาวธรรมที่เป็นทุกข์ล้วนๆ โดยธรรมชาติ) : ทุกขัง
๓). มีความเห็นว่า สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้จริง ไม่เป็นไปอย่างใจเราต้องการ ว่าเป็นตัวตน บังคับได้จริง และเป็นไปอย่างใจเราต้องการ : อนัตตา
๓ สิ่งนี้เป็นความเห็นผิด หรือ มิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติของ "จิตปุถุชน" ที่ยังไม่ได้ขัดเกลา (ปุถุชน แปลว่า ผู้หนาไปด้วยกิเลส) โดยทั้ง ๓ ประการ ล้วนแต่เป็น "ความหลงคิด" ทั้งสิ้นเลยนะครับ แต่จะทำอย่างไร.? ถึงจะถอนรากถอนโคน ซึ่งความหลงผิดทั้ง ๓ ประการ (ที่ครอบงำจิตใจเรามานานแสนนาน จนนับเวลาไม่ได้) นี้ออกเสียได้ล่ะครับ เฉลย ก็ต้องเรียนรู้ "ธรรมะ" ที่แปลว่า "ธรรมชาติที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา" ก็คือ กาย + ใจ (รูป + นาม) ที่ถูกตรงตามความเป็นจริงในธรรมชาติสิครับ (คือการละความเห็นผิดว่า ขันธ์ ๕ = กองทั้ง ๕ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวเรา ของเรา) โดยอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นดั่งแสงสว่างส่องนำทางเราไป (การศึกษาธรรมะ คือการศึกษาเพื่อให้จิตเห็นแจ้งซึ่งไตรลักษณ์ อย่างยอมศิโรราบเลย แต่ที่..ยาก เพราะ "จิตไม่ใช่เรา" มันเป็นไปตามเหตุ + ปัจจัย ยิ่งดิ้น ยิ่งบังคับ เพราะอยากหลุดพ้น มันยิ่งดิ้นเตลิดหนีไปไกล ทางเดียวคือ "สายกลาง" ไม่ไหลตามกิเลส และไม่บังคับกดข่ม รู้ซื่อๆ จึงจะเอาชนะมันได้)
ที่ผมเคยฟังจากครูบาอาจารย์มาท่านว่า ในปลายทาง "เราจะไม่ได้อะไรมา และไม่สูญเสียอะไรไป" เพราะ นิพพาน มีอยู่แล้ว จึงไม่ได้อะไรมา และ นิพพาน เพียงถูกประจักษ์ ด้วยจิตซึ่งปราศจาก ตัณหา (ความอยาก) เราจึงไม่เสียอะไรไป เช่นกันครับ
นิพพาน ไม่ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ทั้ง ๓ ประการ นะครับ เพราะนิพพาน เป็นสภาวธรรมเพียงชนิดเดียว ที่ไม่เกิด และไม่ดับ ปราศจากที่ตั้ง แต่ครอบโลก ครอบจักรวาล (จะสมมุติเรียกว่า "อมตะธาตุ" ก็ได้) แต่สภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเกิดๆ ดับๆ จึงตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ** เป้าหมายหลักที่แท้จริง ของการศึกษาศาสนาพุทธ ไม่มีอะไรมากเกินไปกว่า การเรียนรู้ความจริงของชีวิต (คือการเรียนรู้ รูป + นาม) ที่ถูกตรงอย่างแท้จริง ตามธรรมชาติของมันเท่านั้นนะครับ
คำว่า "นิพพาน" ตามรากศัพท์ดั้งเดิมในภาษาบาลี แปลว่า "ดับ" (เท่านั้น) เช่น ประโยคหนึ่งคือ "ปชฺโช ตสฺเสว นิพฺพานํ" แปลว่า ดับเหมือนความดับแห่งไฟ พระพุทธเจ้าจึงใช้คำๆ นี้ เรียกแทนสภาวะจิต ที่หยุดดิ้นรนทะยานอยาก หรือปราศจากตัณหาว่า "ดับแล้ว" (เหมือนความดับแห่งไฟ เหตุเพราะไฟหมดเชื้อ เช่นเดียวกับ "จิต" พอตัณหาดับ จิตก็หมดเชื้อแห่งความเกิด, พอความอยากดับ ความทุกข์ก็ดับ) เท่านั้นนะครับ ท่านพุทธทาส ก็แปลคำว่า "นิพพาน" เป็นภาษาไทยตรงๆ ว่า "ดับไม่เหลือ" เช่นกันครับ
พอดีครูพรรณเปิดประเด็น เลยได้โอกาสเล่ายาวเลย (คงไม่เบื่อกันก่อนนะครับ) ...อิอิ ^^ ขอให้วาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๕ ก.พ. ๒๕๕๕)
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels. |
|