Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        ยู หนุ่มจากรั้ว ม.ราชภัฏสวนดุสิต ที่สนใจการวาดภาพเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ในรูปแบบจิตรกรรมไทย ส่งผลงานมาร่วมแสดงอีก ๑ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานยูครับ

 
โสภณวิชญ์ เสรีมงคลนิมิต (ยู) , ๓๐ ปี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (คณะวิทยาการจัดการ เอกการจัดการทั่วไป) , จ.กรุงเทพฯ

แรงบันดาลใจ : ภาพวาดองค์พระพรหมและพระสุรัสวดี ครับ พอดีพี่สาวขอให้วาด เลยวาดออกมาประมาณนี้ครับ (ต้องขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่วิจารณ์ผลงาน เผื่อจะไปปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นครับ ) ^__^

ส่งผลงานเมื่อ ๑๖ มี.ค. ๒๕๕๕)
 
 






You's Portrait


 

9
12345678910


  ยูนี่..เป็นคนมีฝีมือพอตัวเลยนะครับ ถ้าให้ผมแนะนำก็คงมีแต่เรื่องสัดส่วน ที่ยังต้องปรับปรุงอยู่นะครับ จริงๆ ก็ไม่มากหรอก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องจังหวะ ขนาด และเส้นโครงรูปที่ยังต้องปรับ เพื่อให้ผลงานดูกลมกลืน ได้จังหวะช่องไฟ มากกว่านี้นะครับ ดูจากผลงานของยูหลายๆ ภาพ ก็ทราบเลยว่า ยูได้รับอิทธิพลจากผลงานของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นหลักเลย ผมเลยเอาภาพเทียบ ซึ่งเป็นผลงานต้นฉบับมาให้ดูข้างๆ ด้วย สิ่งที่ต้องปรับปรุงมีดังนี้นะครับ

๑). ยูต้องดูจังหวะปลายยอดกระหนก ตรงกรรเจียกจอนหูอีกนิดนะครับ ภาพนี้ (ตัวนาง) ปลายกรรเจียกก็ยังคงยาวสูงชลูดไป ยูสังเกตภาพพระแม่ธรณีของ อ.จักรพันธุ์ (ขวามือ) นะครับ จะเห็นว่าปลายกรรเจียกจอนหู จะไม่สูงเกินกะโหลกศรีษะ และไม่กางออกข้างๆ มากไป จังหวะของกระหนก ๓ ตัว ที่ปลายยอด ก็ไม่สั้นไม่ยาว แต่ลงตัว โค้งได้จังหวะนุ่มนวลกว่า
๒). ใบหูยังมีขนาดเล็กเกินไปนะครับ ถ้าเทียบกับขนาดใบหน้า ระวังการวาดดวงตานิดนะครับ อย่าให้ลูกตาทั้ง ๒ ข้าง เพ่งรวมไปที่ปลายจมูก เพราะจะดูเหมือนคนตาเหล่นะครับ ส่วนจมูกก็ยังเล็กไปนิดนะ
๓). เวลาวาดมงกุฎสวมศรีษะ ให้วาดโครงกะโหลกก่อน แล้วค่อยวาดมงกุฎสวมทับลงไป ภาพพระพรหมของยู ผมว่ามงกุฎของท่านดูค่อนข้างกว้าง (หลวม) และยังใหญ่ไปนิดนะครับ จริงๆ ใบหน้าด้านเพล่ หรือมุมเอียง ๔๕ องศา แบบนี้ จะเห็นส่วนของกะโหลกศรีษะยื่นออกมาไม่มาก (ดูตัวอย่างที่ภาพพระแม่ธรณีนะครับ) เพราะเป็นมุมเอียง ผมคิดว่า ยูคงวาดกะโหลกศรีษะในมุมนี้ กว้างมากไป เลยทำให้มงกุฎที่วาดสวมลงไปที่แนวกะโหลกศรีษะ แลดูใหญ่ไปด้วย
๔). แนวบ่า..ตรงไปนะครับ ดูแล้วเหมือนยกหัวไหล่ตลอดเวลา (เมื่อยนะ) ทั้งๆ ที่ในภาพแสดงกิริยาแบบสบายๆ ถ้าไม่เข้าใจ ดูตัวอย่างจากไม้แขวนเสื้อนะครับ จะเห็นว่าเส้นแนวของไม้แขวนเสื้อจะเอนลง โดยเทลาดจากต้นคอไปหาหัวไหล่ (คล้ายรูปสามเหลี่ยมป้านๆ หน่อย) ไม่ได้เป็นเส้นตรงนะครับ ลักษณะของเส้นแบบนี้ จะเป็นการวางแขนในท่าสบายๆ ของคนนะครับ
๕). ช่วงต้นขา ตั้งแต่บั้นเอวถึงหัวเข่า ยาวไปนะครับ ปรับให้สั้นลงหน่อย อีกอย่างต้นขาคนตามธรรมชาติ จะไม่ได้เป็นเส้นตรงเน่ะ แบบที่ยูวาดนะครับ จะต้องมีแนวโค้งนิดๆ (ตรงนี้ถ้าไม่เข้าใจ ดูภาพ ต้นขา+น่อง ของรูปพระแม่ธรณีเทียบได้เลย)
๖). นิ้วแต่ละนิ้วยังค่อนข้างยาวไปหน่อยนะครับ ถ้าเทียบกับขนาดอุ้งมือ

    จริงๆ สิ่งที่ผมแนะนำยู ล้วนเป็นส่วนรายละเอียกปลีกย่อยจุ๊กๆ จิ๊กๆ ทั้งหมดเลยนะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องจังหวะ และสัดส่วน ที่ยังไม่ลงตัว ถ้าหากสามารถปรับแก้ได้ งานจะดีขึ้นกว่านี้อีกมากๆ เลยนะครับ รวมๆ นี่ ยูเป็นคนมีฝีมือในระดับค่อนข้างสูงนะครับ จริงๆ ถ้าชอบผลงานสไตล์ อ.จักรพันธุ์ แต่ยังไม่แม่นเรื่องสัดส่วนตัวคน ผมแนะนำให้เอากระดาษไข หรือกระดาษบางๆ ทาบลอกลายจากผลงานต้นฉบับ ของ อ.จักรพันธุ์ ได้เลยนะครับ เพราะจะทำให้เราเห็นสัดส่วนที่ถูกต้อง ว่า อ.จักรพันธุ์ เขียนอย่างงี้แล้ว..งาม ลงตัว แต่ภาพของเรายังไม่ลงตัว (ตามที่ผมแนะนำ) เพราะอะไร.? จะเห็นได้ชัดเลย ช่วงที่เราจำเป็นต้องศึกษาสัดส่วน สามารถทาบแบบ ลอกไปก่อนได้ครับ แต่...ถ้าแม่นๆ เข้าใจดีมากขึ้นแล้ว ต่อไปก็ต้องวาดเองนะครับ เพราะหากลอกเขาไปเรื่อยๆ จะเก่งเองไม่ได้... เป็นกำลังใจให้นะครับ ขอให้ยูวาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๒๓ มี.ค. ๒๕๕๕)
 
 
 



รูป "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" จากปฏิทินรวมภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับพระอุโบสถหลังใหม่ ของวัดตรีทศเทพวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ของบริษัท AIA (ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗) ออกแบบและวาดโดย อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต และคณะศิษย์
 


 
 
 
 
     


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.