Dr. Seilert ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าในการออกแบบลวดลายประดับมุก และเลือกแบบโครงตู้ที่จะสร้างขึ้นใหม่ โดยข้าพเจ้าได้เลือกรูปแบบโครงตู้ จากตู้พระไตรปิฎกโบราณที่มีรูปทรงสง่างาม ปัจจุบันอยู่ภายใน หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยตู้ที่จัดสร้างขึ้นใหม่จะเลียนแบบจากโครงตู้นี้ โดยมีความสูงจากฐานถึงหลังตู้ ๑.๕๐ เมตร (ไม่รวมความสูงของเสาหัวเม็ดทั้งสี่ด้าน) โครงตู้ทำด้วยไม้สักเก่าคุณภาพดี ประดับด้วย "มุกไฟ" ซึ่งถือว่าเป็นมุกที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะเมื่อต้องแสงแล้ว จะให้แสงสะท้อนเลื่อมพรายเป็นสีรุ้ง
     และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งเมื่อข้าพเจ้าทราบว่า คณะช่างผู้ชำนาญงานเครื่องประดับมุก ที่ข้าพเจ้าให้ความไว้วางใจมอบหมายงานชิ้นนี้ เป็นช่างชุดเดียวกันกับช่างที่ซ่อม บูรณะตู้พระไตรปิฎกโบราณ หลังเดียวกับที่อยู่ภายใน หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

     เมื่อสรุปแบบโครงตู้ได้แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการออกแบบลวดลาย ซึ่งในเบื้องต้นข้าพเจ้าคิดว่า จะนำเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในชาดกมาใช้ในการออกแบบ พอดีกับได้อ่านหนังสือ "จันทรคตินิยาย" ของคุณ ส.พลายน้อย ซึ่งเขียนเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับดวงจันทร์ ที่เป็นความเชื่อในประเทศต่างๆ อ่านไปอ่านมาก็มาสะดุดอยู่ที่เรื่อง "กระต่ายบนดวงจันทร์" ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในชาดก เนื้อเรื่องมีความสนุกสนาน และให้คติสอนใจด้านคุณธรรมในท้ายเรื่อง ข้าพเจ้าจึงตั้งใจว่า จะนำโครงเรื่องนี้มาใช้ในการออกแบบ โดยจะขอคัดจากหนังสือมาเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้

ตู้พระไตรปิฎกโบราณ ที่อยู่ภายใน หอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


     ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์จุติเป็นกระต่าย อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง กระต่ายโพธิสัตว์อยู่ในศีลในธรรม ไม่ล่วงละเมิดในสิ่งของของคนอื่น ไม่กินเนื้อสัตว์ กินแต่หญ้าแพรก อยู่มาวันหนึ่งกระต่ายจึงคิดว่า ถ้ามียาจกทั้งหลายมายังที่อยู่ของตน จะเอาหญ้าให้เป็นทานคงไม่ได้แน่ เพราะยาจกไม่กินหญ้า ครั้นจะให้ถั่ว งา ข้าวสาร ตนเองก็ไม่มี หากยาจกมาจริงๆ ตนก็จะบริจาคเนื้อในร่างกายให้เป็นทาน
     ความคิดของกระต่าย พระอินทร์ล่วงรู้โดยตลอด และคิดว่าน่าจะทดลองกระต่ายว่า จะทำตามที่คิดจริงหรือไม่ พระอินทร์จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ ไปยืนอยู่หน้ากระต่าย เมื่อกระต่ายเห็นจึงถามว่า "ท่านมีประสงค์อันใดหรือ?" พระอินทร์แปลงก็ตอบว่า "ข้าต้องการอาหาร" กระต่ายก็ตอบว่า "เมื่อท่านต้องการอาหารก็ดีแล้ว เราจะให้ในสิ่งที่ไม่เคยให้แก่ใครมาก่อนเลย แต่ท่านเป็นผู้มีศีล คงไม่ทำบาป ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฉะนั้นขอให้ท่านไปเอาฟืนมาก่อกองไฟเตรียมไว้เถิด เราไม่มีอาหารอย่างอื่นจะให้ท่าน เราจะกระโจนเข้าไปในกองไฟ เมื่อเนื้อของเราสุกแล้ว ก็เชิญท่านกินตามสบายเถิด"
     พระอินทร์ได้ทรงฟังเช่นนั้น ก็บันดาลให้เกิดไฟขึ้นกองหนึ่ง เสร็จแล้วก็ร้องบอกกระต่าย กระต่ายจึงลุกขึ้นจากหญ้าแพรก แล้วกระโจนเข้าไปในกองไฟ แต่ไฟจะได้ไหม้หรือทำให้กระต่ายร้อนก็หาไม่ ไฟกลับเย็นเหมือนอยู่ในกองน้ำแข็ง กระต่ายจึงร้องบอกว่า "ไฟที่ท่านก่อไว้นี้เย็นเหลือเกิน ไม่อาจทำให้ร่างกายของเราสุกได้" พระอินทร์จึงตรัสว่า "ข้าพเจ้าไม่ใช่พราหมณ์ ข้าพเจ้าเป็นพระอินทร์ มาเพื่อจะทดลองดูว่า ท่านจะทำจริงตามที่อธิษฐานไว้หรือไม่
ในเมื่อข้าพเจ้าได้ประจักษ์ความจริงแล้ว และเพื่อให้เกียรติคุณของท่าน ปรากฏอยู่ตลอดกาลนาน ข้าพเจ้าจะเขียนรูปของท่านขึ้นไว้ในวงพระจันทร์" ตรัสแล้วพระอินทร์ก็สกัดเอาแท่งหิน ไปเขียนรูปกระต่ายไว้ในวงพระจันทร์ เพื่อให้มนุษย์เห็นโดยทั่วกันสืบมาจนถึงทุกวันนี้


     โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าชอบพระจันทร์ เพราะดวงจันทร์มีแสงนวลเย็นตา มองแล้วมีความสุข โดยเฉพาะในคืนเดือนเพ็ญ ชาวไทยเองก็มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ และเพลงร้องรำที่เอ่ยถึงดวงจันทร์มากมาย ประกอบกับนิทานชาดกข้างต้น ก็ให้คติสอนใจในทางลึกได้เป็นอย่างดี

     ข้าพเจ้าตั้งใจออกแบบ โดยเรียงเรื่องเวียนทักษิณาวรรต โดยเริ่มต้นจากผนังตู้ด้านซ้ายก่อน เริ่มเรื่องที่กระต่ายโพธิสัตว์ อาศัยอยู่อย่างเป็นสุขในป่าหิมพานต์ ห้อมล้อมไปด้วยหมู่สัตว์ จตุบาท ทวิบาท มากมาย จากนั้นจึงเวียนขวาอ้อมข้ามผ่านผนังหลังตู้ และมาต่อเรื่องที่ฝาผนังตู้ด้านขวา โดยจะกล่าวถึงตอนที่พระอินทร์ แปลงเป็นพราหมณ์มายืนอยู่หน้ากระต่ายเพื่อขออาหาร และเวียนมาจบเรื่องที่ฝาผนังตู้ด้านหน้าทั้งสองด้าน ซึ่งจะกล่าวถึงตอนที่กระต่ายพลีกรรม ตามคำอธิษฐานของตนเอง และพระอินทร์ได้สลักรูปกระต่าย เพื่อเป็นเกียรติคุณไว้บนดวงจันทร์
 
 
© 2003-2004 Jitdrathanee.com, All Rights Reserved. Privacy Policy. Created & Maintained by Jitdrathanee.com