การุณยฆาต vs พินัยกรรมชีวิต

27 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉลองที่สำคัญของสวนโมกข์ ไชยา คือการอดอาหารทั้งวัน ในวัน “ล้ออายุ” แค่ชื่อฟังก็แปลกหู ผนวกกับวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนใครอีก หากสงสัยว่า “ล้ออายุ” คืออะไร เฉลยตรงนี้เลยว่า คือการจัดงานฉลองวันเกิดแบบสวนโมกข์ เริ่มโดยท่านพุทธทาส ตั้งแต่ปี พ.ศ 2509 ท่านปรารภว่า คนรักอายุ หลงอายุ ฉลองอายุ ต่างๆ เหล่านี้ ควรเปลี่ยนเป็น ล้ออายุ เลิกอายุ แล้วก็เหนืออายุ นั่นแหละดี

อ้าว! ยิ่งฟังยิ่งเป็นปริศนาธรรมเข้าไปอีก…. จริงๆ เจตนาของท่านคือไม่ให้ประมาท ปล่อยตัวหลงเพลินมัวเมาในกิเลสนั่นแล เพราะสำหรับคนทั่วๆ ไป สิ่งที่พวกเรามักนึกถึงเป็นอันดับแรกในวันเกิดก็คือ การเฉลิมฉลอง เฮฮาปาร์ตี้นั่นแหละ แต่หากมองในแง่พุทธ วัน/เดือน/ปี ล่วงไป คุณทำอะไรอยู่ อาจตายวันตายพรุ่ง หรือ? ก็ไม่อาจทราบได้ ในขณะที่วันเกิด ก็เป็นเพียงอีกวันหนึ่งในรอบปีเท่านั้น สิ่งที่ควรย้ำยิ่งกว่าก็คือ “เราแก่ขึ้นอีกปีแล้วนะ กระเถิบใกล้ความตายเข้าไปอีกปีแล้วนะ” จริงปะ?

26 กรกฎาคม ของทุกปี ก็ตรงกับวันล้ออายุของผมเช่นกัน หากท่านเคยอ่านบทความของผม ที่เขียนในวันคล้ายวันเกิดทุกปี อาจจะคุ้นๆ ว่า “หมอนี่ท่าจะไม่เต็มหรือเปล่า?” เพราะพอตรงกับวันเกิดทีไร ชอบเขียนเรื่องเกี่ยวกับความตายทุกทีสิน่า จะรีบตายไปถึงไหน? (ฮา)

แน่นอนว่า เกิด ย่อมคู่กับ ตาย ในขณะที่ หากไม่เกิด ก็ย่อมไม่ตาย เช่นกัน “หนทางสู่ความไม่เกิด” นี่แหละ ที่น่าสนใจยิ่งกว่า…สำหรับผม

เมื่อต้นเดือน พฤษภาคม 2561 มีข่าวดังไปทั่วโลก เกี่ยวกับคุณปู่วัย 104 ปี นักวิทยาศาสตร์มีชื่อ ชาวออสซี่ท่านหนึ่ง ที่ตัดสินใจเลือกวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยวิธี “การุณยฆาต” (Euthanasia หรือ Mercy Killing) แปลง่ายๆ คือ “การฆ่าตัวตายโดยสมัครใจ” แน่นอนว่า วิธีนี้กฎหมายในหลายๆ ประเทศไม่ยอมรับ (รวมถึงในออสเตรเลีย บ้านของคุณปู่เอง) ทำให้จำเป็นต้องบินไกลไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้ความหวังสุดท้ายในชีวิตของคุณปู่สมปรารถนา

ถึงตรงนี้มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ “การฆ่าตัวตายในพุทธศาสนา” ซึ่งหลายท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลบางองค์ ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยพระพุทธเจ้าไม่ตำหนิอีกต่างหาก “หา..เป็นไปได้? ไหนสอนว่า ปาณาติบาต เป็นอาบัติ บาปหนัก แถมยังผิดศีลด้วยนี่นา” ใจเย็นๆ ครับ มีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ค่อยๆ อ่านให้จบนะ

ในฉันโนวาทสูตร มัชฌิมนิกาย กล่าวถึง “พระฉันนะ” (คนละองค์กับ พระฉันนะ สารถีของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับฉายาหลังบวชว่า “ผู้ว่ายากสอนยาก” นะครับ) ท่านเจ็บป่วยด้วยโรคปวดศีรษะเรื้อรังมานาน ได้รับทุกขเวทนาสาหัสมาก ท่านจึงปรารภกับพระสารีบุตรว่า ต้องการฆ่าตัวตาย แม้พระสารีบุตรจะห้ามหลายครั้ง ก็ไม่อาจรั้งได้ เมื่อพระสารีบุตรหลีกไป พระฉันนะจึงใช้ศาสตราวุธฆ่าตัวตายสำเร็จ พระสารีบุตรจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “พระฉันนะมีคติที่ไปในสัมปรายภพเช่นไร” พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พระฉันนะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานแล้ว เราไม่ตำหนิ เราตำหนิแต่ผู้ที่ทิ้งกายนี้แล้ว ไปยึดกายอื่น แต่ผู้ที่ทิ้งกายนี้แล้ว ไม่ไปยึดกายอื่น ตถาคตไม่ตำหนิ พระฉันนะจึงไม่ควรถูกตำหนิ” ฟังคำตอบแล้วงงมั้ยครับ เดี๋ยวอธิบายต่อ

เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จิตเข้าถึงนิพพานแล้ว เมื่อดับขันธ์ (ตาย) ไม่ว่าจะตายเองโดยธรรมชาติ ถูกคนอื่นฆ่า หรือแม้แต่การฆ่าตัวตายก็ตาม จิตพระอรหันต์จะไม่ไปเกาะเกี่ยว (เกิด) ในภพใหม่อีก เพราะเชื้อเกิด (ตัณหา หรือความอยาก) ได้ถูกทำลายลงสิ้นแล้ว จึงเป็นสาเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ตำหนิ

ต่างจากปุถุชน ที่จิตยังดิ้นรนแสวงหาที่เกิดอยู่ “ด้วยยังรักสุข เกลียดทุกข์” เพราะไม่เข้าใจโลกตามความเป็นจริง (ตัณหา จึงยังทำงานต่อได้) ต่างจากพระอรหันต์ ที่มองเห็น สุข-ทุกข์ ล้วนตกอยู่ภายใต้ กฎไตรลักษณ์1 ด้วยกันทั้งคู่ จิตจึงเห็นตามความเป็นจริง (ในสายตาพระอรหันต์ “สุข” ก็คือทุกข์ เพียงแต่มันทุกข์น้อย แถมสุขที่ว่า ยังทนอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ต้องกลับมาทุกข์อีก) จิตจึงปล่อยวางได้สำเร็จ ไม่ยึดสุข-หนีทุกข์อีกต่อไป ผิดกับปุถุชนที่เข้าใจผิด คิดว่าหากไม่มีร่างกายนี้แล้ว จะทำให้จิตมีความสุข อีกทั้งการฆ่าตัวตายของปุถุชน มักกระทำในขณะที่จิตเศร้าหมอง ขุ่นมัว เศร้าโศก หรือเคียดแค้น เป็นทุกข์ (ถูกอารมณ์ฝ่ายโทสะ ครอบงำเต็มๆ) แน่นอนว่าการตายด้วยลักษณะจิตเช่นนี้ คติที่ไปย่อมไม่ใช่ทางแห่งบุญแน่นอน แต่เป็นทางแห่งบาป ลงอบายภูมิสถานเดียว

ส่วนวิธีเลือกตายอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “พินัยกรรมชีวิต” (Living Will) (ผมเคยเขียน ในบทความก่อน สนใจอ่าน คลิก! ) จะแตกต่างจาก “การุณยฆาต” อย่างมาก เพราะการุณยฆาต จะต้องกระทำด้วยตนเอง ในขณะที่ยังรู้สึกตัวและมีชีวิตอยู่ แพทย์เพียงให้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ให้ทำได้สำเร็จเท่านั้น “จึงเป็นการฆ่าตัวตายโดยเจตนา ในขณะที่ตัวเองยังรู้สึกตัวอยู่”

ส่วนพินัยกรรมชีวิต หรือ การออกแบบความตายอย่างมีสติ เป็นการแสดงความตั้งใจจริงของผู้ป่วย ด้วยการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์อยู่ และได้แจ้งกับญาติและแพทย์ไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อใดที่แพทย์วินิจฉัย พบว่าโรคได้ลุกลามเข้าสู่ระยะสุดท้าย จนไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ญาติผู้ป่วยยังต้องการ “ยื้อ” คนที่เรารักให้มีชีวิตต่อไปให้นานที่สุด ประกอบกับวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ ที่สามารถยื้อแบบนั้นได้จริง จนทำให้ผู้ป่วยแปรสภาพเป็น “ผัก” อย่างสมบูรณ์ หากมองในอีกแง่ “การยื้อเช่นนั้น อาจทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมานนานกว่าเดิม” การทำพินัยกรรมชีวิต จึงเป็นการแสดงเจตจำนงล่วงหน้า (ในขณะที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้แล้ว) เพื่อปฏิเสธการรักษาดังกล่าว โดยไม่เกิดประโยชน์ เพราะผู้ป่วยต้องการตายแบบธรรมชาตินั่นเอง

เห็นข้อเปรียบเทียบอย่างนี้แล้ว อยู่ที่คุณแล้วแหละครับว่า ปรารถนาจะตายแบบไหน (เพราะไม่มีใคร ที่จะไม่มีวันตายใช่มั้ย?) แต่…การเลือกตายแบบ “พินัยกรรมชีวิต” สอดคล้องกับพุทธศาสนา เพราะไม่ใช่การฆ่า เพียงแต่ให้หยุดการรักษา หรือ “การยื้อที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ อีก” โดยค่อยๆ ให้ผู้ป่วยตายเองแบบธรรมชาติ ต่างกันสิ้นเชิงกับ “การุณยฆาต” สำหรับผมมันคือการฆ่าตัวตาย (โดยมีแพทย์ช่วย) นั่นเอง

ในพุทธศาสนายังกล่าวถึง ขณะจิตสุดท้ายก่อนตาย ซึ่งเป็นจุดหัก ที่จะทำให้ได้ภพที่ดีหรือเลว (ผมเคยเขียนถึงแล้ว สนใจอ่าน คลิก! ) ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และร่วมสมัยอยู่ครับ

ป.ล. ภาพประกอบบทความนี้ เห็นผมถือไมค์ ไม่ใช่นักร้องที่ไหนนะครับ เพียงแต่ผมอยู่ในงาน “ชมคเณศ เดินโมค่า กับ จิด.ตระ.ธานี” (เมื่อ 21 ก.ค. 2561) กำลังทำหน้าที่พิธีกรจำเป็นอยู่ครับ


1กฎไตรลักษณ์ หรือ ลักษณะสามัญ 3 ประการ ที่ครอบคลุมสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกและจักรวาล *ยกเว้นแต่ “นิพพาน” เพียง 1 เดียว ที่อยู่พ้นขอบเขตของกฎไตรลักษณ์เสียแล้ว

ไตรลักษณ์ประกอบด้วย
1. อนิจจัง  แปลว่า ไม่เที่ยง ไม่คงที่ จำเป็นต้องเคลื่อน ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา
2. ทุกขัง  มาจากคำผสม 2 คำ คือ ทุ แปลว่า ยาก และ ขะมะ แปลว่า ทน, เมื่อ ทุ+ขม = ทุกขัง แปลว่า “ทนอยู่ได้ยาก” เพราะถูกบีบคั้นให้จำต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจึงทุกข์ โดยทุกขัง ยังสืบเนื่องมาจากอนิจจังอีกด้วย
3. อนัตตา  แปลว่า ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถบังคับได้จริง และไม่เคยอยู่ภายใต้อำนาจ การควบคุมบังคับบัญชาของใคร แต่มันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย

0 comments on “การุณยฆาต vs พินัยกรรมชีวิตAdd yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *