บ่นทุกวันเกิด ปีละครั้ง #ทุกวันล้ออายุ
เกิดและตายเป็นสิ่งคู่กัน ตราบใดยังปรากฏสิ่งที่เรียกว่า “เกิด” ความตาย…ย่อมเป็นจุดหมายปลายทางเสมอ หลายคนอาจกลัวความตาย สำหรับผม…หากบอกว่าไม่กลัวเลย ก็คงไม่ใช่ แต่….ไม่ว่าจะกลัวแค่ไหน สุดท้ายคุณก็ต้องยอมรับความจริงนี้อยู่ดี
คุณอาจแก่ชราตายไปตามอายุขัย หรืออาจป่วยหนักจนต้องทนทุกข์ทรมานก่อนตายก็ได้ บางทีคุณอาจถูกฆาตกรรม หรืออาจถูกลูกหลงเสียชีวิต หรือวันดีคืนดีคุณอาจประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน ชนิดไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ เพราะ…..ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าหรือพยากรณ์ได้ว่า เราจะตายอย่างไร?
ถึงจะรวยล้นฟ้า หรือเป็นยาจกเข็ญใจ ความตาย…..มอบความเท่าเทียมนี้ให้กับทุกๆ คนเสมอ
เมื่อย่างเข้าสู่เลข 5 ผมมักคิดถึงบั้นปลายชีวิต วัยเกษียณ และท้ายสุดคือความตาย วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ปีนี้ ตรงกับวันพุธพอดี (พ.ศ. 2515 ที่ผมเกิดตรงกับวันพุธ) ปีนี้เลยหลัก 5 มาอีกหนึ่ง กลายเป็น 51 ปีบริบูรณ์
เชื่อว่าทุกคนคงอยาก “ตายดี” แต่…..อย่างที่เกริ่นมาข้างต้น คงยากที่จะเลือกได้ว่า….จะได้ “ตายดี” หรือ “ตายร้าย”
ในศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้า ความตายคือการได้คืนกลับสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ได้ชีวิตใหม่ที่เป็นอมตะและมีความสุขชั่วนิรันดร์ หรือหมายถึงการได้หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าในฐานะ “ปรมาตมัน” (อาตมันสูงสุด) ที่เชื่อว่าคือต้นกำเนิดของสรรพสิ่งและจักรวาล
แล้วศาสนาที่….ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอย่างศาสนาพุทธ (นิกายเถรวาท) ล่ะ ตายแล้วไปไหน? เพราะไม่ปรากฏคำสอนใดๆ ว่า ตายแล้วจะมีอาณาจักรแห่งความสุขนิรันดร์ไว้รองรับผู้วายชนม์…..ไม่มี
คำตอบที่ชัดเจนง่ายๆ ที่คนไทยมักได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ “ไปที่ชอบๆ” นั่นแหละ
ศาสนาพุทธกล่าวถึงกระบวนการตายอย่างเป็นลำดับ โดยมี “จิต” เป็นประธานและเป็นที่หมาย ตราบใดที่จิตสุดท้ายยังผูกตรึงเหนี่ยวรั้งกับสิ่งใดๆ ไว้ ปล่อยวางไม่ลง ไม่ว่าจะด้วย “ความรัก” (การพยายามดึงเข้าหาตัว เปรียบได้กับ “ความโลภ”) ความเศร้า ความกลัว ความโกรธ ความเจ็บแค้น (การพยายามถีบหรือผลักไสออกนอกตัว เปรียบได้กับโทสะหรือ “ความโกรธ”) หรือการเอาแต่เผลอๆ เพลินไปเรื่อย (เปรียบได้กับโมหะคือ “ความหลง”)
จิต (ต้นกำเนิด) เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภพใหม่ๆ ต่อไปได้อีกเรื่อยๆ แบบไม่จำกัด (เรียกว่า “วัฏสงสาร” หรือ “สังสารวัฏ”) หากต้องการทำลายจิต (ต้นกำเนิด) หรือวงจรแห่งความทุกข์นี้ให้ได้อย่างเด็ดขาด มีทางเดียวคือ “การทำนิพพานให้แจ้ง”
คุณอาจเคยได้ยินสำนวน “ขี่กวางตามหากวาง” หมายถึงเรากำลังตามหากวาง ทั้งๆ ที่เรากำลังขี่กวางตัวนั้นอยู่ “นิพพาน” เปรียบได้กับกวางตัวนั้น เพราะ “นิพพาน” ไม่ได้อยู่ไกลจนสุดขอบจักรวาลที่ไหน แต่…ความจริงกลับอยู่ตรงหน้าเรานี่เอง เพียงเพราะเราถูกกิเลสครอบงำปิดบังเอาไว้ จึงทำให้มองไม่เห็น
เดี๋ยวผมจะโม้ไปไกลเกินเบอร์ (ฮา) บทความนี้ไม่ได้นำเสนอ วิธีดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง เพราะเดี๋ยวจะยาวเกินไป และด้วยภูมิรู้ของผมเอง ก็ยังห่างไกลกับของครูบาอาจารย์ ที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย
“การตายดี” ที่จั่วหัวเรื่องไว้….มีวิธีการอย่างไร? ผมขอยกพระธรรมเทศนาของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่เคยบรรยายเรื่อง “จิตสุดท้ายก่อนตาย” ได้อย่างน่ารับฟังดังนี้ครับ
ธรรมเทศนา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช CD สวนสันติธรรม แผ่น 57 ชื่อไฟล์ 571012
สมมุติว่านอนหลับอยู่ หรือใกล้จะตาย เวลาตายใจมันจะฝัน เรียกว่ามันเกิด “นิมิต” เป็นทุกคนแหละ ยกเว้นพระอรหันต์ ใจมันจะเกิดนิมิตขึ้น หรือบางทีไม่ได้ป่วยตาย เวลารถจะคว่ำตาย คอกำลังหัก จิตก็รวมปุ๊บลงมาเกิดนิมิต เป็นนิมิตที่ดีบ้าง ที่เลวบ้าง แล้วแต่ว่ากรรมจะส่งผลมา บางทีก็นิมิตถึงกรรมที่เคยทำในอดีต เคยมาทอดกฐินเจอหลวงพ่อ พอนึกถึงตรงนี้ปุ๊บ จิตเป็นกุศลขึ้นมา ถ้าตายตอนนั้นปุ๊บ จะเกิดที่ดีเลย คิดถึงกรรมที่เคยทำมา ถ้าเคยทำกรรมชั่ว จะไปนึกถึงตรงนั้นมันจะไปชั่ว
หลวงพ่อมีเพื่อนคนนึงนะ พ่อเค้าตอนหนุ่มๆ ชอบกินเหล้า แล้วก็ชวนเพื่อนมากินเหล้าที่บ้าน ทุกวันต้องมา พอเพื่อนมาถึงบ้าน ก็จะสั่งลูกน้องเชือดคอไก่ 1 ตัว คิดดูปีนึงเชือดตั้งเท่าไหร่ แล้วมีอายุอยู่ตั้งหลายสิบปี ตอนแกจะตาย แกเห็นไก่ ครูบาอาจารย์ท่านตามดูอยู่ ใจมันพุ่งปรื๊ดไปเลยนะ มันเห็นไก่อยู่ที่ปลายทาง เหมือนผ่านอุโมงค์เข้าไป ครูบาอาจารย์ก็แผ่เมตตาให้ แผ่ แผ่ แผ่ รู้สึกขึ้นมา สุดท้ายก็ไหลไป ไม่เป็นไก่ แต่ก็ไปเป็นไม่ดีอยู่ดีแหละ
เวลานิมิตมันเกิด เราเลือกไม่ได้ เหมือนกับเวลาเราฝัน เราเลือกไม่ได้ว่าจะฝันดีหรือฝันร้าย แต่ถ้าเราเคยฝึกรู้ทันใจของตัวเองให้บ่อยๆ ใจเรามีความสุขรู้ทัน ใจเรามีความทุกข์รู้ทัน ใจเราดีรู้ทัน ใจเราโลภ โกรธ หลงรู้ทัน ใจกลัวก็รู้ ใจอิจฉาพยาบาทก็รู้ เวลานิมิตเกิดขึ้นมา ถ้านิมิตไม่ดีเกิดขึ้นนะ สติมันจะรู้ขึ้นมา
ตอนตายนี้มีนิมิตหลายแบบนะ นิมิตถึงกรรมที่เคยทำก็ได้ นิมิตถึงที่ที่จะไปเกิดก็ได้ นิมิตถึงกรรมที่เคยทำในอดีตเรียกว่า “กรรมนิมิต” นิมิตถึงที่ที่จะไปเกิดเรียก “คตินิมิต” บางทีก็มีนิมิตข้างเคียง อย่างเราชอบตกปลา ก็มีนิมิตเห็นเบ็ดตกปลา เครื่องมือในการทำบาป หรือนิมิตถึงดอกไม้ธูปเทียน ไม่ได้เห็นพระตรงๆ แต่ไปเห็นเครื่องมือที่เคยทำความดี เครื่องมือที่เคยทำความชั่ว อย่างงั้นก็มี เราเลือกความฝันไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาจะตาย เราเลือกที่ไปไม่ได้ จิตมันคุ้นเคยอันไหน กรรมตัวไหนมันจะให้ผลขึ้นมา มันก็จะให้ผลไป กรรมมันให้ผลมีลำดับ กรรมที่แรงให้ผลก่อน กรรมที่แรงสุดขีด เป็นอนันตริยกรรม เป็นครุกรรม คือกรรมที่มีกำลังมาก ที่แรงที่สุดเรียก อนันตริยกรรม มีทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว อนันตริยกรรมฝ่ายชั่วอย่างฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทำสังฆเภท สังฆเภทนี่ฆราวาสทำไม่ได้ ทำให้พระแตกกัน สังฆเภทนี่พระเท่านั้นที่ทำได้ งั้นพวกเราก็จะมีแต่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ เพราะเราไม่สามารถทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิตได้ มีอะไรอีกอนันตริยกรรม ฆ่าพระอรหันต์ โอ้…เวรละ ใครจะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ เพราะงั้นก็อย่าไปฆ่าใคร
*ที่มา: ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช www.dhamma.com
ดาวน์โหลดตรง: สวนสันติธรรม CD47 | 550909B
และ สวนสันติธรรม CD57 | 571012
ขออธิบายเพิ่มนิดนึงเผื่อใครยังไม่เข้าใจ ศาสนาพุทธ (นิกายเถรวาท) สอนว่าตายแล้วไม่สูญ (เพราะยังต้องเวียนเกิดอีก) ตายแล้วไม่ได้ไปรวมกับพระผู้เป็นเจ้า เพราะศาสนาพุทธไม่มีพระผู้เป็นเจ้า มีแต่ “กรรมและการกระทำ” ของตัวเราเองเป็นหลัก ที่จะนำพาเราไปสู่ที่หมายในชาติถัดไป ทั้งภพที่ดี (มนุษย์ เทวดา พรหม) และภพที่เลว (เปรต เดรัจฉาน สัตว์นรก)
ตราบใดที่ “จิตต้นกำเนิด” ยังไม่ถูกทำลาย จิตนี้จะนำพาเราหมุนเวียนสร้างภพใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกเรื่อยๆ แบบไม่รู้จักจบสิ้น เหตุเพราะยังมีกิเลสเป็นอาหารหล่อเลี้ยงอยู่ กิเลสเปรียบได้กับเชื้อฟืน ซึ่งทำให้ไฟจุดติด แต่กองฟืนนี้ก็ไม่เที่ยง เชื้อฟืนมีหมด แต่เมื่อกองฟืนนี้ดับปุ๊บ กองฟืนใหม่ก็ผุดขึ้นปั๊บทันที ทำให้ไฟยังคงจุดติดได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
แต่ถ้าอยาก “ตายดี” (แบบปุถุชนที่ยังมีกิเลส ยังไม่แจ้งนิพพานนี่แหละ) หลวงพ่อท่านสอนว่าเหตุที่ทำให้ตายดีได้นั้น คือ หมั่นฝึกสติให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ เพราะหากสามารถฝึกสติ จนรู้สึกตัวได้เป็นอัตโนมัติเมื่อใด (สติคือกุญแจดอกแรกที่จะไขไปสู่นิพพาน อีกทั้ง “สติ” ยังเป็นธรรมะฝ่ายกุศล) จะทำให้ “ตายดี” ได้ ดั่งพระเทศนาธรรมต่อไปนี้ครับ
ธรรมเทศนา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช CD สวนสันติธรรม แผ่น 16 ชื่อไฟล์ 491116B | เวลา: 8.14 – 15.21
สติอัตโนมัติจะช่วยเราตอนที่จะตาย
ถ้าคนไหนไม่สามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ ยังไกลต่อมรรคผลนิพพาน เพราะว่าเวลาเราทำกรรมฐาน วันหนึ่งๆ มีไม่มากเท่าไหร่หรอกที่ทำในรูปแบบ เวลาส่วนใหญ่อยู่ข้างนอกนี่แหละ ถ้าเราสามารถยืนเดินนั่งนอนอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วก็มีสติตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองได้เป็นระยะๆ นะ สติเกิดได้ทั้งวันเลย คือปฏิบัติทั้งวัน หลวงพ่อเป็นฆราวาสหลวงพ่อก็ปฏิบัติด้วยวิธีนี้เอง คือดูจิตใจตัวเอง จะมานั่งสมาธิทั้งวันอย่างตอนอยู่ไปบวชแล้วมานั่งอยู่ในวัดนะ นั่งสมาธิได้นานๆ เดินจงกรมนานๆ อยู่แต่ในรูปแบบ เป็นฆราวาสมันทำไม่ได้ ทำไม่ได้ งั้นต้องฝึกให้สามารถเจริญสติในชีวิตประจำวันได้ ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้เฉพาะตอนทำสมาธิ ทำในรูปแบบอะไรอย่างนี้ ชีวิตเราจะแยกเป็นสองส่วน ชีวิตส่วนหนึ่งเป็นเวลาปฏิบัติ ชีวิตส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่ได้ปฏิบัติ งั้นเหมือนเราพายเรือนะทวนน้ำไป เราพายไปห้านาทีแล้วก็นอนด้วย ชั่วโมงหนึ่งนะ มันจะไม่อยู่ที่เก่าเอา มันจะไหลลงไปต่ำกว่าเดิม
พระพุทธเจ้าถึงบอกธรรมชาติของจิตไหลลงต่ำ อย่าประมาทเชียวนะ ไหลลงต่ำเร็วมากเลย เรานึกว่าเราแน่ๆ เราแน่ เผลอแว้บเดียวลงต่ำ ถอยไม่ได้นะ ต้องสู้ มีสติในชีวิตประจำวัน ตามดูกายตามดูใจ ตื่นนอนตอนเช้าหรือว่าก่อนนอนตอนค่ำ มีเวลาเนี่ยต้องทำในรูปแบบอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ต้องทำให้ได้ ชาวพุทธนะไหว้พระสวดมนต์ทำสมาธิเดินจงกรมวันละครั้งนะ ทำไมทำไม่ได้ มุสลิมละหมาดวันละห้าครั้งเขายังทำได้เลย วันละห้าครั้งนะ ของเราหนึ่งครั้ง ไม่ได้ ต้องสู้นะ กิเลสมันจะพาขี้เกียจ ถ้าเราทำในรูปแบบทำความสงบมาดูกายดูใจนะ หัดดูสภาวะไป จิตใจหนีไปก็รู้ จิตไปเพ่งก็รู้ จิตสงบจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นสุขเป็นทุกข์ จิตโลภโกรธหลง คอยตามรู้เรื่อยๆ
การทำในรูปแบบนี่เราตัดการกระทบอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายไปก่อน มาเหลือแต่การทำงานทางใจอันเดียวนะ เช่นเรามาหายใจเข้าหายใจออกเนี่ย ใจเราหนีไปเรารู้ทัน ใจไปเพ่งรู้ทัน เรารู้ทันการทำงานทางใจอยู่ที่เดียวเลย แต่อย่าไปเพ่งใส่จิตนะ อย่าไปเพ่งใส่จิตใส่ใจ ให้เขาทำงานไป เรามีหน้าที่แค่ตามดูไปเรื่อยๆ ดูท้องพองยุบไปก็ดูจิตใจเขาทำงานไป เดี๋ยวเขาก็ไปคิดนะ คิดกระทั่งคำบริกรรมนะ บริกรรมว่าพองหนอยุบหนอ นี่ก็คือการคิดนั่นเอง ก็ให้รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด หนีไปคิดเรื่องอื่นเราก็รู้ทัน แล้วก็ไปเพ่งใส่ท้องเราก็รู้ทัน หัดรู้สภาวะนะ ต่อไปเวลาเราอยู่ในชีวิตธรรมดา จิตจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอะไรเนี่ย เห็นหมดเลย เห็นอัตโนมัตินะ
พวกเราเมื่อวานไม่ได้มา เมื่อวานหรือ อ้อ… ไม่ใช่ ก่อนที่จะปิด ก่อนวานซืนอีกวันหนึ่ง วันสุดท้ายที่หลวงพ่อเปิดแล้วหยุดมาสองวัน มีผู้หญิงคนหนึ่งมา ชื่อโอ่งนะ ชื่อโอ่ง หุ่นก็เหมือนโอ่งจริงๆ ภาวนาเก่งมากเลย บอกเขาไม่ได้ทำอะไร แต่กระทั่งเขานอนหลับนะ จิตมันฝันเขายังรู้เลย แล้วเขาพบว่าความฝันก็คือความคิดนั่นเอง พอไม่ดีปุ๊บ ขาดสะบั้นเลยนะ เขาจะนอนพลิกซ้ายพลิกขวาเขารู้ทั้งคืนเลย ใจเขาไหลไปคิดในความฝันนะ ไหลแว้บรู้สึกเลย มีแต่ขาดปั๊บๆ ปั๊บๆ นี่แค่กลางคืนนะ ไม่ต้องพูดถึงกลางวันเลย ทำได้ทั้งวันทั้งคืนเลย ฝึกหัดมีสติอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่แหละ ถึงจุดหนึ่งนะจะมีสติได้ทั้งวันทั้งคืน ตรงที่นอนไปแล้วยังช่วยตัวเองได้ มีสติขึ้นมาช่วยตัวเองได้นี่สำคัญนะ มันเป็นเหตุมันเป็นผลจากการที่เราฝึกเจริญสติตอนกลางวัน เราจะเอาไว้ใช้ตอนจะตายเนี่ย ความรู้อันนี้จะใช้ตอนจะตาย
เวลาที่เราจะตาย จิตมันจะตัดความรับรู้กายออกไปก่อนนะ แล้วมันจะไปรู้ที่ใจอันเดียว จะมาทำกรรมฐานที่กายอันเดียว ระวังก็แล้วกันนะ กายหายไปแล้ว นาทีสุดท้ายไม่มีกายนะ จะทำยังไงทำกรรมฐานอะไร ต้องฝึกจนชำนิชำนาญ เข้ามาที่จิตอัตโนมัติให้ได้ เวลาคนเราจะตายมันจะเกิดนิมิต อันหนึ่งเรียกว่า “กรรมนิมิต” นิมิตถึงสิ่งที่เคยทำนะ อีกอันหนึ่งเรียกว่า “กรรมอารมณ์” กรรมนิมิตเนี่ยมันจะไปนิมิตถึงเรื่องราวที่เคยทำ อีกอันหนึ่งเรียก “คตินิมิต” จะเห็นที่ไปข้างหน้า มีสามอัน มีกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ มีสามอัน รวมความแล้วก็คือมันฝันนั่นเอง ฝันไปถึงเรื่องราวที่เคยทำมาในอดีต เช่น คนหนึ่งนะหลวงพ่อเคยรู้จัก เป็นพ่อของเพื่อน ใจดีนะ ตอนหนุ่มๆ เพื่อนมาบ้านทุกวันเลยมาสีซอกัน เล่นปี่พาทย์ เล่นสีซอ ทุกวันจะสั่งลูกน้องเชือดไก่วันละตัวเลี้ยงเพื่อน เวลาจะตายเนี่ยเกิดนิมิตเห็นไก่นะ เห็นไก่มารออยู่ข้างหน้าแล้ว บางทีก็เห็นที่ไปข้างหน้าที่จะไปเกิด เกิดเห็นไฟท่วมขึ้นมาเลย จะไปเกิดแล้วในที่ไม่ดี แต่ถ้าหากฝึกสติไว้จนชำนาญนะ พอเห็นไก่ปุ๊บใจมันย้อนดูจิตเลย มันเคยชินที่จะฆ่าไก่ พอเห็นไก่ปุ๊บ แหมมันอยากเชือดคอขึ้นมา สติเกิดวับเลย มันอยากฆ่าไก่แล้ว เห็นปั๊บนิมิตนั้นดับ ไม่ไปเกิดเป็นตรงนั้นแล้ว หรือฝันไปเห็นนรก นิมิตไปเห็นนรกปุ๊บกลัว สติระลึกถึงความกลัวปุ๊บขาดเลย นรกดับไปเลยนะ
ทุกคนสร้างนรกของตัวเองนะ ทางใครทางมัน เพราะฉะนั้นนรกไม่เคยเต็ม อย่าเล่นๆ นะไม่ใช่ของหลอกเด็กนะ อย่าเล่นๆ นะ ตอนยังไม่รู้ไม่เห็น ผยอง พอรู้เห็นก็คร่ำครวญ ช่วยอะไรก็ไม่ได้ เป็นภูมิที่ช่วยไม่ได้แล้วนะ เป็นภูมิที่ช่วยไม่ได้ ไม่มีใครเข้าไปช่วยได้เลย ถ้าเป็นเปรตยังช่วยได้ ถ้าเราฝึกสติไว้ดีนะ พอนิมิตไม่ดีเกิดปุ๊บ ขาด เราจะตื่นขึ้นมาจะไปสู่สุคติ งั้นสำคัญนะ ฝึกสติในชีวิตประจำวันนี่จนมันอัตโนมัตินะ กระทั่งหลับมันก็ทำงานได้ สติปัญญาต้องฝึกเอา ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยนะ
*ที่มา: Dhammada.net คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา
ดาวน์โหลดไฟล์เสียง: 491116B-die-dd.mp3
แถมอีกเรื่องครับเผื่อมีใครอยากรู้ว่า “ตายแล้วไปไหน” ในศาสนาพุทธสอนอย่างไร และมีวิธีทดสอบด้วยตัวเองด้วย
ธรรมเทศนา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
CD บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) วันอังคารที่ 16 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555
ชื่อไฟล์ 551016 | เวลา: ระหว่างนาทีที่ 44.23 – 47.51
อยากรู้ว่าตายแล้วไปไหน จะรู้ได้อย่างไร
โยม : หนูอยากทราบว่า ตายแล้วไปไหนคะ?
หลวงพ่อปราโมทย์ : โอ้.. ตอนนี้ เย็นนี้จะไปไหนยังนึกไม่ออกเลย อยากรู้จริงหรือเปล่า? อยากรู้จริงๆ นะ อยากรู้จริงๆ ต้องเล่นเกม เกมหนึ่งนะ กลับบ้านไป หากระดาษมาแผ่นหนึ่งมาตีเป็นช่องๆ นะ แล้วก็ใส่ไปเลย โลภ โกรธ หลง อะไรอย่างนี้ ใส่เข้าไปนะ แล้วเราก็คอยสังเกตใจของเรา สัก 5 นาที ถ้าใจเราโลภ 1 ครั้ง อยากโน่นอยากนี่ขึ้นครั้งหนึ่งนะ ก็ไปขีดช่องโลภ ถ้าใจเราอยู่ๆ ก็โกรธอย่างนี้ขึ้นมานะ ไปขีดช่องโกรธ ใจเราเดี๋ยวใจลอยฟุ้งซ่านไปใจลอยลืมตัวเองไป ไปขีดช่องหลงนะ เนี่ยไปขีดเป็นช่องๆ อย่างนี้นะ ใช้เวลาสักเท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่เรา บางที 10 นาที 15 นาที
ทดลองนะ แล้วดูคะแนน ถ้าโลภมากตายแล้วไปเป็นเปรต ถ้าโกรธมากตายแล้วตกนรก ถ้าหลงมาก ใจลอยฟุ้งซ่านมาก ตายแล้วไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามหลวงพ่อเลยนะ เราจะวัดตัวเราเอง เพราะอะไร เพราะว่าเวลาเราจะตายเนี่ย จิตจะไหลไปตามความเคยชิน ความเคยชินแต่ละชนิดเนี่ย ถ้ามันเคยชินจะโลภ จะไปเป็นเปรตนะ ถ้าเคยชินที่จะโกรธ หงุดหงิด ทุกข์ทรมานใจ เห็นมั้ยว่าตกนรกทั้งเป็นอยู่แล้ว เวลาจะตายก็จะตายไปแล้วไปเกิดเป็นสัตว์นรก ถ้าใจลอยเหม่อๆ ทั้งวัน เห็นหมาเห็นแมวเวลามันนั่งอยู่ตัวเดียวไม่มีอะไรทำ มันจะนั่งเหม่อ มีมั้ยหมาแมวนั่งพุทโธๆ ไม่มีหรอก มีแต่นั่งเหม่อ มีแต่นั่งใจลอย เพราะฉะนั้นใจลอยก็ไปขีดช่องใจลอยนะ แล้วเราจะรู้เลยต่อไปเราจะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายแล้วไปไหน ไปตามที่จิตเคยชิน
แต่ถ้าใครเล่นเกมนี้นะ จะไปนิพพานนะ เพราะอะไร เพราะทุกครั้งที่เรารู้ว่าใจโลภ เรามีสติ 1 คะแนน ทุกครั้งที่เรารู้ว่าใจโกรธ เราได้สติมาอีกหนึ่งคะแนน ได้ความรู้ทันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคะแนนรวมที่เราทำได้ คือจำนวนค่าบวกนะ คือค่าบวกนะ (คือ ทุกครั้งที่รู้ทันความโลภ ทุกครั้งที่รู้ทันความโกรธ ทุกครั้งที่รู้ทันความหลง ก็คือทุกครั้งนั้นแหละมีสติ การเล่นเกมนี้จึงได้คะแนนการมีสติหรือรู้ทันกายใจ มากที่สุด : ผู้ถอดเสียง) เพราะฉะนั้น ถ้าใครเล่นเกมนี้รับรอง ไม่ไปอบายหรอก มันก็คือการฝึกกรรมฐานอย่างหนึ่งนั่นแหละ คือ ฝึกรู้ทันใจตนเอง คนส่วนใหญ่จิตมีกิเลสแล้วไม่เคยเห็น ตายไปมันก็ไปตามกิเลสนั่นแหละ ทำไมเปรตต้องคอยาว หือ เคยเป็นห่วงใครมั้ย เวลาเป็นห่วงคนที่เรารักกลับบ้านช้า ชะเง้อดูมั้ย เมื่อไหร่จะมา ชะเง้อมากๆ (คอ) เลยยืดไปเลยนะ ตายไปแล้วคอยาวเลย
เราเป็นอย่างที่เราทำนะ เราเป็นอย่างที่เราทำ จิตของเราจะไหลไปตามความเคยชิน ธรรมชาติของจิตย่อมไหลไปตามความเคยชิน เพราะฉะนั้นเราพยายามมาฝึกความเคยชินใหม่ คือฝึกความเคยชินที่จะรู้สึกตัว รู้ทันจิตรู้ทันใจนะ ศีล สมาธิ ปัญญา เราดีขึ้น เราไม่ไปที่ต่ำหรอกนะ
*ที่มา: Dhammada.net คือความเรียบง่าย คือธรรมะ คือธรรมดา
ดาวน์โหลดไฟล์เสียง: 551016-game-dd.mp3
ขอให้ทุกท่านที่กรุณาอ่านบทความนี้จนจบ ได้รับอานิสงส์เพิ่มพูนเพื่อมุ่งไปสู่การ “ตายดี” ด้วยเทอญ
พ่อไก่อู
จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee
0 comments on “ตายดี – ตายอย่างไร?”Add yours →