Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        'เอ' หนุ่มจากวิทยาลัยช่างทองหลวง ส่งผลงานลายไทยมาร่วมแสดง ๑ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานเอครับ

อภิสิทธิ์ ยกย่องกิจ (เอ) , ๒๑ ปี | Abhisit's Facebook
กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง (สาขางานช่างทองหลวง) , จ.กรุงเทพฯ
อาชีพ red arrow กำลังศึกษาอยู่

แรงบันดาลใจ : เป็นผลงานชิ้นที่ ๒ ก่อนจะบุกเบิกลงเฟรม เป็นภาพสีน้ำบนเฟรมผ้าใบ ผมใช้พู่กันเขียนลายเส้น แรงบันดาลใจเกิดมาจาก การมองสภาวะอารมณ์ "ใจ" ของคนเรามักมี ๒ ด้านเสมอ คงจะไม่มีใครครบองค์ประกอบของคำว่าดีทั้งหมด ๑๐๐% คนทุกคนเกิดมา ย่อมมีในส่วนที่ไม่ดี และส่วนที่ดี คนชั่วที่เราเห็น บางอย่างเขาอาจดี คนดีบางคนอาจเห็นว่าดี แต่บางอย่างเขาอาจเลว ดังนั้น ใจคนเราจะต่อเติมให้เป็นยักษ์เต็มภาพ ก็คงไม่ได้ จะเติมให้เป็นพระพุทธองค์ให้เต็มภาพก็คงไม่ได้ อีกความหมายหนึ่งของภาพคือ การแสดงว่าชั่วดีปรากฏอยู่ภายในใจ ทำชั่ว ย่อมต้องพบความรุ่มร้อน ทุกข์ทรมาน ทำดี ย่อมพบประสบหนทาง ที่สงบ นิ่ง

ส่งผลงานเมื่อ red arrow ๓ ก.พ. ๒๕๕๗)
 






Abhisit's Portrait


 

1
1


     แนวความคิดในการสร้างงานของเอน่าสนใจนะครับ ผมเลยอยากจะเสนอทัศนะตามความเห็นของผมเพิ่มเติม ซึ่งอิงจากหลักธรรมในพุทธศาสนาให้ฟังสักเล็กน้อยก่อนนะครับ

    ความดี หรือ ความชั่ว เป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ เหมือนกับมีมืดย่อมมีสว่าง ที่เป็นอย่างนี้เพราะโลกเป็นดาวเคราะห์ ที่หมุนรอบตัวเองตามหลักวิทยาศาสตร์ (ลองสมมุติเล่นๆ ว่า ถ้าหากโลกหยุดหมุน ด้านหนึ่งคงมีแต่มืด ด้านหนึ่งคงมีแต่สว่าง คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละฝั่ง คงไม่เข้าใจคำว่า สว่างและมืด ของคนอีกฝั่ง) เหมือนกับมีขาวย่อมมีดำ ทั้ง ๒ ส่วน ที่เป็นสิ่งตรงข้ามกันนี้ เราสามารถพูดได้ตรงๆ ไหมล่ะครับว่า มันมีอยู่จริงๆ เหมือนกับที่เรารู้จักความดี และความชั่ว ถ้าหากความชั่วไม่ปรากฏ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไหนคือความดี ถ้าหากไม่มีการกำหนดว่าสิ่งนี้เรียกว่า ความสูง เราจะรู้จักความเตี้ยได้อย่างไร หรืออย่างสัตว์บางชนิด ที่มีแก้วตาที่มองโลกเป็นเพียงสีขาว-ดำ หรือตาบอดสี หากเราจะไปบอกมันว่า สีสันตระการตาของโลก อย่างที่ดวงตามนุษย์มองเห็นว่าเป็นอย่างไร มันก็คงจะไม่สามารถเข้าใจได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสเปรียบคำว่า "ความดี" ไว้อย่างกว้างๆ ว่า ความดีคือ การไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น หรือไม่ทำให้ตัวเองและผู้อื่นต้องเดือดร้อนนั่นเอง

    แต่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ยังมีความจริง หรือสัจจะ ที่ใครๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ และเป็นสิ่งสามัญธรรมดาประจำโลก ทั้ง ๓ ประการ หรือที่เรียกว่า "กฎไตรลักษณ์" คือ
๑). อนิจจัง แปลว่า ความไม่เที่ยง เพราะถูกบีบคั้นให้ต้องแปรปรวน แปลี่ยนรูปแปรร่างอยู่ตลอดเวลา
๒). ทุกขัง แปลว่า เป็นทุกข์ สืบเนื่องมาจากอนิจจัง เพราะถูกบีบคั้น เสียดแทง ทำให้คงรูป หรือทนอยู่ไม่ได้ด้วยตนเอง ต้องเสื่อมสลายอยู่ตลอด
๓). อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวใช่ตน บังคับไม่ได้จริง ไม่อยู่ในอำนาจ และไม่เป็นไปตามใจอยากอย่างที่เราต้องการ แต่มันกลับเป็นไปตามเหตุ-ปัจจัย

การจะเข้าใจหลักของศาสนาพุทธให้แจ่มแจ้ง ก็คือการเข้าใจ กฎไตรลักษณ์ ตามที่มันเป็นอยู่จริงๆ นี่แหละครับ ดั่งประโยคที่ว่า "เมื่อเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นจึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว" ซึ่งหลักการสำคัญของ "การฝึกเห็นตามความเป็นจริง จนสามารถคลายกำหนัดลงไปได้นั้น" ก็คือ การใช้หลัก วิปัสสนา นี่แหละครับ

ชาวพุทธในบ้านเราส่วนใหญ่ จะเข้าใจว่า ศาสนาพุทธ มุ่งเป้าไปที่ ความดี ความสุข ความสงบ (หรือนิ่งๆ) ถ้าเข้าใจกันแบบนี้แสดงว่า คุณไม่เข้าใจศาสนาพุทธเอาเสียเลย เพราะ ความดี ย่อมคู่กับ ความชั่ว, ความสุข ย่อมคู่กับ ความทุกข์, ความสงบ ย่อมคู่กับ ความฟุ้งซ่าน แต่ศาสนาพุทธไปไกลกว่านั้น คือไปให้เหนือกว่า และพ้นจากของคู่ทั้งหลาย ไปสู่สิ่งที่สมมุติเรียกว่า "นิพพาน" ที่ ท่านอาจารย์พุทธทาสให้นิยามว่า "เป็นการดับไม่เหลือแห่งทุกข์" เป็นอมตะธรรม เป็นบรมสุข เป็นสภาวธรรมที่ปราศจากการปรุงแต่งทั้งปวง นิพพานมีชื่อว่าหนึ่ง และปราศจากของคู่

การที่จิตยังดิ้นรนแสวงหาความสุข หนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ (เท่ากับปฏิเสธความจริงของ กฎไตรลักษณ์) จะทำให้ห่างไกลจากคำว่า นิพพาน ออกไปทุกทีๆ มีเพียงการหยุดดิ้นรนและหันกลับมาพิจารณา เผชิญหน้ากับสิ่งที่เราสมมุติเรียกว่า ความสุขและความทุกข์ และเห็นตามความเป็นจริงเท่านั้น จึงจะเข้าใจโลกนี้ได้

ผมพูดให้ฟังอย่างงี้ ไม่รู้ว่าจะงงกันหรือเปล่านะ ^^.. คือต้องการยกให้เห็นในประเด็นที่เอ นำมาใช้เป็นแนวคิดในการสร้างงานชิ้นนี้ ว่าในทางพุทธศาสนาว่าอย่างไร ในเรื่องความดีและความชั่ว ซึ่งมองว่าเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ มีจริงโดยสมมุติ (หรือ สมมุติบัญญัติ) ไม่มีจริงโดยปรมัติ (แปลว่า ความจริงแท้ คือจริงอย่างไรก็จริงอยู่อย่างงั้น ตัวอย่างเช่น ไฟ มีปรมัติคือ ความร้อน คนไทย คนจีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง แขก รู้สึกตรงกันหมดว่าไฟร้อน อีกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือ อุจจาระ คนรังเกียจว่าเหม็น แต่แมลงวันกลับรู้สึกว่า ห๊อม..หอม ประมาณนี้นะครับ เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ความจริงแท้ หรือจริงโดยปรมัติ กับความจริงโดยสมมุติ ที่แปรไปเรื่อยตามสภาพการณ์นั้น แตกต่างกันอย่างไร)


โอ้ว...กว่าจะได้วิจารณ์งาน ผมก็ฟุ้งเสียยาวอีกแระ แหะๆ เอ้า...มาดูงานเอกันต่อ รูปร่างสัดส่วน การวาดตัวยักษ์ หรือตัวพระยังต้องปรับปรุงอีกหลายๆ จุดเลยนะครับ เช่น รูปหน้า ลำแขน (ไม่สวยนะ วาดงอไปบ้าง ดูปวกเปียกไปบ้าง) การวาดรูปเท้า และช่วงเข่า ท่อนขาในท่านั่งก็เหมือนกัน ยังปรับได้อีก ในนี้มีบทเรียนต่อยอดของ ครูปุราณ วิวัฒน์ แนะนำไว้อยู่ ดีมากๆ เลย เอลองเข้าไปศึกษาดูนะครับ red arrow คลิกที่นี่ ขอให้วาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๙ ก.พ. ๒๕๕๗)
 
 





 


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.