Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        ขุน หนุ่มใหญ่จากเขตภาษีเจริญ กทม. ที่ได้แรงบันดาลใจในการฝึกเขียนภาพไทย ด้วยวิธี "ครูพักลักจำ" ส่งผลงานมาร่วมแสดงอีก ๒ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานขุนครับ

 
บรรยงค์ ศรีประทุม (ขุน) , ๔๘ ปี
วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ (หัตถกรรม) , จ.กรุงเทพฯ

แรงบันดาลใจ : จระเข้ ๒ เป็นงานที่ครูกบได้ชี้แนะให้แก้ไข แต่ก็ยังไม่ได้สัดส่วนเท่าที่อาจารย์กบแนะอยู่ดี คงต้องฝึกให้มากกว่านี้ แต่ได้แก้ปัญหาการเขียนมือได้ รูปครั้งนี้เล็กกว่ารูปเดิมเยอะมาก เลยออกลายละเอียดน้อยลง และพยายามเปลี่ยนท่าจระเข้ตามที่อาจารย์ธานีแนะนำ

ส่งผลงานเมื่อ ๕ ต.ค. ๒๕๕๔)
 
 






Khun's portrait


  select arrow

5
12345678


  คุณขุนเป็นคนมีฝีมือเกินกว่ามือสมัครเล่นจริงๆ นะครับ รูปนี้ก็วาดออกมาได้ดีครับ แต่...ผมขอวิจารณ์แบบ "จัดหนัก" หน่อยนะครับ งานจะได้พัฒนามากขึ้น เพราะทางฝีมือคุณขุนดีอยู่แล้ว

๑). ท่าทางของจระเข้แบบเดิม (ภาพที่ ๔) ก็ดีอยู่แล้วนี่ครับ แต่...ท่าใหม่ ที่มันหันหัวเข้ามาทางตัวคนอย่างงี้ ค่อนข้างเสี่ยงกับพระเอกว่า จะโดนงับซะก่อน (แสดงว่าพระเอกค่อนข้างประมาท) แล้วจระเข้ที่คุณขุนวาดใหม่ครั้งนี้ ทำไมหน้าตามันถึงดูหน่อมแน้มจังเลยครับ ดูเชื่องๆ ผิดปกติ แถมยังมีฟันแค่ ๕ ซี่ (สงสัยจะเป็นคุณปู่จระเข้... ฟันเลยร่วงหมด...อิอิ) แล้วเรื่องที่ผมวิจารณ์เรื่องพังผืดที่เท้าจระเข้ (ดูภาพนิ้วเท้าจระเข้ตัวจริงเพิ่มเติม ที่ด้านล่างนะครับ) จะเห็นว่า เท้าคู่หน้านิ้วค่อนข้างเล็กเรียว และพังผืดมีน้อย ในขณะที่เท้าคู่หลังจะดูเหมือนตีนกบหรือใบพาย และมีพังผืดมากกว่า แต่คราวนี้คุณขุนวาดออกมา จนตีนจระเข้ดูเป็น "ตีนเป็ด" อวบๆ ไปเลยครับ
๒). ผมชอบไกรทองท่านี้ ของคุณขุนมากนะครับ เพราะมันดูลอยๆ เหมือนอยู่ใต้น้ำจริงๆ และคราวนี้ มือไม้ที่จับหอก ก็วาดได้ดีขึ้นครับ ถือว่าผ่านครับ แต่หอกค่อนข้างสั้นไปนิดนะครับ แล้วจังหวะการแทงแบบนี้ สงสัยคงจะไม่ทะลุหนัง ได้แค่คันๆ นะครับ

    ตามสัญญานะครับ ผมวาดภาพเทียบให้ดู แต่ผมวาดแค่เป็นโครงหยาบๆ เท่านั้นนะครับ ไม่ได้ใส่รายละเอียดอะไรลงไปเลย เพราะอยากให้เห็นโครงสร้างหลักๆ มากกว่าครับ (จริงๆ ถ้าวาดละเอียดกว่านี้ คงจะขึ้นให้ดูไม่ทันด้วยครับ เพราะลำพังแค่อัพผลงานของแต่ละคนๆ ที่ส่งมาเรื่อยๆ ให้เร็วที่สุด ก็เล่นผมอ่วมแล้ว) ผมวาดจากโครงภาพของคุณขุนในภาพที่ ๔ และได้แบบจระเข้ลายไทย มาจากภาพของคุณกบ (อ.อนุเทพ พจน์ประสาท ดูต้นแบบ) ครับ แต่...หุหุ วาดไม่เหมือนครับ ผมยังไม่ค่อยถูกใจจระเข้ที่ผมวาดภาพนี้ซักเท่าไหร่ เพราะมันดูเหมือนไม่ใช่จระเข้ แต่ดันไปละม้ายกับไดโนเสาร์ในเรื่อง Jurassic Park III มากกว่า (ไอ้ตัวที่มีกระโดงสูงๆ อยู่บนหลังไงครับ........T_T)" ยังไงๆ ขอให้ดูเป็นตัวอย่างคร่าวๆ แต่ไม่ต้องเอาอย่างทั้งหมดนะครับ (วาดดัดแปลงจากรูปจระเข้ตัวเป็นๆ ที่ด้านล่างจะดีกว่าครับ)
    และที่ผมเคยบอกคุณขุนว่า มันควรจะ "อ้าปาก แยกเขี้ยวด้วยความเจ็บปวด เพราะโดนหอกสัตตโลหะแทง" ก็ประมาณนี้แหละครับ และถ้าหากสามารถวาดให้เห็นปากและเขี้ยวอีกฝั่งได้ด้วย ก็จะดูสมจริง และมีมิติมากขึ้นครับ (อย่างในภาพนี้นะ แต่..ผมวาดฟันค่อนข้างถี่ไปหน่อย เลยกลายเป็นฟันปลาไป จระเข้ตัวจริง ฟันแต่ละซี่ๆ จะเว้นระยะห่างมากกว่านี้นะครับ ดูภาพด้านล่าง) ส่วนนิ้วเท้าจระเข้คู่หน้า ผมก็วาดให้ดูแหลมๆ คล้ายของจริง และมีพังผืดอยู่นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นเท้าคู่หลัง จะวาดให้ใหญ่หนาคล้ายใบพาย และมีพังผืดมากกว่า (จริงๆ ผมยังไม่ค่อยชอบนิ้วเท้าจระเข้ ที่ผมวาดครั้งนี้เท่าไหร่นะครับ "มันบางไป" คิดว่ายังต้องปรับปรุงอีกครับ)
    คราวนี้มาถึงตัวไกรทองนะครับ คุณขุนสามารถดูท่าทางเป็นแบบได้เลยครับ และที่ผมเคยบอกว่า จังหวะการจ้วงแทงแบบลงน้ำหนัก ทั้งกำลังมือ แขน และลำตัวที่พุ่งกระโจน ทุ่มตัวไปอย่างแรง ก็จะประมาณนี้นะครับ จริงๆ การวาดมือที่กำลังจับหอก สามารถวาดได้อีกหลายท่า หลายมุม หลายแบบ แต่ในภาพนี้..พอดีผมตวัดไปตวัดมา ก็มาลงตัวที่ท่านี้แหละครับ จะเห็นว่าผมวาดคนให้เปลือยๆ ก่อน จะได้เห็นโครงสร้างชัดๆ ทั้งตัวก่อน เมื่อแก้ไขท่าทางจนเป็นที่พอใจแล้ว จากนั้นค่อยวาดเสื้อผ้าสวมทับลงไปครับ

หวังว่าคงจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นอีกเล็กๆ น้อยๆ นะครับ ขอให้วาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๙ ต.ค. ๒๕๕๔)
 
 
 

ไกรทอง-ชาละวัน โดย จิด-ตระ-ธานี

ภาพร่างให้เห็นโครงสร้าง "ไกรทอง พุ่งตัวแทงหอกสัตตโลหะ ที่ต้นคอของชาละวันอย่างเต็มแรง"

ตัวจระเข้ในภาพนี้ ผมยังวาดได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควรนะครับ แต่..ที่เอามาลง เพราะคิดว่า คงพอจะใช้เป็นแบบให้ศึกษาร่วมกันได้ คุณสามารถจะดูแบบจระเข้ตัวจริงๆ (ภาพตัวอย่างด้านล่าง)
แล้วนำมาดัดแปลงการวาดให้ดีขึ้นได้ครับ : จิด-ตระ-ธานี
 



จระเข้ในบ่อเลี้ยงที่สุพรรณบุรี : Photo by Naaaa C-750





จระเข้ในบ่อเลี้ยงที่ ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน : Photo by Kob & S6500 fd
 

พอดีวันนี้ได้โอกาสรื้อหนังสือเก่าๆ (ย้ายของหนีน้ำท่วม....T_T และ..ก็ขอแสดงความเสียใจ & ขอให้กำลังใจกับ เพื่อนสมาชิกหลายๆ ท่าน ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมด้วยนะครับ) ก็ไปเจอภาพนี้เข้าครับ เป็นภาพวาดจระเข้แบบโบราณที่สวยมาก และยังเป็นลายรดน้ำอีกด้วยนะ ภาพนี้เป็นภาพวาดเล่านิทานพื้นบ้าน (folk tale) ที่ประดับอยู่ตรง เชิงบานหน้าต่างพระอุโบสถวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ) ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องเลยครับ โดยนิทานเรื่องนี้ เป็นนิทานอธิบายสาเหตุ (explanatory tale) ที่มาของเรื่อง... "ทำไมกระต่ายไม่มีหาง จระเข้ไม่มีลิ้น" โดยเป็นเรื่องที่กระต่าย ใช้กลอุบายเพื่อเอาตัวรอดจากปากจระเข้ โดยการหลอกให้จระเข้ ทำให้ตนเองกลัว จระเข้หลงกล จึงอ้าปากคำรามส่งเสียงดัง กระต่ายจึงสบโอกาส กระโดดออกจากปากจระเข้เอาตัวรอดได้ เหลือแต่หาง (นิทานเรื่องนี้เล่าว่า แต่ก่อนกระต่ายมีหางยาว) ซึ่งจระเข้งับไว้ได้ทัน ขณะที่กระต่ายกระโดดออกจากปาก และเล็บที่ขากระต่ายซึ่งคมมาก ได้ตัดลิ้นจระเข้ขาด ทำให้ตั้งแต่นั้นมา กระต่ายจึงไม่มีหาง จระเข้ไม่มีลิ้น (จบ)

สนุกดีเหมือนกันนะครับ นิทานพื้นบ้านที่เล่ากันมากว่า ๒๐๐ ปีเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาพจระเข้ ที่ช่างวาดได้งามมากๆ ทั้งสมจริง ดูเป็นธรรมชาติ และยังสวยงามแบบไทยๆ อีกต่างหาก สามารถดูเป็นตัวอย่าง ในการออกแบบจระเข้แบบลายไทย เพิ่มเติมได้นะครับ : จิด-ตระ-ธานี (๑๔ ต.ค. ๒๕๕๔)

ที่มา : วารสาร "เมืองโบราณ" ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๔ (หน้า ๑๑๖)


 
 
 

 
     


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.