Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        หนุ่มน้อยเมืองรถม้าลำปาง นาม 'ฟลุค' จากโรงเรียนห้างฉัตรวิทยา ส่งผลงานลายไทยมาร่วมแสดง ๑ ภาพ ครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานฟลุคครับ

วีรพล ใจนาแก้ว (ฟลุค) , ๑๖ ปี
โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา , จ.ลำปาง
อาชีพ red arrow กำลังศึกษาอยู่

แรงบันดาลใจ : วาดหม้อปูรณฆฎะครับ ได้แรงบันดาลใจจากลายรดน้ำ วัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ครับ ขอคำแนะนำด้วยนะครับ เพิ่งหัดวาดครับ

ส่งผลงานเมื่อ red arrow ๙ ส.ค. ๒๕๕๖)
 






Fluke's Portrait


 

1
1


    ใช้ได้นะครับ สำหรับการเพิ่งหัดวาด ลวดลายโดยรวมๆ ก็พอไหวอยู่ครับ ผมมีภาพลายหม้อปูรณฆฏะ เป็นของโบราณจาก วัดพระธาตุลำปางหลวง มาให้ดูข้างๆ ด้วยครับ เห็นฟลุคส่งรายละเอียดอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับ หม้อปูรณฆฏะ ในแรงบันดาลใจมาเสียยาวเชียว ผมขอเอามาไว้ตรงนี้แทนละกันนะครับ

ข้อมูลอ้างอิงจาก : อาจารย์หนานเอก บ้านมนตราล้านนา เชียงใหม่

    ปูรณฆฎะ อัตลักษณ์คนล้านนา "ดอกไม้" คือ สิ่งสวยงามและมีคุณค่าในตัวเอง กลิ่นหอมและความหลากหลายดอกไม้ทุกดอก เมื่อนำมารวมกันในหม้อปูรณฆฎะ จะประมาณมิได้ สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ คำว่า... "ปูรณฆฎะ" อาจมีสมาชิกหลายท่านเกิดความสงสัยว่า คืออะไร ? โดยปูรณฆฎะนั้น เป็นหม้อไหดอกที่มีลวดลายวิจิตรงดงาม ใช้สำหรับปู่จา (บูชา) พระ เราสามารถพบเห็นลวดลายปูรณฆฎะ ได้ตามผนังวัดบางแห่ง ดังปรากฏที่ วิหารวัดปงยางคก และวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น

    ลวดลายรูปแจกันดอกไม้ถือกันว่า หมายถึงความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มาตั้งแต่ยุคศิลปะทวารวดี ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า "หม้อไหดอก" ใช้สำหรับใส่ดอกไม้สด โดยเฉพาะยอดของหมากผู้หมากเมีย หรือดอกไม้แห้งไว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยมักจะพบว่ามีหม้อไหดอกจำนวน ๓ ใบใส่น้ำไว้ มียอดหมากผู้หมากเมียปักอยู่วางไว้บนหิ้งพระ และยังพบตามหอผี แลศาลเทพารักษ์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน แต่มักใช้เป็นจำนวนคู่ มิได้ใช้ ๓ ใบอย่างการบูชาพระ หม้อไหดอกเป็นภาชนะดินเผาทรงกระบอก ปากผายออก ทำเป็นริ้วบริเวณปากภาชนะ ทรงหม้อมักมีเอวคอด และผายออกเล็กน้อย ก้นแบน ชาวบ้านอาจเรียกว่า "หม้อน้ำดอก หรือ หม้อดอก" ก็มี ขนาดที่พบมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ นิ้ว สูง ๗ นิ้ว ขึ้นรูปด้วยการใช้แป้นหมุน ตกแต่งด้วยการเขียนสี เป็นลวดลายดอกไม้ ใบไม้

    ที่มาของแนวคิดเรื่อง หม้อปูรณฆฏะ (อ่านว่า ปู-ระ-นะ-คะ-ตะ) หมายถึง... หม้อแห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นหม้อที่เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำอยู่เสมอ จึงมีความชุ่มเย็น หมายถึง น้ำใจเยือกเย็น ดีงาม หม้อปูรณฆฏะ มีดอกไม้งอกงามพวยพุ่ง รุ่งเรืองงามตา แสดงถึงความงอกงามแห่งปัญญา ดังนั้น หม้อปูรณฆฏะ จึงหมายรวมถึง ความสุข สงบ ร่มเย็น อุดมสมบูรณ์ และความเต็มเปี่ยมไปด้วยความงอกงามแห่งปัญญา

    ความเชื่อเรื่อง ปูรณฆฏะ มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียตอนใต้ ในสมัยอมราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๘ หลักฐานที่พบแรกเริ่มเป็นเพียง หม้อมีน้ำเต็ม อาจมีฝาหรือไม่มีฝาก็ได้ หม้อปูรณฆฏะเป็น ๑ ในมงคลร้อยแปดประการ พบเห็นได้มากบนรอยพระพุทธบาท

    ส่วนดอกไม้ที่ปักอยู่ในหม้อเป็นลวดลายพวยพุ่ง เริ่มเห็นกันแพร่หลายในศิลปะลังกา สมัยเมืองอนุราธปุระ ที่พบบ่อยในลังกาจะเป็นรูปอสูรนามว่า ปัทมนิธิ กับ สังคนิธิ ทูนหม้อไว้เหนือหัว หรือบางครั้งก็เป็น มนุษยนาคถือหม้อน้ำก็มี
    ตัวหม้อมีน้ำเต็มเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีข้าวปลาอาหาร พลาหาญสมบูรณ์ ส่วนดอกไม้เล็งถึงทรัพย์ศฤงคาร ยิ่งพอมาอยู่ในมือ ปัทมนิธิ กับ สังคนิธิ ซึ่งเป็นบริวารของท้าวกุเวร (หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวโลกบาลประจำทิศเหนือ กึ่งเทพกึ่งอสูร เป็น ๑ ใน จตุโลกบาลทั้ง ๔ ท้าวกุเวรเป็นเจ้าแห่งยักษ์ เป็นเทพที่อำนวยพรเรื่องโภคทรัพย์ และความมั่งคั่ง) จึงทำให้หม้อปูรณฆฎะ กลายเป็นเครื่องหมาย แทนความบริบูรณ์ของโภคทรัพย์อีกด้วย

ดีจังครับ ข้อมูลที่ฟลุคหามา อธิบายแทนผมไปได้ในตัว (ผมปรับสำนวน อ. หนานเอก ด้วยนิดหน่อยนะ) ขอให้วาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๑๔ ส.ค. ๒๕๕๖)
 
 

Buranakata

หม้อปูรณฆฏะ
(ภาพจากเว็บ Artifile.com)
จากลวดลายปิดทองโบราณ ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

ปูรณฆะฏะ (หม้อมีน้ำเต็ม)
(ปูรณะ แปลว่า เต็ม, สมบูรณ์ : ฆฏะ แปลว่า หม้อ)
แปลว่า หม้อที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ของพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนา
เป็นสัญลักษณ์ ๑ ในรูป ๑๐๘ มงคล บนรอยพระพุทธบาท
 


 


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.