Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

       'เปิดกรุ ครูช่าง' ครั้งนี้ จิด-ตระ-ธานี แนะนำเองครับ เป็นภาพชุดลายรดน้ำที่ประดับบนหีบพระธรรม สกุลเดียวกับครูช่างวัดเซิงหวาย สมัยอยุธยาตอนปลาย งามมากๆ (ขอบอก) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ ตำหนักปลายเนิน หรือ วังปลายเนิน ครับ







  ๔. ชุดภาพลายรดน้ำในวังปลายเนิน (สกุลเดียวกับครูช่างวัดเซิงหวาย) สมัยอยุธยาตอนปลาย
ภาพลายรดน้ำชุดนี้ เป็นชุดที่ผมเก็บไว้นานแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ (สมัยยังเป็นนักศึกษา แถมถ่ายด้วยกล้องฟิล์มอีกต่างหาก) เป็นฝีมือถ่ายภาพของนายต่อ พีระนันท์ นันทขว้าง (เพื่อนสนิทสมัยเรียน ปวส. ที่ วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง ครับ) ภาพชุดนี้ถ่ายที่วังปลายเนิน เป็นการขออนุญาตจากเจ้าของวังโดยตรง คือ หม่อมราชวงศ์ จักรรถ จิตรพงศ์ ครับ มีเหตุผลนิดหน่อยคือ นายต่อ เป็นนักเรียนทุนนริศรานุวัดติวงศ์ เลยสะดวกโยธินในการขออนุญาตถ่ายครับ เดี๋ยวมาทำความรู้จักกับ "วังปลายเนิน" พอหอมปากหอมคอนะครับ

     
  พิพิธภัณฑ์ ตำหนักปลายเนิน (หรือ วังปลายเนิน ที่พวกผมเรียกจนติดปาก) ตั้งอยู่บน ถ.พระรามที่ ๔ (ติดกับการไฟฟ้านครหลวง เขตคลองเตย) กรุงเทพฯ แต่เดิมเป็นพระตำหนักที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวในเบื้องแรก ปัจจุบันตำหนักปลายเนินนี้ ได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานวันนริศฯ โดยมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดเป็นประจำในวันที่ ๒๘ เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จฯ กรมพระนริศฯ และเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าชม ได้ตามเวลาราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (๑ ปี จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม เพียงวันเดียวนะครับ : สนใจข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้ที่ th.wikipedia.org )  
     

     ผมไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ลวดลายบนหีบพระธรรมใบนี้ เป็นครูช่างคนเดียวกันกับที่วัดเซิงหวายหรือเปล่า? แต่หากพิจารณาจากลวดลายที่อ่อนช้อย หวิวไหว (แต่) ทรงพลัง และการสอดประสานของตัวกระหนก ที่งอกงามอย่างลงตัว และมีชีวิตชีวาแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึง และใกล้เคียงกันมาก กับลายบนตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย ที่ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ

     แน่นอนครับ ความงามอย่างนี้เป็น "ความงามชั้นเลิศของศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย" ที่เป็นแบบแผนลายเก่าแก่ที่สุด ลายหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังหาชมได้ยาก เพราะปกติวังปลายเนิน ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปชมอยู่แล้ว (เปิดปีละ ๑ ครั้งเอง แถมอาจไม่ได้ถ่ายรูปง่ายๆ อีกต่างหาก) โดยส่วนตัวผมชอบลวดลาย แบบอยุธยาตอนปลายในสกุลวัดเซิงหวายมาก... เพราะลวดลาย นอกจากจะงดงามเป็นพิเศษแล้ว ยังไม่ได้ติดอยู่ในกรอบ (จะว่าหลุดกรอบก็ได้) ตามแบบแผนตายตัวเหมือนอย่างสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบกับความมีชีวิตชีวาของลวดลาย ที่ให้ความรู้สึก เจริญเติบโต ฟูเฟื่อง งอกงาม เลื้อยไหล ได้อย่างเป็นอิสระ ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด เห็นอย่างนี้ก็ต้องนำมาปันให้พวกเราที่ระเบียง 'เปิดกรุ ครูช่าง' นี้ ได้นำไปเป็นแบบอย่าง เพื่อศึกษาต่อยอดกันต่อไปนะครับ : (๒๓ ก.พ. ๒๕๕๓)
 
 

12345678910111213141516
  Save save ภาพ : 687 KB

     
       ภาพนี้เป็น close up มุมบนตรงกลางด้านบน ดูใกล้ๆ ลายช่อกระหนกที่แตกกิ่งก้าน งอกงาม กิ่งใบ ยอดลาย พุ่งซ้อนทับกันไปมา แถมยังวาดลายปม (ลายนกคาบ) จะเหมือนกับตาไม้ในธรรมชาติ ที่ช่างออกแบบไว้สำหรับออกช่อลาย ไม่ค่อยจะซ้ำกันด้วยนะ : จิด-ตระ-ธานี  
     
 

 


 
 
 

 
     


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.