เมื่อใดรู้ทุกข์ เมื่อนั้นละสมุทัย เมื่อใดละสมุทัย เมื่อนั้นแจ้งนิโรธ เมื่อใดแจ้งนิโรธ เมื่อนั้นอริยมรรคเกิด

บทความนี้เกิดจากการหาข้อมูล เพื่ออธิบายเรื่อง ‘มหาภูตรูป‘ (ธาตุ 4) โดยสืบค้นจากอินเตอร์เน็ต และธรรมบรรยาย โดยธรรมบรรยายที่ผมเลือกคือ การแสดงธรรมของ พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช แห่ง วัดสวนสันติธรรม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แผ่นที่ 63 คลิปเสียงที่ 581213B (13 ธ.ค. 2558 B)

ตอนแรกกะจะหยิบมาเพียงบางส่วน และอธิบายด้วยสำนวนตนเองผสมไป แต่พอถอดเสียงไปถอดเสียงมา ก็เกิดกิเลส (ความมันส์ในใจ) เลยพิมพ์ออกมาทั้งหมดเลย (ฮา) ด้วยความเสียดาย ที่พิมพ์ออกมาเสียยาว ไหนๆ ก็ ไหนๆ แล้ว เอามาแบ่งกันอ่านดีกว่า เพราะเป็นความรู้ธรรมะเชิงลึก ที่ควรแก่การศึกษายิ่ง

ด้านล่างคือการถอดเสียงธรรมบรรยาย (บางส่วน) โดยผมได้ปรับเพิ่มคำเล็กน้อย เพื่อให้เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับการอ่าน หากท่านใด ต้องการฟังเสียงต้นฉบับ สามารถ: คลิกฟังเสียงต้นฉบับได้ที่นี่

ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการ ‘คิดเอา’ เพราะเรื่องราวที่คิดไม่ใช่ความจริง ความคิดกับความจริง คนละอันกัน

ปัญญาที่เกิดจากการอ่านการฟังเรียกว่า ‘สุตมยปัญญา‘ สิ่งที่ได้มาคือความจำ จำไว้ ไม่ใช่ปัญญาตัวจริง ตัวที่เราคิดพิจารณามันคือความคิด คิดถูกก็ได้ คิดผิดก็ได้ เอาแน่ไม่ได้ เชื่อถือไม่ได้ เพราะปัญญาที่แท้จริงจะไม่ดิ้น เป็นปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ถูกบ้างผิดบ้าง คือการเข้าไปเห็นสภาวะเค้าทำงาน สิ่งที่เรียกว่าสภาวธรรมมี 2 อย่าง คือ รูปธรรมกับนามธรรม ที่จริงมี 3 อย่าง อีกอย่างหนึ่งคือ นิพพาน เป็นสภาวธรรม มีสภาวะจริงๆ แต่พวกเรายังไม่เห็น มันอยู่ต่อหน้าต่อตานี้แหละ ไม่เคยหายไปไหนเลย แต่เราไม่เห็น เพราะจิตของเรามีความอยาก จิตที่มีความอยากจะไม่เห็นนิพพาน

สภาวะที่เราเห็นได้ ก็มี 2 อย่างคือ รูปธรรมกับนามธรรม อย่างเราเห็นคน ผู้หญิง ผู้ชาย อันนี้ยังไม่ใช่ตัวรูปธรรมที่แท้จริง มันเป็นแค่อาการรวมตัวของรูป รูปมันมารวมตัวกันเป็นรูปร่างอย่างนี้ แล้วเราก็สำคัญมั่นหมายว่า นี่คือ ผู้หญิง นี่คือผู้ชาย ตัวรูปแท้ๆ ก็คือธาตุที่ประกอบเป็นตัวเรา ธาตุนี้ไม่ใช่ element แบบธาตุทางเคมี

ธาตุดิน คือส่วนที่แข็ง ธาตุน้ำ เป็นธาตุที่ดึงดูด เป็นแรงดึงดูดระหว่างอะตอม ธาตุลม เป็นความเคลื่อนไหว ธาตุไฟ เป็นความร้อน เป็นพลังงาน ถ้าเราจะลงมาดูในกายจริงๆ ให้เห็นธาตุจริงๆ เห็นยากมากเลย ถ้าจิตไม่ทรงฌาน (ทรงสมาธิในฌาน) ไม่สามารถแยกรูปออกไปเป็นส่วนๆ แบบนี้ได้ งั้นดูยาก รูปแท้ๆ ดูยาก แต่..สภาวธรรมที่ดูง่ายที่สุดเลยนะ ง่ายกว่ารูป ก็คือ นามธรรม

รูปธรรมดูยาก ไหน..พวกเราลองจับมือตัวเองดู ลองเลื่อนไปเรื่อยๆ ด้วยนะ รู้สึกมั้ย บางที่แข็งบางที่อ่อน ถ้าตรงไหนแข็ง แสดงว่าตรงนั้นธาตุดินเยอะ ตรงไหนอ่อนธาตุดินน้อย ซึ่งมันเข้าใจได้ยาก หรือเวลาเราเดิน เวลาเรายกเท้าขึ้นมา น่องเราจะหย่อน แสดงว่าธาตุดินลดลง เวลาเหยียบลงที่พื้น น้ำหนักลงไปเนี่ย น่องจะแข็งขึ้นมา ธาตุดินเพิ่มขึ้น งั้นการดูธาตุจริงๆ นะ ยากมากเลย กว่าจะเห็นว่าร่างกายนี้ประกอบด้วย ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ดูยาก

แต่สภาวธรรมที่ดูได้ง่ายคือ ‘นามธรรม’ เช่น ความโกรธ ความโกรธไม่มีอย่างอื่นแล้ว ความโกรธก็คือความโกรธ คนไทยโกรธ คนจีนโกรธ คนสิงคโปร์โกรธ คนฝรั่งโกรธ ก็คือความรู้สึกอย่างเดียวกัน ไม่บิดพริ้วเป็นอย่างอื่น ความโลภ ใครโลภมันก็โลภเหมือนกัน กระทั่งหมา-แมวโลภ มันก็โลภแบบเดียวกัน มันเป็นสภาวะจริงๆ ที่มีอยู่ เป็นความรู้สึกจริงๆ ที่มีอยู่ ความดีใจ ความเสียใจ ความอิจฉา ความพยาบาท ความรู้สึกนานาชนิด ความสุข ความทุกข์ ซึ่งเป็นสภาวธรรมแต่ละตัวๆ คนไทยสุข คนจีนสุขอะไร มันก็สุขอย่างเดียวกัน ความรู้สึกก็คืออันเดียวกัน เป็นของที่มันมีจริงๆ เพราะฉะนั้นสภาวธรรมที่ดูง่ายที่สุดคือ นามธรรม ไม่จำเป็นต้องทรงฌานก็ดูได้ อย่างขณะนี้ใจเราสุข หรือใจเราทุกข์ หรือใจเราเฉยๆ เราก็ดูเอา หรือใจเราดี ใจเราชั่ว ใจเราโลภหรือเปล่า ใจโกรธมั้ย ใจหลงมั้ย ดูไปเรื่อยๆ ดูเพื่ออะไร ดูเพื่อให้เห็นว่าสภาธรรมทั้งหลาย ไม่คงที่ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) สภาวธรรมทั้งหลาย ถูกบีบคั้นให้สลายตัวอยู่ตลอดเวลา (ทุกขัง) สภาวธรรมทั้งหลายบังคับไม่ได้ (อนัตตา) อย่างเราบังคับจิตไม่ได้ว่า จงมีแต่ความสุข อย่างนี้บังคับไม่ได้ ห้ามมีความทุกข์ ห้ามไม่ได้ เราลงมาดูให้เห็นตัวสภาวธรรม เพื่อจะได้เห็นความเป็น ‘ไตรลักษณ์’ ถ้าไม่เห็นตัวสภาวธรรมจะดูไตรลักษณ์ยาก

อย่างร่างกายเรา เป็นกลุ่มก้อนของธาตุที่มารวมตัวกัน มีธาตุมารวมกัน เราไม่สามารถแยกธาตุออกไปได้ เราไม่เห็นสภาวะธาตุแต่ละธาตุเกิดดับ ถ้าเราเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อน เราจะรู้สึกว่าเป็นตัวเรา ความเป็นตัวเราเกิดจากความเป็นกลุ่มก้อน ภาษาบาลีเรียกว่า ‘ฆนะ‘ คือการที่สภาวธรรมจำนวนมากมารวมกันอยู่  ทั้งๆ ที่สภาวธรรมมีแต่เกิดๆ ดับๆ (ความที่รวมเป็นกลุ่มก้อน) ทำให้รู้สึกว่าตัวนี้คงที่อยู่ รู้สึกว่ามันมีจริงๆ มีเราขึ้นมา ร่างกายประกอบด้วยธาตุมารวมกัน ก็เลยเป็นตัวเราขึ้นมา ความรู้สึกในใจก็ประกอบด้วย ‘ขันธ์’ (แปลว่า กอง หรือ division) ทั้งหลายมารวมกัน ความรู้สึกสุข ทุกข์ ก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง ความรู้สึกดีชั่ว ก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง ความจำได้หมายรู้ก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง ความรับรู้ หรือจิต หรือวิญญาณ ก็เป็นอีกขันธ์หนึ่ง เมื่อขันธ์ทั้งหลายมารวมตัวกัน เลยทำให้รู้สึกว่า เป็นตัวเราๆ ถ้าฆนะแตก แยกออกจากกัน ความเป็นตัวตนจะหายไป จะเหลือแต่สภาวธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน

ถ้าพูดอย่างนี้ฟังยาก คล้ายๆ ปรัชญา หากจะยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายขึ้น มันเหมือนเรามีรถยนต์ 1 คัน เราคิดว่ารถยนต์มีจริงๆ เพราะมันมีอยู่ มองเห็นอยู่เลย แต่พอเราถอดอะไหล่รถยนต์ออกมาเป็นชิ้นๆ (การแยก คือการทำฆนะของรถยนต์ให้แตก) เมื่อถอดล้อออกมา ล้อไม่ใช่รถยนต์ แต่รถยนต์จำเป็นต้องมีล้อ แต่ล้อก็ไม่ใช่รถยนต์ ถอดกันชนออกมา ถอดพวงมาลัยออกมา ถอดเอาเบาะนั่งออกมา ถอดเอาถังน้ำมันออกมา ถอดน๊อต ถอดสกรู อะไรต่างๆ ออกมา จะเห็นว่าอะไหล่แต่ละชิ้นๆ ไม่ใช่รถยนต์ วิธีที่เราจะเห็นว่าจริงๆ ‘ตัวเราไม่มี’ คือการจับถอดนั่นเอง (บาลีเรียก ‘วิภัชวิธี’) ถอดร่างกายหรือรูปธรรมออกไป ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่ง ถอดนามธรรม ความรู้สึกออกมาอีกส่วนหนึ่ง ในความรู้สึกนามธรรมยังแยกออกไปได้อีก คือ ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกดีชั่ว ความจำได้หมายรู้ ความรับรู้ พอจับแยกออกมาเป็นส่วนๆ เราจะเห็นได้ว่า ความสุขไม่ใช่ตัวเรา ความทุกข์ไม่ใช่ตัวเรา ความดีไม่ใช่ตัวเรา ความชั่วไม่ใช่ตัวเรา ความจำไม่ใช่ตัวเรา ความรับรู้ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกาย (รูปธรรม) ถ้าแยกละเอียดจะได้ธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นามธรรมก็แยกได้ 4 คือ ‘เวทนา’ ความรู้สึกสุขทุกข์ ‘สัญญา’ ความจำได้หมายรู้ ‘สังขาร’ ความปรุงดีปรุงชั่ว ‘วิญญาณ’ ความรับรู้อารมณ์ ถ้าจับแยกออกไปจนถึงตัวสภาวะแท้ๆ แล้ว จะพบว่า ‘ตัวเราหายไป’ มันเหมือนถอดชิ้นส่วนรถยนต์ ถอดล้อออกมา รถยนต์หายไปละ ไอ้ที่ถอดออกมาคือล้อ ก็ไม่ใช่รถยนต์แล้ว นี่คือการแยกสภาวะออกไปเรื่อยๆ การที่จะเรียนรู้ความจริงว่าตัวเราไม่มี คือการเรียนด้วยการ ‘ดูแบบแยกส่วน’ เพราะถ้าส่วนต่างๆ มารวมกัน ใจเราจะเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า นี่คือตัวเราๆ แต่ถ้าเรามองแบบแยกส่วนออก จะพบว่าตัวเราหายไป

เหมือนรถยนต์หายไป ถอดออกมาแล้วเป็นอะไหล่หลายร้อยหลายพันชิ้น แต่ละชิ้นไม่ใช่รถยนต์แล้ว จะพบว่ารถยนต์หายไปแล้ว งั้นรถยนต์นี่เป็นเพียงภาพลวงตา ของสิ่งซึ่งมาประกอบกันเป็นจำนวนมาก ตัวเราก็เป็นภาพลวงตา ของรูปธรรมนามธรรมจำนวนมาก ที่มาประกอบกันเป็นตัวเรา ค่อยๆ หัดแยกหัดดูไป สุดท้ายมันจะพบว่า ตัวเราไม่มี

เมื่อใจมันรู้ความจริงถ่องแท้แล้วว่า ตัวเราไม่มี เวลาใจมีความทุกข์เกิดขึ้น (ใจจะรู้เองว่า) ความทุกข์มีอยู่ แต่ไม่มีเจ้าของ ความทุกข์จะเข้ามาถึงใจได้น้อยลงๆ หากเราภาวนาถัดขึ้นไปอีก มากขึ้นๆ เราจะพบว่าสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ ซึ่งมันไม่ใช่ตัวเรา แท้จริงแล้วมันเป็นตัวอะไร? เราจะพบว่าสิ่งทั้งหลายที่มันมีอยู่เป็นตัวทุกข์ ถ้าเมื่อใดปัญญาเห็นลงไปจนถึงว่า สภาวธรรมทั้งหลายเป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยงบ้าง (อนิจจัง) ทุกข์เพราะถูกบีบคั้นบ้าง (ทุกขัง) ทุกข์เพราะว่าบังคับไม่ได้บ้าง (อนัตตา) จิตมันจะปล่อยวางความยึดถือออกไป จิตจะเป็นอิสระขึ้นมา *เพราะฉะนั้นปัญญาจึงมีหลายขั้น โดยขั้นต้นปัญญาจะรู้ความจริงว่า ‘ตัวเราไม่มี’ ปัญญาขั้นท้ายจะรู้ความจริงว่า ‘สิ่งที่มีคือตัวทุกข์’ ตัวที่รู้ว่าตัวเราไม่มีเป็น พระโสดาบัน ตัวที่รู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้วเป็น พระอรหันต์ ค่อยๆ ฝึกนะ แล้วใจเราจะเป็นอิสระ สิ่งที่ได้มา (จากการปฏิบัติขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา) คืออิสรภาพที่แท้จริง เป็นอิสรภาพที่มนุษย์โหยหา เรียกร้อง ร่ำร้อง แต่ไม่เคยมี มีใครนะ บอกไว้คนนึง จำได้มั้ย ที่บอกว่า ‘มนุษย์ใฝ่หาอิสรภาพ แต่ทุกหนทุกแห่งมีแต่พันธนาการ’ ใครนะ อ่อ… ‘รุสโซ‘ (ฌอง ฌาค รุสโซ Jean Jacques Rousseau ค.ศ. 1712 – 1778: นักปรัชญา ชาวฝรั่งเศส ) งั้นเราฝึกนะ เราจะเป็นอิสระ สุดท้ายมีความสุข ไม่เป็นทาส

ทุกวันนี้เราตกเป็นทาสอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าเราเป็นทาส เราคิดว่าเราเป็นอิสระ เราเป็นทาสของตัณหา ตัณหาคือความอยากที่เกิดขึ้นในใจเรา มันสั่งเราตลอดเวลาเลยนะ สั่งให้ไปโน่น สั่งให้ไปนี่ สั่งให้ไปกินไอ้นี่ สั่งให้ไปดูอันนี้ สั่งให้ไปคุยกับคนนี้ ตัณหาเป็นเจ้านายลึกลับ มันสั่งงานเราอยู่ตลอดเวลา ให้ทำอันนี้ อย่าทำอันนี้ ต้องทำอันนี้ แล้วถ้าเมื่อไหร่ที่เรายอมเชื่อมันนะ ตัณหาสั่ง เช่น บอกให้ไปคุยกับเพื่อน เราก็ไปคุยกับเพื่อน เรายอม ตัณหาเป็นนายที่ฉลาด พอเรายอมอยู่ในอำนาจของมัน ยอมเชื่อฟัง มันจะโยนความสุขเล็กๆ มาให้เรา มันเหมือนที่เค้าฝึกละครสัตว์ สั่งให้สิงโตกระโดดลอดบ่วงไฟ สิงโตกระโดดได้ ก็ให้เนื้อชิ้นหนึ่งเป็นรางวัล แต่ถ้าสิงโตไม่กระโดดตามที่สั่ง จะถูกไฟฟ้าจี้  ตัณหานี่ก็เล่นเราแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าเมื่อไหร่เรามีความอยากเกิดขึ้น และเราสนองความอยาก เราจะมีความสุขขึ้นมานิดนึง แล้วมันก็สั่งงานชิ้นใหม่ทันที จงอยากอันใหม่ขึ้นมาทันที ถ้าเราไม่ทำตามที่มันสั่ง เราจะทุกข์ทันทีเลย มันจะซัดเราด้วยความทุกข์ มันเอาไฟฟ้าจี้เราเลย งั้นทุกคราวที่มีความอยากเกิดขึ้น ตัวความอยากจะเป็นเจ้านายที่บงการจิตใจของเรา เราไม่เป็นอิสระจริงหรอก ถ้าวันหนึ่งๆ ลองไปนั่งนับนะ ว่าใน 1 วัน เรามีความอยากเกิดขึ้นกี่ครั้ง ลองไปนั่งนับดูสิ แล้วเราจะตกใจ ว่าเราเป็นทาสจริงๆ ไม่เคยเป็นอิสระเลย

แต่วิธีที่จะฆ่ามันให้ตาย ทำลายเจ้านายตัณหานี้ คือการรู้ทุกข์ ถ้าเรารู้ความจริงของกายของใจได้ เรารู้ว่ากายนี้คือตัวทุกข์ ใจนี้คือตัวทุกข์ ตัณหาจะทำงานไม่ได้ เพราะความอยากไม่ว่าจะมีมากมายแค่ไหน เมื่อย่อลงมา สรุปลงมา ประมวลลงมา ก็จะเหลือนิดเดียว คือ อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ อย่างเช่น เราอยากไปดูหนัง ก็เพราะเราอยากมีความสุขใช่มั้ย? งั้นจริงๆ คืออยากจะให้มีความสุข เมื่อกลุ้มใจขึ้นมาไปกินเหล้า ไปกินเหล้าเพื่ออะไร? จะได้ลืมความทุกข์ คือ อยากให้กายให้ใจเป็นสุข อยากให้กายให้ใจพ้นทุกข์ ความอยากไม่ว่าจะมีมากมายแค่ไหน ย่อลงมาก็เหลือแค่นี้เอง แต่ถ้าเมื่อใดสติปัญญาแก่กล้า รู้ตามความเป็นจริงว่า ใจนี้คือตัวทุกข์ กายนี้คือตัวทุกข์ ความอยากจะไม่เกิดอีกแล้ว ก็เมื่อมันรู้อยู่แล้วว่า กายนี้เป็นทุกข์ ใจนี้เป็นทุกข์ จะไปอยากให้ของที่เป็นทุกข์ เป็นสุขได้ยังไง?

ความอยากให้กายให้ใจเป็นสุข เป็นความไร้เดียงสา ความอยากให้กายให้ใจไม่ทุกข์ เป็นความไร้เดียงสา เพราะฉะนั้นต่อไปไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พอสติปัญญาแก่กล้าแล้ว จะสุขหรือจะทุกข์ จิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหวเลย จิตจะเป็นอิสระจากตัณหา ตัณหาจะครอบจิตไม่ได้อีกแล้ว เราจะพบอิสรภาพที่แท้จริง ซึ่งทุกวันนี้ไม่มีอิสรภาพ ถูกสั่งอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งตั้งหลายพันครั้ง สั่งเราถี่ยิบไปหมดเลย มันถึงเวลาที่เราจะต้องปลดปล่อยตัวเอง จากการตกเป็นทาสเสียที ต้องรีบปล่อยได้แล้ว ไม่งั้นจะต้องเป็นทาสตลอดไป เพราะตัณหาเป็นเจ้านายที่น่ากลัวที่สุดเลย เพราะมันปกครองเรา โดยที่เราไม่รู้ว่าถูกปกครอง เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวของตัวเอง ทั้งๆ ที่มันบงการเราอยู่ตลอดเวลา ตัณหาจึงเป็นเจ้านายที่น่ากลัวที่สุด เราตกเป็นทาสโดยไม่รู้ว่าเป็นทาส เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางที่จะเป็นอิสระได้เลย

แต่ถ้าเมื่อไหร่เราสังเกต เราเห็นตัณหาเกิดขึ้นมา ใจก็ดิ้นรนไป ทุกข์ขึ้นมา ดูไปเรื่อยนะ แล้วเราจะรู้ว่าเราเป็นทาสอยู่ ใจมันจะต่อสู้นะ ถ้าสู้ด้วยเส้นทางของพระพุทธเจ้า รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น เมื่อรู้ได้ถ่องแท้แล้ว ตัณหาจะไม่เกิดขึ้นอีก อริยสัจ 4 จึงบอกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ให้รู้ คือรู้กายรู้ใจ ตัวทุกข์ก็คือ ตัวกายใจ ทุกข์ให้รู้ ถ้ารู้แล้วมันจะละสมุทัยเอง สมุทัยคือตัณหา คือความอยาก ถ้าสมุทัยถูกละแล้ว นิโรธคือ นิพพาน ก็จะปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตา และในขณะนั้นแหละ อริยมรรค ก็จะเกิดขึ้น อริยมรรคจะเจริญขึ้น

งั้นทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ นิโรธทำให้แจ้ง คือเห็นแจ้งพระนิพพาน เข้าถึง มรรคทำให้เจริญ ให้เกิดขึ้น งานทั้งหมด 4 อย่างนี้ ทำเสร็จในขณะจิตเดียวนะ เป็นความอัศจรรย์ของจิตมากเลย เมื่อไหร่รู้ทุกข์ เมื่อนั้นละสมุทัย เมื่อไหร่ละสมุทัย เมื่อนั้นแจ้งนิโรธ คือแจ้งนิพพาน เมื่อไหร่แจ้งนิโรธเมื่อนั้น อริยมรรคเกิด มันเกิดในขณะเดียว แว้บเดียวเท่านั้นเอง ชีวิตจิตใจจะเปลี่ยนไป และไม่กลับคืนมาอย่างเก่า ไม่กลับคืนมาอย่างเดิมอีกแล้ว ชาวพุทธต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ฝึกไป.

0 comments on “เมื่อใดรู้ทุกข์ เมื่อนั้นละสมุทัย เมื่อใดละสมุทัย เมื่อนั้นแจ้งนิโรธ เมื่อใดแจ้งนิโรธ เมื่อนั้นอริยมรรคเกิดAdd yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *