พ่อไก่อู : พินัยกรรมชีวิต (Living Will)

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า… ชีวิตนี้จะไม่มีวัน..ตาย

วันนี้เป็นวันที่ปฏิทินรอบปี เวียนมาบรรจบครบรอบวันคล้ายวันเกิดของผมอีกครั้ง แต่ปีนี้พิเศษหน่อย ตรงที่..ดันตรงกับ “วันพุธ” พอดีเสียด้วย สิ่งที่ผมมักระลึกถึง… ในวันนี้ก็คือ วันที่แม่ต้องเจ็บปวดทรมานจากการคลอด (ผมยังมีโอกาสได้คลอดแบบธรรมชาติอยู่ ต่างจากสมัยนี้ ที่เอะอะ..ก็ผ่าโลด) อายุที่ร่วงโรยลงไป อย่างไม่มีวันหวนคืน คุณทำอะไรอยู่..? และสุดท้ายก็คือ “การระลึกถึงความตาย…ในวันคล้ายวันเกิด

เมื่อพูดถึง “ความตาย” หลายคนอาจรู้สึกกลัว… บางคนกลัวน้อย บางคนกลัวมาก หรือบางคนอาจกลัวจัดจนกระทั่งลนลาน (ก็ไม่อยากเจออ่ะ ไปๆ ชิ้วๆ) ถึงแม้..จะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่า.. ยังไง๊..ยังไง..ก็หนีไม่พ้นหรอก…เกลอเอ๋ย แต่..ใจมันค้านไง ยังไม่อยากให้ถึงไวๆ (ใช่มะ..? 555+) แต่…ใครกันจะสามารถ “พยากรณ์วันตาย” ของตัวเองได้? ว่าจะตายวันนี้ พรุ่งนี้ หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือแม้กระทั่งจะตายดี หรือ ตายร้าย ก็ยังไม่แน่……โอ๊ย ปวดหมอง! แต่โดยทั่วๆ ไป ทุกๆ คนคงปรารถนา “การตายอย่างสงบ” ในวาระสุดท้ายของชีวิต…… แต่ก็อีกนั่นแหละคือ… คุณสามารถเลือกมันเองได้จริงๆ หรือ?

แต่…ถ้าหากมีกรณีหนึ่ง ที่คุณสามารถเป็นผู้เลือกเองได้ จะเอามั้ย? สิ่งที่ผมกำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ก็คือ “พินัยกรรมชีวิต” ฝรั่งเรียกว่า Living Will หรือ “สิทธิการตาย”

“การทำพินัยกรรมชีวิต” หมายถึง หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

ถ้าพูดให้ฟังง่ายๆ ก็คือ การที่เราเลือกใช้สิทธิในการตาย จากกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วพบว่า โรคได้ลุกลามเข้าสู่ระยะสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ญาติๆ ผู้ป่วยยังไม่ยอมแพ้ (อาจเพราะความกลัวบาป รู้สึกอกตัญญู หรือไม่ว่าด้วยเหตุผลอื่นใด) จึงต้องการยื้อชีวิตคนที่เรารักออกไปให้นานที่สุด โดยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยในปัจจุบัน จนทำให้ผู้ป่วยกลายสภาพเป็น “ผัก” อย่างสมบูรณ์ หรือมองอีกแง่หนึ่งก็คือ “มันได้สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยในระยะยาวต่อไปอีก” …..อย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับผม การได้ตายอย่างเป็นธรรมชาติ ถือว่า…ดีที่สุด

แต่…ยังมีอีกประเด็นหนึ่ง ที่ควรแยกออก และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า “การทำพินัยกรรมชีวิต” นั้นไม่ใช่การทำหนังสือ เพื่อให้บุคคลที่เจ็บป่วย และไม่สามารถรักษาให้หายได้จบชีวิตลง เพื่อให้พ้นทุกข์ทรมาน ที่เรียกว่า Euthanasia หรือ “การุณยฆาต (Mercy killing)” ทั้งสองเรื่องนี้ ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมายไทย

ผมมีเอกสารตัวอย่าง PDF เรื่อง: แนวทางการทำหนังสือพินัยกรรมชีวิต (เผยแพร่โดย thailivingwill.in.th) สามารถดาวน์โหลดมาอ่าน เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาได้เลยครับ

แนะนำ 3 บทความน่าอ่าน
1. ออกแบบความตาย สร้าง ‘พินัยกรรมชีวิต’ เพื่อความสุขสุดท้าย (มติชนรายวัน) : โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
2. ตายอย่างสงบ เรื่องที่ฝึก และเตรียมได้ โดย บิลกีส (โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ : เครือข่ายพุทธิกา)
3. ความตายไม่น่ากลัว เท่ากับเรากลัวความตาย กฎหมายช่วยไม่ได้ ตราบใดที่เราไม่เข้าใจ (a day BULLETIN) : โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ทุกวันนี้ผู้คนเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากขึ้น บทความเกี่ยวกับ “พินัยกรรมชีวิต” ที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ก็มีประเด็นที่น่าสนใจให้เลือกอ่านมากมาย ที่ว่าด้วยสิทธิ…ของผู้ที่ต้องการตายแบบธรรมชาติ ไม่ยื้อ ไม่รั้ง (ไม่ต้องการเป็นผัก) โดยไม่จำเป็น… แล้วคุณล่ะครับ คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร ?

แท้จริงการตาย ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สำหรับผมเป็นเพียงทางผ่าน ประหนึ่งเงาติดตามตัวที่อยู่เคียงคู่กับชีวิตเสมอมา จนกระทั่งสุดรอบของชีวิตหนึ่งๆ ในแต่ละครั้ง (ขอโยงกับคำสอนเรื่อง “สังสารวัฎ1” หรือ การเวียนตายเวียนเกิด ในศาสนาพุทธสักนิดนะครับ) แต่..การตายอย่างมีคุณภาพต่างหาก ที่ผมสนใจ เอ๊ะ! แล้วตายอย่างไรหรือ? เฉลย : ก็คือการตายในขณะที่จิตยังมีสติ และเป็นกุศลจิต น่ะสิครับ พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า “หากจิตเศร้าหมองก่อนตาย ทุคติเป็นที่หวังได้” เรื่องนี้ลึกซึ้ง สามารถกลับไปอ่านบทความเก่าของผมเรื่อง นิมิตก่อนตาย…ในเชิงพุทธ ได้ครับ

พ่อไก่อู


1 ความตายในสังสารวัฏ คือการที่จิตเคลื่อนจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง โดยหาที่สิ้นสุดไม่ได้ (เหตุเพราะ “เชื้อเกิด” ยังไม่ถูกทำลาย) จึงหลงเกิด หลงตาย ได้เกิดดีบ้าง ร้ายบ้าง หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันไปมา สืบเนื่องกันเป็นสังสารวัฏ จนกว่าจิตจะเข้าถึงนิพพาน (สามารถทำลายต้นเหตุคือเชื้อเกิดได้แล้ว) วงจรอุบาทว์ดังกล่าว จึงจะถูกหักล้างลงได้อย่างสิ้นเชิง…

2 โครงการดีๆ แนะนำ วิธีเขียนและใช้งาน “สมุดเบาใจ” จัดทำโดย โครงการความตาย พูดได้ : เครือข่ายพุทธิกา

0 comments on “พ่อไก่อู : พินัยกรรมชีวิต (Living Will)Add yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *