ผม..เมื่อครั้งบวชหน้าไฟให้เตี่ย
|
|
๓. "เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด" โดย พ่อไก่อู (๒๓ มิ.ย. ๒๕๕๑)
คำกล่าวในหัวข้อข้างต้น ดูเหมือนจะเป็น "นิยามของพระไทย (บางส่วน หรือส่วนใหญ่นะ) ในยุคปัจจุบันนี้" ที่ทำให้ประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่ง เบื่อหน่ายในพฤติกรรมของผู้ที่มักเรียกตนเองว่า "ผู้ทรงศีล" แต่พฤติกรรมกลับตาลปัตรเป็นตรงกันข้าม
ผมเองก็แทบจะเสียศรัทธาไปเหมือนกัน แต่ยังเชื่อมั่นว่า "พระดียังมีอยู่ และคำสอนของพระพุทธเจ้าแท้ๆ นั้น ยังไม่เลือนหายไปไหน" แต่ ณ เวลานั้นยังหาครูบาอาจารย์ ที่จะแนะนำให้กระจ่างแจ้งไม่ได้
เมื่อครั้งที่เตี่ยผมเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ผมในฐานะลูกชาย (ที่ไม่ค่อยจะเชื่อฟังพ่อแม่ซักเท่าไหร่) ก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่ เพื่อระลึกถึงคุณของบิดาผู้ให้กำเนิดเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการปลงผมบวชหน้าไฟ ตามประเพณีไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน ตอนนั้นผมเองก็ไม่รู้เรื่องธรรมม้ง ธรรมะ อะไรมากมายนักหรอกครับ (จะว่า งูๆ ปลาๆ ก็ได้) ถึงผมจะไม่ใช่เด็กๆ แล้ว อายุอานามก็ปาไปราว ๒๐ เศษๆ แต่การบวชระยะสั้นๆ คราวนั้น ผมเป็นได้เพียง "เณร" ผมบวชที่วัดในกรุงเทพฯ (เป็นวัดใหญ่ แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อนะครับ) และได้จำวัดอยู่กับหลวงตารูปหนึ่ง ระหว่างรอทำพิธีศพ หลวงตารูปนี้เป็นพระแก่ ที่ดูภายนอกแล้วน่าจะมีภูมิธรรมดี อีกทั้งบวชมานานมากแล้ว แต่พอผมถามว่า "หลวงตาครับ ศีล ๑๐ สำหรับเณรมีอะไรบ้าง?" ท่านตอบไม่ได้ ได้แต่ไล่ผมให้ไปถามหลวงพี่ที่สวดหน้าศพเสียนี่ ผมเองถึงกับงง..ง..ง ??
จำวัดอยู่กับท่านคืนแรก หลวงตากลัวว่าผมจะหิว (ข้าวเย็น) เพราะเห็นว่าเพิ่งบวชใหม่ๆ ท่านชี้ให้ผมไปกินโจ๊ก ที่แช่อยู่ในตู้เย็นในกุฏิ ตอนนั้นผมรู้สึกดีครับ ที่หลวงตาเป็นห่วง แต่ก็ปฏิเสธไป เพราะรู้ว่าบวชแล้วไม่ควรฉันข้าวเย็น ตกกลางคืนผมเห็นลูกชายของหลวงตา วัยไล่ๆ กันกับผมมาหา พร้อมกับเอามอเตอร์ไซต์เข้ามาจอดในกุฏิ แล้วก็นอนค้างในกุฏิด้วยกัน (???) ท่านยังเล่าให้ฟังอีกว่า ลูกชายมาค้างอยู่ด้วยเป็นประจำ
วันรุ่งขึ้น..ผมตื่นแต่เช้ามืด เพราะรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ออกบิณฑบาตรเป็นครั้งแรกในชีวิต เห็นหลวงพี่ในวัดหลายรูปเดินเท้าเปล่า แยกกันเป็นขบวนๆ ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ แต่หลวงตาบอกให้ผมรอก่อนไม่ต้องเดิน ท่านให้ผมซ้อนมอเตอร์ไซต์ที่ท่านเรียกให้ ส่วนท่านซ้อนมอเตอร์ไซต์ลูกชาย เพื่อไปยังซอยที่ท่านบิณฑบาตรเป็นประจำ ซึ่งห่างจากหน้าวัดประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษๆ (ตอนนั้นผมคิดเพียงว่า หลวงตาแก่แล้ว คงเดินไปลำบาก ไม่เหมือนพระหนุ่มๆ) มอเตอร์ไซต์จอดส่งตรงตีนสะพานลอย ผม หลวงตา และลูกชายหลวงตา (ถือถังไปด้วยแบบศิษย์วัด) ขึ้นสะพานลอยเพื่อข้ามถนนไปยังซอยที่หลวงตาบิณฑบาตรเป็นประจำ
จุดแรกตรงปากซอยคือร้านแม่ค้าขายน้ำเต้าหู้ ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับลูกค้าที่เข้าคิวรอซื้ออยู่ หลวงตายังไม่หยุดรับบิณฑบาตรที่ร้านนี้ ท่านบอกว่าค่อยมารับตอนขากลับ ซอยที่หลวงตาเดินเป็นประจำไม่ลึกนัก มีบ้านอยู่ประมาณซัก ๒๐ กว่าหลังเห็นจะได้ อีกทั้งญาติโยมล้วนก็รู้จักและคุ้ยเคยกับหลวงตาเป็นอย่างดี เพราะใส่บาตรกันมานานเป็น ๑๐ ปีแล้ว.....
|