Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  




พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
(รูปเหมือนหลวงปู่ โดยประติมากร อ.บำรุงศักดิ์ กองสุข)
  ๒๐. "เถรกถา คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล" แนะนำโดย คุณศุทธา (๑๑ ก.ย. ๒๕๕๒)

      มีเมลเวียนส่ง (Forwarding Email) คำสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ชาวพุทธทุกคนต้องตระหนักให้มากครับ ซึ่งผมได้รับจากคุณศุทธา ศุทธภาวงษ์ แต่รู้สึกว่าจะเวียนส่งกันหลายรอบ (Fwd: FW:) จนไม่รู้ว่าใครเป็นคนส่งก่อน แต่ไม่เป็นไรครับ ธรรมะที่อ่านแล้วน่ายินดีอย่างงี้ ก็ต้องส่งต่อๆ กันไปนั่นแหละดีแล้วครับ และผมก็ขอหยิบมาปันกันต่อ ณ ที่แห่งนี้ด้วยครับ

พ่อไก่อู

 

เถรกถา คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

* คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมาย ก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว คือ พระนิพพาน
การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก * หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้นเมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน

* นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง

* ขอให้ท่านทั้งหลาย สำรวจดูความสุขว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย

* ภิกษุเราถ้าปลูกความยินดีในเพศภาวะของตนได้แล้ว ก็จะมีแต่ความสุข เยือกเย็น ถ้าตัวเองอยู่ในเพศภิกษุ แต่กลับไปยินดีในเพศอื่น ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่ร่ำไป หยุดกระหาย หยุดแสวงหาได้ นั่นคือภิกษุภาวะโดยแท้ ความเป็นพระนั้น ยิ่งจน ยิ่งมีความสุข

* ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อย เช่น เหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น

* ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มีและอยู่กับสิ่งที่ไม่มี

* การปฏิบัติธรรม ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไหน ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ นี้แลเป็นตัวธรรม เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรม ก็ต้องปฏิบัติที่กายและใจนี้ หาได้ปฏิบัติที่อื่นไม่ ดังนั้น ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น นอนอยู่ที่ไหน ยืนอยู่ที่ไหน เดินอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น

* หลักธรรมที่แท้นั้นคือ จิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้วนั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม

* กิเลสทั้งหมด เกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน

* จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากสติที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ จิตเห็นจิต เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ

 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010