Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  




พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
  ๑๒. "ธรรมะลิขิตของหลวงปู่หลอด ปโมทิโต" แนะนำโดย คุณศุทธา (๕ ส.ค. ๒๕๕๒)

      เป็นเรื่องน่ายินดีครับที่บรรดาญาติธรรม ที่เคยร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันเผยแพร่งานพระศาสนาที่หลากหลาก ต่างก็มักจะส่งบทความธรรมะดีๆ จากบรรดาครูบาอาจารย์ เวียนส่งต่อๆ ผ่านอีเมลมาถึงผมด้วย ครั้งนี้เป็นของคุณศุทธา ศุทธภาวงษ์ ครับ ที่ได้แนะนำธรรมะดีๆ จากหลวงปู่หลอด มาให้อ่านกัน

      เช่นเคยครับ บทความดีๆ อย่างนี้ก็ต้องปันกันอ่านสิครับ ถึงจะเวิร์ค! ผมขอขอบคุณ คุณศุทธา สำหรับบทความดีๆ ชิ้นนี้ด้วยครับ

พ่อไก่อู

 

ธรรมะลิขิตของหลวงปู่หลอด ปโมทิโต

๑. ชีวิตนี้น้อยนัก แม้จะเชื่อหรือไม่เชื่อกรรมที่กระทำแล้วไม่ว่า กรรมดีหรือ กรรมชั่ว ย่อมให้ผลแก่จิตผู้กระทำทันที กรรมดีก็จะให้ผลดี กรรมชั่วก็จะให้ผลชั่ว ปัญญายะ ติตตีนัง เสฏฐัง อิ่มด้วยปัญญา ประเสริฐกว่าความอิ่มทั้งหลาย ปัญญายะติตาตัง ปุริสังตัณหานะกุรุเตวะสัง คนอิ่มด้วยปัญญา ตัณหา เอาไว้ในอำนาจไม่ได้
๒. เราจะกำหนดลมหายใจให้มีสติ คือ ความระมัดระวังรู้อยู่ว่าเดี๋ยวนี้เราทำอะไรอยู่ สัมปชัญญะ คือ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอันนั้นอยู่ ผู้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นอยู่ ให้กำหนดลมหายใจเข้าด้วยการมีสติ ความระมัดระวังได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว

      การที่ว่าระลึกได้ คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิต ไม่ใช่การที่เราไปศึกษาที่ไหนมา ให้รู้จักแต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา อันนี้แหละเป็นความรู้สึก สตินี้ควบคู่กันกับความรู้สึก มีสติอยู่ คือ ความระลึกได้ว่าเราพูดอยู่หรือเราทำอยู่ หรือเราไปเดินอยู่ หรือเรานั่งอยู่ จะไปมาก็รู้ นั่นเรียกว่า สติระลึกได้ สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว
      บัดนี้เรากำลังเดินอยู่ เรานั่งอยู่ เรานอนอยู่ เรารับอามรณ์อะไรอยู่เดี๋ยวนี้ สองอย่างนี้ ทั้งสติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในการที่เราระลึกได้อยู่เสมอนั้น เราก็สามารถรู้ใจของเราว่าในเวลานี้มันคิด อย่างไรเมื่อถูกอารมณ์ชนิดนั้นมามันอย่างไร อันนี้เราจะรู้จัก


๓. ผู้ที่รับรู้อารมณ์ คือ สภาวะที่มันเข้ามา เช่น มีเสียง อย่างเสียงเขาไสกบอยู่นี้ มันเข้าทางหูแล้วจิตก็รับรู้ว่าเสียงกบนั่น ผู้ที่รับรู้อารมณ์รับรู้เสียงกบนั้นเรียกว่า จิต ที่นี้จิตที่รับรู้นี้เป็นจิตหยาบๆ เป็นจิตปกติของจิต บางทีเรานั่งฟังเสียงกบอยู่ รำคาญในความรู้สึกของผู้ที่รับรู้
      เราจะต้องอบรมผู้ที่รับรู้นั้นให้มันรู้ตามความเป็นจริงอีกทีหนึ่ง ที่เรียกว่า พุทโธ

      ถ้าหากว่าเราไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริง เราอาจจะรำคาญในเสียงคน หรือเสียงรถ หรือ เสียง มีแต่คิดเฉยๆ รับรู้ว่ารำคาญรู้ตามสัญญาไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เราจะต้องให้มันรู้ในญาณทัศนะ คือ อำนาจของจิตที่ละเอียดให้รู้ว่าเสียงที่ดังอยู่นั้นก็สักแต่ว่าเสียงเฉยๆ ถ้าหากว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่น่ารำคาญอะไร เสียงก็ดังของมันไป
      เราก็นั่งรับรู้ไปอันนั้นก็เรียกว่ารู้ถึงอารมณ์ขึ้นมา นี่ถ้าหากว่าเราภาวนาพุทโธมีความรู้แจ้งในเสียง เสียงนั้นมันไม่ได้มากวนใคร มันก็อยู่ตามสภาวะ เสียงนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เราเขา เขาเรียกว่าเสียงเท่านั้น มันก็ทิ้งไป วางไป ถ้ารู้อย่างนี้คือรู้จิตรู้โดยสภาวะที่เรียกว่า

      พุทโธ คือ ความรู้แจ้งตลอดเบิกบานรู้ตามความเป็นจริง เสียงก็ปล่อยไปตามเรื่องของเสียงไม่ได้รบกวนใคร นอกจากเราจะไปยึดมั่นว่า "เออ เรารำคาญไม่อยากจะได้ยินเสียงคนพูดอย่างนั้น ไม่อยากจะได้ยินเสียงนั้น ก็เลยเกิดทุกข์ขึ้นมา นี้เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นมา เหตุที่มีทุกข์ขึ้นมาก็เพราะอะไร ก็เพราะเราไม่รู้จักเรื่องตามความจริง ยังไม่ได้ภาวนาพุทโธ
      ยังไม่เบิกบาน ยังไม่ตื่น ยังไม่รู้จัก มีแต่เฉพาะจิตล้วนๆ ที่ยังไม่บริสุทธิ์เป็นจิตที่ใช้การงานอะไรยังไม่ได้เต็มที่

      ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้ฝึกหัดฝึกจิตนี้ ให้มีกำลังกับการทำกายให้มีกำลังมีลักษณะอันเดียวกัน แต่มีวิธีการต่างกัน การฝึกกำลังกายเราต้องเคลื่อนไหวอวัยวะ มีการนวดกาย เหยียดกาย เช่น วิ่งตอนเช้าตอนเย็น เป็นต้น นี้เรียกว่าการออกกำลังกาย กายนั้นก็จะมีกำลังขึ้นมา จะคล่องแคล่วขึ้นมา เลือดลมจะมีกำลังวิ่งไปมาสะดวกตามเส้นประสาทต่างๆ ได้
      กายจะมีกำลังกว่าเมื่อไม่ได้ฝึก

      แต่การฝึกหัดจิตให้มีกำลังไม่ใช่ให้มันวิ่ง ให้มันเคลื่อนไหวอย่างกับออกกำลังกาย คือทำจิตให้มันหยุด ทำจิตให้มันพักผ่อน เช่น เราทำสมาธิยกอารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมา เช่น อาณาปานสติ ลมหายใจเข้าออก อันนี้เป็นรากฐานเป็นเป้าหมายในการเพ่งในการพิจารณา เราก็กำหนดลมหายใจ การกำหนดก็คือ การรู้ตามลมนั่นเอง กำหนดลมเข้าแล้วกำหนดลมออก
      กำหนดให้รู้ระยะของลม ให้มีความรู้อยู่ในลมตามรู้ลมเข้าออกสบาย แล้วพยายามปล่อยสิ่งทั้งหลายออก

      จิตของเราปล่อยให้จิตคิดอย่างนั้นอย่างนี้สารพัดมีหลายอารมณ์ มันไม่รวมเป็นอันเดียว จิตเราก็หยุดไม่ได้ ที่ว่าหยุดไม่ได้นั้นก็คือหยุดในความรู้สึก ไม่คิดแล่นไปทั่วไป เช่น เรามีมีดเล่มหนึ่งที่เราลับได้ดีแล้ว แล้วมัวแต่ฟันหิน ฟันอิฐ ฟันหญ้าทั่วไป ถ้าเราฟันไม่เลือกอย่างนี้ มีดของเราก็จะหมดความคม เราจึงต้องฟันแต่สิ่งที่เกิดประโยชน์
      จิตนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้จิตแล่นไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระประโยชน์ ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร จิตนั้นจะไม่มีกำลัง ไม่ได้พักผ่อน ถ้าจิตไม่มีกำลัง ปัญญาก็ไม่เกิด จิตไม่มีกำลัง คือ จิตไม่มีสมาธิเลย ถ้าจิตไม่ได้หยุด จะเห็นอารมณ์นั้นไม่ชัดเจน ถ้าเรารู้จักจิตนี้เป็นจริง เห็นอารมณ์เป็นอารมณ์

      นี่หัวข้อแรกที่จะตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาได้ นี้คือตัวศาสนา เราบำรุงให้จิตนี้เกิดขึ้นเป็นลักษณะของการปฏิบัติให้เป็นสมถะ ให้เป็นวิปัสสนา รวมกันเข้าเป็นสมถะและวิปัสสนา เป็นข้อปฏิบัติมาบำรุงจิตใจให้มีศีลธรรมให้จิตได้หยุด ให้จิตได้เกิดปัญญาให้เท่าทันตามความเป็นจริงของมัน


๔. วินัยบัญญัติ

      วินัย คู่กับ ธรรมปกติ เรียกว่า ธรรมวินัย ถ้าแยกคำ
      ธรรม คือ คำสั่งสอน วินัย คือ ข้อบังคับ

      ดังนั้น วินัยบัญญัติ ก็ข้อบังคับที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อเป็นหลักให้พระภิกษุปฏิบัติให้เป็นบรรทัดฐานแนวเดียวกัน ใครทำผิดก็จะถูกลงโทษ เช่นเดียวกันกับกฏหมายของบ้านเมือง
------------------------------------------------------------------------------

ปกิณกะธรรมหลวงปู่หลอด ปโมทิโต

๑. อย่าถือวิสาสะ ให้รู้จัก กาล เวลา บุคคล และ สถานที่


๒. ความรักลูกเหมือนห่วงผูกคอ
    ความรักสิ่งของเหมือนปอผูกศอก
    ความรักไร่นาสาโทเหมือนปลอกสวมตีน
    ใครแก้สามอย่างนี้ไปนิพพานได้


๓. มีศิษย์คนหนึ่งเรียนถามปัญหาหนึ่งกับหลวงปู่ว่า

      "หลวงปู่ครับ เคยมีฝรั่งที่ผมเคยเรียนภาษาอังกฤษด้วยเขาเป็นหมอสอนศาสนาคริสต์ เขาเคยถามผมว่าจิตเดิมมาจากไหน และสุดท้ายเขาก็ยัดเยียดความคิดให้ผมว่าพระเจ้าสร้างจิต แต่ผมไม่ยอมรับครับ ผมอยากทราบว่าจิตเดิมมาจากไหนครับหลวงปู่ ?"

      หลวงปู่ตอบว่า "จิตเดิม พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามาจากความไม่รู้ คือ อวิชชา ความไม่รู้นั่นแหละเป็นตัวพาให้มันมาเกิด เมื่อเกิดมาแล้วก็ทำให้มันรู้ซะ จะได้ไม่ต้องมาเกิดอีก จำไว้ว่ามันเกิดจากอวิชชาทั้งนั้น ทั้งโลภ โกรธ หลง จำไว้นะให้ตอบเขาแบบนี้นะ"


๔. คนฉลาดอยู่กับที่ สู้คนโง่เที่ยวไปที่ต่างๆ ไม่ได้


๕. มีศิษย์คนหนึ่งเรียนถามปัญหาหนึ่งกับหลวงปู่ว่า

      "หลวงปู่ครับ พระอริยเจ้าเวลาท่านเข้านิโรธสมาบัติ ท่านจะบอกผู้คนไหมครับ"

      หลวงปู่เมตตาตอบว่า "ไม่หรอก ถ้าท่านบอก ก็จะบอกกับโยมที่ใส่บาตรว่า โยมไม่ต้องมาใส่บาตรนะ อีก ๗-๘ วัน อาตมาจะพักผ่อน"

      ลูกศิษย์ถามต่อไปว่า "อย่างนี้แปลว่า พระอริยเจ้าเวลาท่านเข้านิโรธสมาบัติ ท่านไม่บอกใช่ไหมครับ"

      หลวงปู่ตอบว่า "เพิ่นบ่อบอกดอก"


๖. มีลูกศิษย์หลวงปู่คนหนึ่งซึ่งมีรูปร่างใหญ่ เรียนถามหลวงปู่ว่า

      "หลวงปู่ครับ เวลานั่งภาวนานานๆ ยิ่งปวดขึ้น เป็นเพราะร่างกายเราใหญ่โตหรือเปล่าถึงทำให้ปวดเมื่อยถึงขนาดนี้ อยู่ที่ร่างกายสังขารคนด้วยหรือเปล่าครับ" หลวงปู่ตอบว่า "ไม่เกี่ยวหรอก กิเลสลากไปให้คิดว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ลองใหม่ดูสิ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลยนะ"


๗. มีลูกศิษย์หลวงปู่คนหนึ่งเรียนถามหลวงปู่ว่า

      "หลวงปู่ครับ การปฏิบัติแบบรูป - นาม กับการปฏิบัติแบบพระป่า เหมือนกันไหมครับ"

      หลวงปู่เมตตาตอบว่า "เหมือนกันอเมริกาหรือเมืองไทยอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน การปฏิบัติก็เหมือนกัน อริยสัจตัวเดียวกัน"


๘. มีพระรูปหนึ่งเรียนถามหลวงปู่ว่า

      "หลวงปู่ครับ จิตของพระอรหันต์เวลาว่างท่านคิดอะไรครับ"

      หลวงปู่ตอบว่า "ไม่คิดอะไรทั้งนั้น คิดแต่วิหารธรรมอย่างเดียว"

      พระรูปนั้นถามย้ำว่า "มีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เท่านี้ หรือครับหลวงปู่"

      หลวงปู่ตอบว่า "อืม... กิเลสบ่อมีทางแทรกแซงได้เลย"


๙. ในแต่ครั้งมักมีผู้มาเรียนปรึกษาปัญหาต่างๆ กับหลวงปู่ แม้กระทั่งเรื่องปัญหาในครอบครัว การหย่าร้าง หลวงปู่ท่านจึงเทศน์ชี้ทางดับปัญหานี้ "เอาล่ะ เราจะเทศน์ให้ฟังเป็นคุณธรรมสำหรับ คนมีครอบครัว ผู้อยู่ร่วมกันอย่างไรมันก็ต้องกระทบกันบ้างเป็นธรรมดา มนุษยธรรม ๔ ข้อ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ

      สัจจะ คือ ความซื่อตรง จริงใจต่อกัน ไว้วางใจกัน ไม่คิดว่าเขาจะนอกใจเรา ไม่คิดว่าเขาจะไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย ให้อิสระแก่กัน เชื่อในเกียรติของกันและกัน ไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกข์ใจ ถ้ามีสัจจะต่อกันก็ไม่ต้องทะเลาะกัน

      ทมะ คือ ความอดกลั้นอารมณ์ ระงับอารมณ์ คนโกรธ โกรธเพราะไม่รู้จักระงับอารมณ์ คนเราอยู่ด้วยกัน ถ้าปล่อยให้อารมณ์เป็นใหญ่บ้านก็แตก มันก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ คิดบ้างหรือเปล่าว่าลูกเต้าจะเป็นอย่างไร

      ขันติ ความอดทน ทนลำบาก ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รักใคร่ปรองดองกัน จะยากจะจนก็ทนกัน อย่าเอาความลำบากเป็นอารมณ์ อดทนต่อสิ่งที่เราไม่ชอบ เช่าเขากินเหล้าใช่ใหม เราบอกให้เขาเลิก เขาไม่เลิก (เหล้า) เราก็ทนสู้ เพื่อลูก คิดดูให้ดี ถ้าเราอดทน แล้วปัญหาก็จะไม่เกิด ถ้าเกิดก็น้อยมาก

      จาคะ คือ การบริจาค ในที่นี้ไม่ใช่การบริจาคเงินทองอย่างเดียวนะ บริจาคกิเลสตัณหา ความโกรธ ความหึงหวงออกไป ไม่ใช่ตระหนี่ถี่เหนียวเอาความมีกิเลสตัณหาไว้ เมื่อโกรธก็บริจาคออกไป นี่แหละถ้าทำได้ทั้ง ๔ ข้อ ไม่ว่าที่ไหนก็ไม่ทะเลาะกัน นี่รักษาศีล ๕ ได้ไหม

      หลวงพ่อจะแถมให้ ถ้ารักษาไม่ครบ ๕ ข้อ ก็เอาแค่ ๒ ข้อ ก็พอ ข้อ ๓ กับ ข้อ ๕ ถ้าผิด ๒ ข้อนี้ ฆ่ากันได้นะ ไปยุ่งกับเมียเขา ผัวเขารู้โกรธเข้า ก็ฆ่านะซิ กินเหล้าพูดไม่เข้าหู ก็ฆ่ากันได้ แต่ถ้าจะว่า ๕ ข้อ ข้อใดบาปกว่ากัน ก็พอกันนั่นแหละ"


๑๐. การปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ย่อมต้องมีศีลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ หลายท่านที่สนใจปฏิบัติธรรมได้กราบเรียนถามธรรมะเพื่อการปฏิบัติ องค์หลวงปู่ท่านได้อธิบายไว้ว่า "ศีล ๕ นี้สำคัญ ศีล ๕ เป็นประธาน ศีลอื่นเป็นศีลบริวาร ศีล ๘ ศีล ๑๐, ๒๒๗ ข้อ ก็เป็นศีลบริวาร การปฏิบัติธรรมนั้นล้วนแต่ต้องประกอบด้วยศีลเป็นสำคัญ ศีล ๕ ขา ๒ แขน ๒ หัว ๑ จะฆ่าสัตว์ ก็เอาแขนทำ
      ขโมยของก็เอามือหยิบ ขาพาไป ผิดเมียเขา เอาทั้งกายทำ โกหกใช้ปากที่อยู่บนหัวพูด กินเหล้า ก็ใช้ปากกิน ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ ธรรมะปฏิบัติก็จะไม่เจริญ ปฏิบัติก็ไม่ไปไหน นี่สำหรับนักปฏิบัติ ศีลสำคัญมาก พึงรักษาไว้ให้ดี"

 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010