Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  




พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
  ๒๑. "จะปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้า ต้องไม่เลือกสถานที่และเวลา" โดย สันตินันท์ แนะนำโดย หนูแอน พิมพ์ใจ (๑๑ ก.ย. ๒๕๕๒)

      มีบทความมากะเมลเวียนส่ง (forwarding Email) อีกแล้วครับ คราวนี้เป็นของหนูแอน ที่แกะมาจากกัลยาณมิตรที่โพสไว้ใน facebook ครับ บทความเป็นของคุณสันตินันท์ หรือ พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ในปัจจุบัน มาอ่านหัวเมลของผู้โพสกันก่อนนะครับ
 
"สำหรับเพื่อนๆ ที่เริ่มเดินกันเป็นแล้ว ก็ขอเอายกเอาบทความนี้มาให้อ่านกันอีกสักรอบ และก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยอ่านครับ บทความนี้ท่านกล่าวไว้อย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา และชัดเจนว่าอยู่ไหนก็ปฏิบัติได้ ไม่เลือกสถานที่และเวลา ไม่ต้องรอกลับบ้านก่อน หรือรอไปทำที่วัด และผมก็ขอ confirm ว่า..เป็นเรื่องจริงที่สุด เพราะได้ทดลองเองแล้วหมาดๆ ๕๕๕๕ ^_^ (เผลอๆ ดีกว่าตอนนั่งจมปลักอยู่หน้าจอคอมที่มักจะเผลอสติยาวซะอีก)

ปล. เนื้อหามาจากที่ท่านเขียน/ตอบไว้ในเว็บบอร์ดลานธรรมเมื่อปี ๒๕๔๒ ข้อความบางส่วนจึงดูเหมือนว่าคุยกับบางคนอยู่นะครับ"

พ่อไก่อู
 
ความเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม

      พวกเรานักปฏิบัติธรรมเคยรู้สึกกันบ้างไหมว่า บางครั้งเราอยากหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมที่กำลังประสบอยู่ จากมหาวิทยาลัย จากงาน จากครอบครัว จากบ้าน จากถนนหนทางที่ต้องผ่านจำเจอยู่ทุกวัน ไม่ว่าผู้คน หรือสภาพแวดล้อม ล้วนแต่น่าเบื่อหน่าย ล้วนแต่ไม่ดี ไม่เหมาะ กับเราผู้ปฏิบัติธรรมสักอย่างเดียว จิตใจก็น้อมไปในทางที่อยากจะหามุมสงบสักแห่งหนึ่ง อยู่กับตัวเองเงียบๆ บางคนถึงกับอยากทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปบวช เพื่อปฏิบัติธรรม

ความรู้สึกอย่างนี้ถ้านานๆ เกิดขึ้นสักครั้งก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดเป็นประจำ ความเบื่อหน่ายนั้นแหละจะกัดกร่อนจิตใจของเรา เกิดความเซ็ง ความหดหู่ท้อแท้ มีโทสะติดอยู่ที่ปลายจมูก สิ่งเหล่านี้คือการจมทุกข์อยู่ในปัจจุบัน โดยฝันหวานไปถึงอนาคต นี้เป็นโรคทางใจที่จำเป็นต้องรีบเยียวยาแก้ไข

แท้จริงการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกบุคคล และเวลา นักปฏิบัติไม่ควรเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม แต่ควรฝึกฝนตนเอง ให้สามารถปฏิบัติธรรมได้ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ กิเลสเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ก็ต้องรู้เดี๋ยวนี้ ต้องพัฒนาจิตใจของตนเองเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สงวนกิเลสเอาไว้ก่อน แล้วพยายามแก้ไขที่คนอื่น สิ่งอื่น หรือผลัดไปต่อสู้กับกิเลสในเวลาอื่น

ถ้าเราเป็นทุกข์เดี๋ยวนี้ ก็ต้องลงมือหาทางออกจากทุกข์เดี๋ยวนี้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะกล่าวโทษว่า ความทุกข์มาจากคนนั้น สิ่งนั้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว ถ้าจิตของเรานี้ไม่ส่งออกไปหาทุกข์มาใส่ตัว ความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย


แทนที่จะเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม แทนที่จะเพ่งโทษผู้อื่น หรือสิ่งอื่น มาพากเพียรศึกษากิเลสในจิตใจของเราเองดีกว่า เพื่อเราจะพ้นทุกข์ได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ แม้สิ่งแวดล้อมจะเลวร้ายประการใดก็ตาม

ไม่มีใครทำให้เราเป็นทุกข์ได้หรอก นอกจากเราทำของเราเอง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วก็รับผลอันแสบร้อนนั้นด้วยตนเอง
อย่างยุติธรรมที่สุดแล้ว

จากคุณ : สันตินันท์ [ ๘ ก.ค. ๒๕๔๒ / ๑๓:๐๒:๔๖ น. ]
 

ความคิดเห็นที่ ๒๗ : (สันตินันท์)

      ถ้าหนูมายะจัง พอใจจะอยู่กับโลก และมองโลกในแง่ดี ความทุกข์บางอย่างก็ลดลงได้ อย่างนั้นก็ดีแล้วครับ คือดีกว่าเป็นคนมองโลกแง่ร้าย แล้วหงุดหงิดรำคาญไปทุกเรื่อง

คนเราไม่ได้หวังมรรคผลนิพพานกันทุกคนหรอกครับ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้จึงมีหลายประเภท เพราะพระพุทธเจ้าท่านเมตตาต่อทุกคนเสมอกันหมด ธรรมะจึงมีทั้งประเภทที่จะให้เราอยู่กับโลกได้อย่างมีทุกข์น้อยๆ หน่อย กับธรรมะที่จะพ้นจากโลกไปเลย สำหรับคนกลุ่มน้อยที่รู้จักโลกมามากพอแล้ว

สำหรับปัญหาของ คุณลิตา นั้น ก็เป็นความจริงครับ ที่บ่อยครั้งเราอยู่ของเราดีๆ แต่คนอื่นมาสร้างปัญหาให้เรา เช่นเราทำงานของเราอยู่ดีๆ เพื่อนอีกคนไม่ชอบทำงาน แต่ประจบเก่ง เวลามีงานก็โยนให้เราทำให้ มีความผิดก็ป้ายให้เรา แต่พอมีความชอบก็ชิงตัดหน้าเอาเสียเอง เราก็จะรู้สึกว่า เขาทำความทุกข์ให้กับเรา ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่เรารู้สึกครับ

แต่ถ้ามองในแง่ของพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งที่เขาทำให้เราคือ "ปัญหา" เท่านั้น แต่เมื่อเราเผชิญปัญหาแล้ว เราเป็น "ทุกข์" ของเราเอง เพราะถ้าจัดการให้ดี เราก็เรียนรู้แล้วแก้ปัญหาไป โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ก็ได้

"ปัญหา" เป็นสิ่งที่คู่กับชีวิตครับ แต่ "ทุกข์" เป็นสิ่งแปลกปลอม

สำหรับคุณสนทนาธรรม กล่าวเป็นธรรมดีครับ

ขอเพิ่มเติมกระทู้นี้อีกเล็กน้อยนะครับว่า กระทู้นี้ผมไม่ได้หมายความว่า การปลีกตัวออกไปทำความเพียร เป็นสิ่งไม่ดี ถ้ามีโอกาส ก็ควรทำตามความเหมาะสมครับ แต่กระทู้นี้ต้องการสื่อความหมายว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องทำเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องอ้างเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เช่นสถานที่ไม่เหมาะ บุคคลแวดล้อมไม่เหมาะ ฯลฯ และต้องการสื่อว่า "การแก้ทุกข์ (ทางใจ)" ต้องแก้ที่ตนเอง ถ้าคิดจะแก้ที่คนอื่น อันนั้นผิดแล้วครับ แต่นี่ไม่ใช่เรื่อง "การแก้ปัญหา" นะครับ การแก้ปัญหา ต้องแก้ที่สาเหตุของมัน เช่นขายของไม่ได้ ต้องตรวจสอบว่าทำไมลูกค้าจึงไม่ซื้อของเรา

จะนำธรรมะมาใช้ ก็ต้องรู้ชัดเสียก่อนว่า จะใช้ในเรื่องใด ถ้าจะแก้ปัญหาความทุกข์ในจิตใจละก็ ใช้ธรรมะได้ครับ แต่ถ้าจะแก้ปัญหา y2k โดยอยู่นิ่งเฉย แล้วบอกว่าตนมีอุเบกขา อันนั้นผิดแล้วครับ

จากคุณ : สันตินันท์ [ ๙ ก.ค. ๒๕๔๒ / ๑๐:๑๙:๓๑ น. ]

 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010