Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  




พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช
  ๒๕. "เดินจงกลมอย่างสมถะและวิปัสสนา" โดย คุณปราโมทย์ แนะนำโดย น้องศักดิ์ ดงบัง (๓ ต.ค. ๒๕๕๒)

      คราวนี้มีเมลเวียนส่ง (forwarding email) บทความธรรมะดีๆ เกี่ยวกับการเดินจงกลมอย่างไรจึงจะถูกวิธี และอย่างไหนถึงจะเรียกว่า "เดินจงกลมแบบสมถะ" อย่างไหนถึงจะเรียกว่า "เดินจงกลมแบบวิปัสสนา" ซึ่งเป็นข้อเขียนของ คุณปราโมทย์ (หรือพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ในปัจจุบัน) ซึ่งท่านเคยเขียนโต้ตอบไว้ในเว็บบอร์ด "ลานธรรมเสวนา" ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓

      ซึ่งผมได้รับบทความนี้มาจากน้องศักดิ์ (สุรศักดิ์ ดงบัง) นายทหารอากาศหนุ่ม ผู้มีจิตใจฝักใฝ่ในธรรมะ มาฝากกันอีกครั้งแล้วครับ ขอบคุณน้องศักดิ์ด้วยครับ

พ่อไก่อู
 
เดินจงกรมอย่างสมถะและวิปัสสนา

ความเห็นที่ ๓ : โดยคุณปราโมทย์ [ วันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๓ / ๑๑:๒๖:๒๐ น.]
 

ในหลักการแล้ว การเดินจงกรมที่ถูกต้องคือการเดินอย่างมีสติสัมปชัญญะ เช่นเดียวกับการนั่งที่ถูกต้อง คือการนั่งอย่างมีสติสัมปชัญญะ

ถ้ามีสติสัมปชัญญะ จะปฏิบัติธรรมในอิริยาบถใดก็ถูกต้องทั้งสิ้น ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ ต่อให้เดินจงกรมจนเท้าแตก ก็ยังไม่ใช่การปฏิบัติธรรมแท้จริงในทางพระพุทธศาสนา

********************************************************************************

การเดินจงกรมนั้น จะเดินให้เป็นสมถกรรมฐานก็ได้ จะให้เป็นวิปัสสนากรรมฐานก็ได้ ทั้งที่เดินอยู่ในที่เดียวกัน และในท่าเดียวกันนั่นเอง

ท่าทางและสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเป็นสมถะหรือวิปัสสนา หากแต่ลักษณาการของจิตและอารมณ์ต่างหาก เป็นตัวตัดสิน คือถ้ามีสติจดจ่อลงในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นจดจ่อลงที่เท้าซึ่งเคลื่อนไหว จดจ่อลงในคำบริกรรมอันเป็นสมมุติบัญญัติ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเท้า เช่น ยก ย่าง เหยียบ หรือบริกรรมขวาพุท ซ้ายโธ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าสติจดจ่อลงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ล้วนเป็นสมถะทั้งหมด

แต่ถ้าในขณะนั้น จิตผู้รู้ทรงตัวอยู่ต่างหากเป็นธรรมเอก มีสัมปชัญญะความไม่หลง และมีสติระลึกรู้การเดิน รู้ปรมัตถ์ของกาย เวทนา จิต ธรรม อันนั้นคือ การเจริญวิปัสสนา

ถ้ากล่าวเช่นนี้ หมู่เพื่อนที่เคยฝึก "รู้" จะสามารถแยกสภาวะ ๒ อย่างนี้ออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพราะอย่างหนึ่งนั้น จิตเคลื่อนเข้าไปจดจ่อรวมกับสิ่งที่ถูกรู้ ในขณะที่อีกอย่างหนึ่ง จิตเป็นธรรมเอก ทรงตัวอย่างเบิกบานแยกออกจากสิ่งที่ถูกรู้ จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ส่วนอารมณ์ แล้วก็มีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตและอารมณ์ไปตามสภาพ

********************************************************************************

เมื่อกล่าวถึงการเดินจงกรมอย่างเป็นวิปัสสนา จะเดินเพื่อเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ จะเจริญเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้เช่นกัน ไม่ต่างกับการนั่งสมาธิ ที่จะเจริญสติปัฏฐานหมวดใดก็ได้

เช่น ถ้าเดินจงกรมโดยเห็นกายอยู่ในอิริยาบถเดิน โดยจิตเป็นผู้รู้การเดินของกาย ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดอิริยาบถบรรพ

ถ้าจิตเป็นผู้รู้การเคลื่อนไหวของกาย ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดสัมปชัญญบรรพ

ถ้าเดินแล้วเหงื่อไหลไคลย้อย และรู้ด้วยจิตผู้รู้ ก็เป็นการเจริญกายานุปัสสนา ในหมวดปฏิกูลมนสิการบรรพ ถ้าเดินแล้วรู้ความแข็งของกายที่กระทบพื้น ก็เป็นการรู้ธาตุดิน เป็นต้น

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความสุขสบายในการเดินรู้เรื่อยไป จนเกิดปวดเมื่อย ก็รู้ความปวดเมื่อยเป็นทุกขเวทนา เดินต่อไปอีกจนหายเมื่อย หรือไปนั่งพักจนหายเมื่อยหรือเดินจงกรมไป ระลึกรู้ความทุกข์ในจิตใจไป ในที่สุดความทุกข์ใจก็ดับ เกิดความสุขสงบในใจ ก็รู้เรื่อยไป จนความสุขสงบก็ดับ เหลือแต่จิตที่เป็นกลางเบิกบาน สงบ ผ่องใส ก็รู้ไปอีก อันนี้ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาในอิริยาบถเดิน (จงกรม)

ถ้าเดินแล้วจิตผู้รู้ รู้ถึงความรู้สึกเมื่อเท้ากระทบพื้น ก็เฝ้ารู้ความรู้สึกนั้นเรื่อยไป จะเห็นความเกิดดับของมันชัดเจน ทำมากเข้าก็จะเห็นความกระเทือน ความไหว ขึ้นมาถึงอกแล้วก็เดินรู้ความรู้สึกในอกเรื่อยไป ก็จะเห็นชัดถึงจิตสังขารนานาชนิดที่หมุนเวียนกันเกิดดับ เช่นเห็นความเกียจคร้านเบื่อหน่ายที่จะเดินบ้าง เห็นความซึมเซา และความฟุ้งซ่านของจิตบ้าง เห็นความสงบสุขผ่องใสของจิตบ้าง อันนี้ก็คือการดูจิตในอิริยาบถเดิน เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อเดินมากเข้า ดูจิตละเอียดเข้า ก็จะเห็นความอยากเกิดขึ้นบ้าง จิตหลงตามความอยากไปยึดอารมณ์บ้าง แล้วความทุกข์ก็เกิดขึ้น ในที่สุดจะรู้ถึงกลไกการเกิดทุกข์ และกลไกของความดับทุกข์ การเฝ้ารู้อยู่นี้ คือการเจริญธัมมานุปัสสนาในระหว่างเดินจงกรม

********************************************************************************

สรุปแล้ว จงกรม ก็คือ "การก้าวไป" อันเป็นอิริยาบถหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดพิสดารอะไรเลย

ความอัศจรรย์ของการเดินจงกรม อยู่ที่การนำวิธีการปฏิบัติธรรมทั้งสมถะ และวิปัสสนามาสวมลงในอริยาบถเดิน แล้วทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง สามารถเดินไปถึงสวรรค์ และพรหมโลก หรือดับขันธ์เข้าถึงนิพพานที่ไม่มีการไปและไม่มีการมา

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงหลักการนะครับ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยและกลวิธีเฉพาะตัว ของการปฏิบัติธรรมในอิริยาบถเดิน เป็นเรื่องที่แต่ละท่านมีประสบการณ์แตกต่างกันไป และคุณพัลวันเชิญชวนให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันแล้ว

********************************************************************************


ความเห็นที่ ๙ : โดยคุณปราโมทย์ [ วันเสาร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๓ / ๑๕:๔๙:๕๕ น. ]
 

เทคนิคการเดินมีหลากหลายครับ ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากนักก็เดินแบบสมถะเสียก่อน เช่นเอาสติจดจ่อรู้การเคลื่อนไหวของเท้า อาจจะบริกรรมกำกับเข้าไปด้วยก็ได้ตามถนัด เมื่อจิตมีกำลังแล้ว จิตจะเขยิบขึ้นมารู้ตัวทั่วพร้อม แล้วขยับมาดูจิตทำงานต่อไป

หรืออย่างการเดินรู้ความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นนั้น ถ้าสติจ่อเข้าไปที่ความรู้สึก ก็เป็นสมถะได้เหมือนกัน แต่เมื่อทำมากเข้า ความรู้ตัวค่อยแจ่มชัดขึ้น ก็จะรู้การกระทบนั้นไปอย่างสบายๆ โดยจิตไม่ไหลเข้าไปในความรู้สึกนั้น ต่อมาเมื่อเกิดกิเลสตัณหาใดๆ ขึ้น ก็จะรู้ชัดเจนต่อไป สำหรับประเด็นที่รู้ขึ้นมาที่อกนั้น ไม่อยากให้พวกเรากังวลถึงมากนัก เอาเป็นว่า กิเลสตัณหาเกิดดับที่ไหน ก็รู้อยู่ตรงนั้นดีกว่าครับ แล้วมันจะเข้ามารู้ที่หทยวัตถุที่อกหรือไม่ ก็ช่างมันเถอะครับ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาดีกว่า

ที่มา : www.bangkokmap.com

 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010