|
|
พระไพศาล วิสาโล
|
|
|
|
๑๓. "ความสุขที่ถูกมองข้าม" โดย พระไพศาล วิสาโล แนะนำโดย คุณอรุณชัย (๕ ส.ค. ๒๕๕๒) |
คราวนี้คุณอรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ส่งเมลเรื่อง "ความสุขที่ถูกมองข้าม" โดย พระนักคิดนักเขียนนาม พระไพศาล วิสาโล มาให้อ่านกัน (อีกละ...หุหุ ^_^ ขอบคุณนะครับ) ร่วมกันอ่านเพลินๆ เพื่อเจริญในธรรมนะครับ จะได้รู้กันเสียทีว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหน ?
พ่อไก่อู
|
คุณเป็นคนหนึ่งหรือไม่ที่เชื่อว่า ยิ่งมีเงินทองมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ความเชื่อดังกล่าวดูเผินๆ ก็น่าจะถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียเวลาพิสูจน์ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศไทยน่าจะมีคนป่วยด้วยโรคจิตน้อยลง มิใช่เพิ่มมากขึ้น ทั้งๆ ที่ รายได้ของคนไทยสูงขึ้นทุกปี ในทำนองเดียวกันผู้จัดการ ก็น่าจะมีความสุขมากกว่าพนักงานระดับล่างๆ เนื่องจากมีเงินเดือนมากกว่า แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้น เสมอไป
ไม่นานมานี้มหาเศรษฐีคนหนึ่งของไทย ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า เขารู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต เขาพูดถึงตัวเองว่า "ชีวิต (ของผม) เริ่มหมดค่าทางธุรกิจ" ลึกลงไปกว่านั้น เขายังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย เขาเคยพูดว่า "ผมจะมีความหมายอะไร ก็เป็นแค่....มหาเศรษฐีหมื่นล้านคนหนึ่ง" เมื่อเงินหมื่นล้านไม่ทำให้มีความสุข เขาจึงอยู่เฉยไม่ได้ ในที่สุดวิ่งเต้นจนได้เป็นรัฐมนตรี ขณะที่เศรษฐีหมื่นล้านคนอื่นๆ ยังคงมุ่งหน้าหาเงินต่อไปด้วยความหวังว่า ถ้าเป็นเศรษฐีแสนล้านจะมีความสุขมากกว่านี้ คำถามก็คือ เขาจะมีความสุขเพิ่มขึ้นจริงหรือ?
คำถามข้างต้นคงมีประโยชน์ไม่มากนักสำหรับคนทั่วไป เพราะชาตินี้คงไม่มีวาสนา แม้แต่จะเป็นเศรษฐีร้อยล้านด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยก็คงตอบคำถามที่อยู่ในใจของคนจำนวนไม่น้อยได้บ้างว่า ทำไมอัครมหาเศรษฐีทั้งหลาย รวมทั้งบิล เกตส์ จึงไม่หยุดหาเงินเสียที ทั้งๆ ที่มีสมบัติมหาศาล ขนาดนั่งกินนอนกินไป ๗ ชาติ ก็ยังไม่หมด แต่ถ้าเราอยากจะค้นพบคำตอบให้มากกว่านี้ ก็น่าจะย้อนถามตัวเองด้วยว่า ทำไมถึงไม่หยุดซื้อแผ่นซีดีเสียทีทั้งๆ ที่มีอยู่แล้ว นับหมื่นแผ่น ทำไมถึงไม่หยุดซื้อเสื้อผ้าเสียทีทั้งๆ ที่มีอยู่แล้วเกือบพันตัว ทำไมถึงไม่หยุดซื้อรองเท้าเสียทีทั้งๆ ที่มีอยู่แล้วนับร้อยคู่ แผ่นซีดีที่มีอยู่มากมายนั้น บางคนฟังทั้งชาติก็ยังไม่หมด ในทำนองเดียวกัน เสื้อผ้า หรือรองเท้าที่มีอยู่มากมายนั้น บางคนก็เอามาใส่ไม่ครบทุกตัวหรือทุกคู่ด้วยซ้ำ มีหลายตัวหลายคู่ที่ซื้อมาโดยไม่ได้ใช้เลย แต่ทำไมเราถึงยังอยากจะได้อีกไม่หยุดหย่อน
ใช่หรือไม่ว่าสิ่งที่เรามีอยู่แล้วในมือนั้น ไม่ทำให้เรามีความสุขได้มากกว่าสิ่งที่ได้มาใหม่ มีเสื้อผ้าอยู่แล้วนับร้อย ก็ไม่ทำให้จิตใจเบ่งบานได้เท่ากับเสื้อ ๑ ตัวที่ได้มาใหม่ มีซีดีอยู่แล้วนับพันก็ไม่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นได้ เท่ากับซีดี ๑ แผ่นที่ได้มาใหม่ ในทำนองเดียวกันมีเงินนับร้อยล้านในธนาคาร ก็ไม่ทำให้รู้สึกปลาบปลื้มใจ เท่ากับเมื่อได้มาใหม่อีก ๑ ล้าน พูดอีกอย่างก็คือ คนเรานั้นมักมีความสุขจากการได้ มากกว่าความสุขจากการมี มีเท่าไรก็ยังอยากจะได้มาใหม่ เพราะเรามักคิดว่าของใหม่จะให้ความสุขแก่เราได้มากกว่าสิ่งที่มีอยู่เดิม บ่อยครั้ง ของที่ได้มาใหม่นั้นก็เหมือนกับของเดิมไม่ผิดเพี้ยน แต่เพียงเพราะว่ามันเป็นของใหม่ ก็ทำให้เราดีใจแล้วที่ได้มา จะว่าไปนี่อาจเป็นสัญชาตญาณที่มีอยู่กับสัตว์หลายชนิดไม่เฉพาะแต่มนุษย์เท่านั้น ถ้าโยนน่องไก่ให้หมา หมาก็จะวิ่งไปคาบ แต่ถ้าโยนน่องไก่ชิ้นใหม่ไปให้ มันจะรีบคายของเก่าและคาบชิ้นใหม่แทน ทั้งๆ ที่ทั้งสองชิ้นก็มีขนาดเท่ากัน ไม่ว่าหมาตัวไหนก็ตาม ของเก่าที่มีอยู่ในปาก ไม่น่าสนใจเท่ากับของใหม่ที่ได้มา
ถ้าหากว่าของใหม่ให้ความสุขได้มากกว่าของเก่าจริง เรื่องก็น่าจะจบลงด้วยดี แต่ปัญหาก็คือของใหม่นั้นไม่นานก็ กลายเป็นของเก่าและความสุขที่ได้มานั้น ในที่สุดก็จางหายไป ผลก็คือกลับมารู้สึก "เฉยๆ" เหมือนเดิม และดังนั้น จึงต้องไล่ล่าหาของใหม่มาอีก เพื่อหวังจะให้มีความสุขมากกว่าเดิม แต่แล้วก็วกกลับมาสู่จุดเดิม เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ น่าคิดว่าชีวิตเช่นนี้จะมีความสุขจริงหรือ ? เพราะไล่ล่าแต่ละครั้งก็ต้องเหนื่อย ไหนจะต้องขวนขวายหาเงินหาทอง ไหนจะต้องแข่งกับผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ ครั้นได้มาแล้วก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ ไม่ให้ใครมาแย่งไป แถมยังต้องเปลืองสมองหาเรื่องใช้มันเพื่อให้รู้สึกคุ้มค่า ยิ่งมีมากชิ้น ก็ยิ่งต้องเสียเวลาในการเลือกว่าจะใช้อันไหนก่อน ทำนองเดียวกับคนที่มีเงินมากๆ ก็ต้องยุ่งยากกับการตัดสินใจว่าจะไปเที่ยวลอนดอน นิวยอร์ค เวกัส โตเกียว มาเก๊า หรือซิดนีย์ ดี
ถ้าเราเพียงแต่รู้จักแสวงหาความสุขจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ชีวิตจะยุ่งยากน้อยลงและโปร่งเบามากขึ้น อันที่จริงความ พอใจในสิ่งที่เรามีนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่เป็นปัญหาก็เพราะเราชอบมองออกไปนอกตัว และเอาสิ่งใหม่มาเทียบกับของที่เรามีอยู่ หาไม่ก็เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เมื่อเห็นเขามีของใหม่ ก็อยากมีบ้าง คงไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้บ่อยครั้ง เท่ากับการชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การเปรียบเทียบจึงเป็น หนทางลัดไปสู่ความทุกข์ที่ใครๆ ก็นิยมใช้กัน นิสัยชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น ทำให้เราไม่เคยมีความพอใจในสิ่งที่ตนมีเสียที แม้มีแฟนที่ดีก็ยังไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าแฟนของคนอื่นสวยกว่า หล่อกว่า หรือเอาใจเก่งกว่า แม้มีลูกที่น่ารัก ก็ยังไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าสู้ลูกของคนอื่นไม่ได้ แม้จะมีหน้าตาดีก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สวย
เพราะไปเปรียบเทียบตัวเองกับดาราหรือพรีเซนเตอร์ในหนังโฆษณา การมองแบบนี้ทำให้ "ขาดทุน" สองสถาน คือนอกจากจะไม่มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่อยาก พูดอีกอย่างคือไม่มีความสุขกับปัจจุบัน แถมยังเป็นทุกข์เพราะอนาคตที่พึงปรารถนายังมาไม่ถึง ไม่มีอะไรที่เป็นอุทธาหรณ์สอนใจได้ดีเท่ากับนิทานอีสป เรื่องหมาคาบเนื้อ คงจำได้ว่า มีหมาตัวหนึ่งได้เนื้อชิ้นใหญ่มา ขณะที่กำลังเดินข้ามสะพาน มันมองลงมาที่ลำธาร เห็นเงาของหมาตัวหนึ่ง (ซึ่งก็คือตัวมันเอง) กำลังคาบเนื้อชิ้นใหญ่ เนื้อชิ้นนั้นดูใหญ่กว่าชิ้นที่มันกำลังคาบเสียอีก ด้วยความโลภ (และหลง) มันจึงคายเนื้อที่คาบอยู่ เพื่อจะไปคาบชิ้นเนื้อที่เห็นในนํ้า ผลก็คือเมื่อเนื้อตกนํ้า ชิ้นเนื้อในนํ้าก็หายไป มันจึงสูญทั้งเนื้อที่คาบอยู่และเนื้อที่เห็นในนํ้า
บ่อเกิดแห่งความสุขมีอยู่กับเราทุกคนในขณะนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เรามองข้ามไปหรือไม่รู้จักใช้เท่านั้น เมื่อใดที่เรามีความทุกข์แทนที่จะมองหาสิ่งนอกตัว ลองพิจารณาสิ่งที่เรามีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่ามิตรภาพ ครอบครัว สุขภาพ ทรัพย์สิน รวมทั้งจิตใจของเรา ล้วนสามารถบันดาลความสุขให้แก่เราได้ทั้งนั้น ขอเพียงแต่เรารู้จักชื่นชม รู้จักมอง และจัดการอย่างถูกต้องเท่านั้น แทนที่จะแสวงหาแต่ความสุขจากการได้ ลองหันมาแสวงหาความสุขจากการมี หรือจากสิ่งที่มี ขั้นต่อไปคือการแสวงหาความสุขจากการให้ กล่าวคือ ยิ่งให้ความสุข ก็ยิ่งได้รับความสุข สุขเพราะเห็นนํ้าตาของผู้อื่นเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม และสุขเพราะภาคภูมิใจที่ได้ทำความดี และทำให้ชีวิตมีความหมาย จากจุดนั้นแหละก็ไม่ยากที่เราจะค้นพบความสุขจากการไม่มี นั่นคือสุขจากการปล่อยวาง ไม่ยึดถือในสิ่งที่มี และเพราะเหตุนั้นแม้ไม่มีหรือสูญเสียไป ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้ เกิดมาทั้งที น่าจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขจากการให้และการไม่มี เพราะนั่นคือสุขที่สงบเย็นและยั่งยืนอย่างแท้จริง
คัดลอกบางตอนมาจากหนังสือ "แผนที่ความสุข" โดย พระไพศาล วิสาโล
|