พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
|
|
|
|
๒๘. "เหตุเกิดในวงการกรรมฐาน" พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เขียนถึงหลวงพ่อปราโมทย์ ในมติชน แนะนำโดย ต้น วรานนท์ (๒๒ ก.พ. ๒๕๕๓) |
นายต้น น้องชายทางธรรม ที่ช่วยเหลือกันทำเว็บไซต์เผยแพร่สื่อธรรมให้ครูบาอาจารย์ ที่พวกเรานับถือร่วมกันหลายองค์ ส่งบทความน่าอ่าน จากคมความคิดของ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่กล่าวถึงหลวงพ่อปราโมทย์ ในช่วงวิกฤตนี้ (ผมตั้งชื่อเล่นๆ ว่า "วิกฤตเข็มทิศ" ^_^) ได้อย่างน่าอ่านน่าพิจารณา ผมจึงเห็นควรนำมาเผยแพร่ต่ออีกทางหนึ่งครับ เพื่อจะได้เปิดโลกทัศน์ทางปัญญา และได้พิจารณาร่วมกันว่า..เหตุผล กล ปลายนั้น มีที่มาที่ไปจากสิ่งใด จากมุมมองของพระสุปฏิปัณโณรูปหนึ่ง
พ่อไก่อู
|
ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
เหตุเกิดในวงการกรรมฐาน
โดย พระไพศาล วิสาโล
ในอดีตนั้นถือกันว่าสมาธิภาวนา หรือการทำกรรมฐานเป็นเรื่องของสงฆ์ ส่วนฆราวาสนั้นปฏิบัติธรรม ด้วยการให้ทานและรักษาศีลก็พอแล้ว แม้จนทุกวันนี้เราก็ยังเห็นฆราวาสเข้าวัดเพื่อ "ทำบุญ" เป็นส่วนใหญ่ แต่แบบแผนดังกล่าวดูเหมือนจะจำกัดเฉพาะชาวพุทธไทย เอกลักษณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ชัด เมื่อไปเยือนวัดในยุโรปหรืออเมริกา ที่มีชาวพุทธหลายเชื้อชาติ ให้ความศรัทธานับถือ ในขณะที่ชาวพุทธไทย นิยมมาถวายอาหารแก่พระสงฆ์ (แล้วก็ลากลับ) ชาวพุทธชาติอื่นโดยเฉพาะชาติตะวันตก กลับสนใจฟังธรรมะและทำสมาธิกันอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ฆราวาสที่สนใจทำกรรมฐานมีจำนวนมากขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นในแวดวงชาวพุทธไทย ตามสำนักต่าง ๆ มีฆราวาสมาทำสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดอบรมกรรมฐานกันเอง บ่อยครั้งก็มีฆราวาสเป็นอาจารย์กรรมฐาน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับความสนใจใฝ่ศึกษาธรรม ทั้งจากการอ่านและการฟังอย่างแพร่หลาย จนหนังสือธรรมะกลายเป็นหนังสือขายดี ขณะที่หน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ
ก็มีการบรรยายธรรมอย่างสม่ำเสมอ
ความเครียด ความรุ่มร้อนในจิตใจและความรู้สึกว่างเปล่าในชีวิตทั้ง ๆ ที่เต็มไปด้วยวัตถุสิ่งเสพและความสะดวกสบาย เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คน หันมาหาความสงบจากพุทธศาสนา แต่ผู้คนยากจะค้นพบคำตอบจากพุทธศาสนาได้หากไม่มีผู้บอกทาง ที่สามารถสื่อสารกับฆราวาสได้อย่างถึงแก่น ครั้นค้นพบแล้วจะลงมือปฏิบัติหรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับผู้บอกทางว่า ได้นำเสนอการปฏิบัติที่สมเหตุสมผล น่าเชื่อถือ ทำได้จริงหรือไม่ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ที่ขาดไม่ได้สำหรับคนสมัยใหม่ก็คือ จักต้องเป็นการปฏิบัติที่ทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน ยิ่งเป็นวิธีการที่ลัดสั้น ตรงถึงเป้าหมาย ก็ยิ่งได้รับความนิยม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช เป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการชักนำให้ฆราวาส โดยเฉพาะคนชั้นกลาง หันมาทำกรรมฐานกันอย่างจริงจังและอย่างแพร่หลาย ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือคนเหล่านี้ มีเป็นจำนวนมากที่ไม่เคยเห็นตัวท่าน หรือได้รับการชี้แนะจากท่านโดยตรง หรือแม้แต่ฟังคำบรรยายจากปากของท่าน หลายคนอยู่ไกลถึงต่างประเทศด้วยซ้ำ แต่ได้ปฏิบัติตามคำชี้แนะของท่านอย่างต่อเนื่อง เท่าที่ทราบมีเป็นจำนวนมาก ที่ได้รับผลดีจากการปฏิบัติ
ความสำเร็จดังกล่าว (หากจะใช้คำนี้) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สื่ออย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะซีดี ซึ่งสะดวกแก่การเผยแพร่ในหลายช่องทาง รวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต ทำให้เข้าถึงคนชั้นกลางจำนวนมาก แม้หนังสือของท่านจะพิมพ์เผยแพร่มิใช่น้อย แต่เชื่อว่าผู้คนรู้จักพระอาจารย์ปราโมทย์ ผ่านซีดีมากกว่าหนังสือ และที่ศรัทธาปฏิบัติตามแนวทางของท่าน ก็เพราะซีดีมากกว่าหนังสือเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเหตุผลที่สำคัญกว่านั้นน่าจะได้แก่ แนวทางการปฏิบัติของท่าน ที่เน้นการดูจิต หรือตามรู้สภาวะ และอาการต่าง ๆ ของจิต ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่กดข่มอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา และไม่แทรกแซง หรือควบคุมบังคับจิตเพื่อให้เกิดความสงบ ซึ่งรวมถึงการไม่ "กำหนด" หรือ เพ่งที่รูปหรือนามใด ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ "รู้" โดยไม่ต้อง "ทำ" อะไรทั้งสิ้น
วิธีการดังกล่าว (ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า "จิตตานุปัสสนา" ตามหลักสติปัฏฐานสี่) เหมาะกับคนชั้นกลางซึ่งมีนิสัยคิดฟุ้งปรุงแต่งมาก จนยากที่จะทำใจให้สงบดิ่งลึก อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่เลือกสถานที่และบรรยากาศ ทำให้กรรมฐานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ โดยไม่ต้องหลีกเร้นไปอยู่ป่าหรือเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ด้วยเหตุนี้หลายคนที่นำวิธีการดังกล่าวไปปฏิบัติ จึงเห็นผลได้เร็ว คือมีสติรู้ตัวมากขึ้น จิตใจปลอดโปร่งกว่าเดิม เห็นกายและใจชัดขึ้น การบอกกล่าวจากปากต่อปาก โดยมีซีดีคำ บรรยายของท่านเป็นสื่อการสอน ทำให้ผู้คนหันมาปฏิบัติตามแนวทางของท่านมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่เคยปฏิบัติแนวอื่น แต่ไม่ก้าวหน้าเพราะใช้วิธีเพ่งหรือบังคับจิตจนเครียด
จุดเด่นอีกประการหนึ่ง ก็คือ การสอนของท่าน ซึ่งนำเสนอแนวทางดังกล่าว ในฐานะที่เป็นวิถีสู่ความพ้นทุกข์ จากการดูจิต สู่การเห็นรูปและนามด้วยสติ ตามมาด้วยการเห็นรูปและนามด้วยปัญญา คือเห็นไตรลักษณ์ จนละวางความยึดติดถือมั่นว่า รูปและนามเป็นตัวตน คำสอนของท่านพูดถึงการบรรลุธรรมการหลุดพ้น และมรรคผลนิพพานบ่อยครั้ง มิใช่ในฐานที่เป็นสิ่งเหลือวิสัยของมนุษย์ หากเป็นอุดมคติที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และควรทำให้ได้ในชีวิตนี้ คำสอนดังกล่าวได้ทำให้ผู้คนจำนวนมาก ซึ่งเคยไกลวัดหันมาสนใจพระนิพพาน กล่าวได้ว่าไม่มีใครที่สามารถจุดประกายให้ฆราวาสยุคนี้ ปรารถนาและบำเพ็ญเพียรเพื่อพระนิพพาน ได้มากเท่ากับพระอาจารย์ปราโมทย์
ทั้งแนวทางปฏิบัติและเนื้อหาคำสอนของท่านตามที่กล่าวมาข้างต้น สามารถหาอ่านได้ไม่ยากจากหนังสือของท่าน แต่สิ่งที่ไม่ปรากฏในหนังสือ ก็คือวิธีการสอนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งจะประจักษ์ได้ ก็จากการไปฟังการบรรยายของท่านตามสถานที่ต่าง ๆ เท่านั้น นั่นก็คือ การบรรยายด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย เป็นกันเอง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การ "ทักจิต" ผู้ที่มา "ส่งการบ้าน" ว่า หลงไปแล้ว หรือกำลังเพ่ง หรือ "ตื่น" แล้ว เชื่อว่าวิธีนี้เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ผู้คนมาฟังคำบรรยายของท่านอย่างเนืองแน่นทุกครั้ง เพราะต้องการสอบถามให้แน่ใจว่า ตนปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของท่านหรือไม่ สำหรับผู้ฟังคนอื่น ๆ การทักจิตของท่าน ยังช่วยให้เข้าใจการปฏิบัติตามคำสอนของท่านดีขึ้น เนื้อหาและบรรยากาศส่วนนี้ถูกถ่ายทอดลงซีดี ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมในวงกว้างกว่าหนังสือ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการทักจิตของท่าน ย่อมทำให้ศิษยานุศิษย์ (รวมทั้งลูกศิษย์ทางซีดี) เห็นท่านอยู่ในสถานะพิเศษเหนือคนธรรมดา ดังนั้นจึงเกิดศรัทธาปสาทะในตัวท่านมากขึ้น หากนี้เป็นจุดแข็ง มันก็เป็นจุดอ่อนในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นเหตุให้ท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมา โดยเฉพาะจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย กับแนวทางปฏิบัติของท่าน จนถึงจุดหนึ่งก็ขยายตัวเป็นการต่อต้านท่านอย่างชัดเจน ที่น่าประหลาดใจคือแกนนำหลายคนเคยเป็นลูกศิษย์ หรือผู้สนับสนุนคำสอนของท่านอย่างแข็งขันมาก่อน
เหตุผลข้อหนึ่งที่ผู้ต่อต้านใช้ในการโจมตีท่านก็คือ การอวดอุตริมนุสสธรรม คือธรรมล้ำมนุษย์หรือคุณวิเศษที่เหนือปุถุชน ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการอวดอ้างว่าเป็นอริยบุคคล การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดตามพระวินัย หากอวดคุณวิเศษดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่มี ผู้อวดนั้นย่อมขาดจากความเป็นพระ กรณีพระอาจารย์ปราโมทย์นั้น แม้ท่านจะแสดงให้เห็นว่ามีการทักจิตอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยากที่จะชี้ชัดว่า เป็นการอวดอุตริมนุสสธรรมตามที่ระบุในพระวินัย (แม้จะตีความเช่นนั้น แต่ถ้าท่านมีคุณสมบัติดังกล่าวจริง ก็เป็นอาบัติเล็กน้อย) จะว่าไปแล้ววิธีการดังกล่าว ครูบาอาจารย์หลายท่านทั้งอดีตและปัจจุบันก็ทำเป็นอาจิณ ส่วนที่กล่าวว่าท่านอวดอ้างเป็นอริยบุคคลนั้น ก็เป็นเรื่องของการตีความจากคำบรรยาย เมื่อท่านพูดถึงสภาวะหรือสิ่งที่พบเห็น จากการปฏิบัติที่ผ่านมา ยังไม่มีการอ้างคำพูดใด ๆ ของท่านที่เป็นหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวอย่างชัดเจน
หากไม่นับสาเหตุส่วนตัว ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่มากนักแล้ว มูลเหตุที่แท้จริงของความขัดแย้งที่ขยายวง น่าจะเป็นเพราะแนวทางการปฏิบัติและวิธีการสอนของท่านนั้น ขัดกับแบบแผนที่ปฏิบัติกันมาแต่ดั้งเดิม อาทิ การดูจิตโดยไม่เน้นที่รูปแบบ การทักจิตผู้ปฏิบัติในที่สาธารณะท่ามกลางผู้คนนับร้อย (แทนที่จะทำในที่รโหฐาน) การสอนกรรมฐานโดยไม่เน้นพิธีรีตอง (ไม่มีพิธีขอกรรมฐาน  และใครจะแต่งตัวมาฟังธรรมที่สำนักของท่านอย่างไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแต่งขาว และไม่มีการสวดมนต์รับศีล) ซึ่งแม้ถูกจริตคนหนุ่มสาว แต่ไม่เป็นที่นิยมของคนแก่วัด ยิ่งกว่านั้นการที่ท่านวิจารณ์การปฏิบัติที่เน้นการเพ่ง กำหนด หรือควบคุมบังคับจิต อันเป็นที่นิยมในหลายสำนัก ย่อมทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านท่าน แต่ปฏิกิริยาดังกล่าวจะไม่มากหาก ลูกศิษย์ยังคงปฏิบัติในสำนักดังกล่าว แทนที่จะแห่กันไปปฏิบัติ ตามแนวทางของท่าน หรือกลับมาตั้งคำถามกับการปฏิบัติของสำนักเดิม
แม้แกนนำในการต่อต้านจะเป็นฆราวาส แต่เชื่อว่ามีพระจำนวนไม่น้อยสนับสนุนหรือขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง เพื่อความเป็นธรรม ควรกล่าวด้วยว่าหลายท่านทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ บางท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ส่วนใหญ่รับไม่ได้กับแนวทางการปฏิบัติ และวิธีการสอนของพระอาจารย์ปราโมทย์ ซึ่งหลายท่านมองว่าเป็นพระที่ยังมีพรรษาน้อย และปฏิบัติสวนทางกับธรรมเนียมหลายประการของพระป่า โดยเฉพาะสายหลวงปู่มั่น ข้อกล่าวหาอีกประการหนึ่ง ซึ่งร้ายแรงมากในสายตาของพระป่าก็คือ การดัดแปลงคำสอนของครูบาอาจารย์ ซึ่งในที่นี้หมายถึง หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
พระอาจารย์ปราโมทย์เป็นผู้ที่ได้รับอิทธิพลอย่างมาก จากคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ และนำคำสอนของท่านมาเผยแพร่ โดยอธิบายให้เข้าใจได้อย่างเป็นระบบ ทำให้หลวงปู่ดูลย์เป็น ที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตามอรรถาธิบายของท่านนั้น ไม่ตรงกับที่ลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์หลายท่านเข้าใจ หลายท่านเชื่อมั่นว่าท่านเข้าใจหลวงปู่ดูลย์ได้ถูกต้องกว่า จึงไม่พอใจพระอาจารย์ปราโมทย์ที่ "สอนผิดครู" จนบางท่านถึงกับกล่าวหาพระอาจารย์ปราโมทย์ว่า เป็นศิษย์คิดล้างครู สำหรับท่านเหล่านี้คำสอนของหลวงปู่ดูลย์ เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ในรูปแบบเดิม หรือถ่ายทอดตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด
มองในแง่หนึ่ง ความขัดแย้งกรณีพระอาจารย์ปราโมทย์ เป็นความขัดแย้งระหว่าง "ใหม่" กับ "เก่า" (ไม่ต่างจากความขัดแย้งระหว่าง พระอาจารย์พรหมวังโส กับสำนักหนองป่าพง กรณีบวชภิกษุณี) จะพูดว่า โดยพื้นฐานแล้วนี้ คือความขัดแย้งระหว่างแนว "ปฏิรูป" กับแนว "อนุรักษ์นิยม" ก็ย่อมได้ ซึ่งเป็นธรรมดาในทุกวงการ และเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เมื่อ ๖๐ ปีก่อน ท่านอาจารย์พุทธทาส ก็เคยถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะการสอนที่แปลกใหม่ของท่าน ที่กระตุกความรู้สึกของผู้ฟัง (เช่น กล่าวว่าพระรัตนตรัยหากนับถือไม่ถูกต้อง ก็เป็นภูเขาขวางกั้นทางสู่พระนิพพาน) แต่ความขัดแย้งเป็นแค่ความแตกต่าง ที่ไม่ควรนำไปสู่ความแตกแยก หรือการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ที่สำคัญก็คือไม่ควรให้ความโกรธเกลียด หรือกลัวเป็นตัวผลักดันการกระทำ
เมื่อมีความแตกต่างทางความคิด หรือการปฏิบัติ ควรโต้กันด้วยเหตุผล แทนที่จะใช้วิธีโจมตี ใส่ร้าย หรือข่มขู่ คุกคาม แม้จะทำด้วยความปรารถนาดี คือเพื่อปกป้องธรรมะ แต่หากใช้วิธีอธรรมแล้ว ผลร้ายย่อมตกอยู่กับธรรมะอย่างไม่ต้องสงสัย
|