|
|
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
|
|
|
|
๓๒. "การทำ 'ทาน' ที่ไม่มีอานิสงส์มาก" โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แนะนำโดย พี่หนูเล็ก ณัฐนิชา (๒๓ ม.ค. ๒๕๕๖) |
มีอีเมล์เวียนส่ง (forwarding Email) จากพี่หนูเล็ก ณัฐนิชา มาอีกแล้วครับ อ่านแล้วรู้สึกดีจัง เรื่องการทำบุญทำทาน เป็นสิ่งที่ชาวไทยนิยมกันมาก แต่มักไม่ทราบเหตุผลที่มาที่ไป ในเป้าหมายของการทำทานที่แท้จริง เพื่อมุ่ง "สละออก" ละความตระหนี่ ล้างความเห็นแก่ตน รู้จักบริจาคเพื่อคนอื่น เป็นการค่อยๆ ชำระจิตใจให้สะอาด เบา สบาย เพื่อจะปฏิบัติธรรมในขั้นต่อๆ ไป ได้สะดวกยิ่งขึ้น
แต่คนส่วนใหญ่ทำทานเพื่อหวัง "จะเอา" กันมากกว่า ซึ่งได้อานิสงส์น้อย (ถึงน้อยมาก) แทนที่การทำทานควรจะเป็นไปเพื่อการ "ละ" สละออก ตามความหมายเดิม แต่กลับกลายเป็นการ "จะเอา" ทำให้ยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก เรามาฟังคำอธิบายที่เรียบง่าย และตรงไปตรงมา ของพระอาจารย์ไพศาล กันนะครับ
พ่อไก่อู
|
การทำ 'ทาน' ที่ไม่มีอานิสงส์มาก
ในทานมหัปผลสูตร อังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่า ทานที่ไม่มีอานิสงส์มากได้แก่ "ทานที่ให้อย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ" รวมถึงทานที่ให้เพราะต้องการเสวยผลในชาติหน้า เป็นต้น
พิจารณาเช่นนี้ก็จะพบว่าทาน ที่ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ทำกัน นั้นหาใช่ทานที่พระองค์สรรเสริญไม่ นอกจากทำด้วยความมุ่งหวังประโยชน์ในชาติหน้าแล้ว ยังมักมีเยื่อใยในทานที่ถวาย กล่าวคือทั้งๆ ที่ถวายให้พระสงฆ์ไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมสละสิ่งนั้นออกไปจากใจ แต่ใจยังมีเยื่อใยในของชิ้นนั้นอยู่ เช่น เมื่อถวายอาหารแก่พระสงฆ์แล้ว ก็ยังเฝ้าดูว่าหลวงพ่อจะตัก อาหาร "ของฉัน" หรือไม่ หากท่านไม่ฉัน ก็รู้สึกไม่สบายใจ คิดไปต่างๆ นานา นี้แสดงว่ายังมีเยื่อใยยึดติดผูกพันอาหารนั้นว่า เป็นของฉันอยู่ ไม่ได้ถวายให้เป็นของท่านอย่างสิ้นเชิง
เยื่อใยในทานอีกลักษณะหนึ่ง ที่เห็นได้ทั่วไปก็คือ การมุ่งหวังให้ผู้คนรับรู้ว่าทานนั้นๆ ฉันเป็นผู้ถวาย ดังนั้น ตามวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ ของใช้ต่างๆ ไม่ว่า ถ้วย ชาม แก้วน้ำ หม้อ โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดจนขอบประตูหน้าต่างในโบสถ์ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงมีชื่อผู้บริจาคอยู่เต็มไปหมด กระทั่งพระพุทธรูปก็ไม่ละเว้น ราวกับจะยังแสดงความเป็นเจ้าของอยู่ หาไม่ก็หวังให้ผู้คนชื่นชมสรรเสริญตน การทำบุญอย่างนี้ จึงไม่ได้ "ละความยึดติดถือมั่นในตัวตน" เลย หากเป็นการ "ประกาศตัวตน" อีกแบบหนึ่งนั่นเอง
การทำบุญแบบนี้แม้จะมีข้อดี ตรงที่ช่วยอุปถัมภ์วัดวาอารามและพระสงฆ์ให้ดำรงอยู่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากหรือไร้อำนาจวาสนา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองไทย มีวัดวาอารามใหญ่โตและสวยงามมากมาย แต่เวลาเดียวกันก็มีคนยากจน และเด็กถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่นับสัตว์อีกนับไม่ถ้วนที่ถูกละเลย หรือถูกปลิดชีวิตแม้กระทั่งในเขตวัด
พระไพศาล วิสาโล
|