Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  

  ๒๙. ทดสอบความเป็นชาวพุทธ "จากธรรมะสุดฮา โดยหลวงพ่อคูณ" แนะนำโดย พี่หนูเล็ก ณัฐนิชา (๓๐ ส.ค. ๒๕๕๒)

      ผมได้รับอีเมลแบบเวียนส่ง (forwarding Email) จากพี่หนูเล็ก ณัฐนิชา โดยเนื้อหาในอีเมลโปรยหัวไว้ว่า "ธรรมะจากหลวงพ่อคูณ ขำขำ ฮาดี" พอเปิดดูก็เห็นว่าเป็นภาพวาดของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ (พระเกจิชื่อดัง แห่งวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา) วาดด้วยสีคล้ายสีน้ำ ประกอบคำกลอน ที่ใครถ้าได้อ่านแล้วก็ต้องฮาจริงๆ นั่นแหละครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่าหลวงพ่อคูณ ท่านเป็นคนแต่งเองหรือเปล่า? แต่พอดูนามปากกาของคนวาดภาพด้านล่าง คือ Dinhin Dec' 2001 ก็เลยถึงบางอ้อ ภาพนี้ (เขียนไว้นานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔) เป็นผลงานของพี่จิว หรือ อ.ดินหิน รักพงษ์อโศก ครับ พี่จิวจบจาก คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันรับราชการเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

Dinhin's Portrait   พี่จิวเป็นทั้งจิตรกร นักวาดภาพเหมือน ภาพประกอบ นักวาดการ์ตูนล้อฝีมือดี ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีผลงานตีพิมพ์ลงในสิ่งพิมพ์หลายฉบับ และยังเป็นนักเขียนบทความ วิจารณ์แนวคิด สะท้อนปรัชญาเชิงศิลปะ ศาสนาและสังคม ที่ข้อเขียนมีความคมคายมาก อีกคนหนึ่งเลยทีเดียวครับ สนใจงานภาพวาดของพี่จิวเพิ่มเติม คลิกชมได้ที่นี่ ครับ

คำกลอนนี้ทั้งขำ ทั้งให้แง่คิด ว่า (ทำไม) คนไทยส่วนใหญ่ที่พากันเรียกขานตัวเองกันปาวๆ ว่า "เป็นชาวพุทธๆ" นั้น ที่จริงแล้ว เราเป็นชาวพุทธที่แท้กันจริงๆ รึ? เดี๋ยวอ่านคำกลอนประกอบภาพด้านล่างกันก่อน แล้วเรามาลองทดสอบดูว่าเราเป็นชาวพุทธกันจริงๆ หรือเปล่า?
 
Phra Koon
     ใน facebook ของพี่จิวอธิบายภาพนี้ไว้ว่า "ภาพปกหลังนิตยสาร ฉลาดซื้อ ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใช้สีผสมอาหารเขียน แสงใช้ไฮเตอร์กัดสีออก"

ถ้าคุณไม่ได้คิดว่าคุณเป็นชาวพุทธแค่ "คำประกาศที่อยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ บัตรประชาชน" เท่านั้น เรามาลองทดสอบกับคำถามง่ายๆ เพียงไม่กี่ข้อ ดูดีกว่านะครับว่า คุณได้คะแนน "ความเป็นชาวพุทธ" จากคำถามเหล่านี้เต็มทุกข้อหรือเปล่า?

๑). เมื่อคุณได้ข่าวหรือเสียงร่ำลือ (จนหนาหู) ว่า บุคคล สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ ที่ไหน มีความขลัง ประจุไปด้วยพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถจะดลบันดาล ทั้งความเฮง ความซวย และความสำเร็จให้กับคุณได้ คุณจะไม่รอช้า ที่จะวิ่งรี่เข้าไปหา ไปกราบไหว้บูชา ขอขมาลาโทษ ขอเป็นที่พึ่ง พร้อมกับจุดธูปจุดเทียนอ้อนวอน ร้องขอพร ถวายสิ่งของ ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เพื่อให้ช่วยปกป้องคุ้มครองคุณจากหายนะภัยต่างๆ พร้อมทั้งให้ดลบันดาลความเฮงๆ ๆ ให้

ถ้าคุณตอบว่า "ใช่" แสดงว่าคุณยังห่างไกลจากความเป็นชาวพุทธมากโข (จนลิบลับเลยก็ว่าได้) เพราะลัทธิหรือศาสนาที่สอนให้อ้อนวอนร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ มีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้เสียอีก (และทุกวันนี้ลัทธิประเภทนี้ ก็ไม่เคยหายสาบสูญไปจากโลกเลย) แต่ถ้าคุณเป็นชาวพุทธที่เรียนคำสอนจาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณจะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ไม่มีอะไรหรือสิ่งใด ทั่วทั้งสากลจักรวาลนี้จะยิ่งใหญ่เหนือไปกว่า "กฎแห่งกรรม" ที่เราเองเป็นทั้งผู้สร้าง และผู้รับผลแห่งกรรม (กรรมวิบาก) เหล่านั้น ด้วยตัวของเราเองทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงป่วยการเอามากๆ หรือเสียเวลาเปล่า ที่จะไปอ้อนวอนร้องขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยให้ผลกรรม (ที่เราเป็นผู้สร้างด้วยตนเอง) นั้นดีขึ้นมาได้ เพราะไม่มีใครที่สามารถสร้าง หรือเปลี่ยนแปลงผลกรรมให้กับคุณได้ นอกจากตัวคุณเองเท่านั้น เพราะหากเราสร้างกรรมดี มันก็ดีด้วยตัวของมันเอง หากเราสร้างกรรมชั่ว มันก็ชั่วด้วยตัวของมันเองเช่นกัน ขนาดพระพุทธเจ้า เวลาท่านสอนเหล่าพุทธบริษัท ท่านยังทรงชี้แจงว่า พระองค์เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติให้บรรลุแจ้งถึงธรรม ผู้ปฏิบัติต้องเป็นผู้เพียรสร้างขึ้นด้วยตนเอง ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสานาที่มีหลักการสอน เรื่องการพึ่งตัวเองอย่างแท้จริง ดังพุทธภาษิตที่ว่า "อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ : ผู้มีตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งได้ยาก"


๒). คุณเป็นคนที่เชื่อในเรื่องโชค ลาภ วาสนา (ที่มาแบบลอยๆ) หรือเปล่า? ประมาณเอะอะ (พอไม่รู้ที่มาที่ไป) ก็ว่า เค้า/เรา โชคดี ดวงดี เองนะ ทำนองนี้

ถ้าคุณตอบว่า "ใช่" แสดงว่าคุณยังรู้จักศาสนาพุทธไม่ดีพอ เพราะ "ในศาสนาพุทธไม่มีคำว่า โชค ลาภ วาสนา" มีแต่ "เหตุกับปัจจัยเท่านั้น" พระพุทธเจ้าสอนว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี แต่ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้มันจะมีไปได้อย่างไร" ภาษาแขก (อ่านยากๆ) เรียกคำอธิบายประโยคนี้ว่า "ปฏิจจสมุปบาท" ครูบาอาจารย์ท่านก็อธิบายให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า "โชค ลาภ วาสนา (แท้ที่จริงแล้ว) เป็นทาสที่ซื่อสัตย์ของเหตุปัจจัย" หมายความว่าเพราะเราเคยทำเหตุอย่างนี้ไว้ก่อน จึงได้ผลเป็นอย่างนี้นั่นเอง ด้วยเพราะสิ่งต่างๆ ล้วนไหลมาแต่เหตุ โดยอาศัยซึ่งกันและกันเอื้อให้เกิดหรือไม่เกิด เพราะฉะนั้นคำว่า "บังเอิญ จึงไม่มีในพระพุทธศาสนา" เช่นกันครับ


๓). "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" คุณรู้สึกเห็นด้วยกับคำนี้หรือไม่?

ถ้าคุณตอบว่า "ใช่" แสดงว่าคุณยังห่างไกลจากความเป็นชาวพุทธอีกนั่นแหละ ประโยคนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากพื้นฐานความกลัว ความไม่แน่ใจ ส่วนใหญ่มาจากบุคคลที่ศรัทธา (ประมาณแบบเดียวกับคำถามในข้อที่ 1) อย่างแรงกล้า และต้องการเกทับคนไม่เชื่อ ส่วนคนไม่เชื่อก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่รู้จริง (เหมือนกัน) เลยต้องเอ่ยปากยอมรับไปโดยปริยาย ท่าน ว.วชิรเมธี เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับประโยคนี้ว่า "เป็นประโยคขวางกั้นไม่ให้คนเกิดปัญญา" แต่ถ้าจะให้ถูกควรใช้คำว่า "ไม่เชื่อควรต้องศึกษาให้รู้จริง" เสียมากกว่า เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ไม่ใช่ใช้ศรัทธานำหน้า ชาวพุทธจึงควรศึกษาให้รู้จริงเสียก่อน จึงจะเชื่อหรือไม่เชื่อ

แต่ในกรณีนี้มีเรื่องน่าสนใจ เพราะประโยคนี้ส่วนใหญ่มักจะถูกนำมาใช้ในเรื่องเกี่ยวกับ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ หรือไม่ก็เรื่องลี้ลับเช่น ภูติผีปีศาจ เทวดา เป็นต้น แต่ศาสนาพุทธก็ได้ให้คำอธิบายในเรื่องนี้อย่างทะลุปรุโปร่งด้วยเช่นกัน หลวงพ่ออำนาจ โอภาโส ท่านก็เป็นพระสงฆ์อีกรูปหนึ่ง ที่อธิบายเรื่องนี้เสียจนละเอียดยิบ เรียกได้ว่าถ้าใครฟังท่านแล้ว ลำดับความตามท่านได้รู้เรื่อง ก็จะเลิกกลัวผีสางเทวดาไปเลย (คลิกฟังได้ที่ "ความจริงไม่มีใครทุกข์" นะครับ)

ขออธิบายย่อๆ ในสิ่งที่คนส่วนใหญ่กลัวเพราะความไม่รู้ก็แล้วกัน คือ "ผี" ในที่นี้หมายรวมถึงสัตว์ที่อยู่ในภพที่ต่ำกว่ามนุษย์ลงไปนะครับ เช่นพวก เปรต อสรุกาย รวมถึงสัตว์นรกด้วย (จริงๆ สัตว์เดรัจฉาน ก็ต่ำกว่าเรานะ แต่เราไม่กลัวเพราะเห็นๆ กันอยู่) สัตว์เหล่านี้ผุดเกิดขึ้นด้วย ความหลงยึดในความเป็นตัวเป็นตน ในธรรมะฝ่ายอกุศล (ส่วนเทวดา พรหม จะหลงยึดในธรรมะฝ่ายกุศล) โดยมีสาเหตุมาจากความไม่รู้ (อวิชชา*) เป็นเหตุ จริงๆ แล้วภพของสัตว์เหล่านี้ เป็นภพที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานนะ เพราะฉะนั้นการได้ภพมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ นั้นย่อมสูงกว่าอยู่แล้ว ยิ่งถ้าใครมีศีลมีธรรม เป็นผู้มีบารมีที่เกิดจากการสะสมกรรมดีไว้มากๆ ย่อมจะยิ่งเหนือกว่าทุกประการ (จะกลัวทำไม?) ครูบาอาจารย์ท่านว่า เหมือนเราเป็นคนร่างกายกำยำสมบูรณ์แข็งแรง ย่อมจะไม่กลัวผู้ผ่ายผอมและมีกำลังน้อยกว่าอยู่แล้ว ฉันได้ก็ฉันนั้นสัตว์เหล่านี้ถ้าเราเข้าใจตามความเป็นจริง จะเห็นว่าเขาล้วนน่าสงสารมากกว่าน่ากลัว แต่เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริง (อีกนั่นแหละ) จึงปรุงเราให้กลัวไปต่างๆ นาๆ

ขอแถมอีกนิดคือ "ผีใหญ่" ซึ่งเราอาจจะเรียกรวมๆ ว่า "เทวดา" ก็ได้นะครับ แล้วในมุมมองของพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้เราปฏิบัติต่อเทวดาอย่างไรล่ะ? แน่นอนว่าท่านสอนให้นับถือเทวดานะ แต่ท่านสอน ให้นับถือที่คุณของการได้กำเนิดเป็นเทวดา ไม่ใช่นับถือที่ "ตัวเทวดา" อ๊ะ...แล้วยังไง? เพราะเทวดาก็ยังเป็นสัตว์ที่จำต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ดี ยังไม่พ้นทุกข์จริง (เทวดาก็มีวันตายนะ) ท่านให้นับถือเทวดาเหมือนเรานับถือคนดี ที่ควรเอาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม คุณธรรมที่สำคัญมาก สำหรับการได้ผุดเกิดเป็นเทวดาก็คือ ความเกรงกลัวต่อบาป ความละอายต่อบาป ความไม่ประพฤติชั่วทั้งปวง (ภาษาแขกเรียกว่า "หิริโอตตัปปะ") เพราะถ้าหากเรายังไม่บรรลุธรรม หรือหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอย่างถาวรเสียแล้ว (นิพพาน) การได้เสวยภพของเทวดาก็ยังดีกว่า ภพที่ต่ำกว่ามนุษย์เป็นไหนๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้มองเหล่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงว่า ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับเราด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น


อ่ะ...คร่าวๆ นะครับ พอหอมปากหอมคอ (๓ ข้อนี้เป็นเรื่อง "ความเชื่ออย่างชาวพุทธ" ล้วนๆ เลย) ถึงบรรทัดนี้เราคงพอจะสำรวจตัวเองกันได้แล้วนะครับว่า เราเป็นชาวพุทธที่แท้จริงกันแค่ไหน..?

พ่อไก่อู


* อวิชชา แปลตรงตัวว่า "ความไม่รู้" แต่ในศาสนาพุทธหมายถึงความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) จึงเป็นเหตุให้สัตว์ "หลงสร้างภพดีบ้าง ชั่วบ้าง" อันเป็นเหตุที่ทำให้ต้องเวียนตายเวียนเกิดต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น สัตว์ที่ยังต้องเกิดทุกชนิด (ตั้งแต่สัตว์นรก มนุษย์ เทวดา ยัน พรหม) ล้วนยังมีอวิชชาแฝงอยู่ทั้งสิ้น

 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010