วันเกิด ฤๅวันตาย

บทความนี้เป็นบทความเก่า ที่ผมเคยเขียนลง facebook ส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2557 หลังจากวันคล้ายวันเกิดของผม 1 วัน แต่..อยากจะบันทึกไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ


ขอขอบคุณแทนทุกๆ คำอวยพรในวันที่ 26 ก.ค. จากทุกๆ ท่าน ซึ่งล่วงมาแล้ว 1 วัน (กว่าจะตอบ…หุหุ) สำหรับชายที่ล่วงวัยกลางคนอย่างผม สิ่งที่คำนึงถึงทุกๆ ครั้ง ที่วันคล้ายวันเกิด เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ก็คือ….การนับถอยหลัง ไปสู่เชิงตะกอน นั่นแหละครับ (อ่า…ฟังดูเหมือนคนแก่วัดไปนิด แต่ตอนนี้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ) *รอดมาอีกปีแล้วโว้ย.ย เรา…….. ปีหน้าจะรอดมั้ย…..หว่า?

อยากเล่าเกร็ดเล็กๆ ที่ช่วงนี้ผมมักระลึกถึงอยู่บ่อยๆ ให้ฟังสักนิด โดยขอย้อนเวลากลับไปสัก 4 – 5 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมมีโอกาสอุปสมบทระยะสั้นๆ เพียง 50 วัน ได้จาริก (คือ ย้ายวัด…หุหุ) ไป 3 แห่ง คือ วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี, สวนโมกข์ ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และ ศูนย์ศิลปธรรมปัญญาประทีป อ.นายายอาม จ.จันทบุรี

แต่ละแห่งบรรยากาศต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งชุมชน ภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม รวมถึงหมู่สงฆ์ที่ได้ร่วมจำวัดอยู่ ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ทั้งด้านบวก ด้านลบ เป็นประสบการณ์ประดับความรู้

ที่ศูนย์ศิลปธรรมฯ อ.นายายอาม พระอาจารย์เจ้าอาวาส ท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อปัญญานันทะ คราวที่ผมไปจำวัดอยู่ ตรงกับช่วงที่แม่ชี (ซึ่งเป็นแม่บุญธรรมของท่าน) เสียพอดี พอถึงวันบรรจุศพ ท่านก็สะกิดผมว่า “อ.ธานี สวดบทบังสุกุลได้มั้ย?” ผมก็ตอบกลับทันควันว่า “ไม่ได้ครับ..ท่าน” เอิ่ม…พระใหม่แกะกล่องอย่างผม สวดถนัดแต่บท “ยะถา สัพพีฯ” ตอนที่โยมถวายทานเท่านั้นแหละครับ เพราะต้องสวดทุกวัน แต่บทอื่นๆ ต้องอู้ๆ อี้ๆ ทำปากขมุบขมิบ ให้เนียนๆ… สวดตามพระพรรษาสูงๆ ไปก่อน (ฮา..) เป็นวิธีเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของพระใหม่

ทุกครั้งที่นึกถึง และได้ย้อนกลับมาดูบทสวดสั้นๆ บทนี้อีกครั้ง พร้อมอ่านประวัติที่มา ก็รู้สึกประทับใจ ด้วยเพราะความลึกซึ้ง และดูเหมือนจะเป็นบทสวด ที่เหมาะกับคนทำงานศิลปะแบบผม ใช้ข่ม “ราคะจริต” (คือ จริตที่ชอบความสวยความงาม แต่..อีกจริต ที่ผมมีผสมอยู่ด้วยคือ “ทิฏฐิจริต” พวกคิดมาก ชอบใช้ความคิด) ได้ดีพอควรครับ เพราะ…ว่าตามแล้ว จิตใจสงบดี แถมยัง (รู้สึก) สลด…อีกต่างหาก

ที่มาของบทสวดนี้ คือคำอุทาน ของพระเถระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล นามว่า “พระมหากาฬ” ท่านบำเพ็ญ “โสสานิกธุดงค์” คือ ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตรตลอดชีวิต คราวหนึ่งนางกาฬี ซึงเป็นสัปเหร่อ ได้ศพสาวงามประจำเมืองมา เธอตายในขณะที่ศพยังไม่ทันจะเหี่ยวแห้ง ญาติก็นำศพมาไว้ที่ป่าช้าเวลาเย็น และมอบให้นางกาฬีจัดการเผา นางกาฬีเห็นว่าหญิงนี้ มีรูปร่างหน้าตา สะสวย งดงามเหลือเกิน ขนาดเพิ่งตาย จึงคิดนิมนต์พระมหากาฬให้มาพิจารณาอสุภะ

เมื่อพระมหากาฬมาถึง ท่านได้พิจารณาตั้งแต่ฝ่าเท้ายันปลายผม ท่านจึงรำพึงในใจขึ้นว่า รูปกายของหญิงนี้ช่างงดงาม ประณีตเหลือเกิน ดูแล้วไม่ต่างจากคนนอนหลับ ทำให้ผู้พิจารณาอาจเกิดกิเลสได้ จึงขอให้นางกาฬีนำไปเผาไฟเสีย

ขณะที่นางกาฬีเผาศพ ท่านได้พิจารณาเห็นว่า ร่างที่เคยสะสวย งดงาม แต่มาบัดนี้เหมือนกับโคด่างๆ เท้าทั้งสองก็หงิกงอ ห้อยลง นิ้วมือที่เคยเรียวงามก็กำเข้า หน้าผากไหม้มีแผ่นหนังลอกออก น้ำเหลืองไหลเยิ้ม

ท่านพิจารณาต่อว่า ร่างกายนี้เคยเป็นเหตุให้คนเกิดกำหนด ยินดีในกาม แม้ขนาดตายแล้ว แต่มาบัดนี้ ถึงกาลสิ้นเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านจึงอุทานคาถา (คาถา แปลว่า คำกลอน) ออกมาว่า

อนิจจา วะตะสังขารา  : สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
อุปปา ทะวะยะ ธัมมิโน  : มีเกิดขึ้น ย่อมมีเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปปัชชิตะวา นิรุชฌันติ  : บังเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
เตสัง วูปะสะโม สุโข  : การเข้าระงับซึ่งสังขารนั้นเสียได้ เป็นความสุข

“การเข้าระงับสังขารเสียได้” หมายถึงการไม่ต้องกลับมาเวียนตายเวียนเกิดอีกต่อไป หลังจากท่านพิจารณาอสุภะเสร็จ จิตที่อบรมมาดีแล้ว พระมหากาฬก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

ในสมัยหลัง พระสงฆ์จึงนิยมนำคาถาบทนี้ มาใช้เป็นบทสวดในพิธีบังสุกุล ใช้เป็นบทพิจารณา “เพื่อความไม่ประมาท” นะครับ………

เราควรตระหนักว่า ทุกๆ ครั้งที่มีความเกิด (หรือขึ้นชื่อว่า เกิด กำเนิด อุบัติขึ้น ปรากฎขึ้นแล้ว) ความตาย ย่อมจะตามมาเป็นคู่….ด้วยกันเสมอ

ไม่รู้ใครอ่านแล้ว รู้สึกไงนะ? เพราะพอพูดถึงเรื่องตาย (ในวันเกิดด้วย) แล้ว หลายคนคงกลัว ไม่อยากนึกถึง แต่ผมกลับรู้สึกจิตสงบดี….

ขอบคุณทุกคำอวยพร จากทุกท่านอีกครั้งครับ.!!

พ่อไก่อู / จิด.ตระ.ธานี

0 comments on “วันเกิด ฤๅวันตายAdd yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *