Jidrathanee Fine Dhamma Media Fund's Logo HomeHistoryDhamma MediaFuneralNewsArticalContact
Thanee's Facebook
Jidrathanee Fine Dhamma Media Fund's Logo

 
Article

๒. เหตุผลของการมีความสุขร่วมกัน และ การบำเพ็ญทาน ๑๐ ประการ โดย พ่อไก่อู (๑๔ ก.พ. ๒๕๕๖)

หลังจากผมได้อ่านคอลัมน์ 'จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว' ใน นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๑๖๖ ประจำวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ (ซึ่งตรงกับวันตรุษฝรั่ง Valentine's day พอดี) เขียนโดย คุณดังตฤณ

      เนื้อหาบรรยายถึง เหตุผลของการมีความสุขร่วมกัน ซึ่งเกิดจากการทำบุญให้ทาน ซึ่งให้ความสุขมากกว่าการทำทานเพียงคนเดียว อ่านแล้วดีจังเลยครับ ก็เลยอยากจะนำมาแบ่งปันกันครับ
      นอกจากนี้ ผมยังได้เพิ่มเนื้อหา การบำเพ็ญทาน ๑๐ ประการ ซึ่งหลายๆ ท่านที่นิยมทำทานกันเป็นส่วนใหญ่ มักเข้าใจผิด คิดว่าการทำทานคือ ต้องเสียเงิน เท่านั้น แต่ในหลักการบำเพ็ญทานทั้ง ๑๐ ข้อนี้ มีเพียงข้อเดียว ที่ให้ทรัพย์หรือเงินเป็นทาน แต่ที่เหลืออีก ๙ ข้อ กลับไม่ต้องเสียสตางค์เลยสักบาทเดียว และ ข้อ ๙ (คือ อภัยทาน) และ ข้อ ๑๐ (ให้ธรรมะ 'ที่ถูกตรง' เป็นทาน) ก็เป็นการทำทาน ที่ให้อานิสงส์มากที่สุด กว่าทุกๆ ข้อซะด้วยสิครับ

พ่อไก่อู

 

เหตุผลของการมีความสุขร่วมกัน

      เหตุผลที่การทำทานร่วมกัน เป็นสุขกว่าการทำทานคนเดียว คือ มีจำนวนความสุขอันเกิดแต่การทำทานมากกว่า เปรียบเหมือนลงน้ำสระใหญ่ ย่อมชุ่มชื่นเต็มอิ่ม ได้ดำผุดดำว่ายสบายตัวกว่าลงน้ำในอ่างเล็ก ทุกคนรู้สึกถึงปีติสุขยิ่งใหญ่นั้นได้ในช่วงแห่งการเทน้ำใจไปรวมกัน แม้ไม่อาจอธิบายได้ว่าทำไมถึงสุข แต่ก็รู้ได้ว่าสุขจริง

      เหตุผลที่การทำทานร่วมกัน ให้ผลใหญ่กว่าการทำทานคนเดียว คือ เกิดกระแสน้ำใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่รู้สึกปีติว่าน้ำใจดีๆ ที่เทมารวมกันในปัจจุบัน เป็นหลักประกันความสุขร่วมทางในอนาคต เปรียบเหมือนคนเดินทางไกล ย่อมอุ่นใจเมื่อไม่เห็นตัวเองเดินตามลำพัง แต่ยังมีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เป็นญาติร่วมน้ำใจ ทั้งข้างหน้า ข้างขวา ข้างซ้าย และข้างหลัง

      เหตุผลที่การทำทานร่วมกัน จะช่วยลดการแบ่งชั้นวรรณะลงได้ คือ ไม่ว่าใครทำน้อยหรือทำมาก ก็เหมือนช่วยกันเอาอิฐมากน้อย มาร่วมก่อเจดีย์ตามกำลังของแต่ละคน เมื่อเจดีย์สำเร็จลง ก็ได้กราบไหว้เจดีย์เดียวกัน หมดความสำคัญมั่นหมายว่า ไหว้เจดีย์อันเกิดจากอิฐของใครที่ส่วนไหน ปีติอันเกิดจากการเห็นเจดีย์ที่สำเร็จจากการร่วมมือลงแรงกัน ย่อมประสานความรู้สึกมีไมตรีเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ต่อไปถ้าต้องร่วมครอบครัว ร่วมงาน หรือร่วมปกครองคน ก็จะมีรากฐานของความรู้สึกรักใคร่กลมเกลียว มีเหตุผลักดันให้อยากเอาสิ่งที่ตนมีไปเติมให้สิ่งที่คนอื่นขาด ไม่อยากแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น นั่นก็เพราะรากของบุญเป็นอย่างไร ผลของบุญก็เผล็ดสอดคล้องตามนั้น

      ผลของบุญมีจริง ปรากฏชัดที่ใจเมื่อบุญนั้นใหญ่พอ ผลของบุญที่ปรากฏชัดในชีวิตนี้คือจิตที่สว่าง และความสว่างของจิตก็ปรุงสายตาให้เห็นทุกสิ่งรอบตัวสว่างไสว พร้อมยิ้ม พร้อมเห็นแง่ดีของโลก และที่สำคัญคือพร้อมจะเป็นมิตร ไม่ใช่พร้อมคิดเบียดเบียนกันอย่างศัตรูครับ

ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๕๖

 
Lotus flower การบำเพ็ญทาน ๑๐ ประการ

๑. ให้ทานด้วย ทรัพย์สินเงินทอง
๒. ให้ทานด้วย สายตาที่เมตตาปราณี
๓. ให้ทานด้วย ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
๔. ให้ทานด้วย วาจาที่ไพเราะน่าฟัง
๕. ให้ทานด้วย ให้แรงงานช่วยเหลือผู้อื่น
๖. ให้ทานด้วย การอนุโมทนายินดีเมื่อผู้อื่นทำดี
๗. ให้ทานด้วย การให้อาสนะ (ที่นั่ง)
๘. ให้ทานด้วย การให้ที่พักอันสะดวกสบาย
๙. ให้ทานด้วย การให้อภัย
๑๐. ให้ทานด้วย การให้ธรรมะ

จากหนังสือ 'สาระแห่งชีวิตคือรักและเมตตา' : พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
 

(เพิ่มเติมความรู้เรื่อง 'ทาน ในอีก ๒ ความหมาย' อีกนิดนะครับ จาก วิกิพีเดีย)

ทาน ที่แปลว่า การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หมายถึง การให้ทานด้วยจิตใจที่ดีงาม มุ่งเพื่อบูชาพระคุณ เช่น ให้แก่บิดามารดา ถวายแก่พระสงฆ์ เป็นต้น บ้างมุ่งเพื่อสงเคราะห์ เช่น ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก ให้แก่คนทั่วไป ด้วยความกรุณาสงสารบ้าง

ทาน ที่แปลว่า วัตถุที่พึงให้ ย่อมาจาก "ทานวัตถุ" หมายถึงสิ่งของสำหรับให้สำหรับเสียสละให้ผู้อื่น ได้แก่สิ่งของที่ถวายพระ สิ่งของที่ควรนำไปให้เพื่อตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีพระคุณ เช่นพ่อแม่ ครู อาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่าไทยทาน บ้าง ไทยธรรม บ้าง มี ๑๐ อย่างได้แก่ อาหาร, น้ำ, เครื่องนุ่งห่ม, ยานพาหนะ, มาลัยและดอกไม้, ของหอม (ธูปเทียน), เครื่องลูบไล้ (สบู่เป็นต้น), ที่นอน, ที่อยู่อาศัย, และประทีป (ไฟหรือไฟฟ้า) การให้ทานวัตถุ ๑๐ อย่างนี้ มีผลอานิสงส์มาก เพราะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีโทษ ไม่มีพิษภัยแก่ผู้รับ การเลือกของที่จะให้บัณฑิตสรรเสริญ ด้วยจิตใจที่ดีงาม

ทานเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ทานมัย" คือบุญที่เกิดจากการให้ เป็นสังคหวัตถุ คือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ และเป็นบ่อเกิดแห่งบารมีที่เรียกว่า ทานบารมี

การให้ทานมีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อการคลายความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภในจิตใจมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความ ใส สว่าง สะอาดของจิตใจขึ้นมา
 
 
กลับด้านบน
 
 
 
 
กลับด้านบน
 
  Home | ประวัติ | สื่อธรรมะ | สื่อธรรมะงานมงคล/งานศพ | ข่าวสาร | บทความ | ติดต่อ  
  Create and Maintained by JitdraThanee © 2012-2014 All Rights Reserved.