หลักการและเหตุผล
เขียนเมื่อ : 26 ส.ค. 2556 | อัพเดทล่าสุด : คอยก่อน
กลุ่ม "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" : ห้อง กิจกรรมพิเศษ สำหรับส่งสเก็ตช์
ถ้ายังจำกันได้ตอนพิธีเปิดนิทรรศนา ศิลปะ ธรรมะ "จิด-ตระ-ธานี เกิด จุติ ๑ วาดเส้น" เมื่อวันเสาร์ที่ 8 ก.ย. 2556 ผมให้สัมภาษณ์บนเวทีไว้ว่า จะมีการจัดแสดงผลงานอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 แต่จะทิ้งห่างกันปีเว้นปี (ทำนอง Biennale) ในชื่อนิทรรศการเดียวกัน แต่เปลี่ยนคำลงท้ายนิดหน่อยจาก ๑ เป็น ๒ และจาก 'วาดเส้น' เป็น 'เล่นสี' และก็ตามชื่องานในครั้งนี้คือ "จิด-ตระ-ธานี เกิด จุติ ๒ เล่นสี" โดยเราจะวาดภาพสีมาแสดงร่วมกันครับ
แต่ไม่ต้องตกใจไปนะครับ สำหรับสมาชิกท่านใดที่ถนัดงานลายเส้น หรือผลงานลายเส้น มีความโดดเด่นมากกว่า ยกตัวอย่าง พี่ตุ้ม เทอดสิทธิ์ สมาชิกหมายเลข 55 ซึ่งผมแนะนำว่า ให้คงรูปแบบงานลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไว้ (แต่หากจะทดลองเพิ่มเติมสีปากกา จากสีดำปกติ ไปเป็นสีม่วง เขียว ฟ้า แซมๆ ในรูปบ้างก็สามารถทำได้นะ หรือจะสีดำล้วนแบบเดิม ก็ไม่มีปัญหาครับ)
งานนี้จะมีหลักการเบื้องต้น ไม่ต่างจากเดิมครับ คือ แสดงงานเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปทำบุญร่วมกัน และให้โอกาสกับสมาชิกในกลุ่ม "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" ทุกท่านๆ ที่มีความพร้อมส่งผลงานร่วมแสดงกับเหล่าศิลปินมืออาชีพ โดยความพร้อมในที่นี้หมายถึง
- มีความตั้งใจจริง (เช่น สามารถจัดสรรเวลาทำงานได้ลงตัว) และสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูง ส่งร่วมแสดง
- มีความพร้อมที่จะใส่กรอบรูปที่เข้ากับภาพ และส่งเสริมผลงานตนเอง (กรอบรูปที่ดี จะส่งเสริมผลงานให้ดูดีขึ้น แต่..กรอบรูปที่แย่ ก็จะทำลายผลงาน โดยกรอบรูปที่ดีและเข้ากับผลงานนั้น ไม่จำเป็นต้องมีราคาสูง แต่อยู่ที่เราเลือกได้ถูกต้องมากกว่า โดยผลงานทุกชิ้นที่ส่งแสดง ต้องพร้อมติดตั้งนะครับ)
- สามารถมาส่งและรับผลงานคืนด้วยตนเอง หรือพร้อมที่จะส่งและรับผลงานคืนทางไปรษณีย์ได้ โดยสมาชิกเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งกลับ (เนื่องจากการแสดงผลงานครั้งนี้ เราจะไม่มีการบริจาคผลงานให้กับวัด เหมือนครั้งแรกนะครับ โดยหลังจบนิทรรศการแล้ว ถ้าหากผลงานไม่ถูกจำหน่าย ทุกท่านต้องรับผลงานคืนทั้งหมด)
จริงๆ ข้อแรก คือความตั้งใจจริง ที่จะส่งผลงานที่มีคุณภาพสูง มีความสำคัญที่สุดๆ ๆ ถึงมากที่สุดๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เลยนะครับ (อีก 2 ข้อที่เหลือ เป็นเรื่องเงินทุน ซึ่งค่อยๆ เก็บออมไว้ได้ ตั้งแต่ตอนนี้) เพราะจากประสบการณ์ที่จัดแสดงงานครั้งแรก สมาชิกบางคนทำเอาผม เงิบ! เพราะทำงานไม่ได้คุณภาพเพียงพอส่งมา เล่นเอาผมแทบหมดกำลังใจ เพราะการจัดงานแต่ละครั้ง บ่องตง... เหนื่อยมั่กๆ เลยนะครับ ทั้งเรื่องเวลาที่ผมต้องเตรียมงานอยู่หลายเดือน เรื่องหาทุนจัดงานในแต่ละครั้ง ซึ่งสูงถึง 6 หลัก แต่คุณเล่น 'ไม่ใจ' กับผมแบบนี้ ทำให้ครั้งนี้ ผมจำเป็นต้องคัดเลือกงานมากขึ้น (แปลงร่างเป็น 'ครูโหด' โดยพลัน...อิอิ)
จริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพียงคุณสร้างสรรค์ผลงานให้สุดฝีมือเท่านั้นแหละครับ ผมดูออกนะ เพราะทุกคนต้องเป็นสมาชิกในกลุ่ม "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" ที่เป็นเว็บหลักมาก่อน จึงจะส่งผลงานร่วมแสดงได้ โดยผมต้องผ่านตาผลงานทุกๆ คนมาแล้ว จึงสามารถประเมินได้ว่า สุดฝีมือของแต่ละคน..แค่ไหน
และพวกเราจะได้แสดงผลงานร่วมกับเหล่าศิลปินรับเชิญ ซึ่งล้วนมีฝีมือด้านลายไทยระดับประเทศ ชั้นครูเลย และ ณ เวลานี้ที่ตอบรับมาแล้ว (อาจมีเพิ่มอีกนะครับ) มีรายชื่อดังนี้ครับ
- อนุเทพ พจน์ประสาท (ครูกบ)
- ยุทธนา วิวัฒน์เดชากุล (ปุราณ วิวัฒน์)
- ภูษิต กาญจนศิริปาน
- สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์
- ชัชวาล รอดคลองตัน
- ธณาเศรษฐ์ ศิรอภิวัลย์
- ยุทธนา พงศ์ผาสุก (ทองหยอด)
- พรรษา สุนาวี
- เอกสิทธิ์ จิรัตติกานนท์
โดยผลงานที่ร่วมแสดงครั้งนี้ ของศิลปินรับเชิญแต่ละท่าน จะมีขนาดประมาณ 1 เมตร หรือใหญ่กว่า สำหรับภาพวาดสีนะครับ (งานครั้งนี้จะมี งานประติมากรรมร่วมแสดงด้วย เหมือนครั้งแรก) ส่วนพวกเราถ้าใครไฟแรงสูง จะส่งผลงานร่วมแสดงชิ้นเป็นเมตรๆ มาก็ได้นะ แต่ต้องบอกผมก่อนล่วงหน้าด้วยนะครับ เพราะจำเป็นสำหรับการกำหนดพื้นที่จัดแสดง
แต่ขนาดต่ำสุดที่ผมให้พวกเราส่งผลงานร่วมแสดงในครั้งนี้ก็คือ ขนาด A2 หรือกระดาษ A4 ต่อกัน 4 แผ่นเท่านั้นครับ ดูเงื่อนไขการส่งผลงานด้านล่างต่อเลย
.เงื่อนไขการส่งผลงาน
มาถึงเงื่อนไขการส่งผลงาน ซึ่งผมจะอธิบายเป็นข้อ ๆ ดังนี้ครับ
เงื่อนไข
- ต้องเป็นสมาชิกในกลุ่ม "วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" เท่านั้น ถ้าหากใครเป็นสมาชิกอยู่แล้ว ก็สามารถแจ้งชื่อ/บอกหมายเลขสมาชิก และเตรียมตัวส่งผลงานได้เลย แต่..ถ้าใครยังไม่ได้เป็น ก็ง่ายมั่กๆ สมัครก่อนสิครับ! คลิกตรงนี้เลย หลังจากผมได้รับผลงานแล้ว ก็จะเอาผลงานขึ้นเว็บต่อไป และคุณก็จะได้หมายเลขสมาชิกโดยพลัน
- ขนาดบังคับสำหรับการส่งผลงานร่วมแสดงในครั้งนี้คือ A2 (42 x 59.4 ซม.) หรือกระดาษ A4 ต่อกัน 4 แผ่น (ดูตามรูปด้านล่างนะ) ห้ามเล็กกว่านี้ครับ (แต่ใหญ่กว่าได้) โดยจะวาดในแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ตามสะดวก (แต่เวลาส่งผลงานจริง ต้องบอกด้วยนะครับว่า ผลงานจะวางแนวตั้งหรือแนวนอน เพราะจะมีผลกับการกำหนดพื้นที่ สำหรับแขวนภาพครับ)
ครั้งนี้ผมแนะนำให้วาดบนผ้าใบ หรือไม้อัดปูผ้าใบ แล้วรองพื้นด้วยสีสำหรับเขียนภาพ แทนการวาดบนกระดาษ สำหรับสมาชิกที่อยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่กรุงเทพฯ แต่จำเป็นต้องส่งผลงานทางไปรษณีย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใส่กรอบกระจก จะได้ไม่มีปัญหากระจกแตก เวลาส่งไปรษณีย์มาถึงผมนะครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกปุ่ม 'เตรียมเฟรม' ซ้ายมือครับ
- สามารถส่งผลงานได้ทั้ง จิตรกรรมไทย (ภาพวาด) และงานประติมากรรมไทย (งานปั้นปูนสด, หล่อโลหะ) ถ้าใครจะส่งงานปั้น ต้องแจ้งให้ผมทราบล่วงหน้า และบอกขนาดของชิ้นงาน และวัสุดที่ใช้ทำมาด้วยนะครับ (ไม่รับงานแบบสากลนะครับ เพราะเป็นกลุ่มศิลปะไทย)
- สมาชิกแต่ละคน สามารถส่งผลงานได้มากกว่า 1 ชิ้น แต่ไม่ควรเกิน 3 ชิ้น
- ต้องเป็นผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับ 'ศาสนาพุทธ' เท่านั้น อันนี้ขอเน้นเลยนะครับ เพราะชื่อนิทรรศการก็บอกโต้งๆ อยู่แล้วว่าเป็น นิทรรศนา ศิลปะ ธรรมะ (โดยผมจะนิมนต์พระอาจารย์มาแสดงธรรม ก่อนพิธีเปิดนิทรรศการเหมือนในครั้งแรก) และขอเป็นพุทธแบบเถรวาทเป็นหลักด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นการวาดภาพที่เกี่ยวกับเทพเจ้าในศาสนาอื่น เช่น ศาสนาฮินดู ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพุทธในสายตาคนไทยทั่วไปอยู่แล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ เพราะเป้าหมายไปกันคนละทางเลย แต่ถ้าสามารถอธิบายได้ว่า เทพเจ้าเหล่านั้น ท่านมาปรากฏอยู่ในผลงานของคุณ ด้วยเหตุอันใด เกี่ยวข้องกับคำสอนขององค์พระศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร ก็ได้เลยครับ
และสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้พวกเราเข้าใจว่า ถ้าหากจะวาดภาพเกี่ยวกับศาสนาพุทธแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีรูป คนนั่งสมาธิ เศียรพระพุทธรูป หรือเจดีย์ อะไรเลยก็ได้นะครับ เพราะคำสอนในพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เพียงแค่สัญลักษณ์เหล่านั้นเท่านั้น แต่..สามารถตีความได้หลากหลาย อย่างเช่น คำสอนเรื่อง กฎแห่งกรรม ดังพุทธภาษิตที่ว่า กมฺ มุนา วตฺตตี โลโก แปลว่า "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" เป็นต้น (ถ้าเป็นชาวพุทธแท้ จะเชื่อเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรม หรือ วิบากกรรม ที่ล้วนมาจากการกระทำของตัวเราเอง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ใช่ทำนองชีวิตเราถูกลิขิต หรือเป็นไปต่างๆ นาๆ โดยเทพเจ้าองค์นั้นองค์นี้นะ และวิบากกรรมที่ว่า ก็ไม่ใช่การงอมืองอเท้า ท้อถอย หลงงมงายกับกรรมเก่า แต่เราทุกคนเกิดมาเพื่อพัฒนากรรมใหม่ ที่สว่างกว่าเดิม เป้าหมายเพื่อหลุดพ้นจากวงจรการเวียนตายเวียนเกิด ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัสอย่างสิ้นเชิง ที่สมมุติเรียกว่า นิพพาน)
หรือจะพูดเรื่องง่ายๆ เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ได้ หรือจะพูดในแง่ของสังคม เช่น ตอนนี้มีข่าวพระสงฆ์ดังๆ แต่ทำตัวไม่น่านับถือ ทำให้ศาสนาพุทธโดยรวมเสื่อมเสียมาก (ทำนองปลาเน่า 1 ตัว เหม็นไปทั้งเข่ง) แล้วเรารู้สึกอย่างไร และพระที่ดีควรเป็นอย่างไร ก็สามารถเอามาตีความ อธิบายเป็นภาพได้ และผมขอเน้นอีกว่า...ขอให้เลือกวาดภาพ ในเนื้อเรื่องอย่างที่เราชอบ และเข้าใจด้วยนะครับ แต่ถ้า...ไม่เข้าใจตรงไหน เกี่ยวกับคำสอนในศานาพุทธ ก็ปรึกษาผมได้เลย หรือจะพูดถึงวิถีชาวพุทธแบบไทยๆ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ เช่น เข้าพรรษา ตักบาตรเทโว หรือเรื่องราวในพุทธประวัติ ชาดกพระเจ้า 10 ชาติ ซึ่งก็มีให้เลือกเขียนอยู่มากมายเลยครับ
อีกอย่างคือ ห้ามก๊อปปี้ ผลงานของศิลปินดังๆ เช่น อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อ.จักรพันธ์ โปษยกฤต หรือผลงานของจิตรกรท่านอื่นๆ ไม่ว่าใครก็ตาม แล้วบอกว่าคิดเอง ออกแบบเอง ทั้งหมด อย่างนี้ไม่เอานะครับ ไม่รับ
- งานทุกชิ้น ก่อนจะขึ้นผลงานจริง ต้องส่งภาพร่าง หรือสเก็ตช์ (sketch) ก่อน อันนี้ถือเป็นการคัดเลือกงานไปในตัวด้วย เป็นความคิดของครูกบครับ ซึ่งท่านอยากจะให้เห็นขั้นตอนการทำงานว่า กว่าจะมาเป็นผลงานแต่ละชิ้นๆ ได้นั้นต้องทำอย่างไรกันบ้าง โดยพวกเราแต่ละคน ต้องส่งสเก็ตช์ให้ผ่านก่อน จะขึ้นผลงานจริงกันนะครับ
โดยเหล่าครูและบรรดาศิลปินรับเชิญ ที่จะมาช่วยแนะนำ และตรวจผลงานสเก็ตช์ให้กับพวกเรา มีทั้งหมด 6 ท่าน
(คลิกเหนือรูป เพื่อดูผลงานของแต่ละท่าน)
โดยผลงานสเก็ตช์ของแต่ละคน จะไม่หายไปไหนนะครับ แต่จะถูกจัดพิมพ์รวมลงในสูจิบัตรนิทรรศการครั้งนี้ด้วย ควรสเก็ตช์ลงบนกระดาษขนาด A4 (ใหญ่กว่านี้ได้ แต่ไม่ควรเกิน A3) เพราะทุกๆ คนจะต้องส่งสเก็ตช์จริงๆ มาให้ผมสแกน (เครื่องผมสแกนได้ใหญ่สุดขนาด A3) เพื่อจัดทำสูจิบัตรนิทรรศการต่อไปด้วยครับ *งานสเก็ตช์สี ไม่ควรใช้กระดาษถ่ายเอกสารบางๆ นะ แต่ให้หนาหน่อย และควรเป็นกระดาษที่ไม่บวม หรือเป็นริ้วๆ เมื่อโดนน้ำ หรือถูกระบายสีลงไป
แต่ถ้าใครไม่เข้าใจว่างานสเก็ตช์ หรือการวางแผนล่วงหน้าก่อนวาดรูปจริงเป็นยังไง สามารถดูวิดีโอด้านล่าง ซึ่ง พี่ต้อย หรือ อ.ประทีป คชบัว ศิลปินไทยแนวเซอเรียลิสต์ (surrealism ลัทธิเหนือจริง) ที่ประสบความสำเร็จ และโด่งดังในวงการศิลปะบ้านเรา สาธิตผ่านรายการ Daradaily Art Show ให้ดูนะครับ
สามารถส่งผลงานสเก็ตช์ได้ที่ "Facebook กลุ่ม วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" ซึ่งผมจะเปิดห้องกิจกรรมพิเศษ 'จิด-ตระ-ธานี เกิด จุติ ๒ เล่นสี : คลิก' เพื่อส่งสเก็ตช์เพิ่มต่างหากด้วยครับ (สมัครเข้าร่วมกลุ่ม วาดเล่นๆ ใน FB คลิกที่นี่ครับ) ถ้าศิลปินทั้ง 6 ท่านด้านบน ได้แนะนำและให้ผ่านแล้ว ก็สามารถสร้างชิ้นงานจริงออกมาได้เลยครับ
กลุ่ม "วาดเล่นๆ กับ จิด-ตระ-ธานี" : ห้อง กิจกรรมพิเศษ สำหรับส่งสเก็ตช์
สมาชิกหลายคนในกลุ่ม ก็จบสายศิลปะโดยตรง อาทิ ศิลปกรรม (คลอง 6) เพาะช่าง ช่างศิลป ศิลปากร ฯลฯ และอีกหลายคนยังเป็นมืออาชีพอีกด้วย ก็น่าจะไม่ยากนะครับ ขอให้ทำงานให้เต็มที่เลย
ถ้างานสเก็ตช์ของสมาชิกคนไหนผ่านแล้ว จะลงในเว็บให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยครับ
ต่อไปจะแนะนำเรื่องการเตรียมเฟรมสำหรับวาดภาพครับ
.การเตรียมเฟรม
บอกก่อนว่า.. ผมไม่บังคับนะครับ เพียงแต่ต้องการแนะนำ การวาดภาพบนผ้าใบ หรือบนไม้อัดปูผ้าใบ แล้วรองพื้นสำหรับเขียนภาพ เพิ่มเติม แทนการวาดภาพบนกระดาษ เพื่อหลีกเลี่ยงการใส่กรอบกระจก (ภาพวาดบนกระดาษ จำเป็นต้องใส่กรอบกระจก) ซึ่งกระจกอาจจะแตกได้ การจากขนส่งทางไปรษณีย์ อย่างผลงานของ เต้ย ธีรวัฒน์ สมาชิกหมายเลข 57 ที่ส่งมาจาก จ.อยุธยา ดังภาพด้านล่าง
แต่ปัญหานี้ ก็ไม่ได้เกิดกับทุกคนนะครับ อย่างฝ้าย จิรพันธุ์ สมาชิกหมายเลข 3 ที่ส่งมาจาก จ.ระยอง ก็ห่อมาได้แน่นหนาดี มีโฟมเนื้อแน่น กันกระแทกห่อคลุมมาทั้ง 2 ด้าน (แผ่น EPE FOAM หาซื้อได้ที่ไปรษณีย์ไทย แผนก LogisPost เป็นโฟมเนื้อหนาประมาณ 0.5 - 1 ซม. ไม่ใช่แผ่นโฟมอากาศ บีบเล่นๆ ดังเป๊าะแป๊ะๆ อย่างในภาพนะ) เพราะถ้าห่อมาดี ก็ไม่มีปัญหาครับ ส่งตรงถึงผมโดยสวัสดิภาพได้เช่นกัน
แต่คราวนี้ขนาดผลงานที่ผมบังคับส่ง จะมีขนาดใหญ่กว่าเดิม 1 เท่าตัว (ครั้งก่อนบังคับขนาด A3) ซึ่งอาจจะต้องใช้กระจกหน้ากว้างกว่าเดิม ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงที่จะแตก ถ้าส่งมาจากต่างจังหวัดไกลๆ หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็ตามครับ
ซึ่งขั้นตอนวิธีการเตรียมเฟรมสำหรับวาดภาพ ก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แต่อาจต้องใส่ใจในรายละเอียดนิดหน่อย สำหรับสมาชิกที่มาจากสายอาชีวศิลปะอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหาอะไรเลยนะครับ เพราะมีการสอนให้ทำเฟรมอยู่แล้ว แต่สมาชิกคนอื่นๆ ที่ไม่เคยเลยนี่สิ อยากรู้มั้ยล่ะครับว่า.... เด็กศิลป์เค้าเตรียมเฟรมเขียนรูปกันยังไง ?
- วิธีแรก : ผมเสนอแบบกำปั้นทุบดินเลย คือ ถ้าใครสะดวก และไม่ต้องการเตรียมเฟรมเอง ก็สามารถหาซื้อเฟรมผ้าใบสำเร็จรูปได้ พอแกะห่อปุ๊บ ก็ใช้วาดได้เลย หาซื้อได้ตามร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้า ในแผนกที่ขายอุปกรณ์ศิลปะ ซึ่งมีให้เลือกหลายขนาด หลายราคา แต่ควรเลือกเนื้อผ้าใบแบบที่ละเอียดๆ หน่อยจะดีที่สุดครับ เพราะจะเหมาะกับภาพไทย ซึ่งต้องการผ้าใบเนื้อละเอียดค่อนข้างมาก ต่างจากภาพวาดสีน้ำมันที่ต้องการผ้าใบเนื้อหยาบ เพื่อให้สีเกาะตัวได้ดี
- วิธีที่ 2 : คือเตรียมเฟรมเองครับ โดยเบื้องต้น ถ้าใครพอมีฝีมือเชิงช่าง ก็สามารถตอกเฟรมเองได้เลย อย่างในภาพด้านบน โดยใช้ไม้ฉำฉา หรือไม้ลัง ซึ่งเป็นเศษไม้ที่มาจากท่าเรือนี่แหละครับ หรือไม่ก็ไปจ้างร้านทำกรอบรูป ทำให้ก็ได้ครับ คิดว่าส่วนใหญ่ร้านคงรับทำอยู่
- แต่สำหรับใครที่คิดจะทำเฟรมเอง หรือไปจ้างเขาทำ ผมมีข้อเแนะนำเพิ่มเติมอีกนิดครับ
สำหรับร้านที่มีอาชีพรับจ้างทำกรอบสำหรับวาดรูปอยู่แล้ว เขาจะทราบดีครับว่า การตีไม้ประกอบเฟรมนั้น ต้องใช้กบไสไม้ ไสลบมุมจากขอบไม้ ให้เอียงลงมาหน่อย (ดูรูป หน้าตัดไม้เฟรม ประกอบครับ)
เพราะถ้าหากเราตีไม้ตรงๆ โดยไม่ไสไม้ลบเหลี่ยมมุมก่อน เวลาเราขึงผ้าใบไปแล้ว ในอนาคตหากผ้าใบเกิดหย่อนขึ้นมา ผ้าจะทิ้งน้ำหนักตัวลง จนเห็นรอยขอบไม้ด้านใน เป็นแนวเส้นสันเหลี่ยมยาว รอบรูปทั้ง 4 ด้าน ซึ่งแนวเส้นนี้ จะทำให้รูปวาดของเรามีตำหนิ หมดงามไปเลย แบบภาพหมายเลข 1. ไม่ลบมุม
แต่ถ้ามีการลบมุมให้เรียบร้อยก่อน แบบภาพที่ 2. ลบมุมเอียง (รูปหน้าตัด จะเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู) เมื่อเราขึงผ้าใบไปแล้ว หากในอนาคต ผ้าใบมีการหย่อนตัวลง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็แล้วแต่ ก็จะไม่เห็นรอยที่เกิดจากขอบไม้เป็นแนวยาวเลย จะเซฟกว่าครับ ปกติร้านรับทำกรอบไม้ สำหรับเขียนรูปขึงผ้าใบโดยเฉพาะ เขาจะทราบเทคนิคนี้ดีครับ
- ต่อไปคือ การเตรียมผ้าใบ สำหรับขึงบนกรอบไม้ที่เราเตรียมเสร็จแล้วนะครับ โดยเราจะใช้ ผ้าดิบ แต่ควรเลือกผ้าให้เนื้อหนาสักนิด (ถ้าผ้าดิบบางเกินไป จะขาดง่าย) และควรเลือกผ้าดิบที่ทอเนื้อละเอียดๆ ด้วย เพื่อให้เหมาะกับการวาดภาพไทยนะครับ
- การขึงเฟรมผ้าใบ สมัยก่อนเราจะใช้ตะปูตอกครับ แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่จะใช้แมคยิงลวดกันหมดแล้ว (เหมือนภาพด้านบนที่ แก้ว ภูรวี กำลังขึงผ้าใบด้วย ตัวยิง หรือแมคยิงอยู่นะครับ) ตัวยิงนี้ เป็นอุปกรณ์สำหรับจัดบอร์ดนิทรรศการ ซึ่งโรงเรียนทั่วๆ ไป ก็มีใช้อยู่ครับ แต่เรามีเทคนิคในการขึงเฟรมผ้าใบดังนี้ครับ
- ขั้นแรกคือ ตัดผ้าดิบให้มีขนาดใหญ่กว่าเฟรมของเรา โดยให้ชายผ้าทั้ง 4 ด้าน มีความยาวเลยสันเฟรมด้านข้างลงมาด้วย และให้เลือกตำแหน่งสำหรับขึงเฟรมจุดแรก (ดูภาพ 'วิธีขึงผ้าใบ' ประกอบ) คือ หมายเลข 1. ก่อน ยิงแมคตรงจุดนี้สัก 2 - 3 ตัว จากนั้นให้ย้ายมาฝั่งตรงข้าม หมายเลข 2. โดยต้องดึงผ้าให้ตึงที่สุดเลยนะครับ (อาจต้องใช้เพื่อน หรือผู้ช่วยดึงนะ) ยิงแมคตรงนี้อีก 2 - 3 ตัว เช่นกัน จากนั้นก็ย้ายมาที่ หมายเลข 3. ดึงให้ตึงเหมือนเดิม แล้วยิงแมคจุดนี้ อีก 2-3 ตัว ต่อไปก็มาถึงจุดสุดท้าย คือ หมายเลข 4. ยิงแมคตรงจุดนี้อีก 2 - 3 ตัว ที่นี้ผ้าใบของเรา ก็จะถูกตรึงกับช่วงกลางของไม้เฟรมทั้ง 4 ด้านแล้วนะครับ
- ที่เหลือก็เป็นการยิงแมค เก็บรายละเอียด เพื่อตรึงชายผ้าที่เหลือทั้งหมดกับกรอบเฟรม โดยเราจะเริ่มที่ตำแหน่ง หมายเลข 1. 2. 3. หรือ 4. ก่อนก็ได้ สมมุติว่าเริ่มที่หมายเลข 1. ก่อนนะครับ (ให้เลือกดึงผ้าทางฝั่งซ้าย หรือฝั่งขวาก่อนก็ได้) โดยดึงผ้าตรงตำแหน่งใกล้ๆ หมายเลข 1. ให้ตึงที่สุด แต่คราวนี้เราจะดึงผ้าเข้าหามุมเฟรมด้วยนะครับ พอดึงผ้าตึงดีแล้ว ก็ยิงแมคลงไป แต่คราวนี้อาจต้องยิงลูกแมคถี่ๆ หน่อยนะครับ โดยอาจเว้นช่วงจุดยิงแมคประมาณ 2 ซม. ส่วนด้านที่เหลืออีก 4 จุด ก็ใช้วิธีค่อยๆ ไล่ดึงผ้าเข้าหามุมเหมือนเดิม พอดึงจนผ้าตึงดีแล้วก็ยิงแมค เก็บไปเรื่อยๆ จบครบทุกๆ ด้าน จากนั้นก็ยิงแมคเก็บขอบชายผ้า ที่พับทบมาด้านหลังที่เหลือให้เรียบร้อย (ถ้าชายผ้ายาวไป ก็ตัดออกได้) เสร็จสิ้นขั้นตอนการขึงผ้าใบแล้วครับ เราก็จะได้ผ้าใบตึงๆ ดึ๋งๆ พร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป คือการรองพื้นผ้าใบครับ
- การรองพื้นผ้าใบ
- เราจะใช้สีรองพื้นอยู่ 2 ชนิดครับ ชนิดแรกคือ สีน้ำพลาสติกสีขาว เนื้ออะคริลิก ก็คือ สีทาบ้าน นั่นแหละครับ แต่ให้เราเลือกสีสำหรับทาภายนอก ถ้ามีคุณสมบัติกันเชื้อราได้ด้วยก็ยิ่งดี ซึ่งคุณภาพจะขึ้นอยู่กับราคาด้วยครับ ลองไปสอบถามที่ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง แล้วเลือกซื้อตามความเหมาะสมนะครับ อ้อ..อย่าลืมซื้อกระดาษทรายเนื้อหยาบ และเนื้อละเอียดติดมือมาหลายๆ แผ่นด้วยนะ
- จากนั้นก็ทาลงไปบนผิวผ้าใบได้เลยครับ อ้อ..ชั้นแรกให้ผสมน้ำเปล่าไม่ต้องมากนะ เพราะเราต้องการให้เนื้อสีข้นๆ หน่อย ระบายจนทั่วพื้นผ้าใบครับ อ้อ..อย่าลืมระบายที่สันเฟรมผ้าใบด้านข้าง ด้วยนะครับ จากนั้นก็ปล่อยให้สีแห้งครับ (ใช้เวลาไม่นาน) พอสีแห้งดีแล้วให้ใช้กระดาษทรายหยาบ ขัดผิวผ้าใบให้ทั่วครับ เวลาขัดก็เอานิ้วมือลูบสัมผัสไปด้วย จนพื้นสีเรียบดีครับ
- จากนั้นให้เรารองพื้นผ้าใบอีกสัก 2 - 3 ชั้น (บางคนอาจรอง 4 ชั้นก็ได้) คราวนี้สามารถผสมน้ำเปล่า ให้สีเหลวลงได้แล้วครับ ไม่จำเป็นต้องข้นมากเหมือนรองพื้นครั้งแรก อย่าลืมว่า..พอสีแห้งในแต่ละชั้น ให้ใช้กระดาษทรายเนื้อหยาบ ขัดทุกๆ ครั้งด้วยครับ (การขัดกระดาษทราย เหมาะกับการรองพื้นเขียนภาพไทย ที่ต้องการพื้นผิวเรียบเป็นพิเศษ)
- สีรองพื้นชนิดที่ 2 ที่เราเลือกใช้ จะเป็นสีรองพื้นสำหรับเขียนรูปโดยเฉพาะ มีชื่อทางการค้าว่า Gesso (เกสโซ่) มีหลายยี่ห้อ หลายขนาด หลายราคาครับ (ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากต่างประเทศ) ให้สอบถามที่ร้านขายอุปกรณ์วาดรูป หรือในห้าง ที่มีแผนกขายอุปกรณ์ศิลปะนะครับ ลองคลิกลิงค์ร้าน minimor และร้าน HHK เพื่อดูรายละเอียด ราคา และสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ครับ
- สี Gesso (เกสโซ่) เราจะใช้รองพื้นเป็นชั้นสุดท้ายครับ (อาจจะรองทับสัก 2 - 3 ชั้นได้ครับ) โดยผสมน้ำให้เหลวพอควร ไม่ต้องข้นมาก พอสีแห้งในแต่ละชั้น ให้ใช้กระดาษทรายเนื้อละเอียดขัดๆ ให้ทั่ว จนกว่าผิวจะเรียบตามที่เราต้องการ (ใช้นิ้วลูบ แล้วไม่สะดุด) พอรองพื้นจนพอใจ และขัดผิวจนเรียบดีแล้ว ต้องทิ้งเฟรมไว้ให้แห้งสนิท อย่างน้อยๆ 1 - 2 วัน เราก็จะได้เฟรมผ้าใบที่พร้อมสำหรับเขียนรูปแล้วครับ (*การใช้เกสโซ่รองพื้นในชั้นสุดท้าย อาจไม่ต้องใช้ได้ครับ ถ้าเรามีงบน้อย เพราะราคาต่อขวด หรือกระปุก ค่อนข้างแพงพอควร แต่ถ้าเราเลือกใช้สีพลาสติกรองพื้น ที่มีคุณภาพสูงๆ หน่อย ก็พอจะแทนกันได้ครับ)
- การเตรียมไม้อัดปูผ้าใบ
- บางคนอาจชอบวาดรูปบนไม้อัดแข็งๆ มากกว่าผ้าใบขึงเฟรม ซึ่งเหมาะกับเทคนิคของแต่ละคนไป โดยเราจะใช้ไม้อัดหนาตั้งแต่ 4 - 6 มิลลิเมตร ขึ้นไป (ถ้ารูปมีขนาดใหญ่ ควรเลือกไม้อัดหนาๆ หน่อย เพราะไม่งั้นไม้อัดอาจจะงอหรือแอ่นได้ หรือถ้าหากรูปมีขนาดใหญ่มากๆ อาจต้องตีโครงไม้ประกบด้านหลัง เพื่อกันไม้อัดงอ) จากนั้นสามารถรองพื้น ด้วยสีน้ำพลาสติกสีขาวลงไปได้เลย (เทคนิคเดียวกับรองพื้นผ้าใบ คือ ทา แห้งแล้ว ก็ขัดหลายๆ ชั้น) แต่ที่ผมจะแนะนำเพิ่มเติมคือ การปูผ้าใบบนไม้อัดครับ
- การปูผ้าใบบนไม้อัด เพื่อให้ได้ผิวสัมผัสแบบเดียวกับวาดบนเฟรมผ้าใบ แต่กรณีไม้อัด เราจำเป็นต้องทากาวลาเท็กซ์ ลงไปบนผิวไม้อัดก่อน เพื่อให้เนื้อผ้ายึดเกาะกับผิวไม้ได้ สำหรับกาวที่ผมแนะนำคือ กาวที่ใช้ในงานก่อสร้างครับ เพราะจะข้นหน่อย (ดีกว่ากาวลาเท็กซ์ใสๆ แบบที่ใช้ติดกระดาษ ในห้องเรียน) หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้าวัสดุก่อสร้าง คือ กาวลาเท็กซ์ยี่ห้อ TOA ขายเป็นกระปุก มีหลายขนาด
- ก่อนอื่นก็ต้องตัดผ้าดิบ ให้มีขนาดใหญ่กว่าไม้อัดของเราก่อนนะครับ ทั้งนี้เพื่อจะได้พับผ้า ห่อไม้อัดไปทางด้านหลังได้ โดยผ้าดิบคราวนี้ อาจไม่ต้องใช้เนื้อหนามาก เท่ากับผ้าดิบที่ขึงบนเฟรมไม้ก็ได้ครับ บางลงนิดหน่อยไม่เป็นไร เพราะผ้าต้องติดอยู่กับเนื้อไม้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวหย่อน หรือขาด แต่ก็ต้องเลือกใช้ผ้าดิบ ที่ทอเนื้อละเอียดๆ เหมือนเดิมครับ
- ให้เราตักกาวลาเท็กซ์จากกระปุก ละเลงลงไปบนผิวไม้อัดให้ทั่วครับ ต้องพยายามทากาวให้เรียบด้วยนะครับ โดยอาจใช้วัสดุผิวเรียบๆ ขนาดเหมาะมือช่วยปาด เช่น ไม้โปรเทคเตอร์ เป็นต้น เพราะถ้าปาดกาวไม่เรียบ เวลาปูผ้าลงไป ผ้าจะปูดเป็นลูกๆ ตามรอยเนื้อกาวที่ไม่เรียบ
- มีเทคนิคเพิ่มอย่างหนึ่งครับ เพื่อจะปูผ้าให้ติดกับเนื้อไม้อัดได้ดีขึ้น คือ ให้เราเอาผ้าดิบไปจุ่มน้ำ และบิดให้หมาดๆ จนเกือบแห้ง (ผ้าห้ามแฉะนะครับ) พอปาดกาวจนเรียบดีแล้ว ก็ปูผ้าลงไปครับ ใช้มือรีดหรือจะใช้อุปกรณ์ช่วยรีด ให้ผ้าดิบ ติดแนบไปกับผิวไม้อัดจนเรียบ ระวังอย่าให้ผ้ามีรอยย่นนะครับ พอผ้าเรียบตึงดีแล้ว ก็พับชายผ้าที่เหลือทบมาด้านหลังไม้อัด (ถ้าผ้ายาวไป ก็เล็มทิ้งได้) ทากาว และรีดชายผ้าให้เรียบ ติดกับพื้นหลังไม้อัดเช่นกันครับ พอเสร็จแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ จนกาวแห้งสนิทครับ
- พอกาวแห้งสนิทดีแล้ว ก็รองพื้นโดยใช้สีน้ำพลาสติกสีขาว และสี Gesso (เกสโซ่) เหมือนขั้นตอน การรองพื้นบนผ้าใบทุกอย่างเลยครับ คือ ชั้นแรกผสมสีข้นๆ หน่อย รอแห้งแล้วขัด รองพื้นซ้ำอีก 2 - 3 ชั้น จนถึงชั้นสุดท้ายให้รองพื้นด้วย Gesso (เกสโซ่) อีกประมาณ 2 - 3 ชั้น แห้งแล้วขัด จนพื้นผิวเรียบดี พอเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิทอีกประมาณ 1 - 2 วัน ก็พร้อมใช้งานแล้วครับ
สีที่เหมาะสำหรับวาดภาพบนผ้าใบ คือ สีอะคริลิก (acrylic color) สีน้ำมัน (oil color) ส่วนสีน้ำ (water color) สีไม้ (colored pencils) สีโปสเตอร์ (poster color) เหมาะกับการวาดบนกระดาษ
อ้อ..มีเรื่องสำคัญที่ผมพบ จากการแสดงผลงานครั้งที่ผ่านมา คือพวกเรา เวลาวาดรูปไม่ยอมเผื่อ เว้นขอบด้านข้าง สำหรับใส่กรอบไว้บ้างเลย เล่นวาดซะเต็มพื้นที่ ชิดขอบหมดทุกด้าน พอถึงเวลาต้องขนไปใส่กรอบจริง เนื้องานตามขอบๆ เลยโดนแนวกรอบบังซะนี่ เพราะฉะนั้นครั้งนี้ ควรเว้นขอบไว้อย่างน้อย 1.5 - 2 ซม. ทุกๆ ด้าน ก่อนวาดนะครับ เพื่อเวลาเอาไปใส่กรอบแล้ว เนื้องานจะได้ไม่ชิดขอบ จนถูกแนวกรอบบัง จะได้เห็นงานครบๆ ครับ
.การส่งและรับผลงานคืน
ตอนนี้ผมยังไม่ทราบว่า จะได้พื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน ของกลุ่มพวกเรากันที่ไหนนะครับ เพราะยังอยู่ระหว่างติดต่อ ขอใช้พื้นที่แสดงงานอยู่ แต่ตั้งใจว่าจะแสดงผลงานในช่วง ตุลาคม 2557
ผลงานทุกชิ้นที่ร่วมแสดงคราวนี้ ต้องตั้งราคาขายด้วยนะครับ เพราะผมจะนำรายได้ส่วนหนึ่ง ร่วมทำบุญเหมือนแสดงงานครั้งแรก (ครั้งแรกทำบุญร่วมสร้าง "ธรรมสถาน อาศรมน้อมสู่ใจ" โดย พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ ณ จ.ราชบุรี) โดยทางแกลเลอรี่อาจจะหักประมาณ 30% และผมขอหักร่วมทำบุญอีก 10% (รวมหัก 40%) เป็นต้นครับ อย่างไร..รายละเอียดที่ชัดเจนทั้งหมดตรงนี้ ถ้าหากสรุปเรื่องสถานที่จัดแสดงได้แล้ว จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งครับ (เพราะเงื่อนไขของแต่ละแกลเลอรี่ จะไม่เหมือนกัน)
การส่งผลงาน
งานครั้งนี้จำเป็นต้องส่งสเก็ตช์ก่อน ซึ่งผมอยากจะให้พวกเรามีเวลาทำงานกันมากๆ เพราะฉะนั้นควรจะสรุปสเก็ตช์ กันให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2556 เป็นอย่างช้านะครับ (ถ้านับจากเดือนนี้ ส.ค. 2556 ยังมีเวลาสำหรับงานสเก็ตช์อีก 4 เดือนเต็มๆ เลย) แต่ถ้าหากใครเสร็จเร็วกว่า ผ่านแล้ว ก็เริ่มงานจริงได้เลยครับ และผลงานชิ้นแรกที่จะต้องส่งคือ ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2557 โดยผลงานชิ้นนี้จะถูกตีพิมพ์ในสูจิบัตรนะครับ แต่ถ้าใครส่งมากกว่า 1 ชิ้น และต้องการจะพิมพ์ลงสูจิบัตรด้วย ก็ควรจะทำส่งให้ทันภายใน 30 มิ.ย. 2557 ด้วยครับ
สถานที่ส่งก็คือ บ้านพักผม ย่านรามอินทรา กรุงเทพฯ เหมือนเคย เดี๋ยวถ้าใกล้ๆ ราวๆ ต้นเดือนพฤษภา ปี 57 จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบอีกครั้งครับ เพราะต้องให้พวกเรากรอกข้อมูลด้วย
ครั้งนี้ผมตั้งใจว่าจะหาทุนให้เพียงพอ สำหรับพิมพ์สูจิบัตรก่อนเปิดนิทรรศการ (งานครั้งแรก หาสปอนเซอร์ได้แค่จัดนิทรรศการเท่านั้นครับ และตอนนี้สูจิบัตรก็ยังไม่เสร็จอีก เพราะประสบปัญหาหลายอย่าง ผมต้องขออภัยอย่างแรงมา ณ ที่นี้ด้วยครับ แต่คาดว่าสูจิบัตรนิทรรศการครั้งแรก น่าจะเสร็จภายใน ก.ย. 2556 นี้นะครับ T_T เอ้อ...ครบปีพอดี) แต่คราวนี้สูจิบัตรจะพิมพ์ 4 สี ทั้งเล่ม ยอดพิมพ์ขั้นต่ำ 1,000 เล่ม หนาประมาณไม่เกิน 200 หน้า อาจจะต้องใช้ทุนประมาณ 2 แสนบาทนะครับ (ยังไม่รวมค่าจัดงาน..ด้วยนะเออ) อุ๋ย.....หัวโตอีกแล้วผม
แต่ครั้งนี้ผมจะมีกฎเหล็กเพิ่มเติมนะครับ ซึ่งอาจจะทำให้คนส่งงานน้อยลง แต่ขอคุณภาพไว้ก่อนดีกว่า ใครใจถึง..มาได้ ผมเปิดอกรับเลย
คราวนี้ถ้าใครลงชื่อ/แจ้งความจำนงไว้แล้ว ว่าจะส่งผลงานร่วมแสดงแน่นอน แต่พอถึงกำหนดเวลาส่งผลงาน กลับหายไปเฉยๆ ไม่บอกไม่กล่าว ว่าทำไม่ทัน หรือชี้แจงเหตุผลว่า ไม่พร้อมส่งงานแล้ว
กรณีนี้ถ้าบอกกันก่อน ผมจะไม่ว่าเลยครับ ผมยินดีให้อภัย (ถึงครั้งนี้จะมีเวลาทำงาน นานเป็นปีก็เถอะนะ) เพราะผมถือว่า คุณยังมีความรับผิดชอบพอ แต่....ถ้าหายจ้อย เงียบเงิบ ไม่บอกผม หรือแจ้งอะไรให้ทราบเลย เหมือนประกาศร่วมแสดงงานครั้งแรกอีก ผมจะถือว่าคุณขาดความรับผิดชอบอย่างแรง และผมจะตัดสิทธิ์ในการส่งผลงานร่วมแสดงกับกลุ่ม ในครั้งต่อไปอีกด้วยครับ
เรื่องนี้สำคัญนะครับ เพราะหากคุณเข้าใจหัวอกคนจัดเตรียมงานอย่างผม ซึ่งมีความจำเป็นต้องรู้ขอบเขตงานทุกๆ อย่าง อาทิ งานแสดงทั้งหมดมีกี่ชิ้น ขนาดไหน มีใครบ้าง และต้องวางแผนเรื่องแผนผังสำหรับ จัดสถานที่เพื่อแขวนงานด้วย รวมถึงการทำสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ อีกหลายอย่างที่จะตามมาอีก และอื่นๆ อีกมากมาย แต่..ถ้าข้อมูลไม่ครบ พอใกล้แสดง จะทำให้ผมทำงานได้ลำบากมากยิ่งขึ้นครับ
การส่งผลงานทางไปรษณีย์
สำหรับสมาชิกที่อยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถมาส่งผลงานด้วยตนเองได้ และเลือกวาดภาพบนกระดาษ ซึ่งจำเป็นต้องใส่กรอบกระจกแน่นอน มีความจำเป็นต้องห่อให้แน่นหนามากๆ นะครับ เพื่อกันกระจกแตก
แต่สำหรับใครที่วาดบนเฟรมผ้าใบ หรือบนไม้อัด ก็ไม่ต้องกลัวกระจกแตก แต่เฟรมผ้าใบเอง ก็อาจต้องใช้วัสดุแข็งๆ เช่นพลาสติกลูกฟูก (แบบป้ายหาเสียง หรือชื่อทางการค้า ฟิวเจอร์บอร์ด) ประกบหน้าหลัง ก่อนห่อกระดาษลูกฟูก (หรือกระดาษกล่อง สีน้ำตาล) ทับอีกชั้น แต่ถ้ากระดาษลูกฟูกมีความหนามากอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ฟิวเจอร์บอร์ดประกบได้ครับ แต่ควรเขียนติดที่หีบห่อ ตัวโตๆ สีแดงๆ เลยว่า "ภาพวาดบนผ้าใบ ห้ามวางซ้อน วางทับ" ก่อนส่งเลยครับ
อ้อ...ผลงานทุกชิ้น ต้องส่งพร้อมรูปถ่ายเจ้าของผลงาน และภาพถ่ายผลงานด้วยนะครับ สามารถไรท์ลงซีดี ส่งมาพร้อมกันได้ หรือสะดวกส่งทางอีเมล kaiu2indy@gmail.com ก็ได้ แต่ต้องเป็นไฟล์ใหญ่ๆ เท่านั้นนะครับ คือควรถ่ายด้วยกล้อง DSLR คุณภาพสูงๆ หน่อย *กล้องมือถือทุกชนิด ไม่เหมาะกับการถ่ายรูปส่งมาครับ เพราะความละเอียดต่ำไป ไม่เหมาะกับงานสิ่งพิมพ์ (แม้กระทั่ง iPhone 5) ถ้าไม่มีรูปถ่ายส่งมาด้วย ผลงานอาจไม่ได้ตีพิมพ์ลงสูจิบัตร
การรับผลงานคืน
หากผลงานไม่ถูกจำหน่าย ให้มารับผลงานคืนได้ ในวันสุดท้ายของการแสดงผลงาน ช่วงเย็นๆ ประมาณ 5 - 6 โมงเย็นครับ แต่ถ้าไม่มารับคืนด้วยตนเอง ผมจะขนผลงานทั้งหมดกลับไปเก็บไว้ที่บ้านพักผมก่อน โดยผมจะแจ้งค่าจัดส่งผลงานกลับทางไปรษณีย์ ให้สมาชิกแต่ละคนทราบอีกครั้ง แต่ถ้าในกรณีที่สมาชิกไม่ติดต่อกลับ เพื่อขอรับผลงานคืนเกิน 45 วัน (เวลาเดือนครึ่ง นับจากวันสิ้นสุดการแสดงผลงาน) ผมจะถือว่าไม่ประสงค์จะรับผลงานคืนแล้ว และผมมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการกับผลงานที่ไม่ขอรับคืน ได้ทั้งหมดตามความเหมาะสม
อย่างไรก็...ขอให้มารับคืน หรือโอนค่าส่งผลงานกลับทางไปรษณีย์มาให้ผม จะดีที่สุดเลยนะครับ
ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน ต้องการสอบถาม ก็เม้นท์ที่ด้านล่างได้เลยครับ
ครูไก่อู (จิด-ตระ-ธานี)
กลับด้านบนสุด
กลับด้านบนสุด