จิด.ตระ.ธานี Jitdrathanee : ลายเส้นไทย ‘ไตรลักษณ์ Trilakh 2017’

เคยรับปากกับผู้สนใจภาพวาดลายเส้นไทยของผม ว่าจะนำรูปคู่นี้ให้ดาวน์โหลดแบบไม่คิดมูลค่า วันนี้ผมทำเสร็จเรียบร้อย พร้อมให้ดาวน์โหลดแล้วครับ ภาพคู่นี้มีชื่อว่า “ไตรลักษณ์ Trilakh 2017” ที่ต้องระบุปีไว้ด้วย เพราะผมอาจตั้งชื่อผลงานว่า “ไตรลักษณ์” อีกหลายภาพ เพราะเป็นเรื่องราวที่ผมสนใจ ด้วยเป็นคำสอนที่สำคัญยิ่ง และมีความหมายอย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา

ภาพลายเส้น “ไตรลักษณ์ Trilakh 2017” ใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons Licence (CC BY 3.0 TH) / Attribution CC- BY – NC – SA โดยอนุญาตให้เผยแพร่ ดัดแปลงได้ แต่ต้องระบุที่มา และ ห้ามใช้เพื่อการค้าในทุกๆ กรณี (โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์) และต้องเผยแพร่ผลงานที่ดัดแปลงแล้ว โดยใช้สัญญาอนุญาตชนิดเดียวกัน

  • Artist: จิด.ตระ.ธานี  Jitdrathanee
  • Title: ไตรลักษณ์  Trilakh 2017 | the Three Characteristics : Anicca, Dukkha, Anatta
  • Size ขนาดรวม: 20 x 31.5 cm
  • Resolution ความละเอียด: 300 dpi
  • Color Mode: Grayscale
  • File type: .tif (ไฟล์คุณภาพสูง เปิดใน PC ได้ทั้ง Windows และ Macintosh)
    *สำหรับมือถือ หรือ Tablet จำเป็นต้องโหลดแอพที่สามารถเปิดดูไฟล์ .tif ได้
    ★ Android: Google Play / B Tiff Viewer (free)
    ★ iOS: App Store / Tiff Viewer ($0.99)

จิด.ตระ.ธานี ‘ไตรลักษณ์ 2017’ | TIF: 8.40 MB
Jitdrathanee: Trilakh 2017 (1445 downloads)


Concept idea :
ในภาพ “ไตรลักษณ์ Trilakh 2017” เป็นลายเส้นมนุษย์คู่หนึ่ง ซ้ายมือเป็นมนุษย์ในวัยฉกรรจ์ แต่งกายสวยงาม แข็งแรง องอาจ ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ปลายเท้ายืนเหยียบบนหัวมังกร ตรงข้ามกับมนุษย์ด้านขวา ซึ่งอยู่ในวัยใกล้สนธยา ร่างกายเริ่มซูบผอม ดูอ่อนแรง จนเห็นร่องซี่โครง ใบหน้าเศร้าหมอง เครื่องประดับมีน้อยชิ้นลง ปลายเท้ายืนเหยียบบนความว่างเปล่า

แท้จริง…มนุษย์ในภาพคู่นี้ คือบุคคลคนเดียวกัน ผมเพียงเปรียบแยกให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ในยามมีสุข กำลังประสบความสำเร็จ ก็ไม่ต่างอะไรกับวัยฉกรรจ์ ที่ทั้งแข็งแรง และเปี่ยมไปด้วยพละกำลัง หัวมังกรที่ยืนเหยียบหมายถึงบารมี ที่ผู้คนยกย่องสรรเสริญ ด้วยภาพปรากฏเช่นนี้ ทำให้คนทั่วไปมักหลงลืมว่า “ความสุข” ที่ทุกคนล้วนไขว่คว้าแสวงหากันตลอดทั้งชีวิตนั้น มีลักษณะสามัญอยู่อย่างคือ คงอยู่ได้ชั่วคราว แค่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อหมดเหตุมันก็จากไป คนส่วนใหญ่จึงมักตั้งตนอยู่ในความประมาท ด้วยคาดหวังอยากให้ความสุขคงอยู่ถาวร ตราบนานเท่านาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง เช่นเดียวกับ “ความทุกข์” ที่มีลักษณะสามัญเช่นเดียวกัน

สุข – ทุกข์ เป็นคู่ตรงข้าม เหมือนมีมืดย่อมมีสว่าง โดยเราจะไปบังคับหรือห้ามก็ไม่ได้ เป็นไปได้ทุกคนคงอยากมีความสุขเพียงถ่ายเดียว ไม่อยากทุกข์ มองในแง่กลับกัน หากไม่รู้จักทุกข์ จะรู้จักสุขได้อย่างไร? เหมือนถ้าท้องไม่หิว คงไม่รู้จักสุขจากการกินอิ่ม แต่ความอิ่มก็ไม่เคยถาวร อีกไม่นานก็ต้องหิวอีก และหิวอีก…. สุข-ทุกข์ ก็เช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ป่วยการที่จะยื้อแต่ความสุขไว้ และเอาแต่ผลักใสทุกข์ออกไปให้ไกลๆ

ภาพมนุษย์อีกฝั่งเป็นตัวแทนของความโรยรา สะท้อนข้อเท็จจริงของชีวิต ไม่มีใครสุขเสมอ และไม่มีใครทุกข์ตลอดไป การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การพิจารณายิ่ง บารมีที่เคยมีสมัยรุ่งเรือง สักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ดั่งชายชราที่สุดท้ายยืนเหยียบบนความว่างเปล่า

ไตรลักษณ์ (the Three Characteristics) มีอีกชื่อหนึ่งคือ “สามัญลักษณะ” คือลักษณะที่เป็นเช่นนั้นเอง ตามธรรมดาสามัญประจำโลก ไม่ว่าเราอยากจะให้มี หรือไม่อยากให้มี ก็ไม่อาจต้านทาน “กฎไตรลักษณ์” ทั้ง 3 ข้อนี้ได้ คือ

  1. อนิจจัง Anicca : ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่สามารถคงรูปอยู่ได้ด้วยตนเอง เหตุเพราะถูกบีบคั้นให้จำต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  2. ทุกขัง Dukkha : มาจากสองคำคือ ทุ แปลว่า ยาก และ ขะมะ แปลว่า ทน | ทุ+ขม = ทุกขัง แปลว่า “ทนอยู่ได้ยาก” เมื่อทนอยู่ได้ยาก จึงทุกข์ เพราะถูกบีบคั้นให้จำต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกขัง จึงสืบเนื่องมาจากอนิจจัง
  3. อนัตตา Anatta : ปราศจากตัวตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับไม่ได้ และไม่เคยเป็นไปตามใจเรา เพราะมันล้วนเป็นไปตามเหตุ

การที่เรายังทุกข์มากอยู่ทุกวันนี้ เพราะจิตปฏิเสธกฎไตรลักษณ์นั่นเอง การศึกษาพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งจนถึงแก่น คือการหมั่นฝึกตนจนวันหนึ่ง “จิตเห็นไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้ง” การเห็นในที่นี้ ไม่ใช่เห็นด้วยการคิดๆ นึกๆ เอา แต่เป็นการเห็นด้วยตาใน1

เมื่อใดที่จิตเห็นตามความเป็นจริง (คือเห็นไตรลักษณ์อย่างแจ่มแจ้ง) จึงเบื่อหน่าย เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายความยึดถือ (คลายกำหนัด) เพราะคลายความยึดถือจึงหลุดพ้น ถามว่า “หลุดพ้นจากอะไร?” หลุดพ้นจากความยึดถือในรูป-นาม (คือ ขันธ์ 5) นั่นเอง จิตจึงจะเข้าถึงความสงบ ที่เป็นสันติสุขอย่างแท้จริง ในพุทธศาสนาเรียก “สันติสุขอย่างแท้จริง” นี้ว่า “นิพพาน”

พ่อไก่อู


1 อธิบายยากเหมือนกัน เพราะการคิด (อย่างสมองคิด) เป็นเพียง “สังขาร” แปลว่า “การผสม ปรุงแต่ง” ยังไม่ใช่ของจริง เพราะยังไม่ใช่การ “รู้” หรือ “การตื่นรู้” (จะตรงข้ามกับหลับ คือความหลงหรือ “โมหะ”) ที่ผมพูดว่าเห็นด้วยตาใน คือการเห็นด้วยการ “รู้ลงไปจนถึงก้นบึ้งของจิต” ประมาณนี้ครับ

0 comments on “จิด.ตระ.ธานี Jitdrathanee : ลายเส้นไทย ‘ไตรลักษณ์ Trilakh 2017’Add yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *