ประมวลภาพ/เล่าเรื่อง ตามรอยสีไทย MEETUP#3 ตอน ‘มหาภูตรูป’

ประมวลภาพบรรยากาศ/เล่าเรื่อง
ตามรอยสีไทย MEETUP#3 ตอน มหาภูตรูป (ธาตุ 4)

อาทิตย์ที่ 29 พ.ค. 2559 ศิลปินรับเชิญ และสมาชิก ‘กลุ่ม จิด.ตระ.ธานี’ (จากเว็บไซต์ ‘วาดเล่นๆ กับ จิด.ตระ.ธานี’) ได้ร่วมกิจกรรมกลุ่ม MEETUP#3 (ครั้งสุดท้ายในปี 2559) ณ Artistic Studio ซ.สวนผัก เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

คลิปวิดีโอกิจกรรม: ตามรอยสีไทย MEETUP#3 ตอน มหาภูตรูป (ธาตุ 4) ความยาว 18:48 น.


โดยผลงานทั้ง 20 ชิ้น ที่สมาชิก 20 ท่าน ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ในครั้งนี้ จะถูกนำมาต่อรวมกัน เป็นผลงานใหญ่ชิ้นเดียว เพื่อร่วมแสดงใน นิทรรศนา ศิลปะ ธรรมะ “จิด.ตระ.ธานี เกิด จุติ 3 ‪#‎ตามรอยสีไทย‬” ในปลายปี 2560 เรามาไล่ดูภาพบรรยากาศในงาน โดยจะแบ่งตามธาตุทั้ง 4 ดังนี้ครับ

ปฐวี’ ธาตุดิน (earth element) แทนด้วยรูป ‘ยักษ์’ (yaksa giant)

ธาตุดิน : พีระศิลป์ ดวงอิน (สิน)

1. พีระศิลป์ ดวงอิน (สิน) ศิลปินรับเชิญ (จ.กรุงเทพฯ)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : เหลืองจำปา
แนวความคิด
ดิน…และ…ยักษ์ สิ่งที่ผมคิดถึง คือ ทรัพย์ในดิน ต่างๆ การปกปักษ์รักษา ของเจ้าทรัพย์ การจะเข้าถึงทรัพย์ได้ต้องผ่าน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของทรัพย์ เช่นเดียวกับ ขุมทรัพย์ในใจเรา เราต้องเรียนรู้ โลภ โกรธ หลง การก้าวข้ามอัตตาตัวตน เพื่อเข้าให้ถึง “ขุมทรัพย์ที่อยู่ข้างใน” ชึ่งธาตุดิน คือหนึ่งในมหาภูติรูปภายในตัวเรา

ธาตุดิน : มหัทธนา ปฐมสุข (เนโอ)

2. มหัทธนา ปฐมสุข (เนโอ) ศิลปินรับเชิญ (จ.กรุงเทพฯ)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : หงดินแก่
แนวความคิด
ชื่อภาพ “จตุบงกช” ดินแหล่งกำเนิดของบัวสี่เหล่า อันได้แก่พวกบัวพ้นน้ำ (อุคคฏิตัญญู) บัวปริ่มน้ำ (วิปจิตัญญู) บัวใต้น้ำ (เนยยะ) และบัวจมน้ำ (ปทปรมะ)

ธาตุดิน : ธนพร ศุภนันตฤกษ์ (หมู)

3. ธนพร ศุภนันตฤกษ์ (หมู) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี (จ.นนทบุรี)
อาชีพ : อาชีพอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : หมากสุก
แนวความคิด
เป็นการทำงานร่วมกับกับ ครูไก่อู (จิด.ตระ.ธานี) รูปแบบเป็นยักษ์สไตล์อีสาน (แบบสกลนคร) รูป “ท้าวเวสสุวรรณ” อธิบดีแห่งยักษ์และอสูร (เจ้าแห่งผี) เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 (ประจำทิศเหนือ) มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้น “จตุมหาราชิก”

ธาตุดิน : เอกชัย พุ่มแก้ว (ไผ่)

4. เอกชัย พุ่มแก้ว (ไผ่) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.63 (จ.นครปฐม)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : เขียวสมอ
แนวความคิด
ในภาพผมแสดงถึง “อัตตา” (ที่ไม่มีอยู่จริง เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา จากความไม่รู้ คือ “อวิชชา”) ที่มันแฝงอยู่ภายในใจของตัวเราเอง เมื่อมีสิ่งมากระทบเจ้าตัวอัตตาก็จะแสดงตัวออกมา เช่น เมื่อเราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา แล้วมีหลายคนนิยมชมชอบเราก็รู้สึกพึงพอใจ แต่ถ้าเมื่อใดมีคนติในสิ่งที่ทำ เราก็จะรู้สึกไม่พอใจ นี่แหละเจ้าตัวอัตตากำลังแสดงตัวตนมันออกมา เพราะเรามัวแต่หลงอยู่กับคำนิยมชมชอบ จนเผลอให้เจ้าอัตตามันครอบงำจิตใจเรา แต่ถ้าเราเป็นคนมีสติปัญญา ก็จะรู้เท่าทันเจ้าอัตตา ก็จะยับยั้งชั่งใจไม่ให้รู้สึกเกรี้ยวกราดในสิ่งที่มากระทบความรู้สึก

  • ภาพดอกบัว แทน คำสอนของพระพุทธศาสนา “ศีล สมาธิ ปัญญา”
  • ภาพยักษ์ แทน อัตตา
  • ภาพนก และผีเสื้อ แทน จิตใจที่บริสุทธิ์

ภาพที่สร้างสรรค์ออกมาตามความรู้ความเข้าใจ ในรูปแบบของ เอกชัย พุ่มแก้ว

ธาตุดิน : กิตติพงษ์ ทุมกิ่ง (ใหม่)

5. กิตติพงษ์ ทุมกิ่ง (ใหม่) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.70 (จ.นครปฐม)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ/ อ.พิเศษ สถาบัณบัณฑิตพัฒนศิลป์
พื้นสีไทยพหุรงค์ : ดินเหลือง
แนวความคิด
ชื่อภาพ “หิรันตะปะกาสูน” (สะกดตามตำราเก่า) เเรงบันดาลใจจาก ตำราภาพเทวรูป เเละเทวดานพเคราะห์ ตอนที่พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพญาสิงห์ (นรสิงหาวตาร) เพื่อลงมาปราบ หิรันตะปะกาสูน ภาพแสดงให้เห็นถึงการสังหาร เเละเหยียบยักษ์ตนนี้จนจมปฐพี ผมจึงเขียนเศียรยักษ์ตนนี้ขึ้นมา จากบรรยากาศของสีดินเหลือง เปรียบเสมือนว่าเศียรนี้กึ่งผุดกึ่งจมอยู่บนพื้นดิน เเต่ยักษ์ยังคงเป็นยักษ์ที่มีสีหน้า ท่าทียังคงเหี้ยมเกรียมน่ากลัวอยู่เช่นนั้น

กลุ่ม 'ธาตุดิน' ทั้ง 5

สมาชิกกลุ่ม ‘ธาตุดิน’ ทั้ง 5 ท่าน

อาโป’ ธาตุน้ำ (water element) แทนด้วยรูป ‘นาค’ (naga)

ธาตุน้ำ : ธรรมรัตน์ กังวานก้อง (รัตน์)

6. ธรรมรัตน์ กังวานก้อง (รัตน์) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.136 (จ.นครปฐม)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : น้ำไหล
แนวความคิด
ชื่อภาพ “มกรคายนาค” เลือกสีน้ำไหล “ธาตุน้ำ” สัญลักษณ์พญานาค
ผลงานชิ้นนี้ ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ มาจากงานปูนปั้นทางขึ้นบันไดโบสถ์วิหารของวัดวาอาราม ซึ่งจะพบเห็นได้เยอะในวัดแถบภาคเหนือ อีสาน ตัว “มกร” (อ่านว่า มะ-กอน หรือ มะ-กะ-ระ ก็ได้) เป็นสื่อแทน “ความไม่รู้” หรือ อวิชชา ที่คายนาคออกมา เพื่อก้าวสู่ “ความรู้” หรือวิชชา

ธาตุน้ำ : กัณภัค ฉ่ำบุญทา (ซานโต๊ส)

7. กัณภัค ฉ่ำบุญทา (ซานโต๊ส) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.219 (จ.กรุงเทพฯ)
อาชีพ : นักศึกษาปี 1 วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง
พื้นสีไทยพหุรงค์ : เขียวตั้งแชอ่อน
แนวความคิด
พญานาคทั้ง 3 ตน ที่ผมวาด หมายถึง “พ่อแม่และลูก” ความอบอุ่นใดๆ ก็ไม่เท่ากับความอบอุ่นทางกายและทางใจ เมื่อครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน ยามที่ลูกทุกข์ใจ ยังมีพ่อแม่คอยให้กำลังใจเคียงข้าง และสามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง

ธาตุน้ำ : วัชพงศ์ เรืองวรรณศักดิ์ (เงิน)

8. วัชพงศ์ เรืองวรรณศักดิ์ (เงิน) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.218 (จ.อุดรธานี)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : คราม
แนวความคิด
ความเชื่อของชาวอีสาน พญานาคคือสัญลักษณ์ของน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ ผมจึงนำรูปแบบของนาคมาผสมผสาน เคล้ากับศิลปะพื้นถิ่นอีสาน ที่แสดงออกถึงความเรียบง่าย มาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้

ธาตุน้ำ : วีรยุทธ ศรีเกษร (อ๊อด)

9. วีรยุทธ ศรีเกษร (อ๊อด) ศิลปินรับเชิญ (จ.นครสวรรค์)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : มอคราม
แนวความคิด
ชื่อผลงาน “คู่กัด” ความขัดแย้งเป็นเหตุธรรมดา เมื่อมองอย่างเข้าใจ จะพบความงาม ในความขัดแย้ง

ธาตุน้ำ : จิรพันธุ์ สัมภาวะผล (ฝ้าย)

10. จิรพันธุ์ สัมภาวะผล (ฝ้าย) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.3 (จ.ระยอง)
อาชีพ : ช่างไฟฟ้า/ ครูสอนดนตรีไทย
พื้นสีไทยพหุรงค์ : เขียวขาบ
แนวความคิด
ชื่อผลงาน “บัวสี่เหล่า”
นาค…แทนสัญลักษณ์ของธาตุน้ำ
นาค ๒ ตัว ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ…หมายถึงปุถุชนทั้งหลายย่อมมีดีชั่วระคนกัน
แนวกลางภาพ มีรูปดอกบัว ๔ ดอก…หมายถึง บัวทั้ง ๔ เหล่า
เปลวรัศมีด้านบนสุด…หมายถึง พระศาสดาทรงเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง (โลกะวิทู)

กลุ่ม 'ธาตุน้ำ' ทั้ง 5

สมาชิกกลุ่ม ‘ธาตุน้ำ’ ทั้ง 5 ท่าน

‘เตโช’ ธาตุไฟ (fire element) แทนด้วยรูป ‘ครุฑ’ (garuda)

ธาตุไฟ : อภิเดช ศิริบุรี (นิก)

11. อภิเดช ศิริบุรี (นิก) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.130 (จ.มหาสารคาม)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : เหลืองรง
แนวความคิด
ในทัศนะส่วนตัวข้าพเจ้า “ธาตุไฟ” หมายถึง ความมีสติ สงบ และสมาธิ จึงแสดงออกโดยใช้เทคนิคตัดเส้นถมดำแบบลายรดน้ำ

ธาตุไฟ : สิรวิชญ์ จตุรภัทรานนท์ (ปัน)

12. สิรวิชญ์ จตุรภัทรานนท์ (ปัน) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.11 (จ.ระยอง)
อาชีพ : นักเรียนมัธยม
พื้นสีไทยพหุรงค์ : เสน
แนวความคิด
ชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากงานปูนปั้นสมัยอยุธยา (วัดถ้ำสิงขร) ที่ตอนนี้ค่อนข้างผุพัง สอดคล้องกับเรื่องไตรลักษณ์ครับ

ธาตุไฟ : อรุณศักดิ์ เผ่าภูรี (เนม)

13. อรุณศักดิ์ เผ่าภูรี (เนม) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.51 (จ.สมุทรปราการ)
อาชีพ : นักศึกษา คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร
พื้นสีไทยพหุรงค์ : ม่วงเม็ดมะปราง
แนวความคิด
ผมได้แรงบันดาลใจจากนก เพราะตอนเย็นๆ นกมักจะเกาะกลุ่มกันเสมอ (เหมือนมันจะพูดคุยกัน) เลยถ่ายทอดเป็นจิตรกรรมไทยชิ้นนี้ครับ

ธาตุไฟ : สรุทต์ สัตบุรุษาวงศ์ (ป่าน)

14. สรุทต์ สัตบุรุษาวงศ์ (ป่าน) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.4 (จ.นครปฐม)
อาชีพ : รับราชการ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : ชาด
แนวความคิด
ผมวาดภาพนี้ด้วยความรู้สึกถึงความเป็นอิสระ จึงตัดทอนลายเส้นครุฑ โดยไม่ยึดติดในรูปทรง เหลือเพียงจังหวะของสีแทนอารมณ์ต่างๆ เป็นตัวกำหนดงาน รู้สึกสนุกมากที่ได้ทำงานชิ้นนี้

ธาตุไฟ : บรรณสิทธิ์ วงเส (ติ๊ก)

15. บรรณสิทธิ์ วงเส (ติ๊ก) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.184 (จ.กรุงเทพฯ)
อาชีพ : ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์ : หงชาด
แนวความคิด
ครุฑเป็นตัวแทนของธาตุไฟ เกิดจากความประทับใจในลายเส้นของศิลปกรรมโบราณ จึงนำมาถ่ายทอดในรูปแบบจิตรกรรมไทยร่วมสมัย

กลุ่ม 'ธาตุไฟ' ทั้ง 5

สมาชิกกลุ่ม ‘ธาตุไฟ’ ทั้ง 5 ท่าน

‘วาโย’ ธาตุลม (wind element) แทนด้วยรูป ‘ลิง’ (monkey)

ธาตุลม : ครูปุราณ วิวัฒน์

16. ครูปุราณ วิวัฒน์ (อ.ยุทธนา วิวัฒน์เดชากุล) ศิลปินรับเชิญ (จ.กรุงเทพฯ)
อาชีพ: ครูช่าง/ ครูศิลปะ โรงเรียนจิตรลดา
พื้นสีไทยพหุรงค์: เขียวใบแค
แนวความคิด
มหาภูตรูปธาตุลม กล่าวถึงลมในเชิงศิลปะไทย
ข้าพเจ้านึกถึง “หนุมาน” เพราะเป็นลูกพระพาย จึงนำหนุมานมาเป็นสื่อแทนธาตุลม ถือหม้อปูรณฆฏะ เสมือนองค์ความรู้ภูมิปัญญาของศิลปะไทย ซึ่งลมพัดพาเอาภูมิปัญญามาจากอินเดียทางเรือ และเผยแพร่ภูมิปัญญานั้น ให้เรืองรองในแผ่นดินสยามแผ่นดินแห่งสุวรรณภูมิ

ธาตุลม : พัศพงศ์ บุญขันธ์ธนาลัย (ข้าวกล้อง)

17. พัศพงศ์ บุญขันธ์ธนาลัย (ข้าวกล้อง) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี (จ.บุรีรัมย์)
อาชีพ: นักเรียนมัธยมปลาย
พื้นสีไทยพหุรงค์: เขียวก้านตอง
แนวความคิด
เคยดูโขนตอน “หนุมานชูกล่องดวงใจ” รู้สึกสงสารทศกัณฐ์ ถ้าใช้สายตาของทศกัณฐ์มองมา หนุมานก็คงกลับกลอกไว้ใจไม่ได้เหมือนลม จะพัดไปทางไหนก็ตามแต่ใจ ผมเลยวาดเป็นหนุมานทรงชฎาอินทรชิต หมายถึงมากด้วยอุบายกลศึก ไว้ใจไม่ได้แน่ๆ และให้ถือพัดด้วย แสดงความเป็นลูกพระพาย
ด้านล่างเขียนเป็นตัวคันจิ (ผมเรียนสายศิลป์-ภาษาญี่ปุ่นครับ) อ่านว่า かぜ (Kaze) แปลว่า “ลม” ครับ

ธาตุลม : นพพล นุชิตประสิทธิชัย (เก่ง)

17.1 นพพล นุชิตประสิทธิชัย (เก่ง) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.134  (จ.นครปฐม)
อาชีพ: วิทยากรครูช่าง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)
พื้นสีไทยพหุรงค์: เขียวก้านตอง
แนวความคิด
“ธาตุลม” ในการแสดงออกครั้งนี้ ข้าพเจ้านึกถึงตัวละครเอกสำคัญตัวหนึ่ง จาก “รามเกียรติ์” ซึ่งเป็นมหากาพย์ยอดฮิตทุกยุคทุกสมัย นั่นคือ “หนุมาน” ข้าพเจ้าแสดงออกด้วยรูปแบบภาพไทยแบบประเพณี โดยใช้เทคนิคพื้นฐานที่เรียบง่าย นำเสนอการเขียนสีตัดเส้นตัวภาพ อย่างบรรจงตามอย่างครูช่างโบราณ

ธาตุลม : ยุทธนา ชมชื่น (ต้อม)

18. ยุทธนา ชมชื่น (ต้อม) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.199  (จ.กาญจนบุรี)
อาชีพ: ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์: เหลืองทอง
แนวความคิด
“วาโย” ธาตุลม คือความไหวเคลื่อน เป็นหนึ่งในธาตุที่มีความสำคัญเพื่อการดำรงอยู่ ในทุกอณูเซลล์ของร่างกายมนุษย์ ข้าพเจ้าจึงเเทนลักษณะของธาตุลม โดยใช้รูปต้นไม้ในธรรมชาติ สร้างสรรค์เป็นหน้าลิง ให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติรอบๆ ที่อยู่ในรูปทรงสามเหลี่ยม

ธาตุลม : ณัฐวุฒิ ชาติยาภา (โอ๊ด)

19. ณัฐวุฒิ ชาติยาภา (โอ๊ด) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.199  (จ.กาญจนบุรี)
อาชีพ: ศิลปินอิสระ/ ออกแบบกราฟิก
พื้นสีไทยพหุรงค์: ม่วงดอกผักตบ
แนวความคิด
ธาตุลม “ลิง” ตามโจทย์ในการสร้างผลงานครั้งนี้ ข้าพเจ้าจะนึกถึงใครไปไม่ได้นอกจาก ลิงขาวขนเพชรลูกพระพาย “หนุมาน” ผลงานนำเสนอให้อยู่ในโครงรูปสามเหลี่ยม คุมโทนสีให้กลมกลืน ให้รู้สึกถึงสายลมที่แผ่วเบาสบาย ในรูปแบบจิตรกรรมไทยประยุกต์ ในลีลาเฉพาะตัว

ธาตุลม : พิณธรรม ขาวประเสริฐ (ทิพย์)

20. พิณธรรม ขาวประเสริฐ (ทิพย์) สมาชิกกลุ่ม จิด.ตระ.ธานี no.222  (จ.กรุงเทพฯ)
อาชีพ: ศิลปินอิสระ
พื้นสีไทยพหุรงค์: ควายเผือก
แนวความคิด
ข้าพเจ้าต้องการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยการนำเสนอสัญลักษณ์ของ “ธาตุลม” ในรูปแบบไทยประยุกต์ แทนด้วยรูป “ลิง” ล้อมรอบด้วยพลังงานของลม และลวดลายไทย ตามที่ข้าพเจ้าจินตนาการขึ้น

กลุ่ม 'ธาตุลม' ทั้ง 5

สมาชิกกลุ่ม ‘ธาตุลม’ ทั้ง 5 ท่าน

ศิลปินต้นแบบ 2 ท่าน และผลงานสมาชิกทั้ง 20 ภาพ ที่วาดเสร็จแล้ว


.

อ่านที่มาของกิจกรรมกลุ่ม ตามรอยสีไทย MEETUP#3 และความหมายของ ‘มหาภูตรูป (ธาตุ 4)’

0 comments on “ประมวลภาพ/เล่าเรื่อง ตามรอยสีไทย MEETUP#3 ตอน ‘มหาภูตรูป’Add yours →

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *