Home & NewsHistoryDhamma AreeKai-U Luck KidDhamma's WebboardContactDhamma Cartoon
 
 
MP3VDOsPDF  
 



๑๖. พิธีศพฟากฟ้าแบบชาวทิเบต (ชมเพื่อการปลงอสุภะ) แนะนำโดย พ่อไก่อู (๕ ก.ค. ๒๕๕๓)

ไมค์ กฤษณะ รุ่นน้องที่เป็นนักวาดภาพด้วยกัน ส่งภาพชุดนี้ทางอีเมล์มาให้ผมครับ ผมเห็นว่าน่าสนใจดี แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก (นอกจากรูปภาพเพียวๆ กับคำอธิบาย (แบบไม่ค่อยเป็นสาระ) ใต้ภาพอีกนิดหน่อย) ผมก็เลยลองเสิร์จๆ หาข้อมูลดูจากในเน็ต ก็พบว่ามีการโพสภาพชุดนี้ต่อๆ กันไปในหลายๆ เว็บ แต่คนโพสภาพ มักจะเขียนวิจารณ์เน้นไปในทำนองว่า น่าเกลียดน่ากลัว สยดสยอง ดูแล้วพาลจะรับประทานข้าวไม่ลงเสียมากกว่า แต่จริงๆ แล้ว ประเพณีการทำศพในลักษณะนี้ของชาวทิเบต มีคติความเชื่อที่มาที่ไป ที่น่าสนใจรองรับอยู่ ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกประเพณีลักษณะนี้ว่า "sky burial" หรือจะแปลเป็นไทยๆ ได้ว่า "พิธีศพฟากฟ้า" หรือ "พิธีศพเวหา นภากาศ" อะไรก็สุดแล้วแต่ครับ แต่หมายถึงการนำร่างของผู้ตายมาอุทิศเพื่อเป็นอาหารให้กับนกแร้ง เหมือนกับเป็นการทำบุญเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนของพี่ไทยเราเอง ก็เคยมีการทำศพแบบนี้เหมือนกัน แต่มันนมนานมามากแล้ว ตั้งแต่สมัยต้นๆ กรุงรัตนโกสินทร์โน่นแน่ะ อย่างที่หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินสำนวนว่า "แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์" แต่จริงๆ แล้วมีที่มาที่ไปนะ เดี๋ยวผมขอเล่าย่อๆ จากข้อมูลที่หาได้จากเว็บนะครับ


ภาพจากหนังสือ "เปิดกรุภาพเก่า"
โดย เอนก นาวิกมูล

ภาพขวามือ เป็นภาพถ่ายโบราณที่ยืนยันได้ว่า คนไทยก็เคยมีการนำศพไปให้แร้งกิน แต่ที่มาต่างจากทิเบต ตรงเรื่องเล่าที่ว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีโรงห่าระบาดอย่างหนัก (หมายถึง "อหิวาตกโรค" (Cholera) ทำให้มีคนตายเป็นจำนวนมากเป็นเรือนหมื่น เผากันไม่ทัน เลยต้องขนเอาศพเหล่านั้นไปทิ้งไว้ที่วัดสระเกศ ซึงเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงเมือง (คนโบราณมีคติไม่ทำศพภายในกำแพงเมือง) ส่วนผู้คนที่ยังเหลือรอดชีวิตอยู่ ก็พากันอพยพหนีตายกันอลหม่าน จึงทำให้มีนกแร้งเป็นจำนวนมาก พากันลงมาปักหลักกินซากศพกันอย่างคึกคัก และที่ลานวัดสระเกศแห่งนี้ ยังเคยมีการนำเอาศพนักโทษประหารมาทิ้งไว้ให้แร้งกินอีกด้วย

คราวนี้..ผมก็จะเล่าเรื่อง "พิธีทำศพฟากฟ้า" ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญมาก สำหรับสามัญชนทั่วไปในทิเบต ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน โดย "พิธีศพฟากฟ้า" เป็นประเพณีเก่าแก่ที่กระทำสืบทอดกันมาเป็นเวลานานกว่า ๑,๐๐๐ ปี อีกทั้งยังประหยัด และเหมาะสมกับภูมิประเทศในแถบนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง มีที่ราบน้อย เนื้อดินแข็ง การฝังศพจึงเป็นไปได้ยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่สามารถขุดดินให้ลึกพอ อีกทั้งอากาศยังหนาวเย็น ไม้ฟืนเองก็หาได้ยากและมีราคาแพง ทำให้การเผาศพจึงเป็นพิธีกรรมที่สงวนไว้ สำหรับบุคคลสำคัญเท่านั้น เช่น พระลามะชั้นสูง หรือผู้ที่มีอันจะกินพอ

     โดยหลังจากผู้ตายได้เสียชีวิตลงแล้ว พระลามะจะเป็นผู้อยู่ดูแลศพตลอดเป็นเวลา ๓ วัน และพิธีจะถูกจัดขึ้นก่อนตะวันรุ่งของวันใหม่ โดยทุกคนในหมู่บ้านจะได้รับเชิญให้ไปเป็นเกียรติแก่เจ้าของงาน ชาวทิเบตเชื่อว่าเมื่อวิญญาณออกจากร่างแล้ว ศพก็เหมือนกับเปลือกที่ว่างเปล่า ควรให้เป็นทานแก่นกแร้งที่มีมากมายในแถบนั้น แต่...พิธีนี้ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลดังต่อไปนี้ ๑. เด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ๒. สตรีตั้งครรภ์ ๓. ผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อหรืออุบัติเหตุ และ ๔. พระลามะที่มีตำแหน่งสูงๆ ซึ่งจะถูกนำไปฝังไว้ในเจดีย์ หรือเผาแทน

ชาวทิเบตยังมีความเชื่อว่า นกแร้งเปรียบเสมือนผู้ร่ายรำบนท้องฟ้า มีฐานะเทียบเท่าเทพบุตร เทพธิดา ซึ่งจะนำพาวิญญาญผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์ และยังถือเป็นการทำบุญกุศลเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับผู้ตาย ด้วยการให้ร่างกายเป็นทานแก่นกแร้ง

พิธีศพฟากฟ้าในปัจจุบัน ถือเป็นพิธีเฉพาะถิ่นของทิเบตเท่านั้น (ถึงแม้รัฐบาลจีนที่เข้าไปปกครองทิเบต กำลังรณรงค์ด้วยการสร้างเตาเผา เพื่อให้ชาวทิเบตหันมาใช้พิธีเผาศพ แทนวิธีดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งดูน่าสยดสยองสำหรับคนต่างถิ่นก็ตาม) พิธีดังกล่าวจะถูกจัดขึ้นที่วัด ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง ที่มีอยู่ทั่วประเทศราว ๑,๐๗๖ แห่ง โดยบุคคลมี่มีความสำคัญต่อพิธีกรรมนี้ก็คือสัปเหร่อ หรือในภาษาทิเบตเรียกว่า "ดอมเด" ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่จัดการศพ และประกอบพิธีกรรมต่างๆ แล้ว เขายังมีหน้าที่ฝึกนกแร้งที่จะมากินศพอีกด้วย โดยดอมเดจะฝึกนกแร้งตัวที่เป็นจ่าฝูงให้ปฏิบัติตาม คอยดูแลนกแร้งลูกน้องในฝูง ให้มีระเบียบ ไม่แตกแถวยื้อแย่งกันกินศพ โดยดอมเดจะสื่อสารกับนกแร้งทั้งภาษากายและภาษาพูด และจากการฝึกฝนที่ยาวนาน ทำให้ดอมเดกับนกแร้งจ่าฝูง มีความสัมพันธ์ที่สำคัญยิ่ง สำหรับการประกอบพิธีกรรม

แถมอีกหน่อย : สำหรับนกแร้งจ่าฝูงที่มีประสบการณ์ เมื่อดอมเดให้ชิมเนื้อศพ หากศพใดใช้ยา หรือถูกยาพิษมา จ่าฝูงก็จะไม่กิน และนกแร้งทั้งฝูงก็จะไม่กินศพนั้นเช่นกัน และดอมเดก็จะใช้วิธีอื่นในการจัดการศพแทน เช่น เผา ซึ่งหากในกรณีที่นกแร้งจ่าฝูงไม่มีประสบการณ์พอ ก็อาจจะทำให้นกแร้งทั้งฝูงตายได้เหมือนกัน

     จริงๆ เรื่อง "พิธีศพฟากฟ้า" ที่ผมค้นได้จากเน็ต ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมาก แต่ถ้าให้บรรยายมากกว่านี้ เห็นว่า..อาจจะยาวจนเกินไป เอาเป็นว่าในฐานะที่เราก็เป็นชาวพุทธ เช่นเดียวกับชาวทิเบต (ถึงแม้จะคนละนิกายก็เถอะนะ) แต่ผมว่าสำหรับผมแล้ว "รับได้นะ" เพราะถ้าพิจารณาจากเหตุผลของพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว ก็..น่าจะไม่ได้แตกต่างอะไร ไปจาก..การที่เราเลือกที่จะสละร่างกาย เพื่อบริจาคให้เป็น "ครูใหญ่" หลังจากที่เราตายแล้ว แก่นักศึกษาแพทย์ ให้ได้เรียนได้ศึกษากันหรอกนะครับ ถึงแม้ว่าแร้งจะเป็นเพียงสัตว์ แต่ก็ถือว่า..เป็นการให้ทานครั้งสำคัญ ครั้งสุดท้ายสำหรับผู้ตายเลยทีเดียว แต่คนทั่วๆ ไป อาจดูแล้วสยองนะ แต่ผมกลับคิดว่า นอกจากเราจะเห็นกันเป็นเพียงแค่ "เรื่องแปลกของวัฒนธรรมต่างถิ่น" เท่านั้นแล้ว เรายังสามารถพิจารณาเพื่อการ "ปลงอสุภะ" ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ว่ากายนี้ ที่เราหลงเพ้อมาตลอดว่า "เป็นตัวเราเป็นของเรา" แต่เมื่อถึงกาลต้องแตกดับ เพราะคงอยู่ไม่ได้ด้วยตนเอง ตามกฎของลักษณะสามัญ ๓ ประการ (ไตรลักษณ์) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไร กับภาพชุดที่เห็นนี้หรอกนะครับ สยดสยองยังไง..? ก็ในเมื่อตราบใดที่ยังมีหนังห่อหุ้มชิ้นเนื้อ กับอวัยวะภายในน้อยใหญ่อยู่ เราคงไม่เคยคิดกลัว (เพราะมองข้าม) แต่ถ้าถลกหนังออกมาเมื่อไหร่ ก็คือๆ กันนั่นแหละครับ จะสวยจะหล่อยังไง ก็ดูไม่จืด ดูศพ..แล้วหันกลับมามองตัวเรา ได้เจริญมรณานุสติ เพื่อลดกำหนัดราคะได้อีกต่างหาก เป็นการเจริญสมถะกรรมฐาน เพื่อที่จะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตนะครับ (จะตายกันเมื่อไหร่ก็ไม่รู้) เพราะเราเองสักวันหนึ่ง...ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากในภาพชุดนี้หรอกนะครับ จริงมั้ย..?

พ่อไก่อู
 


 
 
    กลับด้านบน
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.  
start Histats: 29 Aug.2010