Baan Aree'26


Fun Learning traditional Thai designs with JitdraThanee's Logo

        'อาร์ท' หนุ่มใหญ่เมืองพระเจดีย์กลางน้ำ ปลาสลิด (บางบ่อ) รสเลิศ ศิษย์เก่านิติศาสตร์ รั้วรามคำแหง ส่งผลงานลายไทยมาร่วมแสดงอีก ๑ ภาพครับ ระเบียง 'วาดเล่น ๆ กับ จิด-ตระ-ธานี' ยินดีที่ได้นำเสนอผลงานอาร์ทครับ

 
กิติพงษ์ กล่ำกองกูล (อาร์ท) , ๔๓ ปี
มหาวิทยาลัยรามคำแหง (นิติศาสตร์) , จ.สมุทรปราการ

แรงบันดาลใจ : รูปนี้เจ้านายขอให้เขียนแบบปัจจุบันทันด่วนเลย ใช้เวลา ๒ วันครับ เทคนิคปากกาบนกระดาษ ขนาด ๔๐ x ๖๐ ซ.ม. ปิดทองบางส่วน รูปเล็กไปมาก เพราะหารูปใหญ่ไม่เจอครับ แนวคิดคือ ปัญญา (แทนด้วยเต่า) เมื่อบังเกิดก็จะทำให้เราหลุดพ้นสู่โลกุตตระ (หลุดพ้น) ซึ่งต้องอยู่ในทางสายกลาง และเมื่อเราเจริญปัญญาแล้ว หากยังหลงในอภิญญาที่เกิด ก็อยากหลุดเลยไปได้ ซึ่งแทนด้วยหน้าเทพและยักษ์ด้านบน ซึ่งดูเหมือนเฝ้ามองว่าอภิญญานั้น จะหลงไปทางใดหากไม่ระวัง ขณะเดียวกันหากเราไม่เจริญปัญญาเลย เราก็จะตกลงสู่ห้วงแห่งการเวียนว่าย ด้านล่างซึ่งมีความโลภ โกรธ หลง ลองชมดูครับ ถ้าเจอภาพใหญ่จะเอามาลงอีกที

ส่งผลงานเมื่อ ๒๐ เม.ย. ๒๕๕๔)
 
 






Art's Portrait


 

3
12345678910


  อืม...นั่นสิครับ ถ้าได้ภาพที่เห็นรายละเอียดชัดๆ น่าจะสวยมากๆ เลยนะครับ ขนาดเป็นรูปเล็กๆ อย่างนี้ ยังเห็นได้เลยว่า..ฝีมือคุณอาร์ทยอดเยี่ยมขนาดไหน เห็นคุณอาร์ทอธิบายภาพเกี่ยวกับเรื่อง "อภิญญา" เดี๋ยวคนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ ผมขอโอกาสอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังสักหน่อยก็แล้วกันนะครับ

อภิญญา แปลว่า "ความรู้ยิ่ง" ซึ่งเป็นความรู้ที่ทำให้เกิด "ฤทธิ์ทางใจ" นั่นเองครับ ซึ่งอภิญญานั้นจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ฝึก "สมถกรรมฐาน" จนสามารถเข้าสมาธิขั้นฌานได้ในระดับต่างๆ อภิญญายังแบ่งออกเป็น อภิญญา ๕ และ อภิญญา ๖ ดังนี้นะครับ


อภิญญา ๕
    ในครั้งที่พระพุทธเจ้ายังเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ในหลายๆ ชาติท่านได้เพศนักบวช หรือฤๅษี (เช่น สุเมธดาบส เป็นต้น) ท่านได้ฝึกสมาธิ จนสามารถเข้าฌานได้ในระดับต่างๆ ผลพลอยได้จากการเข้าฌาน ก็คือเกิดอภิญญาทั้ง ๕ ชนิด ดังนี้ครับ

๑). อิทธิวิธี สามารถแสดงฤทธิ์ได้ เช่น นิรมิตกายคนเดียวให้เป็นหลายคนได้ ล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้ ฯลฯ
๒). ทิพพโสต มีหูทิพย์ เช่น สามารถฟังภาษาสัตว์ต่างๆ ได้รู้เรื่อง รวมถึงได้ยินเสียงของเหล่าเทวดา พรหม และภูตผีต่างๆ
๓). เจโตปริยญาณ สามารถล่วงรู้วาระจิตของผู้อื่น หรือ อ่านความคิดของคนอื่นได้
๔). ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้ เช่น สามารถรู้เรื่องราวในอดีตชาติของตนเอง และของผู้อื่นได้
๕). ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ (เรียกอีกชื่อว่า "จุตูปปาตญาณ") สามารถรู้จุติและอุบัติ (ตาย-เกิด) ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีอาการดีบ้าง เลวบ้าง ซึ่งล้วนเป็นไปตามกรรมของตน สามารถเห็นรูปละเอียด ที่ตาเนื้อของมนุษย์ทั่วๆ ไปไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น เทวดา ผี เปรต อสุรกาย เป็นต้น

    ฤทธิ์ (แปลว่า ความสำเร็จ ความรุ่งเรือง) ทั้ง ๕ อย่างเหล่านี้ สามารถฝึกให้สำเร็จ และทำให้เกิดขึ้นได้จริงๆ นะครับ (ไม่ได้โม้ หรือมีแต่ในนิยายหรอกนะครับ) แต่จะเกิดขึ้นได้ เฉพาะผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการฝึกสมาธิ หรือพูดง่ายๆ ว่า "พวกเล่นฌาน" นั่นเองครับ จริงๆ ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไร แต่ที่มันดูแปล๊ก..แปลก (สำหรับคนทั่วๆ ไป) ก็เพราะว่า..น้อยคนยิ่งนัก ที่จะสามาถฝึกเข้าสมาธิ จนถึงระดับฌานได้ต่างหาก และอภิญญาทั้ง ๕ นี้ ก็ยังอยู่ในขั้นของ "โลกียอภิญญา" หรือเรียกให้ฟังกันง่ายๆ ก็คือ ปุถุชนฤทธิ์ (ปุถุชน แปลว่า คนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส หรือคนทั่วๆ ไป ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล) นั่นเองครับ และ อภิญญา ๕ ก็ยังไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ มรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น เลยนะครับ อีกทั้งฤทธิ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่ ฤๅษี ชีไพร ในอดีตกาล สามารถทำกันมาได้ตั้งนมตั้งนานมาก.ก.ก.ก แล้วด้วย (ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นเสียอีก) และฤทธิ์ที่ได้ ก็ยังไม่สามารถล้างกิเลส ตัณหาใดๆ ได้เลยอีกด้วยซ้ำนะ พร้อมๆ กับทั้งสามารถเสื่อมลงได้ง่ายๆ อีกต่างหาก (ถ้ากำลังฌานตก)
    ดังเช่นในครั้งพุทธกาล พระเทวทัต (คู่ปรับของพระพุทธเจ้า) หลังจากบวชแล้ว สามารถฝึกสมาธิจนถึงระดับฌาน จนได้ฤทธิ์ต่างๆ แต่ด้วยความริษยาพระพุทธเจ้า จึงใช้ฤทธิ์เหล่านั้น ไปในทางเสื่อม เช่น ลวงพระเจ้าอชาตศัตรู ให้หลงเชื่อว่าตนเองบรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว โดยการเหาะไปที่หน้าต่างห้องพระบรรทม พระเจ้าอชาตศัตรูเห็นเป็นเรื่องอัศจรรย์ (เพราะคนทั่วๆ ไปทำไม่ได้ไง) จึงเป็นเหตุให้พระเทวทัตได้ลาภสักการะ จากพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นจำนวนมาก แต่ในภายหลัง หลังจากที่พระเทวทัตได้กระทำกรรมชั่วช้าต่างๆ นาๆ มากมายก่ายกองแล้ว สุดท้ายฤทธิ์ทั้งหมดที่เคยมี ก็เสื่อมสูญลงจนหมดสิ้น และต้องจบชีวิตลงด้วยการโดนธรณีสูบในที่สุด

ผมเคยเขียนเล่าเรื่อง "พระเทวทัต" ในผลงานของ ด.ช. ปัน ไว้แล้ว ใครสนใจ คลิกอ่านที่นี่ ได้ครับ


อภิญญา ๖
     ตั้งแต่ข้อ ๑ - ๕ จะเหมือนกับ อภิญญา ๕ เป๊ะเลยครับ จะมีก็แต่ข้อ ๖ เท่านั้นที่เพิ่มเติมขึ้นมา เพราะเป็นฤทธิ์ทางใจที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาเท่านั้น (เพราะก่อนหน้านี้ ไม่มีใครสอนได้ไง) เหตุเพราะเป็นฤทธิ์ที่สามารถ "ทำลายล้างกิเลสทั้งมวลให้สิ้นลงได้" ก็คือ

๖). อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่ทำให้ กิเลส อาสวะ หมดสิ้นไป จนเป็นพระอรหันต์ในที่สุด (ญาณชนิดนี้เกิดจากการเจริญ" วิปัสสนา" ซึ่งมีสอนเฉพาะในศาสนาพุทธ)

    พระพุทธเจ้าทรงสอนเหล่าสาวก ให้เจริญกรรมฐาน (กรรม แปลว่า การกระทำโดยเจตนา + ฐาน แปลว่า ที่ตั้ง) ทั้ง ๒ อย่างให้มาก คือ ๑). สมถกรรมฐาน และ ๒). วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งแน่นอนครับว่า การฝึกสมถกรรมฐาน จนสามารถเข้าสมาธิได้ถึงระดับฌาน ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ อภิญญา ๕ นั่นเอง (ส่วนจะได้ครบทั้ง ๕ ตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกำลังฌานของแต่ละคนครับ) แต่พระองค์ไม่ให้เหล่าสาวกหยุดอยู่แค่นั้น เมื่อสามารถฝึกจิตจนสงบตั้งมั่นดีแล้ว ท่านให้เจริญปัญญาต่อ ด้วย วิปัสสนาปัญญา (คือ การพิจารณาแยกรูป แยกนาม แยกธาตุ แยกขันธ์* จนกระทั่งเห็นไตรลักษณ์แจ่มแจ้ง (* ขันธ์ แปลว่า กอง หรือ ส่วนๆ สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรา คือ กาย+ใจ นี้ มีด้วยกัน ๕ ส่วน หรือเรียกว่า "ขันธ์ ๕" ประกอบด้วย ๑. รูป ๒. เวทนา ๓. สัญญา ๔. สังขาร ๕. วิญญาณ) จนกระทั่งสามารถทำลายล้างกิเลส (แบบม้วนเดียวจบ) ได้สำเร็จ จนเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

    ครูบาอาจารย์ท่านเคยบรรยายให้ผมฟังว่า พระพุทธเจ้าท่าน "สอนต่อยอด" จาก ๑. ศีล และ ๒. สมาธิ ที่บรรดานักปราชญ์ทั้งหลาย ท่านบัญญัติไว้ก่อนหน้า ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว (และไม่เคยหมดไปจากโลกนี้ด้วยนะ) ด้วยวิธีการเจริญปัญญาต่อ ด้วย "วิปัสสนา" ซึ่งจะเป็น ขั้นที่ ๓. เพราะลำพังศีล + สมาธิ ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ และทำลายล้างกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิง (แต่..สามารถ 'ข่ม' ไว้ได้ชั่วคราว) แต่ ศีล + สมาธิ ก็เป็นฐานที่มั่นที่สำคัญ ที่จะส่งต่อ..ให้การเจริญปัญญา สามารถเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ โดยไม่ติดขัดในที่สุด
    ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ ขึ้นนะครับ เช่น หากคุณจะปลูกบ้านสักหลังหนึ่ง แต่..ที่ดินตรงนั้น ยังเป็นเลน เป็นโคลนแฉะๆ หากคุณจะตอกเสาเข็มเอาดื้อๆ ทั้งๆ ที่พื้นดินบริเวณนั้น ยังอ่อนยวบ และชื้นแฉะอยู่อย่างนั้น คุณก็คงจะไม่สามารถปลูกบ้านได้สำเร็จเป็นแน่ สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างแรกก็คือ คุณจำเป็นต้องหาดินค่อยๆ มาถม ทีละหน่อย ทีละหน่อย พร้อมๆ กับต้องสูบน้ำออกจากบริเวณนั้นด้วย จนสภาพพื้นดินบริเวณนั้นมีความพร้อม แข็งแรงและแน่นพอซะก่อน คุณจึงจะสามารถตอกเสาเข็ม และปลูกบ้านได้จนเป็นผลสำเร็จ ฉันใดก็ฉันนั้นครับ ศีล + สมาธิ ก็เปรียบได้เหมือนกับ การถมดินให้แน่น และสูบน้ำออก เพื่อนเตรียมความพร้อมสำหรับการปลูกบ้านนั่นแหละครับ ไม่งั้นการเจริญปัญญา ก็คงจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย จริงมั้ยครับ..?


    มาต่อจาก..คำบรรยายภาพ ของคุณอาร์ทอีกนิดนะครับว่า "ทำไมครูบาอาจารย์ท่าน ถึงให้ระวังเรื่องการเล่น..อภิญญา" เพราะอะไรหรือครับ.? ท่านว่า..."มันเล่นง่าย แต่เลิกยาก" น่ะสิครับ ครูบาอาจารย์ท่านว่า อภิญญาทััง ๕ (ที่เกิดจากกำลังฌาน) เปรียบได้กับ "ของรายทาง" (ที่ผมใช้คำว่า "ผลพลอยได้" หรือ "ของแถม") นั่นแหละครับ เช่น ผมขอเปรียบเทียบว่า...ถ้าเป้าหมายของเราคือการไปตลาด แต่ในระหว่างการเดินทาง เราก็พบว่า..ข้างทางมีสวนสนุกอยู่ เราก็หลงเข้าไปเล่นจนมันหยดติ๋ง ผลที่ได้ก็คือ..ไปไหนไม่รอด เพื่อนๆ ล่วงหน้าไปถึงตลาดกันหมดแล้ว แต่คุณยังหลงเล่นไม่เลิก (เผลอๆ บางทีอาจหลายชาติ) นี่ไงครับที่ต้องระวัง
    ครูบาอาจารย์ท่านถึงกับพูดว่า "สนุกจริง แต่ไร้สาระ" เพราะล้างกิเลส ล้างตัณหา ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้

    และในท้ายที่สุด อาจจะทำให้คุณถึงกับ "พลาดจากคุณอันใหญ่ ที่ได้พบกับพระพุทธศาสนา" ในชาตินี้ เพราะถึงไม่มีพระพุทธเจ้า การฝึกสมถกรรมฐาน จนได้ฌานในระดับสูง จนกระทั่งได้อภิญญาครบหมดทั้ง ๕ ชนิด ก็ไม่เคยสูญไปจากโลกนี้อยู่แล้ว และแถมฤทธิ์ต่างๆ ที่ได้ ก็ยังเป็น ปุถุชนฤทธิ์ อีกต่างหาก ล้างกิเลส ล้างตัณหาอะไรๆ ไม่ได้เลย *ยกตัวอย่างนะ ถ้าหากคุณระลึกชาติได้ และคุณทราบว่า ผู้หญิงคนนี้ (สำหรับผู้ชายนะครับ) เคยเป็นภรรยาคุณมาก่อนในอดีตชาติ คุณอาจจะคิดว่า "ต้องตามไปจีบ เอามาเป็นเมียให้ได้" เหมือนทวงของคืน ทั้งๆ ที่คุณอาจมีภรรยา (คนปัจจุบัน) อยู่แล้ว ก็ได้นะครับ (เป็นการ + เพิ่มราคะ แถมผิดศีลอีกต่างหาก แทนที่จะลดลง) หรือไม่ก็..ถ้าหากคุณแสดงฤทธิ์ได้ คุณอาจจะแสดงฤทธิ์ พิสดารต่างๆ นาๆ อวดคนอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภสักการะก้อนโต (เพราะคนทั่วๆ ไป ย่อมต้องเห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด พิสดารแน่นอนแหง๋ๆ อยู่แล้ว) เป็นการเพิ่มความโลภ ทำให้กิเลสหนาหนักกว่าเก่า หรือไม่คุณก็อาจจะใช้ฤทธิ์ที่ได้ ไปในทางโจรกรรม ฉ้อโกง หลอกลวง หรือทำชั่วได้หนักกว่า คนที่ไม่มีฤทธิ์ใดๆ เลย ก็เป็นไปได้นะ.... เหมือนกับพระเทวทัตไงครับ

    แต่...คนที่จะสามารถเข้าฌานได้จริง จนได้อภิญญาครบถ้วน ทั้ง ๕ ตัว ไม่มีขาด (* รวมถึงตัวที่ ๖ ซึ่งเป็นอภิญญาตัวที่สำคัญที่สุด และจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีศาสนาพุทธเท่านั้น คือ สามารถล้างกิเลสจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์) ก็มีจำนวนไม่มากหรอกครับ (เพราะ "ฌาน" เป็นสิ่งที่ฝึกให้เจริญขึ้นได้ยาก แต่เสื่อมง่าย..ครับ) แม้แต่ในครั้งพุทธกาลเอง พระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่ ก็เป็นพระอรหันต์ที่ดำเนินจิตมาในลักษณะที่เรียกว่า "สุกขวิปัสสกะ" (สุกฺข แปลว่า แห้ง, แล้ง + วิปสฺสกะ แปลว่า ผู้เห็นแจ้ง) คือสามารถล้างกิเลสได้อย่างเดียว (ได้แต่..อาสวักขยญาณ) จนกระทั่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง แต่แสดงฤทธิ์ใดๆ ไม่ได้เลย หรือ "เป็นการภาวนาของผู้ที่ทำฌานไม่ได้" นั่นเองครับ

    ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ในพระอรหันต์จำนวน ๕๐๐ รูป แบ่งเป็นพระอรหันต์ที่ได้ "เจโตวิมุติ (ผู้ได้ฌาน)" ๑๘๐ รูป (แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท) และพระอรหันต์ที่ได้ "ปัญญาวิมุติ (ไม่ได้ฌาน)" ๓๒๐ รูป ดังนี้นะครับ

    ๖๐ รูป ได้ วิชชา ๓
         ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ - ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้
         ๒. จุตูปปาตญาณ - ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
         ๓. อาสวักขยญาณ - ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น

    ๖๐ รูป ได้ อภิญญา ๖ (อธิบายไปแล้ว)

    ๖๐ รูป ได้ อุภโตภาควิมุติ
         คือ "ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน" คือ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถกรรมฐานเป็นอย่างมาก จนได้ "สมาบัติ ๘ (คือ รูปฌาน ๔ และ อรูปฌาน ๔)" แล้วจึงใช้สมถะนั้น เป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อไป จนบรรลุอรหัตตผล

    ๓๒๐ รูป ได้ ปัญญาวิมุติ คือ พระอรหันต์ "สุกขวิปัสสกะ" ที่อธิบายไปแล้วนะครับ


    อ้าว...ฝอยซะยาวเฟื้อยอีกล่ะ.. เหมือนกับอ่านตำราไปมั้ยครับเนี่ย.? ^_^" แต่..ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องนี้อยู่บ้างนะครับ โดยเฉพาะคนที่เห่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ (จริงมั่ง ปลอมมาก.ก.ก.ก ที่ออกตามสื่อมวลชนแขนงต่างๆ) ผมคิดว่า..คนไทยน่าจะเลิกเห่อผู้วิเศษอะไรต่อมิอะไร ทำนองนี้ได้แล้วนะครับ เพราะหากมีฤทธิ์จริงแต่ไม่ประกอบด้วยศีล แถมใจยังเปรอะเลอะเทอะไปด้วย กิเลสตัณหานานับประการอยู่ ก็อาจจะทำเลวได้มากกว่าคนทั่วๆ ไปอีกก็ได้นะ และฤทธิ์เดชดังกล่าว ก็ยังไม่ได้แสดง หรือเป็นเครื่องการันตีว่า..คุณสำเร็จคุณธรรมขั้นสูง หรือเป็นพระอริยบุคคล ในศาสนาพุทธเลยก็ได้นะครับ ผมว่า...หันหน้าเข้าหาสาระที่แท้จริงกันดีกว่านะครับ

    แต่..ถ้าคุณสามารถเข้าฌานได้ และใช้กำลังสมาธิไปในทางที่ถูกต้องเป็นกุศล (เป็นประโยชน์ เกื้อกูล ทั้งกับตนเอง และผู้อื่น) ผมก็ขออนุโมทนาด้วยนะครับ เพราะจิตที่สงบในฌานจะมีกำลังสูงมากๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ( "จิต" ถ้ายิ่งสงบมากเท่าไหร่ จะยิ่งมีกำลังมาก จะตรงข้ามกับ "ร่างกาย" ที่ต้องออกกำลัง Active บ่อยๆ ถึงจะมีกำลังมาก) แล้วหากปฏิบัติได้ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า (คือไม่สุดโต่งทั้ง ๒ ฝั่ง คือ ๑. ไม่ไหลตามกิเลส = รักชั่ว, และ ๒. ไม่กดข่มบังคับจิต = รักดี, โดยจิตต้องตั้งมั่น และเป็นกลาง เป็นผู้รู้ผู้ดูอย่างแท้จริง) อีกทั้งยังไม่ออกนอกลู่นอกทางด้วยแล้วล่ะก็ คุณจะได้เห็นความอัศจรรย์ของจิต ความลับของสังสารวัฏจะเปิดออกให้คุณเห็นต่อหน้าต่อตา (นิพพาน = สภาวะที่พ้นจากความอยาก คือ "ตัณหา" ทั้งอยากชั่ว และอยากดี) ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้อย่างเปิดเผย งดงาม สุดละเอียด สุดประณีต สุดพรรณนา กว่าคนที่ทำฌานไม่ได้ มากมายหลายพัน หลายหมื่น หลายแสน หลายล้านเท่า เลยล่ะครับ ^^..

    อ้อ...ถ้าคุณอาร์ทเจอรูปที่ใหญ่กว่านี้ แล้วส่งมาใหม่ ผมก็จะลงเพิ่มให้นะครับ ขอให้วาดเล่นๆ ให้สนุกครับ (๒๑ เม.ย. ๒๕๕๔)
 
 
 

Kittipong (Art)'s drawing
 


 
 
 
 
     


 
Histats.com, Created : 7 Dec.2010
   
  Create and Maintained by JitdraThanee Copyright © 2008-2014 by JitdraThanee.com, All Rights Reserved. Best viewed 1280x800 pixels.